0

0

บทนำ

Highlight

• ฝุ่น PM2.5 ถูกจัดเป็นสารก่อมะเร็ง โดยเฉพาะมะเร็งปอดซึ่งเป็นโรคที่ทำให้คนไทยเสียชีวิตอันดับ 2 (เป็นอันดับ 2 ในผู้ชายรองจากมะเร็งตับ และเป็นอันดับ 1 ในผู้หญิง) การตรวจคัดกรองโรคในระยะแรกทำได้ยาก เมื่อผู้ป่วยมีอาการผิดปกติมักจะเป็นในระยะที่ลุกลามแล้วจึงมีอัตราเสียชีวิตสูง

• งานวิจัยระบุว่าคนไทยเสียชีวิตจากฝุ่น PM2.5 ประมาณ 70,000 คนต่อปี ขณะที่องค์การอนามัยโลกพบว่า ประเทศไทยมีผู้เสียชีวิตจาก PM2.5 สูงเป็น 4 เท่าของการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุการจราจรทางบก

• คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติได้เห็นชอบกำหนดมาตรฐานฝุ่น PM2.5 ใหม่ จากค่ามาตรฐานเฉลี่ย 24 ชั่วโมง ไม่เกิน 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (มคก./ลบ.ม.) ปรับลดลงเป็น 37.5 มคก./ลบ.ม. มีผลบังคับใช้วันที่ 1 มิถุนายน 2566 และค่าเฉลี่ยรายปีจากเดิม 25 มคก./ลบ.ม. ปรับลดลงเป็น 15 มคก./ลบ.ม. มีผลบังคับใช้หลังประกาศราชกิจจานุเบกษา

 

-----------

 

ในประเทศไทยมีอัตราการเกิดโรคมะเร็งที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ข้อมูลล่าสุดพบว่า มีผู้ป่วยมะเร็งรายใหม่ปีละนับแสนราย และเสียชีวิตเฉียดหลักแสนรายเช่นกัน สำหรับมะเร็งที่พบบ่อยมากที่สุดในคนไทย 5 อันดับ ประกอบด้วย มะเร็งตับและมะเร็งท่อน้ำดี, มะเร็งปอด, มะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก, มะเร็งเต้านม    และมะเร็งปากมดลูก (1)

 

สถานการณ์มะเร็งปอดในไทย

คนไทยเป็นมะเร็งปอดมากที่สุดเป็นอันดับสอง โดยกรมการแพทย์แนะนำให้สังเกตสัญญาณเตือน หากไอเรื้อรังติดต่อกันมากกว่า 2 สัปดาห์ควรพบแพทย์

นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์  เผยว่า มะเร็งปอดเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 2 ของคนไทย (เป็นอันดับ 2 ในผู้ชายรองจากมะเร็งตับ และเป็นอันดับ 1 ในผู้หญิง) แต่การตรวจคัดกรองให้พบโรคในระยะแรกทำได้ยาก และมีอัตราการตายสูง ซึ่งสาเหตุสำคัญมาจากการสูบบุหรี่ รวมถึงยามวนต่าง  ๆ ผู้สูบบุหรี่มีโอกาสเป็นมะเร็งปอดมากกว่าผู้ไม่สูบถึง 10 เท่า รวมถึงผู้ที่ดมควันบุหรี่จากที่ผู้อื่นสูบก็มีความเสี่ยงสูงกว่าคนทั่วไป เพราะในควันบุหรี่มีสารก่อมะเร็งมากกว่า 60 ชนิด

นอกจากนี้ คนที่ได้รับแร่ใยหิน (แอสเบสตอส) ที่ใช้ในอุตสาหกรรมหลายชนิด เช่น การก่อสร้าง โครงสร้างอาคาร ผ้าเบรค ฉนวนกันความร้อน ผู้ที่มีความเสี่ยงคือ ผู้ที่อาศัยหรือทำงานอยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีแอสเบสตอสปนเบื้อนเป็นเวลานาน อาจใช้เวลา 15-35 ปี ในการทำให้เกิดมะเร็งปอด สำหรับผู้ไม่สูบบุหรี่แต่ทำงานกับฝุ่นแอสเบสตอส อาจเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งปอดมากกว่าคนทั่วไปถึง 5 เท่า

