บทนำ
Highlight
• คนแต่ละกลุ่มอายุหรือแต่ละรุ่นมักจะมีลักษณะที่แตกต่างกันไป ความต่างของคนแต่ละกลุ่มอายุนั้นไม่ได้เกิดจากวัยที่แตกต่างกันเพียงอย่างเดียว แต่เกิดจากรุ่นหรือ Generation หรือช่องว่างระหว่างรุ่นที่ต่างกัน
• ปัญหาช่องว่างระหว่างวัยในครอบครัวมักเกิดกับผู้สูงอายุและลูกหลาน พ่อแม่กับลูก พี่กับน้อง ด้วยคนในครอบครัวไม่มีเวลาให้กัน ไม่ยอมรับความเห็นของแต่ละฝ่าย ต่างคิดว่าตนเองถูก ไม่ปรึกษาพูดคุยกันเมื่อมีปัญหาจึงเป็นต้นเหตุของความห่างเหิน
• การสื่อสารจะช่วยลดปัญหาความขัดแย้งช่องว่างระหว่างวัยด้วยการสร้างความเข้าใจและยอมรับของคนต่างรุ่น โดยเริ่มต้นจากการยอมรับว่า ทุกคนไม่จำเป็นต้องมีความคิดเห็นและมีความเชื่อเหมือนกัน แต่ต้องเคารพความแตกต่าง มีท่าทีเป็นมิตร เปิดใจรับในคำพูดและท่าทีของแต่ละฝ่าย
Generation Gap หรือ ช่องว่างระหว่างรุ่น คือ ความแตกต่างของความคิดเห็น ความเชื่อ ค่านิยมหรือทัศนคติระหว่างคนรุ่นหนึ่งกับอีกรุ่นหนึ่ง เช่น ช่องว่างระหว่างคนหนุ่มสาวกับพ่อแม่หรือปู่ย่าตายายของพวกเขา ซึ่งก่อให้เกิดความขัดแย้งและการสื่อสารที่ซับซ้อนจนทำให้เกิด "Gap หรือ ช่องว่าง"
ปัญหาช่องว่างระหว่างรุ่นนั้นมีมาเนิ่นนานและอยู่คู่กับสังคมและโลกมาตลอด ยิ่งในช่วงระยะหลัง ๆ มานี้ยิ่งมีความชัดเจนและอาจรุนแรงมากขึ้นในอนาคต จึงจำเป็นต้องมีการเรียนรู้ เตรียมตัว เพื่อเกิดการปรับเปลี่ยนในทางที่ดีสำหรับทุกช่วงวัย
เจเนอเรชั่น … ความต่างที่ต้องรู้
สังคมทั่วไปประกอบด้วยคนหลากหลายอายุ ด้วยประสบการณ์ในวัยเด็กที่มีคนสำคัญให้การหล่อหลอมวิธีคิด โลกทัศน์ ค่านิยม มุมมองต่อสังคม และการใช้ชีวิตของคนในรุ่นนั้น คนที่เกิดในสมัยเดียวกันจึงมีอุปนิสัยบางอย่างคล้ายคลึงกัน
คนแต่ละกลุ่มอายุหรือแต่ละรุ่นมักจะมีลักษณะที่แตกต่างกันไป ความแตกต่างของคนแต่ละกลุ่มอายุนั้นไม่ได้เกิดจากวัยที่แตกต่างกันเพียงอย่างเดียว หากแต่เป็นความแตกต่างที่เกิดจากรุ่นหรือ Generation ที่ต่างกัน คนที่เกิดในยุคที่ต่างกันจะเติบโตในสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน ทำให้คนที่เกิดและเติบโตมาต่างยุคต่างสมัยมีลักษณะนิสัยที่แตกต่างกันไป
ทฤษฎีเจนเนอเรชั่นเป็นทฤษฎีที่ใช้อธิบายความแตกต่างของคนต่างรุ่นโดยแบ่ง Generation ตามช่วงปีเกิด ซึ่งเจนเนอเรชั่นหลักในปัจจุบัน มีดังนี้
