บทนำ
Highlight
• ผลการสำรวจสถานการณ์เด็กและสตรีในประเทศไทยปี 2562 พบว่า เด็กไทยมีพัฒนาการด้านสติปัญญาและภาษาต่ำที่สุดจากทั้ง 4 ด้าน ที่ร้อยละ 61 ในเด็กผู้ชาย และร้อยละ 64 ในเด็กผู้หญิง โดยเฉพาะอย่างยิ่งครอบครัวยากจน จะมีพัฒนาการด้านสติปัญญาและภาษาต่ำไปด้วย
• ครอบครัวมีส่วนสำคัญในเรื่องพัฒนาการของเด็ก การที่เด็กไม่ได้อยู่กับพ่อแม่มีส่วนทำให้การเรียนรู้ต่ำ เพราะไม่มีคนช่วยสอนการบ้านหรือทำกิจกรรม เช่น อ่านหนังสือ เล่าเรื่อง หรือเล่นกับเด็ก อีกทั้งยังการขาดความรู้ด้านโภชนาการที่มีผลทำให้อัตราการเรียนรู้ต่ำด้วย
• สำนักงานสถิติแห่งชาติซึ่งสนับสนุนโดยองค์การยูนิเซฟ สำรวจในปี 2562 พบว่า มีครอบครัวเพียงร้อยละ 34 เท่านั้นที่มีหนังสือสำหรับเด็กอย่างน้อย 3 เล่ม หรือคิดเป็น 1 ใน 3 ที่มีหนังสือในบ้าน ซึ่งนับว่าน้อยมาก และพบว่ายังมีเด็กปฐมวัยที่ยังเข้าไม่ถึงหนังสือกว่า 1.1 ล้านครัวเรือน
การอ่านมีความสำคัญสำหรับเด็กปฐมวัย นอกจากจะช่วยกระตุ้นพัฒนาการในด้านต่าง ๆ แล้ว การอ่านหนังสือหรือเล่านิทานให้เด็กฟังยังเป็นการสร้างปฏิสัมพันธ์ระหว่างพ่อแม่ลูก คนในครอบครัว หรือผู้เลี้ยงดู การอ่านยังเป็นพื้นฐานที่สำคัญสำหรับการเรียนรู้ตลอดชีวิต ยิ่งได้รับการส่งเสริมให้รู้จักหนังสือและการอ่านเร็วเท่าไร ยิ่งจะมีพัฒนาการและความพร้อมในการเรียนรู้เร็วยิ่งขึ้น
แต่สถานการณ์ในปัจจุบันกลับพบว่า เด็กไทยมีปัญหาเรื่องพัฒนาการเพราะขาดโอกาสในการอ่านและเข้าถึงหนังสือ ดังนั้นจึงมีความจำเป็นที่พ่อแม่ คนในครอบครัว หรือผู้เลี้ยงดู รวมทั้งชุมชนต้องร่วมกันสร้างสภาพแวดล้อมที่ส่งเสริมคุณค่าของหนังสือและการอ่านให้กับเด็ก ๆ
วิกฤตพัฒนาการสติปัญญาและภาษาของเด็กไทย
ที่ผ่านมา หนึ่งในปัญหาสำคัญที่ประเทศไทยเผชิญคือ พัฒนาการของเด็กปฐมวัย โดยจากผลการสำรวจสถานการณ์เด็กและสตรีในประเทศไทยในปี 2562 พบว่า เด็กปฐมวัยไทย (อายุต่ำกว่า 5 ปี) มีพัฒนาการสมวัย ร้อยละ 92.3 เป็นอันดับที่ 7 จาก 80 ประเทศที่มีรายได้ต่ำหรือปานกลาง โดยพบว่าเด็กไทยมีพัฒนาการด้านสติปัญญาและภาษาต่ำสุด (เมื่อเทียบกับพัฒนาการด้านการเคลื่อนไหวและกล้ามเนื้อ พัฒนาการด้านสังคม และพัฒนาการด้านการเรียนรู้) อยู่ที่ร้อยละ 61 ในเด็กผู้ชาย และร้อยละ 64 ในเด็กผู้หญิง