ขณะที่สาเหตุอื่น ๆ เช่น จากมลภาวะอย่างฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน หรือ PM 2.5 สารเบนซิน ฟอร์มัลดีไฮด์ เป็นต้น ผู้ป่วยมะเร็งปอดจำนวนมากไม่เคยมีประวัติสูบบุหรี่ หรือแอสเบสตอส มาก่อน ปัจจุบันยังไม่มีแนวทางการคัดกรองโรคมะเร็งปอดที่มีประสิทธิภาพและคุ้มค่า เมื่อผู้ป่วยมีอาการผิดปกติมักจะเป็นโรคในระยะที่ลุกลามแล้ว ทำให้การตรวจพบโรคในระยะแรกทำได้ยาก และมีอัตราเสียชีวิตสูง วิธีป้องกันที่ดีที่สุดในปัจจุบันคือ การหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ

ด้าน นพ.สกานต์ บุนนาค ผู้อำนวยการสถาบันมะเร็งแห่งชาติ กล่าวว่า อาการที่น่าสงสัยว่าอาจเป็นโรคมะเร็งปอด ได้แก่ ไอเรื้อรังติดต่อกันมากกว่า 2 สัปดาห์ ไอเป็นเลือดหรือมีเสมหะปนเลือด เจ็บหน้าอก น้ำหนักลด เหนื่อยง่าย อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร บางรายอาจมีไข้ต่ำ ๆ หรือมีปอดติดเชื้อซ้ำซาก ซึ่งจริง ๆ แล้วอาการเหล่านี้ไม่ได้เป็นอาการที่เฉพาะเจาะจงกับมะเร็งปอด แต่อาจพบในโรคอื่นได้ เช่น วัณโรคปอด หากมีอาการสงสัยต้องทำการตรวจวินิจฉัยเพิ่มเติม (2)

 

ฝุ่นพิษ PM2.5 และมะเร็งปอด

PM 2.5 ย่อมาจาก Particulate Matters 2.5 µm เป็นอนุภาคขนาดเล็กกว่า 2.5 ไมครอน (เล็กกว่าเส้นผมมนุษย์ 20 กว่าเท่า) ประกอบด้วยก๊าซพิษและสารก่อมะเร็ง เกิดจากการเผาไหม้จากเครื่องรถยนต์ การเผาในที่โล่ง และควันจากโรงงานอุตสาหกรรม

ค่า PM2.5 ตามมาตรฐานขององค์การอนามัยโลกแนะนำระดับค่าเฉลี่ยรายวันไม่ควรเกิน 25 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร และค่าเฉลี่ยรายปีไม่ควรเกิน 10 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร แต่ในประเทศไทย กรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กำหนดค่าเฉลี่ยรายวันไม่ควรเกิน 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร และค่าเฉลี่ยรายปีไม่ควรเกิน 25 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร

อย่างไรก็ดี หลังจากภาคประชาชนได้เรียกร้องให้มีการปรับค่ามาตรฐานฝุ่นมาอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ก็ได้เห็นชอบกำหนดมาตรฐานฝุ่น PM2.5 ใหม่ จากค่ามาตรฐานเฉลี่ย 24 ชั่วโมง ไม่เกิน 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (มคก./ลบ.ม.) ปรับลดลงเป็น 37.5 มคก./ลบ.ม. และจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 มิถุนายน 2566 และค่าเฉลี่ยรายปีจากเดิม 25 มคก./ลบ.ม. ปรับลดลงเป็น 15 มคก./ลบ.ม. โดยจะมีผลบังคับใช้ในทันทีนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษา (3)

นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า สถานการณ์ฝุ่น PM2.5 ใน 19 จังหวัดเกินค่ามาตรฐานอยู่ในระดับเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ โดยหากได้รับในปริมาณมากระยะยาวจะส่งผลให้เกิดโรคร้ายแรง ทั้งระบบหัวใจและหลอดเลือด และโรคมะเร็งได้ เมื่อฝุ่นเข้าสู่ร่างกาย นอกจากฝุ่น PM2.5 จะทำให้เกิดการอักเสบภายในร่างกายแล้ว ยังเข้าไปทำลายระบบต่าง ๆ ในเซลล์ของปอด ที่เป็นสาเหตุของการเกิดโรคมะเร็งปอดได้ในระยะยาว อีกทั้ง PM2.5 ยังมีองค์ประกอบของสารเคมีบางชนิดที่ก่อให้เกิดมะเร็ง เช่น โพลีไซคลิกอะโรมาติกไฮโดรคาร์บอน เกิดจากกระบวนการเผาไหม้ของสารอินทรีย์ไม่สมบูรณ์ พบในเขม่าควันไฟ รวมถึงควันที่เกิดจากน้ำมันทอดซ้ำ ซึ่งส่งผลให้เกิดมะเร็งปอด (4)

ผลกระทบ PM2.5 เสี่ยงสารพัดโรค

สำนักงานวิจัยมะเร็งระหว่างประเทศ (IARC) ระบุว่า มลพิษอากาศโดยเฉพาะจาก PM2.5 ถูกจัดเป็นสารก่อมะเร็ง โดยองค์การอนามัยโลก ได้ประมาณการณ์ในปี 2559 ว่า ไทยมีผู้เสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งปอดซึ่งมีสาเหตุมาจากมลพิษอากาศถึง 6,330 ราย สำหรับการเจ็บป่วยพบว่า มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี โดยในปี 2563 พบรายงานผู้ป่วยมะเร็งปอด 122,104 ราย คิดเป็น 186.26 ต่อแสนประชากร

องค์การอนามัยโลก ได้กำหนดอย่างเป็นทางการตั้งแต่ปี 2556 ว่า PM2.5 จัดอยู่ในกลุ่มที่หนึ่งของสารก่อมะเร็ง ซึ่งผลกระทบของ PM2.5 ต่อสุขภาพ มีทั้งผลระยะสั้น ได้แก่ ระคายเคืองตา คอ และจมูก หัวใจเต้นเร็วหรือผิดจังหวะ ไอ แน่นหน้าอก เหนื่อย โรคหืดหรือโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังกำเริบ หลอดลมอักเสบหรือปอดอักเสบ และผลระยะยาว ได้แก่ การเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหืด ภูมิแพ้ ปอดอุดกั้นเรื้อรัง ปอดเป็นพังผืด มะเร็งปอด โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง เด็กคลอดก่อนกำหนด ผลต่อการเจริญเติบโตของปอดในเด็ก ซึ่งเพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังในอนาคต โดยปกติแล้วปอดมนุษย์จะพัฒนาเต็มที่เมื่ออายุประมาณ 25 ปี หากมีสารพิษกระทบในช่วงเจริญเติบโตของปอดจะส่งผลเสียต่อสมรรถภาพการทำงานของปอดในระยะยาว

 

นอกจากนี้ อาจถึงขั้นการเสียชีวิตเพิ่มขึ้นร้อยละ 6 ทุกระดับค่า PM2.5 ที่เพิ่มขึ้น 10 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร โดยเสียชีวิตจากมะเร็งปอดร้อยละ 15-21 และโรคหัวใจร้อยละ 12-14  อีกทั้ง PM2.5 ยังส่งผลให้การออกกำลังในผู้ใหญ่ลดลง รวมถึงเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคเบาหวาน โรคจมูกอักเสบ ภูมิแพ้ในเด็ก และโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังอีกด้วย (5)

วิกฤตที่ถูกมองข้าม

วิกฤตฝุ่นละออง PM2.5 ได้รับการยกระดับการแก้ปัญหาเป็นวาระแห่งชาติ เพราะเกิดขึ้นทุกปี โดยเฉพาะในช่วงปลายฤดูหนาวก่อนเข้าฤดูร้อน (ต้นกุมภาพันธ์) และดูเหมือนจะทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ อย่างเช่นที่จังหวัดเชียงใหม่ ได้กลายเป็นพื้นที่ที่มีอากาศแย่ที่สุดในโลก และยอดผู้ป่วยใหม่ที่เกี่ยวข้องกับมลพิษอากาศมีสูงกว่า 30,000 คน