Baby Boomer หรือ Gen B หรือ บูมเมอร์ คือ คนที่เกิดช่วงปี 2489 – 2507 (อายุ 76-58 ปี) หลังจากสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุด มีการฟื้นฟูสังคมและเศรษฐกิจ ต้องการแรงงานทดแทนผู้เสียชีวิต จึงเกิดค่านิยมการมีลูกหลายคน ลักษณะร่วมของคนเจนนี้คือ จริงจัง ทุ่มเทชีวิตให้งาน อดทน อดออม ชอบงานมั่นคง ภักดีต่อองค์กร และให้ความสำคัญกับการทำหน้าที่พลเมือง
Generation X หรือ Gen X หรือ Yuppie คือ คนที่เกิดช่วงปี 2508-2522 (อายุ 57-43 ปี) เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า มีชีวิตในช่วงเวลาโลกสงบสุข มั่งคั่ง สุขสบาย เป็นยุคสมัยเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัล มีการคุมกำเนิดเพื่อให้จำนวนประชากรเหมาะกับทรัพยากร บุคลิกง่าย ๆ สบาย ๆ ไม่เป็นทางการ ให้ความสำคัญกับการสร้างสมดุลชีวิต เป็นตัวของตัวเอง เปิดกว้าง สร้างสรรค์ และยืดหยุ่น
Generation Y หรือ Gen Y หรือ Millennials คือ คนที่เกิดช่วงปี 2523-2540 (อายุ 42-25 ปี) เติบโตในยุคดิจิทัล มีความเป็นสากล เปิดรับวัฒนธรรม รักความสะดวกสบาย มีโอกาสทางการศึกษาที่ดี มีแนวคิดเป็นตัวของตัวเอง ทำในสิ่งที่ตัวเองชอบ และปฏิเสธสิ่งที่ตัวเองไม่ชอบ ชัดเจน คาดหวังผลตอบแทนสูง เปลี่ยนงาน ต้องการสร้างสมดุลเวลาให้กับตัวเอง และทำกิจกรรมให้ความสุขกับตัวเอง
Generation Z หรือ Gen Z คือคนที่เกิดหลังปี 2540 (อายุ 24 ปีลงมา) เกิดมาพร้อมกับสิ่งอำนวยความสะดวก ดำเนินชีวิตในสังคมแบบดิจิทัล มีการติดต่อสื่อสารไร้สาย และสื่อบันเทิงต่าง ๆ ได้รับการเลี้ยงดูจากคนอื่นมากกว่าพ่อและแม่ของตัวเอง ทันโลก ตัดสินใจทำอะไรอย่างรวดเร็ว ไม่ชอบรอคอย เปิดกว้างทางความคิดและวัฒนธรรมที่แตกต่าง ปรับทัศนคติได้ดี ไม่แบ่งแยก เป็นมนุษย์หลายงาน อดทนต่ำ ต้องการคำอธิบายมากขึ้น ต้องมีเหตุผล และต้องรู้สึกว่าได้เข้าใจกับทุกเรื่องในชีวิต (1) (2)
นอกจากนี้ยังมี เจนเนอเรชั่นอื่น ๆ เช่น Silent Generation คือ คนที่เกิดปี 2468 – 2485 หรืออายุ 80 ปีขึ้นไป ซึ่งเกิดในช่วงสงครามโลกที่เศรษฐกิจตกต่ำ, Generation Alpha หรือ Gen Alpha คือ เด็ก ๆ ที่เกิดตั้งแต่ปี 2553 หรือ อายุ 12 ปีลงมา ซึ่งเกิดและเติบโตมาพร้อมกับเทคโนโลยีและความหลากหลายทางวัฒนธรรม ได้รับความรักท่วมท้นจากพ่อแม่ ขาดความยืดหยุ่น และห่างไกลธรรมชาติ
สะพานเชื่อมคนต่างวัยในบ้าน