ในรายละเอียดพบว่า เด็กที่พ่อแม่มีการศึกษาสูงกว่าจะมีพัฒนาการสมวัยมากกว่าครอบครัวซึ่งพ่อแม่มีการศึกษาน้อยกว่าถึงร้อยละ 34 โดยเมื่อแบ่งตามระดับความมั่งคั่งพบว่า เด็กในครอบครัวที่ร่ำรวยจะมีพัฒนาการสมวัยมากกว่าครอบครัวยากจน
ครอบครัวมีส่วนสำคัญในเรื่องพัฒนาการของเด็ก การที่เด็กไม่ได้อยู่กับพ่อแม่มีส่วนทำให้การเรียนรู้ต่ำ เพราะไม่มีคนช่วยสอนการบ้านหรือทำกิจกรรม เช่น อ่านหนังสือ เล่าเรื่อง หรือเล่นกับเด็ก อีกทั้งการขาดความรู้ด้านโภชนาการ หรือสภาวะอันเกิดจากทุพโภชนาการ มีผลทำให้อัตราการเรียนรู้ต่ำด้วยเช่นกัน
ความมหัศจรรย์ของหนังสือและการอ่าน
จากวิกฤตสถานการณ์พัฒนาการของเด็กปฐมวัย หนึ่งทางที่สามารถแก้ไขได้คือ การใช้เวลาด้วยกันมากขึ้น พ่อแม่หรือผู้เลี้ยงดูควรเล่นและอ่านหนังสือกับเด็กให้มากขึ้น
การทำกิจกรรมร่วมกัน เช่น การหัดเรียกชื่อ นับเลข วาดรูป การเล่านิทาน การอ่านหนังสือ การดูสมุดภาพ การร้องเพลง การพาเด็กไปเล่นนอกบ้าน ฯลฯ ส่งผลให้เด็กมีพัฒนาการสมวัยมากขึ้นร้อยละ 2 โดยเฉพาะการอ่านหนังสือจะช่วยกระตุ้นสมองให้เกิดวงจรการเรียนรู้ การออกเสียง เพิ่มคลังคำศัพท์ และสร้างสายสัมพันธ์ในครอบครัว
การอ่านหรือฝึกภาษาในเด็กทำได้ตั้งแต่ยังเล็กก่อนจะถึงวัยเข้าโรงเรียน เพราะเด็กปฐมวัยสามารถเรียนรู้เรื่องภาษาได้ดีที่สุด ทั้งจากการจดจำและการเลียนแบบคนรอบข้าง
หากเด็กได้ใช้ประสาทสัมผัส ตาดู หูฟัง มือสัมผัส และจินตนาการไปตามเนื้อหาในหนังสือนิทาน สมองส่วนหน้าก็จะได้รับการพัฒนาอย่างเต็มที่และจะนำไปสู่กระบวนการสร้าง EF (Executive Functions) หรือกระบวนการที่เกี่ยวข้องกับการจัดการความคิด ความรู้สึก ตลอดจนการกระทำ ซึ่งจะเป็นพื้นฐานของการพัฒนาทักษะอื่นๆ ต่อไป
การอ่านทำให้เด็กมีทักษะการสื่อสาร ทั้งฟัง พูด อ่าน เขียน เหมาะสมตามวัย ตลอดจนสามารถปรับตัวได้อย่างรวดเร็วและทำให้เกิดการเรียนรู้ตลอดช่วงชีวิต (Lifelong Learning) เป็นการวางรากฐานสำคัญเพื่อการเติบโตไปเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพ
จากการเสวนาวิชาการ “นโยบายที่เอื้อต่อการพัฒนาศักยภาพเด็กปฐมวัยด้วยวัฒนธรรมการอ่าน เพื่อสร้างพลังสังคมแห่งอนาคต” โดยแผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับสมาคมผู้จัดพิมพ์ฯ และภาคีเครือข่าย ในปี 2565 ได้นำเสนอข้อดีของการอ่านหนังสือ และการที่พ่อแม่ผู้ปกครองอ่านหนังสือให้เด็กฟังว่า
