บทนำ
Highlight
• กิจกรรมทางกายคือ การทำกิจกรรมให้ร่างกายได้เคลื่อนไหวและเผาผลาญพลังงาน อย่างเช่น การเดิน ปั่นจักรยาน เล่นกีฬา ฯลฯ รวมไปถึงทำกิจกรรมอื่น ๆ ซึ่งในวัยผู้ใหญ่ควรมีกิจกรรมทางกายอย่างน้อย 150 นาทีต่อสัปดาห์
• ในปี 2562 ก่อนการแพร่ระบาดของโควิด-19 คนไทยมีกิจกรรมทางกายที่เพียงพอร้อยละ 74.6 หลังการแพร่ระบาดในปี 2563 กิจกรรมทางกายลดลงเหลือร้อยละ 55.5 และปี 2564 ระดับกิจกรรมทางกายที่เพียงพอขยับขึ้นเป็นร้อยละ 63.0 อีกร้อยละ 11.6 ยังไม่สามารถฟื้นคืนกิจกรรมทางกายได้
• การเข้าถึงสวนสาธารณะ สวนหย่อม และพื้นที่สีเขียวอื่น ๆ กระตุ้นให้ผู้คนบรรลุการทำกิจกรรมทางกาย อย่างเช่น เดิน วิ่ง ขี่จักรยาน หรือเล่นกีฬา เพราะการมีพื้นที่สีเขียวช่วยให้กิจกรรมทางกายสนุกสนานยิ่งขึ้น ซึ่งส่งผลให้ประชากรมีสุขภาพดี และความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นด้วย
หากเคยสังเกต คุณเองอาจจะได้พบว่า พื้นที่สีเขียวใกล้ ๆ ตัวสามารถสร้างแรงกระตุ้นให้รู้สึกอยากออกไปทำกิจกรรมทางกายมากขึ้น และถ้ามากเพียงพอ กิจกรรมทางกายเหล่านั้นจะส่งผลดีต่อสุขภาพ
ที่ผ่านมามีหลายผลการศึกษาระบุตรงกันถึงความสัมพันธ์ของพื้นที่สีเขียวต่อสุขภาวะในเชิงบวก ทำให้หลายประเทศทั่วโลกมีเป้าหมายที่จะเพิ่มจำนวนและปรับปรุงคุณภาพพื้นที่สีเขียวในเมือง ด้วยตระหนักถึงความสำคัญในฐานะที่เป็นกลยุทธ์เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนมีกิจกรรมทางกายที่เพียงพอ
แต่ต้องยอมรับว่า ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะแต่ละเมืองต่างมีปัญหาของตัวเอง เช่น พื้นที่ไม่เพียงพอหรือพื้นที่ใช้ประโยชน์ได้ไม่เต็มประสิทธิภาพหรือเข้าถึงได้ยาก เช่นเดียวกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในเมืองหลวงของประเทศไทย
กิจกรรมทางกาย…ช่วยชีวิต
กิจกรรมทางกาย (Physical Activity) คือ การทำกิจกรรมต่าง ๆ ที่ทำให้ร่างกายได้เคลื่อนไหวมีการใช้และเผาผลาญพลังงาน ไม่ว่าจะเป็นการเดิน ปั่นจักรยาน ออกกำลังกาย เล่นกีฬา ฯลฯ รวมไปถึงกิจกรรมอื่น ๆ ที่ทำในชีวิตประจำวัน
องค์การอนามัยโลก (WHO) แนะนำว่า ในประชากรวัยผู้ใหญ่ ควรมีกิจกรรมทางกายระดับปานกลางสะสมให้ได้อย่างน้อย 150 นาทีต่อสัปดาห์
กิจกรรมทางกายที่เพียงพอและเหมาะสมส่งผลต่อการป้องกันความเจ็บป่วยที่เกิดจากโรคต่าง ๆ ได้ โดยเฉพาะในกลุ่มโรค NCDs (กลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง) ช่วยส่งเสริมให้สุขภาพร่างกายแข็งแรง เสริมสร้างผลิตภาพและสมรรถนะในการทำงานมากยิ่งขึ้น รวมทั้งสร้างความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ และช่วยให้รูปร่างกระชับสมส่วน