ปัญหาช่องว่างระหว่างวัยในครอบครัวมักเกิดกับผู้สูงอายุและลูกหลาน พ่อแม่กับลูก พี่กับน้อง ด้วยคนในครอบครัวไม่มีเวลาให้กัน ไม่ยอมรับความเห็นของแต่ละฝ่าย ต่างคิดว่าตนเองถูก ไม่ปรึกษาพูดคุยกันเมื่อมีปัญหา เป็นต้นเหตุของความห่างเหิน แม้จะอยู่ร่วมกันใกล้ชิดกันและรักกัน แต่สามารถเกิดเป็นช่องว่างระหว่างวัยได้
ยิ่งครอบครัวไทยในปัจจุบันมีลักษณะเป็น “ครัวเรือนข้ามรุ่น” มากขึ้น โดยในบ้านมีเพียงคน 2 รุ่น คือ คนรุ่นปู่ย่าตายายกับคนรุ่นหลานอาศัยอยู่ด้วยกัน จากสถิติพบว่า ในปี 2557 ประเทศไทยมีครัวเรือนข้ามรุ่นถึงร้อยละ 15 (3)
อีกทั้งในอนาคตเมื่อประเทศไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์แบบ จะมีจำนวนประชากรอายุมากกว่า 60 ปีจำนวนมากกว่าเด็ก ทำให้คนหนุ่มสาวจำเป็นต้องแบกรับหน้าที่ดูแล ทั้งหมดอาจเป็นปัจจัยส่วนหนึ่งที่ทำให้ช่องว่างระหว่างวัยในบ้านกว้างขึ้นได้ ความเข้าใจกันของคนต่างรุ่นจึงมีความสำคัญ โดยสิ่งที่จะช่วยแก้ปัญหาช่องว่างระหว่างวัยในครอบครัว คือ
เข้าใจและยอมรับ: แม้จะอยู่ในครอบครัวเดียวกัน แต่ก็แตกต่างกันได้ ด้วยเติบโตมาในสภาพแวดล้อม เศรษฐกิจ และสังคมไม่เหมือนกัน ไม่ว่าจะเป็นพ่อแม่ คุณตาคุณยาย หรือลูกหลาน ต้องเข้าใจและนับถือตัวตนกันและกัน ไม่ยึดตัวเองเป็นศูนย์กลางในทุกสถานการณ์ สมาชิกในบ้านแต่ละคนจึงควรเปิดใจยอมรับ และเคารพในความแตกต่าง
รับฟังความเห็น: การเป็นผู้ฟังที่ดีกว่าเดิมทำให้เป็นผู้ใหญ่น่าเคารพ และลูกหลานน่าเอ็นดู รวมทั้งให้คำแนะนำในการแก้ปัญหาอย่างเป็นกลาง โดยไม่ลืมคิดถึงมุมมองของอีกฝ่ายอย่างเปิดใจด้วย ผู้สูงวัยที่ทำตัวสมวัย ไม่ทำตัวเป็นศูนย์กลาง ยอมรับความเปลี่ยนแปลง สามารถเป็นต้นแบบให้ลูกหลาน ทำให้ลูกหลานอยากเข้าหา พูดคุย ปรึกษาได้ และเกิดเป็นปฏิสัมพันธ์ที่ดีในครอบครัว
เปิดประตูโลกส่วนตัว: การมีโลกส่วนตัวสูงยิ่งทำให้มีการเว้นระยะห่างจากกันขึ้นเรื่อย ๆ สมาชิกในครอบครัวจึงควรแบ่งปันโลกของตัวเองให้อีกฝ่ายได้รับรู้และเข้ามามีส่วนร่วม เช่น ลูกหลานชวนคุณตาคุณยายมาเรียนรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยี หรือพ่อแม่ปลูกฝังให้เด็กในบ้านเข้าวัดทำบุญร่วมกัน
กิจกรรมเชื่อมสัมพันธ์: การสร้างหรือทำกิจกรรมร่วมกันสามารถเชื่อมความสัมพันธ์ ทำให้สามารถพูดคุยในเรื่องเดียวกันได้ การใช้เวลาร่วมกันช่วยให้ได้เรียนรู้ตัวตนกันและกันมากขึ้น ซึ่งเรื่องการถมช่องว่างระหว่างวัยในบ้านเป็นหน้าที่ของคนทุกวัยในครอบครัวที่ต้องช่วยกัน (4) (5)