ตลอดหลายปีมานี้ เราได้เห็นนักคิด นักวิชาการ รวมถึงแพทย์จำนวนมากออกมาให้ความรู้ความเข้าใจเรื่อง PM2.5 ตลอดจนวิพากษ์วิจารณ์ ชำแหละสาเหตุ และเสนอแนะแนวทางแก้ไขปัญหา จนติดตามอ่านและฟังกันไม่หวาดไม่ไหว แต่ก็ดูเหมือนว่า ปัญหาดังกล่าวจะยังไม่ได้รับการแก้ไขอย่างจริงจัง

ศ.ไทเลอร์ โคเวน นักเศรษฐศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยจอร์จ เมสัน เจ้าของบล็อกด้านเศรษฐศาสตร์ชื่อดัง Marginal Revolution ได้เขียนบทความลงหนังสือพิมพ์ Bloomberg ชื่อว่า “Air Pollution Kills Far More People Than Covid Ever Will” โดยหยิบงานวิจัยชิ้นล่าสุดที่ทำโดยนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเบอร์มิงแฮม  มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด และมหาวิทยาลัยยูนิเวอร์ซิตี้ คอลเลจ ลอนดอน มานำเสนอและได้ตั้งคำถามดัง ๆ ฝากไปถึงผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับเรื่องมลพิษอากาศ

 

 

 

โฟกัสของงานวิจัยคือ PM2.5 ที่มาจากการเผาไหม้ของเชื้อเพลิงฟอสซิล โดยเฉพาะถ่านหิน ก๊าซ และเบนซิน ซึ่งทำให้ผู้คนทั่วโลกเสียชีวิตกว่า 10.2 ล้านคน ในปี 2555 โดยร้อยละ 62 ของผู้เสียชีวิตอาศัยอยู่ในประเทศจีน (3.9 ล้านคน) และอินเดีย (2.5 ล้านคน) ขณะที่ไทยมีผู้เสียชีวิตจาก PM2.5 กว่า 71,184 คน (สูงเป็นอันดับสามของอาเซียนรองจากอินโดนีเซียและเวียดนาม) โดยผู้วิจัยมีความเห็นว่า PM2.5 ที่มาจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิลนี้ควบคุมได้ง่ายกว่า PM2.5 ที่เกิดจากสาเหตุอื่น เช่น ฝุ่นและควันจากไฟป่า

 

 

แม้ว่าผลกระทบจากโรคที่เกิดจาก PM2.5 จะรุนแรง ทว่าการระบาดของโควิด-19 ได้แย่งพื้นที่ข่าวและความสนใจไปจนหมด ผลกระทบจากฝุ่นพิษเลยดูเหมือนจะเป็นเรื่องรอง ๆ ที่เรามักจะหันมาสนใจเป็นครั้งคราว พออากาศดีขึ้นก็เลิกให้ความสนใจ ประหนึ่งว่า ปีหน้าฝุ่นมันจะไม่กลับมาอีก ซึ่งโคเวนให้ความเห็นว่า หากคุณเชื่อว่าการสูบบุหรี่ไม่ดี เพราะอันตรายเสียจนคร่าชีวิตคนได้ คุณภาพอากาศแย่ ๆ ก็อันตรายพอ ๆ กัน

เขายังอธิบายด้วยว่า ส่วนมากแล้วผลกระทบที่เรามักจะเห็นกัน เป็นผลกระทบที่เกิดกับประเทศอื่น ๆ เช่น เกิดกับจีนและอินเดีย เราจึงคิดว่า ไม่ใช่เรื่องของเราโดยเฉพาะ อย่างไรก็ตาม ในกรณีของไทยมีผู้ที่เสียชีวิตจาก PM2.5 ประมาณ 70,000 คน (ต่อปี) มากกว่ายอดผู้เสียชีวิตรวมจากโควิด-19 หลายเท่าตัว ไม่แน่ว่าหลังจากที่ ใครสักคนเห็นผลจากการวิจัยชิ้นนี้แล้วจะตระหนกและตระหนักกับ PM2.5 มากขึ้น (6)

