บทนำ
ด้วยกระแสรักสุขภาพทำให้ผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มที่ติดป้าย “น้ำตาล 0%” หรือ “ปราศจากน้ำตาล” ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก
ผู้ที่ต้องการลดการบริโภคน้ำตาล หรือต้องการทางเลือกในการรับประทานอาหาร เพื่อดูแลสุขภาพ ผลิตภัณฑ์เหล่านี้จึงดูเหมือนจะเป็นสัญญาณแห่งความหวัง แต่ปรากฏการณ์ “น้ำตาล 0%” อาจไม่ใช่เป็นคำตอบที่ถูกต้องที่สุด เพราะตัวเลือกเพื่อสุขภาพนี้ ยังมีด้านมืดซ่อนอยู่
น้ำตาล 0% เพิ่มน้ำหนักและรอบเอว!
การบริโภคเครื่องดื่มที่มีน้ำตาล 0% หรือปราศจากน้ำตาล ไม่ได้การันตีถึงการมีสุขภาพดีหรือสามารถลดน้ำหนักได้ เพราะมีผลการศึกษาระบุถึงผลลัพธ์ในทางตรงกันข้าม
ข้อมูลจากทีมนักวิจัยชาวออสเตรเลียพบว่า สารให้ความหวานแทนน้ำตาล เช่น ซูคราโลส แอสปาร์แตม อะซีซัลเฟม-เค จะไปขัดขวางจุลินทรีย์ชนิดดีในลำไส้ ซึ่งส่งผลให้การทำงานของกระบวนการเผาผลาญอาหาร การควบคุมและการดูดซึมน้ำตาลกลูโคสเกิดความผิดปกติ และในระยะยาวยังเสริมให้แบคทีเรียก่อโรคไปเปลี่ยนสมดุลจุลินทรีย์ในลำไส้และการตอบสนองต่อฮอร์โมนควบคุมความหิว-อิ่มจากกระเพาะอาหาร ซึ่งยิ่งเป็นการเพิ่มผลเสียต่อการควบคุมน้ำตาลในเลือด ก่อให้เกิดภาวะอ้วนลงพุง และเพิ่มความเสี่ยงโรคเบาหวานชนิดที่ 2 มากขึ้นไปอีก นอกจากนี้สารให้ความหวานแทนน้ำตาลยังมีผลกระทบต่อสมองในส่วนการควบคุมการหลั่งอินซูลินและฮอร์โมนได้ด้วย
ในกรณีที่ดื่มเครื่องดื่มน้ำตาล 0% พร้อมกับรับประทานอาหาร สารให้ความหวานแทนน้ำตาลจะส่งผลต่อความรู้สึกอิ่ม โดยเข้าไปขัดขวางไม่ให้ร่างกายส่งสัญญาณอิ่มไปยังสมอง ทำให้เกิดการบริโภคอาหารมากเกินความจำเป็น
การดื่มเครื่องดื่มที่มีน้ำตาล 0% เฉลี่ยวันละประมาณ 2 กระป๋อง ในระยะเวลา 10 ปี จะทำให้ขนาดรอบเอวเพิ่มขึ้นมากกว่าผู้ที่ดื่มเครื่องดื่มแบบปกติถึง 5 เท่า
ต้องระวัง! ความหวานจากแอสปาร์แตม
สารให้ความหวานทดแทนน้ำตาลที่ผู้ผลิตอาหารเครื่องดื่มนิยมใช้มากที่สุดคือ แอสปาร์แตม เพราะมีรสชาติใกล้เคียงน้ำตาลทรายมากที่สุด ให้ความหวานประมาณ 200-300 เท่าของน้ำตาลทรายในปริมาณเดียวกัน
แอสปาร์แตมใช้กันอย่างแพร่หลายมาตั้งแต่ทศวรรษ 1980 พบในเครื่องดื่มลดน้ำหนัก เครื่องดื่มประเภทแคลอรีต่ำ หรือน้ำตาล 0% รวมไปถึงหมากฝรั่ง เจลาติน ไอศกรีม ผลิตภัณฑ์จากนม เช่น โยเกิร์ต ซีเรียล วิตามินแบบเคี้ยว ฯลฯ
องค์การอนามัยโลกแนะนำให้บริโภคอาหารและเครื่องดื่มที่มีแอสปาร์แตในปริมาณที่กำหนด เพราะมีผลการศึกษาพบว่า แอสปาร์แตมเป็นสารที่อาจก่อมะเร็งในมนุษย์ แต่ไม่ได้แนะนำให้บริษัทต่าง ๆ เลิกใช้ และไม่ได้แนะนำให้ผู้บริโภคหยุดบริโภคสารนี้โดยสิ้นเชิง
แอสปาร์แตมสามารถบริโภคได้อย่างปลอดภัย หากอยู่ในปริมาณที่กำหนด โดยควรบริโภคแอสปาร์แตมต่อวันไม่เกิน 40 มิลลิกรัม ต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม สำหรับคนน้ำหนักตัว 60-70 กิโลกรัม ถ้าดื่มน้ำอัดลมที่มีส่วนผสมของแอสปาร์แตม 9-14 กระป๋องต่อวัน จะมีความเสี่ยงเป็นอันตรายต่อสุขภาพ