- การอ่านหนังสือสร้างสายสัมพันธ์ ระหว่างที่พ่อแม่ผู้ปกครองอ่านหนังสือให้เด็กฟังจะเกิดความรักความผูกพันจากความใกล้ชิด
- การอ่านหนังสือพัฒนาทักษะภาษา การอ่านหนังสือออกเสียงให้เด็กฟัง ช่วยให้เกิดการเรียนรู้คำศัพท์ใหม่ ๆ และฝึกการออกเสียง
- การอ่านหนังสือพัฒนากระบวนการเรียนรู้ของสมอง หนังสือช่วยวางรากฐานทักษะทางสังคม ฝึกควบคุมอารมณ์ หนังสือเป็นเหมือนโลกใบใหม่ของเด็กขณะที่ยังไม่ได้ออกไปเผชิญกับสังคมภายนอก
- การอ่านหนังสือช่วยเพิ่มสมาธิและฝึกวินัย ทุกครั้งที่พ่อแม่หรือผู้ปกครองอ่านหนังสือให้เด็กฟัง จะเป็นช่วงเวลาที่เด็กเกิดความสนใจและจดจ่อที่อยากจะฟังต่อเรื่อย ๆ
- การอ่านหนังสือช่วยสร้างจินตนาการและความคิดสร้างสรรค์ เมื่อเด็ก ๆ คิดตามหนังสือและเชื่อมโยงเรื่องราว
- การอ่านหนังสือช่วยสร้างนิสัยรักการอ่าน รักและหวงแหนหนังสือ
- การอ่านหนังสือช่วยสร้างความเป็นเลิศทางการเรียนรู้ เนื่องจากเด็กจะได้รับชุดความรู้จากการที่ผู้ใหญ่อ่านให้ฟัง
อุปสรรคบนเส้นทางการเข้าถึงหนังสือ
การอ่านและหนังสือมีคุณค่ากับพัฒนาการของเด็กปฐมวัย แต่พ่อแม่หรือผู้ปกครองบางส่วนยังขาดความรู้ความเข้าใจหรือความตระหนัก ทั้งยังมีอีกหลายเหตุผลที่ทำให้เด็กไทยเข้าไม่ถึงหนังสือและการอ่าน
หลายครอบครัวมีปัญหาด้านเศรษฐกิจ ไม่มีงบประมาณเพียงพอที่จะจัดหาหนังสือให้ลูก บางครอบครัวในพื้นที่ชนบทอยู่ห่างจากห้องสมุดและร้านหนังสือ เด็กบางส่วนถูกสื่ออื่น ๆ แย่งความสนใจไปจากหนังสือ และการอ่าน
จากการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติซึ่งสนับสนุนโดยองค์การยูนิเซฟ ในปี 2562 พบว่า มีครอบครัวเพียงร้อยละ 34 เท่านั้น ที่มีหนังสือสำหรับเด็กอย่างน้อย 3 เล่ม หรือคิดเป็น 1 ใน 3 ที่มีหนังสือในบ้าน ซึ่งนับว่าน้อยมาก ครัวเรือนที่ฐานะยากจน มีหนังสือสำหรับเด็กเพียงร้อยละ 14 มีเด็กปฐมวัยที่ยังเข้าไม่ถึงหนังสือกว่า 1.1 ล้านครัวเรือน
ข้อมูลจากสมาคมผู้จัดพิมพ์และจำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย (PUBAT) ระบุว่า เด็กอยากอ่านหนังสือ แต่ผู้ปกครองไม่ซื้อ เพราะเป็นภาระที่ผู้ปกครองจะต้องอ่านให้ฟัง ต่างกับการใช้อุปกรณ์ เช่น แท็บเล็ต ซึ่งผู้ปกครองสามารถปล่อยให้เด็กใช้ได้ด้วยตัวเอง