ในกลุ่มเด็กและวัยรุ่นจะช่วยส่งเสริมพัฒนาการทั้งด้านร่างกายและความการคิด สำหรับผู้สูงอายุจะช่วยลดภาวะทุพลภาพ สร้างความสมดุล ป้องกันการหกล้ม เสริมทักษะในการดูแลตนเอง สร้างความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ และเพิ่มการทำงานของระบบหัวใจไหลเวียนเลือดให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
เพียงพอที่ไม่เพียงพอ
หลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 ประเทศไทยต้องเร่งฟื้นกิจกรรมทางกายและสร้างความเท่าเทียมด้านการมีกิจกรรมทางกายที่เพียงพอให้กับทุกกลุ่มประชากร โดยข้อมูลจากการสำรวจของ TPAK พบว่า ในปี 2562 ก่อนการแพร่ระบาดของโควิด-19 คนไทยมีกิจกรรมทางกายที่เพียงพอร้อยละ 74.6 หลังการแพร่ระบาดในปี 2563 กิจกรรมทางกายลดลงเหลือเพียงร้อยละ 55.5 และปี 2564 ระดับกิจกรรมทางกายที่เพียงพอของประชากรไทยขยับขึ้นมาเป็นร้อยละ 63.0 โดยยังมีประชากรไทยอีกร้อยละ 11.6 ที่ยังไม่สามารถฟื้นคืนกิจกรรมทางกายให้กลับมาอยู่ในระดับที่เพียงพอได้
การส่งเสริมให้ประชาชนมีกิจกรรมทางกายที่เพียงพอจะมีประโยชน์ทั้งต่อสุขภาพ เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม และสังคม โดยจะเกิดขึ้นได้ต้องมีการทำงานร่วมกันของหลายภาคส่วน สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ในแผนปฏิบัติการส่งเสริมกิจกรรมทางกาย พ.ศ. 2561-2573 ซึ่งจัดทำขึ้นเพื่อช่วยผลักดันและขับเคลื่อนให้ประชาชนมีกิจกรรมทางกายในชีวิตประจำวัน นำไปสู่การลดความเหลื่อมล้ำของสังคมและพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนในประเทศ
นอกจากยุทธศาสตร์ที่ว่า ยังรวมถึงการส่งเสริมสภาพแวดล้อมให้เอื้อต่อการมีกิจกรรมทางกาย การส่งเสริมวิธีการเดินทางที่ต้องออกแรง อย่างเช่น การเดิน การปั่นจักรยาน ฯลฯ การใช้ระบบขนส่งสาธารณะ การสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเดิน การปั่นจักรยานที่ผ่านการออกแบบและวางผังเมืองให้มีทางเดินร่มรื่น มีทางจักรยานที่ปลอดภัย การพัฒนาคุณภาพและความครอบคลุมของระบบขนส่งสาธารณะ การลดการใช้ยานพาหนะส่วนบุคคล และที่สำคัญคือ การสร้างพื้นที่สาธารณะ และพื้นที่สีเขียว
พื้นที่สีเขียว: ความสำคัญและจำเป็น
พื้นที่สีเขียว (Green Space) หมายถึง พื้นที่ตามธรรมชาติ พื้นที่กึ่งธรรมชาติ (ต้องมีการก่อสร้างขึ้น) หรือพื้นที่ที่มีการเพาะปลูก เช่น สวนสาธารณะ เป็นต้น
พื้นที่สีเขียวมีความสัมพันธ์กับการมีกิจกรรมทางกายที่เพียงพอซึ่งนำไปสู่สุขภาวะที่ดี การเข้าถึงสวนสาธารณะ สวนหย่อม และพื้นที่สีเขียวอื่น ๆ สามารถกระตุ้นให้ผู้คนมีส่วนร่วมในกิจกรรม อย่างเช่น เดิน วิ่ง ขี่จักรยาน หรือเล่นกีฬาอื่น ๆ ซึ่งจะช่วยให้พวกเขาบรรลุระดับกิจกรรมการออกกำลังกายที่แนะนำในแต่ละวันได้