ลด ละ น้ำตาล วิธีหวานอย่างปลอดภัย
น้ำตาลไม่ว่าจะมาจากธรรมชาติหรือสารสกัดใด ๆ ต่างต้องระวังในเรื่องปริมาณ เพราะถ้าหากบริโภคมากเกินไปก็อาจก่อให้เกิดผลเสียได้ แม้แต่หวาน 0% หากมากเกินไปจะทำให้เกิดการเสพติดรสหวาน ซึ่งเสี่ยงต่อการเกิดโรค NCDs หรือกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง เช่น โรคอ้วน โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ทั้งยังเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดการอักเสบ ทำร้ายจุลินทรีย์ในลำไส้ ทำให้ร่างกายอยู่ในภาวะไม่สมดุล ส่งผลเสียต่อการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน
ปริมาณน้ำตาลที่เหมาะสม ไม่ควรบริโภคเกิน 4-6 ช้อนชาต่อวัน ควรระวังอาหารและเครื่องดื่มบางชนิดที่ซ่อนน้ำตาลไว้มากกว่าที่คิด เช่น น้ำอัดลม 1 กระป๋อง (350 มิลลิลิตร) มีน้ำตาล 37 กรัม หรือประมาณ 9 ช้อนชา น้ำผลไม้กล่อง 1 กล่อง (200 มิลลิลิตร) มีน้ำตาล 18 กรัม หรือ ประมาณ 4.5 ช้อนชา ชานมไข่มุก 1 แก้ว (500 มิลลิลิตร) มีน้ำตาล 38 กรัม หรือประมาณ 9 ช้อนชา ทุเรียนหมอนทอง 100 กรัม มีน้ำตาล 14 กรัม หรือประมาณ 3.5 ช้อนชา เป็นต้น
การลดน้ำตาลหรือกินหวานให้พอดี สามารถทำได้ในชีวิตประจำวัน เช่น
- สั่งเครื่องดื่มหวานน้อย ลดระดับความหวานให้เหลือ 0-50 %
- อ่านฉลากโภชนาการ ตรวจสอบปริมาณน้ำตาล หลีกเลี่ยงอาหาร-เครื่องดื่มที่มีน้ำตาลสูง
- เลือกผลไม้หวานน้อย กินผลไม้แทนขนมหรืออาหารว่าง เช่น แอปเปิลเขียว ฝรั่ง กล้วย แก้วมังกร ผลไม้ตระกูลเบอร์รี ฯลฯ
- มองหาสัญลักษณ์โภชนาการทางเลือกสุขภาพ ซึ่งให้ข้อมูลของผลิตภัณฑ์นั้น ๆ ผ่านการตรวจสอบแล้วว่ามีน้ำตาล ไขมัน โซเดียม ฯลฯ อยู่ในปริมาณที่เหมาะสม
อ้างอิง
ปัทมาสน์ ชนะรัชชรักษ์, WHO ประกาศให้แอสปาร์แตมเป็นสารอาจก่อมะเร็ง แต่ยังกินได้ปลอดภัยหากอยู่ใน
ปริมาณที่กำหนด, 14 กรกฎาคม 2566, https://thestandard.co/who-announced-aspartame-
ศูนย์ข้อมูลการวิจัย Digital "วช.", น้ำอัดลมสูตรน้ำตาล 0เปอร์เซ็นต์ ไม่ทำให้อ้วนจริงหรือ,
https://dric.nrct.go.th/News/DetailKnowledge/622
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ, 4 เทคนิค ลดน้ำตาล กินหวานอย่างไรให้แฮปปี้, 12 ตุลาคม
2564, https:// www.thaihealth.or.th/4-เทคนิค-ลดน้ำตาล-กินหวาน-2/
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ, WHOประกาศ ‘แอสปาร์แตม’ สารให้ความหวานแทน
น้ำตาล อาจก่อมะเร็ง แนะนำให้บริโภคอย่างพอประมาณ, 17 กรกฎาคม 2566,
https://www.thaihealth.or.th/whoประกาศแอสปาร์แตมสารอา/
Liam Davenport, Sweeteners Disrupt Blood Glucose Via Effects on Gut Bacteria, 29 ตุลาคม
2561, https://www.medscape.com/viewarticle/903163
2 ถูกใจ 601 การเข้าชม
งานบทความที่กำลังเป็นที่ได้รับความสนใจ
งานบทความที่เกี่ยวข้อง
เข้าสู่ระบบเพื่อโพสต์ความคิดเห็น
ความคิดเห็น 0