 

กรณีศึกษาผู้ป่วยมะเร็งปอดจาก PM2.5

แม้ว่ามลพิษอากาศจะส่งผลกระทบต่อสุขภาพ และทำให้คนเสียชีวิตจำนวนมาก แต่เรามักจะไม่เห็นผลกระทบโดยตรง เพราะไม่เห็นข่าวว่าคุณลุง คุณป้า ออกไปยืนหน้าบ้านที่จังหวัดเชียงใหม่แล้วเสียชีวิตโดยทันที แต่ผลของ PM2.5 ได้ซ่อนอยู่ในมะเร็งปอดและโรคหัวใจและหลอดเลือด

รศ.ดร.ภาณุวรรณ จันทวรรณกูร อาจารย์คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) อาจเป็นหนึ่งในตัวอย่างของผู้ป่วยโรคมะเร็งปอด เธอเสียชีวิตเมื่อเช้าวันที่ 18 มีนาคม 2565 โดยตัวเธอเพิ่งทราบว่า ป่วยเป็นมะเร็งปอดระยะที่ 3 เมื่อปลายปี 2564 ท่ามกลางความแปลกใจของผู้ใกล้ชิด เพราะอายุยังน้อย ไม่สูบบุหรี่หรือใกล้ชิดกับกิจกรรมเสี่ยงอื่น ยกเว้นอาศัยอยู่ในเมืองเชียงใหม่ซึ่งเป็นพื้นที่ปัญหาจากฝุ่นควัน PM2.5 มาอย่างยาวนาน

เมื่อทราบว่าตัวเองเป็นผู้ป่วยจากโรคร้าย อาจารย์ภาณุวรรณ ปวารณาตัวเป็นกรณีตัวอย่างผู้ได้รับผลกระทบจากฝุ่นละอองขนาดเล็ก และติดตามการผลักดันการแก้ปัญหามลพิษฝุ่นควันมาโดยตลอด

 

รศ.ดร.ภาณุวรรณ จันทวรรณกูร อาจารย์คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.)

 

ก่อนหน้านี้ ผศ.ดร.ว่าน วิริยา ผู้ช่วยหัวหน้าศูนย์วิจัยวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เปิดเผยบนเวทีเสวนา เชียงใหม่ เพื่อลมหายใจที่ดีกว่าตอนหนึ่งว่า เป็นเรื่องน่าใจหายถึงผลการตรวจสุขภาพของรุ่นพี่ที่รักและนับถือกัน คือ รศ.ดร.ภาณุวรรณ จันทรวรรณกูร อาจารย์ประจำคณะวิทยาศาสตร์ มช. ที่เพิ่งรับทราบว่า ตัวเองเป็นมะเร็งปอด ระยะที่ 3

อาจารย์ภาณุวรรณเป็นผู้เชี่ยวชาญเรื่องผึ้งระดับโลก ไม่มีประวัติเกี่ยวข้องกับการสูบบุหรี่ หรือใกล้ชิดกับผู้สูบบุหรี่ เพียงแค่อยู่อาศัยในพื้นที่มีฝุ่นควัน PM2.5 ในเชียงใหม่มานานกว่า 10 ปี และอาจารย์ต้องการให้นำอาการป่วยของตัวเองมาเป็นบทเรียนและจะได้เข้าใจถึงผลกระทบจากฝุ่น PM2.5” อาจารย์ว่าน ยังระบุ

ข้อมูลจาก ศ.นพ.ชายชาญ โพธิรัตน์ จากหน่วยวิชาโรคระบบการหายใจ เวชบำบัดวิกฤตและภูมิแพ้ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ระบุว่า แนวโน้มการเสียชีวิตในช่วงที่มีค่ามลภาวะทางอากาศสูงจากปี 2559-2562 เพิ่มขึ้นกว่า 200% นอกจากนี้จากการศึกษาขององค์การอนามัยโลกในส่วนของประเทศไทยพบว่า มีผู้เสียชีวิตจาก PM2.5 สูงเป็น 4 เท่าของการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุการจราจรทางบก (7)