การวิจัยพบว่า ผู้ที่อาศัยอยู่ใกล้กับพื้นที่สีเขียวมีแนวโน้มจะทำกิจกรรมทางกายมากกว่าผู้ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ซึ่งไม่มีพื้นที่สีเขียว การมีพื้นที่สีเขียวยังช่วยให้กิจกรรมทางกายสนุกสนานยิ่งขึ้น และสร้างสภาพแวดล้อมที่เป็นธรรมชาติ และสวยงามในการออกกำลังกาย
จากการศึกษาเรื่อง Environmental, health, wellbeing, social and equity effects of urban green space interventions: A meta-narrative evidence synthesis ระบุว่า การเปลี่ยนแปลงทางกายภาพของพื้นที่สีเขียวในเมืองสำหรับการส่งเสริมสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี การใช้สวนสาธารณะเพิ่มขึ้น ทำให้มีกิจกรรมทางกายเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ประชาชนมีสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีด้วย
ประเทศไทยมีสวนสาธารณะกว่า 600 แห่ง ในกรุงเทพฯ มีสวนสาธารณะหลัก 39 แห่ง เมื่อเทียบพื้นที่สีเขียวกับจำนวนประชากร WHO ระบุว่า ประชาชน 1 คน ต้องการพื้นที่สีเขียว 9-15 ตารางเมตร ปัจจุบันคนกรุงเทพฯ มีพื้นที่สีเขียวเพียง 6.9 ตารางเมตรต่อคน ซึ่งน้อยกว่าหลักเกณฑ์ของ WHO มากจึงเป็นที่มาของความพยายามเพิ่มพื้นที่สีเขียวในกรุงเทพฯ
จากแผนแม่บทยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (พ.ศ. 2561-2580) ได้กำหนดเป้าหมายพื้นที่ป่าและพื้นที่สีเขียวไม่น้อยกว่าร้อยละ 55 ของพื้นที่ประเทศไทย โดยแบ่งเป็นพื้นที่สีเขียวที่เป็นป่าธรรมชาติ ร้อยละ 35 พื้นที่สีเขียวเพื่อการใช้ประโยชน์ร้อยละ 15 และป่าในเมืองและพื้นที่สีเขียวเพื่อการพักผ่อนหย่อนใจ และการเรียนรู้ร้อยละ 5
ในการพัฒนาพื้นที่สีเขียวมีปัจจัยสำคัญคือ ต้องเข้าถึงได้ (accessibility) เช่น ตั้งอยู่ในพื้นที่สามารถเดินทางได้ด้วยการคมนาคมจากเส้นทางและรูปแบบการเดินทางที่หลากหลาย รวมทั้งต้องออกแบบเพื่อการเข้าถึงได้ของประชากรทุกกลุ่ม (inclusivity)
Green Space ออกแบบได้สไตล์เกาหลี
หนึ่งในประเทศซึ่งเป็นตัวอย่างที่ดีในการพัฒนาโครงสร้างสาธารณะและพื้นที่สีเขียวคือ เกาหลีใต้
นั่นคือ เพื่อเป็นเจ้าภาพเอเชียนเกมส์ในปี 1986 และการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก ปี 1988 เกาหลีใต้ได้ปรับปรุงตกแต่งเมือง สร้างสภาพแวดล้อมที่สวยงาม พัฒนาพื้นที่สีเขียวให้ประชาชนสามารถเข้าถึงได้ง่าย เช่น การพัฒนาพื้นที่ริมแม่น้ำฮันให้กลายเป็นทางเดิน ทางวิ่ง เส้นทางปั่นจักรยาน โรงยิมกลางแจ้ง สวนสาธารณะ ฯลฯ
