0

0

บทนำ

Highlight

  • เมื่อสูงวัย เราไม่อาจปฏิเสธการสูญเสียคนที่เรารักหรือแม้แต่สิ่งของของเรา ประเด็นที่ต้องคิดคือ การยอมรับความจริง เพราะยิ่งเก็บซ่อนความรู้สึกเอาไว้ อาจนำไปสู่ความโกรธ ความไม่พอใจ และเกิดภาวะซึมเศร้าได้

  • การปล่อยวางหรือลดจุดมุ่งหมายของชีวิตในวันที่อายุมากขึ้นถือเป็นทางออกที่สำคัญ เพราะถึงเราไม่ลด มันก็จะค่อย ๆ ถดถอยไปตามธรรมชาติ แต่ให้คิดในทางตรงกันข้ามว่านี่เป็นช่วงเวลาสำหรับความท้าทายใหม่ ๆ เช่น การทำกิจกรรมที่ไม่เคยทำมาก่อน การเข้าสังคมกับเพื่อนใหม่ ๆ ฯลฯ

  • อายุที่เพิ่มขึ้นไม่ได้เป็นปัจจัยให้เราเหี่ยวเฉาเสมอไป เพราะหากเรารักษาสุขภาพด้วยอารมณ์ขัน และทำกิจกรรมที่สนุก เสียงหัวเราะจะเป็นยาชั้นเลิศทั้งต่อร่างกายและจิตใจที่จะช่วยให้เรามีพลัง มีความสุข และมีสุขภาพที่ดี โดยเฉพาะการออกกำลังกายจะเป็นตัวช่วยให้มีอายุที่ยืนยาวขึ้น

กุญแจสู่การสูงวัยอย่างมีสุขภาพดี

เมื่อเข้าสู่ช่วงสูงวัย ชีวิตจะต้องพบกับความเปลี่ยนแปลงมากมาย ทั้งการสูญเสียและความท้าทายใหม่ ๆ ดังนั้น การรักษาความสมดุลจึงเป็นกุญแจสำคัญในการรักษาสุขภาพให้แข็งแรงเพื่อสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ แต่กระนั้นเมื่อผ่านช่วงอายุที่มากขึ้นเรื่อย ๆ คนสูงวัยมักไม่ได้ตระหนักว่า แท้จริงพวกเขายังแข็งแกร่งและยืดหยุ่นมากกว่าที่คิด และควรปฏิบัติตามข้อแนะนำ ดังนี้

  1. เรียนรู้ที่จะรับมือกับการเปลี่ยนแปลง

เมื่อต้องเผชิญการสูญเสียผู้คนหรือสิ่งของไป เราต้องยอมรับมัน และแสดงความรู้สึกนั้นออกมา เพราะการเก็บซ่อนความรู้สึกเอาไว้อาจนำไปสู่ความโกรธ ความไม่พอใจ และภาวะซึมเศร้า ข้อแนะนำก็คือควรพูดคุยกับเพื่อนสนิทหรือเขียนบันทึก และต้องยอมรับว่าหลายสิ่งหลายอย่างในชีวิตอยู่เหนือการควบคุมของเรา ดังนั้น แทนที่จะเครียดกับความเปลี่ยนแปลงก็ให้เพ่งมองไปในสิ่งที่เราควบคุมได้ และเชื่อมั่นว่าทุกปัญหามีทางออกเสมอ

นอกจากนั้นแล้ว เมื่อเผชิญกับความท้าทายที่สำคัญ พยายามมองว่ามันเป็นโอกาสในการเติบโตของตัวเราเอง พร้อมกับเตรียมรับความท้าทายในชีวิตให้ค่อย ๆ ลงมือทีละเล็กทีละน้อย เพราะแม้แต่การทำทีละน้อย ๆ ก็ช่วยเพิ่มความมั่นใจและย้ำเตือนว่าเราไม่ได้ไร้พลัง สิ่งที่สำคัญก็คือต้องรักษาสุขภาพด้วยอารมณ์ขัน เสียงหัวเราะ และการเล่นสนุก เพราะการหัวเราะเป็นยาชั้นเลิศทั้งต่อร่างกายและจิตใจที่ช่วยให้เรามีความสมดุล มีพลัง มีความสุข และมีสุขภาพที่ดี