ที่ผ่านมาพบว่า เด็กอายุน้อยกว่า 5 ขวบ ใช้สื่ออิเล็กทรอนิกส์สูงถึงร้อยละ 53 การใช้สื่ออิเล็กทรอนิกส์มากอาจทำให้เด็กมีพฤติกรรมก้าวร้าว ดื้อ ซน ไม่เชื่อฟัง ทั้งยังมีผลด้านลบต่อพัฒนาการทางด้านภาษา การเรียนรู้ สติปัญญา สังคม ฯลฯ
พลังชุมชนเพื่อการอ่านและการเรียนรู้
นอกจากครอบครัวแล้ว ชุมชนมีส่วนช่วยให้เด็ก ๆ เข้าถึงหนังสือและการอ่านได้มากขึ้น จึงมีโครงการอย่างเช่น “โครงการส่งเสริมการอ่านในชุมชน” ได้จัดตั้งห้องสมุดให้เด็กและผู้ปกครองยืมหนังสือไปอ่าน ทำให้คนในชุมชนสามารถร่วมดูแลเด็กและสร้างการเรียนรู้ร่วมกัน
ตัวอย่างและต้นแบบของชุมชนซึ่งเห็นความสำคัญของหนังสือกับเด็กปฐมวัย เช่น ชุมชนเก้าพัฒนา ย่านรามคำแหง 39 เขตวังทองหลาง กรุงเทพฯ ซึ่งได้จัดทำพื้นที่เรียนรู้ประจำชุมชนให้เด็กและผู้ปกครองมาทำกิจกรรมร่วมกันในเวลาว่าง ไม่ว่าจะเป็นการอ่านหนังสือนิทาน รวมทั้งการจัดกิจกรรมต่อยอดเนื้อหาจากในหนังสือ เช่น ปลูกผัก ทำไอศกรีมจากน้ำสมุนไพร ฯลฯ
ทั้งยังมีการจัดทำข้อตกลงที่พ่อแม่ผู้ปกครองและเด็กต้องปฏิบัติร่วมกัน เช่น ผู้ปกครองควรมีเวลาให้บุตรหลานในการอ่านนิทานอย่างน้อยวันละ 15 นาที, ผู้ปกครองควรมีหนังสือนิทานอย่างน้อย 3 เล่ม ไว้ในบ้าน, แกนนำชุมชนควรจัดสถานที่ปลอดภัยสำหรับเด็กในการทำกิจกรรม, ผู้ปกครองควรอนุญาตให้บุตรหลานเข้าร่วมกิจกรรมการอ่านในชุมชนอย่างต่อเนื่อง, ในชุมชนควรมีสวัสดิการมอบชุดหนังสือเป็นของขวัญสำหรับเด็กแรกเกิดให้กับทุกครอบครัว เป็นต้น
ในช่วงวิกฤตโควิด-19 ซึ่งเด็กต้องเรียนออนไลน์อยู่ที่บ้าน ไม่สามารถไปอ่านหนังสือหรือทำกิจกรรมที่ศูนย์การเรียนรู้ของชุมชน ทางชุมชนได้จัดทำห้องสมุดเคลื่อนที่ขนาดย่อมหรือ “รถเข็นนิทานมหาสนุก” เพื่อนำหนังสือไปให้บริการเด็ก ๆ ถึงบ้าน
‘สวัสดิการหนังสือ’ การอ่านสร้างเด็ก…เด็กสร้างโลก
การส่งเสริมการอ่านโดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ด้อยโอกาสมาพร้อมกับความท้าทาย นอกจากจะขาดแคลนหรือเข้าไม่ถึงหนังสือแล้ว ยังหา “หนังสือที่เหมาะสมกับช่วงวัยและตรงใจผู้อ่าน” ได้ยาก ซึ่งส่งผลต่อการอ่านอย่างมีคุณภาพ
จึงทำให้เกิด “โครงการ 1 อ่านล้านตื่น” เพื่อสร้างวัฒนธรรมการอ่านและรณรงค์เปลี่ยนทัศนคติในการบริจาคหนังสือ เพื่อสร้างโอกาสให้กับคนในพื้นที่ขาดแคลนได้มีโอกาสในการเลือกหนังสือคุณภาพที่เหมาะสมกับบริบทของพื้นที่ เหมาะสมกับช่วงวัย และตรงใจอยากอ่าน (ข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ www.happyreading.in.th หรือเพจ "อ่านยกกำลังสุข")
