1

0

บทนำ

 

 

ปัญหาด้านสุขภาพเป็นปัญหาที่สำคัญอย่างหนึ่งของประเทศไทย ซึ่งสามารถเกิดขึ้นได้กับประชากรทุกกลุ่ม รวมถึงพระภิกษุสงฆ์

จากการศึกษาพบว่า พระสงฆ์ไทยแนวโน้มมีปัญหาสุขภาพมากขึ้น โดยเฉพาะการอาพาธเจ็บป่วยด้วยกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคไขมันในเลือดสูง ฯลฯ ซึ่งมีสาเหตุหลักมาจากการบริโภคอาหารที่ไม่เหมาะสม

เนื่องด้วยพระสงฆ์ต้องประพฤติปฏิบัติอยู่ในพระธรรมวินัยซึ่งกําหนดให้ฉันอาหารตามที่ญาติโยมผู้มีจิตศรัทธาจัดมาถวายเท่านั้น ถ้าหากชาวพุทธไม่มีความรู้ความเข้าใจและความตระหนักในการเลือกอาหารใส่บาตรถวายพระก็อาจทำให้เป็นต้นเหตุของการอาพาธของพระสงฆ์ได้

เช่นนั้นแล้ว การใส่ใจเลือกอาหารมีคุณค่าทางโภชนาการสำหรับใส่บาตรถวายพระ จึงนับเป็นการทำบุญที่ได้บุญอย่างแท้จริง เพราะสามารถช่วยให้สุขภาวะและคุณภาพชีวิตพระสงฆ์ไทยดีขึ้นได้

สถิติสงฆ์ไทยอาพาธ

ข้อมูลจากกรมการแพทย์ ระบุว่า พระสงฆ์มีปัญหาทางด้านสุขภาพ โดยเฉพาะเจ็บป่วยเป็นโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง อาจจะต้องเข้ารับการรักษาและฉันยาตลอดชีวิต รวมถึงการต้องเป็นผู้ป่วยติดเตียง

จากการสำรวจสุขภาพพระสงฆ์ของโรงพยาบาลสงฆ์ ในปี 2565 พบว่า พระสงฆ์อาพาธด้วยโรคความดันโลหิตสูง ร้อยละ 45.23 โรคเบาหวาน ร้อยละ 44.23 โรคไขมันในเลือดสูง ร้อยละ 42.25 โรคไตวายเรื้อรัง ร้อยละ 29.81 ฯลฯ

ในขณะผลการสำรวจพฤติกรรมสุขภาพพระสงฆ์ ปี 2565 จำนวน 18,496 รูป ของกรมอนามัย พบว่า พระสงฆ์มีพฤติกรรมสุขภาพที่พึงประสงค์เพียงร้อยละ 25.58 ส่งผลให้พระสงฆ์ป่วยด้วยกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง

สาเหตุหลักของการเจ็บป่วยของพระสงฆ์มาจากอาหารที่พุทธศาสนิกชนนำไปทำบุญถวายหรือรับบิณฑบาตมาจากชุมชนซึ่งมักจะเป็นอาหารหวาน มัน เค็ม อีกทั้งเป็นอาหารสำเร็จรูปที่หาซื้อได้อย่างสะดวก แต่อาจจะไม่มีคุณค่าทางอาหารเท่าที่ควร

ความเชื่อสู่ความเสี่ยง

ความเชื่อในเรื่องการทำบุญใส่บาตรและถวายภัตตาหารของชาวพุทธยังส่งผลต่อสุขภาพของพระสงฆ์ จากงานวิจัยเรื่อง “ความเชื่อและพฤติกรรมการทำบุญใส่บาตรและถวายภัตตาหารของชาวพุทธที่เอื้อต่อสุขภาพของพระสงฆ์: กรณีศึกษาในจังหวัดน่าน” ระบุว่า  ชาวพุทธเชื่อในเรื่องการทำบุญเพื่อให้เกิดสิริมงคลแก่ตัวเอง รวมทั้งบุคคลอันเป็นที่รัก และบุคคลที่เสียชีวิตไปแล้ว โดยอาหารทำบุญจะมีความหมายเกี่ยวข้องกับความชอบส่วนบุคคล เช่น ใส่บาตรหรือถวายอาหารที่ตนหรือคนที่เราทำบุญไปให้ชอบรับประทาน

 


          อาหารที่นิยมถวายพระรวมถึงอาหารที่เป็นมงคลต่าง ๆ ได้แก่ ขนมหวาน อาทิ ทองหยิบ ทองหยอด ฯลฯ โดยลืมคิดไปว่า อาหารเหล่านั้นดีต่อสุขภาพของพระสงฆ์หรือไม่

นอกจากนี้แล้ว อาหารที่นำไปถวายพระส่วนใหญ่ไม่ได้ปรุงเอง แต่เป็นอาหารสำเร็จรูปซึ่งไม่ใช่ทางเลือกในการบริโภคที่ดีที่สุด

ในงานวิจัยนี้ระบุว่า อาหารถวายพระสงฆ์ส่วนใหญ่เป็นอาหารซื้อมากกว่าปรุงเองในครัวเรือน จากการสํารวจอาหารจากการทำบุญใส่บาตรและถวายภัตตาหารทั้งหมด 163 รายการ พบว่าเป็นอาหารที่ซื้อ 113 รายการ หรือคิดเป็นร้อยละ 69.3

อาหารถวายพระสงฆ์ ร้อยละ 31.7 ประกอบไปด้วย แป้ง ไขมัน เช่น บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป แคบหมู อาหารผัด แกง กะทิ นมรสหวาน ขนมหวาน เป็นต้น ซึ่งเป็นอาหารโซนสีแดงที่ส่งต่อการเกิดโรคทางระบบหัวใจและหลอดเลือด