หลังการระบาดของโควิด-19 กรุงโซลมีโครงการ Green Path เพื่อเชื่อมพื้นที่สีเขียว เช่น ป่าไม้ สวนหย่อม สวนสาธารณะ ฯลฯ ทั่วกรุงเข้าด้วยกันเป็นเส้นทางสีเขียวใหม่ระยะทาง 400 กิโลเมตร เชื่อมต่อกับพื้นที่สีเขียวที่มีอยู่เดิม 1,600 กิโลเมตร เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงพื้นที่สีเขียวในเมืองได้ง่ายขึ้น สามารถมีกิจกรรมหลากหลายในชีวิตประจำวัน เป็นทั้งการพักผ่อน และสร้างไลฟ์สไตล์ที่ดีต่อสุขภาพ
สวน 15 นาที พื้นที่สีเขียวเพื่อคนกรุง
ด้วยความพยายามในการเพิ่มพื้นที่สีเขียวในกรุงเทพฯ และเพื่อให้ประชาชนเข้าถึงพื้นที่สีเขียวได้ง่ายขึ้น กรุงเทพมหานคร (กทม.) มีโครงการ “สวน 15 นาที” หรือสวนหย่อมขนาดเล็ก (Pocket Park) เพื่อให้คนกรุงเทพฯ สามารถไปถึงสวนได้ภายใน 15 นาที หรือในระยะ 800 เมตร
โครงการนี้จะจัดหาพื้นที่ว่างซึ่งไม่ใช้ประโยชน์มาเปลี่ยนเป็นสวน มีเป้าหมายจะทำให้ได้อย่างน้อยปีละ 30-40 แห่ง และพยายามจะสร้างสวนซึ่งสอดคล้องกับจำนวนประชากรในพื้นที่ ซึ่ง กทม.มีที่ดินสามารถเปลี่ยนเป็นสวนได้ 107 แห่ง เป็นที่ดินของ กทม.เอง 42 แห่ง ที่ดินของเอกชน 27 แห่ง และที่ดินของรัฐวิสาหกิจหรือกึ่งภาครัฐ อย่างเช่น การทางพิเศษแห่งประเทศไทย การรถไฟแห่งประเทศไทย รวมพื้นที่จำนวน 659 ไร่ ซึ่งจะสามารถดำเนินการเปลี่ยนเป็นสวน 15 นาทีได้ โดยในปี 2565 ได้เปิดใช้แล้ว จำนวน 13 สวน
สำหรับภาคเอกชนสามารถเข้าร่วมโครงการนี้ได้ โดยการปรับปรุงสวนได้เองและมอบให้กับ กทม.ดูแลบำรุงรักษา
มหานครอย่างกรุงเทพฯ อาจจะไม่สามารถขยายขนาดเมืองได้แล้ว แต่ยังมีวิธีและหนทางที่จะเพิ่มพื้นที่สีเขียวได้อีก ซึ่งโครงการสวน 15 นาทีก็เป็นหนึ่งในความพยายามนั้นที่จะก่อให้เกิดประโยชน์หลายประการ อย่างน้อยที่สุด เป็นการสร้างสภาพแวดล้อมให้เอื้อต่อการมีกิจกรรมทางกายที่เพียงพอ ซึ่งจะนำไปสู่สุขภาวะที่ดีของประชาชนในที่สุดนั่นเอง
อ้างอิง
https://tpak.or.th/th/article_print/58
https://backenddc.anamai.moph.go.th/coverpage/3673c9bb6c72658b7c6fffe4b847135a.pdf
https://www.sdgmove.com/2022/10/22/greenfield-sustainable-city/
https://www.sciencedirect.com/science/article/pii/S0160412018331751?via%3Dihub
https://www.facebook.com/TPAK.Thailand/photos/a.125522615729926/490434329238751
https://thestandard.co/park-in-bang-khun-thian-area/
https://mgronline.com/uptodate/detail/9660000004816
https://tpak.or.th/th/article/545
0 ถูกใจ 699 การเข้าชม
งานบทความที่กำลังเป็นที่ได้รับความสนใจ
งานบทความที่เกี่ยวข้อง
เข้าสู่ระบบเพื่อโพสต์ความคิดเห็น
ความคิดเห็น 0