นอกจากนี้ สสส. ยังได้ร่วมขับเคลื่อนนโยบาย “สวัสดิการหนังสือ 3 เล่ม เพื่อเด็กแรกเกิด” ภายใต้แนวคิด อ่านสร้างลูก ลูกสร้างโลก เพื่อผลักดันให้เด็กปฐมวัยมีหนังสือนิทานอย่างน้อย 3 เล่ม และทำให้สังคมเห็นว่านโยบายดังกล่าวสามารถเกิดขึ้นได้จริง
จากสถานการณ์โควิด-19 ที่ทำให้เด็กเล็กมีพัฒนาด้านการอ่านน้อยลงและส่งผลกระทบต่อพัฒนาการหลากหลายด้าน สสส. ได้สนับสนุนสร้างเสริมการอ่านในเด็กปฐมวัยโดยจัดสวัสดิการหนังสือ 3 เล่มให้กับครอบครัวของเจ้าหน้าที่ ทั้งยังเชิญชวนองค์กรและชุมชนต่าง ๆ ทั่วประเทศมาร่วมทำนโยบายนี้ให้เกิดขึ้น เพราะเชื่อว่า นักอ่านในวันนี้จะเป็นผู้นำในอนาคต
เพื่อให้แน่ใจว่าเด็กไทยทุกคนมีโอกาสที่จะเปิดรับพลังการเปลี่ยนแปลงของการอ่าน จึงเป็นความท้าทายร่วมกันของทั้งพ่อแม่ คนเลี้ยงดู ชุมชน และผู้ที่เกี่ยวข้อง ในการหว่านเมล็ดพันธุ์แห่งอนาคตที่สดใสสำหรับคนรุ่นต่อ ๆ ไป
อ้างอิง
จีรพงษ์ ประเสริฐพลกรัง, วิกฤตเด็กไทย 'อ่าน-เขียนไม่ได้' ต่ำมาตรฐานโลก ทางตันการแข่งขันประเทศ, 19
มีนาคม 2566, https://www.komchadluek.net/quality-life/equity/545127
สิรินยา วัฒนสุขชัย, ทำไมเด็กวัยเรียนส่วนหนึ่งถึงอ่านเขียนไม่ได้ ข้อสังเกตที่ Big Data อาจช่วยให้คำตอบ, 27
ธันวาคม 2565, https://plus.thairath.co.th/topic/speak/102597
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ, BKK-เรนเจอร์ รวมพลังเด็กเปลี่ยนเมือง Kick off ราม 39
อ่านยกกำลังสุขโมเดล ขับเคลื่อนนโยบายแก้ปัญหา Learning Loss, 23 กันยายน 2565, https://www.thaihealth.or.th/bkk-เรนเจอร์-รวมพลังเด็กเป/
thaipbs.or.th, เปิดผลสำรวจพัฒนาการสติปัญญา–ภาษา "เด็กไทย" แนะเล่น-อ่านหนังสือกระตุ้น, 26
มิถุนายน 2565, https://www.thaipbs.or.th/news/content/316965
thairath.co.th, 7 ข้อดี อ่านหนังสือ กระตุ้นพัฒนาการเด็ก ห่วงครอบครัวรายได้น้อยขาดแคลน, 11 เมษายน
2565, https://www.thairath.co.th/news/local/2365677
0 ถูกใจ 554 การเข้าชม
งานบทความที่กำลังเป็นที่ได้รับความสนใจ
งานบทความที่เกี่ยวข้อง
เข้าสู่ระบบเพื่อโพสต์ความคิดเห็น
ความคิดเห็น 0