ข้อมูลจากหลายหน่วยงานหลายสถาบันตอกย้ำว่า ฝุ่น PM2.5 เป็นสาเหตุที่มีความเชื่อมโยงกับการป่วยมะเร็งปอดและโรคอื่น ๆ ที่ทำให้คนไทยเสียชีวิตอันดับต้น ๆ ดังนั้น ตัวเลขความสูญเสียจากฝุ่นพิษในแต่ละปีน่าจะช่วยเพิ่มความตระหนักรู้ถึงต้นตอของปัญหาได้เป็นอย่างดี และทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องควรต้องลงมือแก้ปัญหามลพิษอากาศอย่างจริงจังเสียตั้งแต่วันนี้

อ้างอิง

(1) https://www.prachachat.net/general/news-869575

(2) https://www.pptvhd36.com/health/news/155

(3) https://www.facebook.com/igreenstory/posts/3114319188883973

(4) https://www.prd.go.th/th/content/category/detail/id/39/iid/9163

(5) https://www.malengpod.com/ฝุ่น-pm2-5-กับสุขภาพ/

(6) https://thematter.co/social/environment/why-thai-govt-ignore-pm25-crisis/137991

(7) https://www.facebook.com/igreenstory/photos/a.1502559170059991/3067832580199301

งานบทความที่กำลังเป็นที่ได้รับความสนใจ

ส่วนที่ 3 : บริบทแวดล้อม และปัจจัยเอื้อ เครื่องมือ โปรแกรม สื่อ ในการสร้างเสริมสุขภาวะด้านสุขภาพจิตที่เหมาะสมกับแต่ละกลุ่มเป้าหมาย
defaultuser.png

Admin ID3

ส่วนที่ 3 : บริบทแวดล้อม และปัจจัยเอื้อ เครื่องมือ โปรแกรม สื่อ ในการส...

สร้างรากฐานชีวิตเด็ก ๆ ด้วยหนังสือ ไม่มีวิธีการสื่อสารใดทดแทนการอ่านได้
1708931705.jpg

Super Admin ID1

สร้างรากฐานชีวิตเด็ก ๆ ด้วยหนังสือ ไม่มีวิธีการสื่อสารใดทดแทนการอ่านได...

เยาวชน เหยื่อรายใหม่ของบุหรี่ไฟฟ้า
defaultuser.png

ชลธิดา เณรบำรุง

เยาวชน เหยื่อรายใหม่ของบุหรี่ไฟฟ้า

แผนผังโครงสร้างระบบ (Site map)
1719481749.jpeg

Super Admin ID2

แผนผังโครงสร้างระบบ (Site map)

การตรวจสุขภาพตับ ทวงคืนสุขภาพที่ดี
1708931705.jpg

Super Admin ID1

การตรวจสุขภาพตับ ทวงคืนสุขภาพที่ดี

งานบทความที่เกี่ยวข้อง

surachet@thaihealth.or.th

Highlight
หญ้าทะเล ลุ่มน้ำเค็ม และป่าชายเลน เป็นระบบนิเวศสำคัญในการดูดซับคาร์บอน มีอัตราการกักเก็บที่รวดเร็วในระยะยาว และถึงแม้จะมีพื้นที่เพียง 0.5% ของพื้นที่ชายฝั่งทั่วโลก แต่สามารถกักเก็บคาร์บอนได้ถึง 5% ของปริมาณคาร์บอนทั้งหมดของโลก
ไมโครพลาสติกเป็นหนึ่งในปัญหาที่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อป่าชายเลนโดยมีการประมาณการว่าขยะพลาสติกถูกปล่อยลงสู่มหาสมุทรมากถึง 12.7 ล้านตันในปี 2010 และคาดว่าจะเพิ่มเป็นสองเท่าในปี 2025 
ขนาดไมโครพลาสติกที่พบมากที่สุดจากการเก็บตัวอย่างคือ 100-330 ไมครอน ซึ่งพลาสติกเหล่านี้เกิดจากกิจกรรมภายในครัวเรือน เช่น การซักผ้า และถุงพลาสติกที่ปนเปื้อนมากับขยะอาหาร