2. ค้นหาความหมายและความสุข

เมื่ออายุมากขึ้นสิ่งที่เคยทำให้ชีวิตมีจุดมุ่งหมายก็อาจจะหายไป เช่น ไม่ได้ทำงานหลังเกษียณ หรือครอบครัวแยกย้าย หรือเพื่อน ๆ ล้มหายตายจากไป แต่ถ้าปล่อยวางได้มันจะเป็นช่วงเวลาที่น่าตื่นเต้นไปอีกแบบสำหรับความท้าทายใหม่ ๆ เช่น การทำกิจกรรมที่ไม่เคยทำมาก่อน เป็นต้นว่าเข้าร่วมชมรมหรือทีมกีฬาเป็นงานอดิเรกใหม่ ๆ ซึ่งทำให้เราเข้าสังคมได้เพื่อนใหม่ไปพร้อมกัน หรืออาจทำกิจกรรมเพียงลำพัง เช่น เล่นดนตรี ฝึกภาษาต่างประเทศ หรือเล่นเกมใหม่ ๆ กิจกรรมพวกนี้ยังช่วยรักษาสุขภาพสมองและป้องกันภาวะจิตตกได้อีกด้วย อีกวิธีก็คือ ลองเข้าร่วมกิจกรรมในท้องถิ่นหรือเป็นอาสาสมัครเพื่อการกุศล เพราะการช่วยเหลือผู้อื่นจะเพิ่มคุณค่าของชีวิต ตลอดจนสามารถเปิดโลกด้วยการเดินทางไปท่องเที่ยวสถานที่ใหม่ ๆ หรืออาจจะเขียนบันทึกความทรงจำ หรือนิยายที่เกี่ยวกับประสบการณ์ชีวิตที่ผ่านมา เพราะวัยนี้เป็นวัยที่เปี่ยมไปด้วยประสบการณ์ล้ำค่าที่ควรค่าแก่การส่งต่อไปยังคนอื่น

3. เชื่อมโยงกับสิ่งต่าง ๆ อยู่เสมอ

หนึ่งในความท้าทายที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของภาวะสูงวัย คือการรักษาเครือข่ายคนรู้จักและสิ่งต่าง ๆ ที่ช่วยสนับสนุนเรา เพราะยิ่งสูงวัย เรายิ่งห่างเหินจากผู้คนและต้องพบกับความสูญเสียคนที่เคยรู้จักมักคุ้นไป ดังนั้น อย่าละเลยการเข้าสังคม เพราะมันมีผลดีต่อสุขภาพ การพบปะกับผู้คนจะช่วยป้องกันความเหงา ความหดหู่ ตลอดจนความยากลำบากในชีวิตด้านอื่น ๆ ดังนั้น ให้ติดต่อกับเพื่อนและครอบครัวอย่างสม่ำเสมอ ใช้เวลากับคนที่ชื่นชอบและคนที่ทำให้เรารู้สึกเบิกบาน รวมถึงเพื่อนบ้านและลูกหลานที่อาจติดต่อกันทางโทรศัพท์หรือสื่อสังคมออนไลน์ และพยายามสร้างเพื่อนใหม่ โดยเฉพาะกับเพื่อนที่อายุน้อยกว่า เพราะพวกเขาสามารถเติมพลังและช่วยให้เรามองเห็นชีวิตจากมุมมองใหม่ๆ

เคล็ดลับอีกอย่างคือ ใช้เวลากับคนอย่างน้อยหนึ่งคนทุกวัน การพบหน้ากับคนอื่นจะช่วยลดความเหงาและความโดดเดี่ยวได้ และการเข้าร่วมเป็นอาสาสมัครตัวแทนชุมชน ซึ่งเป็นวิธีที่ดีเลิศในการกระชับสายสัมพันธ์ทางสังคมและพบปะผู้อื่นที่มีความสนใจในกิจกรรมที่คล้ายคลึงกัน ตลอดจนยังอุทิศตนให้กับสังคมไปด้วยในตัว แต่หากเราหรือคนที่เรารักกำลังเผชิญกับโรคร้ายแรงหรือการสูญเสีย ควรมองหากลุ่มที่สามารถแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในลักษณะคล้ายๆ กัน เพื่อแบ่งปันความรู้สึกและระบายความในใจ

4. ตื่นตัวและมีชีวิตชีวาให้มากขึ้น

อายุที่สูงขึ้นไม่ใช่ปัจจัยที่ทำให้เราเหี่ยวเฉาเสมอไป แต่สามารถเอาชนะหรือบรรเทาลงได้อย่างมากโดยการออกกำลังกาย การรับประทานอาหารที่เหมาะสม และการดูแลตัวเอง ซึ่งจากการศึกษาในประเทศสวีเดนเมื่อเร็ว ๆ นี้พบว่า การออกกำลังกายเป็นตัวช่วยอันดับหนึ่งในการทำให้มีอายุที่ยืนยาว แม้ในช่วงเวลาที่ผ่านมาจะไม่เคยออกกำลังกายมาก่อนก็ตาม