เติมช่องว่างระหว่างวัยในองค์กร
ในสังคมการทำงานปัจจุบัน บางองค์กรอาจมีคนถึง 4 รุ่น คือ Gen B, Gen X, Gen Y และ Gen Z อยู่ร่วมกัน จึงมีความเป็นไปได้สูงที่จะมีปัญหาช่องว่างระหว่างวัยเกิดขึ้น เพื่อถมช่องว่างควรสร้างความเข้าใจในความแตกต่าง ชื่นชมจุดดี และบริหารความแตกต่างให้ได้
การทำงานกับคนต่างเจนให้มีความสุขต้องมีความเข้าใจ สำหรับการทำงานกับ Gen B ผู้มากประสบการณ์ ควรแสดงความนับถือ รับฟัง และเรียนรู้จากประสบการณ์ของพวกเขาซึ่งให้ความสำคัญต่อหลักการทำงาน ยึดถือวัฒนธรรมองค์กร เห็นคุณค่าการทุ่มเท เรียนรู้วัฒนธรรมและการเจริญเติบโตขององค์กร
การทำงานกับ Gen X ต้องพูดให้กระชับ ชัดเจน และไม่อ้อมค้อม ตรงไปตรงมา ไม่บงการ แต่ให้นโยบายกว้าง ๆ เปิดโอกาสให้ได้แก้ปัญหาเอง ไม่คาดหวังให้ทำงานหนัก เพราะพวกเขาต้องการชีวิตที่สมดุล และไม่ชอบการอยู่ติดที่
การทำงานกับ Gen Y ผู้ชอบความท้าทายและภารกิจใหม่ ๆ ให้ความสำคัญกับการเป็นส่วนหนึ่งของทีม การเปิดโอกาสให้แสดงความคิดเห็นและเพิ่มความรับผิดชอบ เป็นเสมือนคำชมสำหรับพวกเขา ผู้ใหญ่ที่ยอมรับความคิดเห็นก็จะได้รับการยอมรับ ความรู้สึกและความคิดเห็นของเพื่อนร่วมงานมีผลต่อ Gen Y อย่างมาก
การทำงานกับ Gen Z ควรให้เกียรติ เข้าใจความต้องการสร้างสมดุลชีวิต ใช้เทคโนโลยีสร้างให้องค์กรทันสมัย เปิดโอกาสให้แสดงความสามารถและส่งเสริมให้ได้แสดงบทบาทที่สำคัญยิ่งขึ้น (6)
ในองค์กรที่มีคนหลายรุ่นอยู่ร่วมกันควรสร้างวัฒนธรรมองค์กรไม่ให้เอนไปทางช่วงอายุใดช่วงอายุหนึ่ง ซึ่งอาจทำให้คนที่อยู่ช่วงอายุที่แตกต่างไม่พึงพอใจและปฏิบัติตัวเองไม่ถูก ผู้นำขององค์กรหรือฝ่ายที่มีหน้าที่ดูแลพนักงานควรหาวิธีที่ดีที่สุดในการทำให้คนหลากหลายวัยอยู่ด้วยกันอย่างมีความสุข
ปัจจัยที่สำคัญคือ การสื่อสารที่ดี ต้องมีการพูดคุยเพื่อปรับตัวและเข้าใจความต้องการของแต่ละวัย มีวิธีสื่อสารให้คนในองค์กรรับรู้เกี่ยวกับคนต่างวัย ทั้งพฤติกรรมและความต้องการ เพื่อสร้างความเข้าใจ พร้อมปรับตัว และเติบโตไปด้วยกัน (7)
การสื่อสารคือหัวใจ
ไม่ใช่เรื่องแปลก ถ้าหากว่าคนต่างรุ่นจะเข้าใจโลก คิดเห็น และเชื่อแตกต่างกัน เพราะด้วยปัจจัยในเรื่องประสบการณ์ การเติบโต ยุคสมัย สภาพแวดล้อม ฯลฯ และเพื่อเชื่อมช่องว่างระหว่างรุ่นไม่ว่าจะที่บ้าน ที่ทำงาน หรือในส่วนต่าง ๆ ของสังคมนั้น สิ่งที่เข้ามามีบทบาทสำคัญคือ “การสื่อสาร”
