บทนำ
เมื่อวัยเกษียณเคาะประตูบ้าน นั่นหมายความว่าบทใหม่ของชีวิตกำลังจะเริ่มต้น แม้วัยเกษียณจะมาพร้อมกับการเปลี่ยนแปลงทั้งทางร่างกาย จิตใจ และสังคม แต่ทุกคนสามารถปรับตัวเพื่อรับมือและสร้างชีวิตที่มีคุณภาพในวัยเกษียณได้อย่างเหมาะสม สิ่งสำคัญคือ ต้องมีความรู้ ความเข้าใจ และการเตรียมตัว
เตรียมพร้อมก่อนวัยเกษียณ
ก่อนจะถึงวัยเกษียณต้อง “เตรียมตัว” ดูแลสุขภาพร่างกาย ตรวจสุขภาพอย่างสม่ำเสมอ “เตรียมใจ” เพื่อให้พร้อมกับการเปลี่ยนแปลง สามารถปรับตัวและใช้ชีวิตอย่างมีความสุข “เตรียมวางแผน” ชีวิตหลังเกษียณจะทำอะไร ที่ไหน อย่างไร เมื่อถึงเวลาสามารถลงมือทำได้ “เตรียมครอบครัว” วัยเกษียณมีเวลาอยู่กับครอบครัวมากขึ้น เติมความรักและความอบอุ่นให้กัน ทำให้การอยู่ร่วมกันเป็นไปด้วยดี “เตรียมมิตรภาพ” ความสุขของวัยเกษียณคือมิตรภาพที่ดี ซึ่งต้องรักษาไว้ให้คงเดิม และ “เตรียมเงิน” วางแผนการใช้จ่าย หรือข้อจำกัดต่าง ๆ ในการใช้เงิน
เกษียณแล้วทำอะไรดี
คนวัยเกษียณควรมีกิจกรรมซึ่งช่วยส่งเสริมให้การใช้ชีวิตเป็นไปอย่างมีคุณภาพและมีความสุข ไม่ว่าจะกิจกรรมทางกายที่ช่วยให้ร่างกายแข็งแรง ลดความเสี่ยงโรค ผ่อนคลาย กิจกรรมทางสังคมช่วยเสริมสร้างความพึงพอใจ ได้สร้างความสัมพันธ์กับผู้อื่น ช่วยลดความเหงาและความเบื่อหน่าย กิจกรรมสร้างสรรค์งานอดิเรกต่าง ๆ อาจเป็นอาชีพเสริมสร้างรายได้ ทั้งยังเพิ่มความมั่นใจทำให้รู้สึกว่าตัวเองมีคุณค่ามีความสำคัญ
เรื่องสุขภาพจิตที่ต้องใส่ใจ
นอกจากปัญหาสุขภาพร่างกายแล้ว สิ่งที่ควรให้ต้องคอยดูแลคือ ปัญหาสุขภาพจิตที่พบบ่อยในผู้สูงวัยคือ ภาวะซึมเศร้าและภาวะสมองเสื่อม
- ภาวะซึมเศร้า เกิดขึ้นจากร่างกายสร้างสารเคมีในสมองบางชนิดไม่เพียงพอ มีผลให้มองตัวเองและโลกในแง่ลบมากขึ้น หม่นหมอง หดหู่ สิ้นหวัง หากมีอาการไม่รุนแรง การฟื้นฟูด้วยตนเอง เช่น ออกกำลังกาย พักผ่อนให้เพียงพอ ฯลฯ อาจช่วยได้ แต่หากมีอาการรุนแรงต้องพบแพทย์
-ภาวะสมองเสื่อม เกิดจากการทำงานของสมองถดถอยหรือสูญเสียเซลล์สมอง ทำให้ความสามารถทางสติปัญญาลดลง หลงลืม ใช้ภาษาผิดปกติ พฤติกรรมอารมณ์เปลี่ยน ฯลฯ หากมีอาการที่กระทบต่อการใช้ชีวิตควรพบแพทย์ ปัจจัยเสี่ยงภาวะสมองเสื่อมยังรวมถึงโรคเบาหวาน ความดัน ความอ้วน ศีรษะกระทบกระเทือน ดื่มแอลกอฮอล์หนัก เป็นต้น วิธีช่วยชะลอหรือยับยั้งคือ ใช้สมองมากขึ้น แต่ต้องไม่มากเกิน ผู้สูงอายุที่มักเปิดแท็บเล็ต โทรศัพท์ หรือโทรทัศน์ไว้แล้วหลับไป อาจทำให้สมองไม่ได้พัก
สูงวัยเสี่ยงฆ่าตัวตายสูง
ปัจจุบันอัตราการฆ่าตัวตายในผู้สูงอายุเพิ่มขึ้น สาเหตุการฆ่าตัวตายมักมาจากความทุกข์ทรมานจากอาการป่วย รู้สึกไม่อยากเป็นภาระ หรือน้อยใจลูกหลาน หากพบผู้ที่มีความคิดอยากฆ่าตัวตาย ต้องคอยเฝ้าระวัง ดูแลเอาใจใส่เพิ่มขึ้น พยายามพูดคุยสร้างกำลังใจ เพื่อให้เห็นคุณค่าในตนเอง หากอาการไม่ดีขึ้นให้ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ
ดูแลผู้สูงวัยอย่างเหมาะสม
คนดูแลต้องทำความเข้าใจและเรียนรู้พฤติกรรมของผู้สูงอายุ ควรดูแลด้วยความรัก ความเข้าใจ ใช้คำพูดที่ทำให้รู้สึกสบายใจและแสดงถึงความห่วงใย ไม่พูดหรือทำให้กระทบกระเทือนจิตใจ ที่สำคัญคือ ผู้ดูแลต้องประเมินตัวเองให้แน่ใจว่าร่างกายและจิตใจสามารถดูแลผู้สูงอายุได้ ควรหาเวลาว่างให้ร่างกายได้พักผ่อนและฟื้นฟูจิตใจ
อ้างอิง
https://www.dop.go.th/th/know/15/496
https://www.prachachat.net/spinoff/health/news-970886
https://www.dop.go.th/th/know/15/496
0 ถูกใจ 568 การเข้าชม
งานบทความที่กำลังเป็นที่ได้รับความสนใจ
งานบทความที่เกี่ยวข้อง
เข้าสู่ระบบเพื่อโพสต์ความคิดเห็น
ความคิดเห็น 0