เคล็ดลับการออกกำลังกายสำหรับผู้สูงวัย

• ตรวจสอบกับแพทย์ก่อนว่า สภาพร่างกายเหมาะกับการออกกำลังกายประเภทนั้น ๆ หรือไม่

• หากิจกรรมที่ชอบ อาจเป็นการออกกำลังกายเป็นกลุ่ม หรือออกกำลังกายคนเดียว 

• หากไม่คุ้นกับการออกกำลังให้ค่อย ๆ เริ่มวันละไม่กี่นาทีต่อวันไปก่อน แล้วค่อย ๆ เพิ่มเวลาและความเข้มข้นเพื่อหลีกเลี่ยงอาการบาดเจ็บ

• การเดินเป็นการเริ่มต้นออกกำลังกายที่ยอดเยี่ยม และเป็นหนึ่งในวิธีที่ดีที่สุดในการรักษาสุขภาพให้แข็งแรง

การกินดี

• เมื่ออายุมากขึ้น การเผาผลาญจะลดลง ให้หลีกเลี่ยงอาหารหวานและคาร์โบไฮเดรตขัดสี ให้รับประทานผักผลไม้ และธัญพืชที่มีเส้นใยสูงแทน ซึ่งจะช่วยให้รู้สึกกระปรี้กระเปร่ามากขึ้น 

นอนหลับให้เพียงพอ

• ผู้ใหญ่หลายคนมักบ่นถึงปัญหาการนอนเมื่ออายุมากขึ้น ดังนั้น ควรพัฒนานิสัยการนอนที่ดีต่อสุขภาพ ด้วยการจัดห้องที่มีบรรยากาศเหมาะกับการนอนหลับ และทำกิจกรรมที่เอื้อให้รู้สึกอยากนอน

5. รักษาสมองให้เฉียบแหลม

การกระตุ้นให้เกิดความคิดสร้างสรรค์สามารถช่วยป้องกันความเสื่อมทางสติปัญญาและปัญหาความจำได้  ยิ่งเราใช้และลับสมองมากเท่าไรก็จะได้รับประโยชน์มากขึ้นเท่านั้น อาจเป็นการเล่นเกมหรือกีฬาใหม่ ๆ  หรือการไขปริศนาหรือลองทำอาหารสูตรใหม่ ๆ เรียนภาษา พัฒนาทักษะคอมพิวเตอร์ หรือเรียนการเล่นเครื่องดนตรี ตลอดจนการทำเรื่องอื่น ๆ ในชีวิตประจำวัน เช่น การลองใช้เส้นทางอื่นไปทำงาน หรือไปร้านขายของชำ ซึ่งการเปลี่ยนแปลงนิสัยของเราสามารถช่วยสร้างวงจรใหม่ ๆ ในสมองได้เช่นเดียวกัน

อ้างอิง

เรียบเรียงจาก: https://www.helpguide.org/articles/alzheimers-dementia-aging/staying-healthy-as-you-age.htm

0 ถูกใจ 591 การเข้าชม

งานบทความที่กำลังเป็นที่ได้รับความสนใจ

คลังภาพ (ใช้สำหรับทดสอบเขียนบทความ)
1719481749.jpeg

Super Admin ID2

คลังภาพ (ใช้สำหรับทดสอบเขียนบทความ)

เรื่องควรรู้ … รับมือวัยเกษียณ
1708931705.jpg

Super Admin ID1

เรื่องควรรู้ … รับมือวัยเกษียณ

เพิ่มพลังนม เพื่อสุขภาพ (และส่วนสูง) เด็กไทย!
1708931705.jpg

Super Admin ID1

เพิ่มพลังนม เพื่อสุขภาพ (และส่วนสูง) เด็กไทย!

กินอาหารอย่างฉลาด…ห่างไกลโรค
defaultuser.png

Don Admin

กินอาหารอย่างฉลาด…ห่างไกลโรค

ทำความรู้จัก เพจ "สารส้ม" พื้นที่ปลอดภัย เสริมพลังเยาวชน ห่างยาเสพติด
1708931705.jpg

Super Admin ID1

ทำความรู้จัก เพจ "สารส้ม" พื้นที่ปลอดภัย เสริมพลังเยาวชน ห่างยาเสพติด

งานบทความที่เกี่ยวข้อง

surachet@thaihealth.or.th

เมื่อวัยเกษียณเคาะประตูบ้าน นั่นหมายความว่าบทใหม่ของชีวิตกำลังจะเริ่มต้น แม้วัยเกษียณจะมาพร้อมกับการเปลี่ยนแปลงทั้งทางร่างกาย จิตใจ และสังคม แต่ทุกคนสามารถปรับตัวเพื่อรับมือและสร้างชีวิตที่มีคุณภาพในวัยเกษียณได้อย่างเหมาะสม สิ่งสำคัญคือ ต้องมีความรู้ ความเข้าใจ และการเตรียมตัว