การสื่อสารเพื่อลดความขัดแย้ง สร้างความเข้าใจ และยอมรับของคนต่างรุ่นสามารถใช้หลัก 4E คือ
Empathy (เข้าอกเข้าใจ) พยายามเอาใจเขามาใส่ใจเรา การเหมารวมว่าคนรุ่นเดียวกันต้องคิดแบบเดียวกันจะทำให้เกิดความเข้าใจผิด และอาจเป็นการขยายความขัดแย้งยิ่งขึ้น
Equality (เท่าเทียมกัน) ถึงจะมีวัยแตกต่างกันแต่ควรมีความเท่าเทียมกันในเรื่องความคิดเห็น การถือว่าตนเองเหนือกว่าจะนำไปสู่การสื่อสารที่ล้มเหลว
Express (เปิดใจกับการแสดงออกและวิธีสื่อสาร) แสดงออกอย่างตรงไปตรงมา สุภาพ เปิดเผย และโปร่งใส
Eco System (เข้าใจสิ่งแวดล้อมของระบบ) เข้าใจสิ่งแวดล้อมของการสื่อสารกัน เช่น ในขณะที่คนอายุมากกว่ามองว่าคนอายุน้อยกว่าพยายามที่จะเปลี่ยนแปลงระบบแทนที่จะพัฒนาตนเอง คนหนุ่มสาวมองว่าระบบคือสิ่งที่ปิดกั้นโอกาสและการเติบโต แม้จะพยายามแล้วก็อาจจะเติบโตยาก
การสื่อสารของคนต่างรุ่นจะได้ผลต้องเริ่มต้นจากการยอมรับความจริงว่า ทุกคนไม่จำเป็นต้องมีความคิดเห็นและมีความเชื่อเหมือนกัน แต่ต้องเคารพความแตกต่าง พร้อมรับฟัง มีท่าทีเป็นมิตร แสดงถึงความเท่าเทียม เปิดใจรับในคำพูดและท่าทีของแต่ละฝ่าย เคารพตัวตนของกันและกัน ไม่พยายามยัดเยียดให้คนอื่นคิดหรือทำเหมือนกัน ใช้เหตุผล ไม่ก้าวร้าว และรับฟังอย่างตั้งใจ สำคัญที่สุดคือ ความตั้งใจที่จะสื่อสารกันอย่างจริงใจ (8)
ช่องว่างระหว่างวัยสามารถเติมเต็มได้ด้วยการยอมรับและเข้าใจซึ่งกันและกัน รวมถึงการสื่อสารสร้างสัมพันธภาพอย่างฉันมิตรของทุกคน เกิดการเชื่อมร้อยอย่างสร้างสรรค์ จึงจะสามารถลดช่องว่างระหว่างวัยได้อย่างมีประสิทธิภาพ
อ้างอิง
(1) (6) https://www.posttoday.com/life/healthy/587633
(2) https://www.hiso.or.th/hiso/picture/reportHealth/ThaiHealth2016/thai2016_3.pdf
(3) https://www.theprachakorn.com/newsDetail.php?id=81
(4) http://www.modernmidlife.net/?p=1295
(5) https://thomasthailand.co/social-movement/เมื่อเรื่อง-ช่องว่างระ/
(7) https://brandinside.asia/work-happy-all-generation/
(8) https://www.bangkokbiznews.com/blogs/columnist/963886
0 ถูกใจ 2.5K การเข้าชม
งานบทความที่กำลังเป็นที่ได้รับความสนใจ
งานบทความที่เกี่ยวข้อง
เข้าสู่ระบบเพื่อโพสต์ความคิดเห็น
ความคิดเห็น 0