ความเชื่อในเรื่องการทำบุญใส่บาตรและถวายภัตตาหารของชาวพุทธจึงอาจกลายเป็นความเสี่ยง เมื่อพระสงฆ์ไม่สามารถปฏิเสธอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการน้อย และหากฉันซ้ำบ่อย ๆ ก็อาจส่งผลเสียต่อร่างกายได้ ชาวพุทธจึงควรทำความเข้าใจหรือเปลี่ยนแปลงความเชื่อเหล่านั้นเพื่อสุขภาพของพระสงฆ์

 

ใส่บาตรยุคใหม่ให้สงฆ์ไทยได้สุขภาพ

เมื่อตั้งใจที่จะทำบุญใส่บาตรควรเลือกถวายอาหารที่ไม่เป็นภัยต่อสุขภาพของพระสงฆ์ หลัก ๆ คือ หลีกเลี่ยงอาหารหวาน มัน และเค็ม

อาหารหวานจัด เป็นที่มาโรคเบาหวาน อาหารหวานมาก ๆ ทำให้ตับอ่อนทำงานหนัก จนอาจไม่สามารถผลิตอินซูลินได้อย่างเพียงพอ คาร์โบไฮเดรต เช่น ข้าวจะกลายเป็นน้ำตาลเมื่อถูกย่อย ควรเลือกถวายข้าวกล้องแทน เปลี่ยนของหวานที่มีแป้ง น้ำตาล และไขมันสูงเป็นผลไม้ หรือถวายในปริมาณน้อย

อาหารมันจัด เป็นที่มาโรคไขมันในเลือดสูง หลีกเลี่ยงของทอดที่ใช้น้ำมันมาก ๆ งดโปรตีนหรือเนื้อสัตว์ที่มีไขมันสูง เช่น หมูสามชั้น หนังไก่ทอด ฯลฯ เปลี่ยนอาหารทอดหรือผัดเป็นอาหารประเภทต้ม นึ่ง ยำ อบ ลวก เป็นต้น

อาหารเค็มจัด เป็นที่มาของโรคความดันโลหิตสูง เสี่ยงต่อการเป็นโรคหัวใจ และควรเพิ่มใยอาหารให้สูงขึ้น มีธัญพืช ผัก และผลไม้รวมอยู่ด้วย

อาหารที่ควรใส่บาตรหรือถวายพระ เช่น ข้าวกล้อง ข้าวซ้อมมือ พืชตระกูลถั่ว พืชผักผลไม้ที่ไม่หวานจัดหลากหลายชนิดตามฤดูกาล อาหารประเภทเนื้อปลา เต้าหู้ นมจืด นมพร่องมันเนย โยเกิร์ตรสธรรมชาติ และน้ำปานะซึ่งเป็นเครื่องดื่มที่ฉันได้หลังมื้อเพล ควรหวานน้อย ลดน้ำตาล เพิ่มโปรตีน เช่น นมถั่วเหลือง เป็นต้น

หากเป็นอาหารสำเร็จรูป อาหารแห้ง อาหารกระป๋อง ควรเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ที่มีเครื่องหมายของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.), สถานที่ผลิต, วัน-เดือน-ปีที่ผลิตและหมดอายุ, ลักษณะของกระป๋องต้องไม่บวม ไม่บุบ ไม่มีรอยรั่ว และไม่เป็นสนิม ถ้าเป็นไปได้ให้เลือกซื้ออาหารและเครื่องดื่มที่มีสัญลักษณ์ทางเลือกสุขภาพ (Healthier Choice)

เพื่อให้พระภิกษุสงฆ์มีสุขภาพดีห่างไกลจากโรค รวมทั้งการทำบุญแล้วได้บุญอย่างแท้จริง ทุกครั้งที่ใส่บาตรหรือถวายภัตตาหารจึงควรคำนึงถึงประโยชน์และคุณค่าทางอาหารด้วย

 

อ้างอิง

รัชนีกร ตาเสน, ทรงวุฒิ ตวงรัตนพันธ์, ความเชื่อและพฤติกรรมการทำบุญใส่บาตรและถวายภัตตาหารของชาว

พุทธที่เอื้อต่อสุขภาพของพระสงฆ์: กรณีศึกษาในจังหวัดน่าน, 5 สิงหาคม 2562, https://he01.tci-

thaijo.org/index.php/kkujphr/article/view/164932/158241

สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.), ใส่บาตร ใส่ใจสุขภาพ พระสงฆ์, 27 มกราคม 2566,

https://happy8workplace.thaihealth.or.th/articles/89

สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.), เผยพระสงฆ์เกินครึ่งป่วยเบาหวาน แนะลดใส่บาตร

อาหารหวาน-มัน-เค็ม, 24 มีนาคม 2566, https://www.thaihealth.or.th/เผยพระสงฆ์เกินครึ่งป่ว/

The coverage, ปี 65 พระภิกษุ ป่วยโรค NCDs พุ่ง รพ.สงฆ์ มุ่งเพิ่มทักษะ ‘พระคิลานุปัฏฐาก’ ‘ประเมิน

อาการ-ใช้อุปกรณ์แพทย์เบื้องต้น’ ช่วยเหลือดูแลความป่วยไข้ในวัด, 17 กรกฎาคม 2566,

https://www.thecoverage.info/news/content/5166

 

งานบทความที่กำลังเป็นที่ได้รับความสนใจ

เมื่อเข้าใจหัวอกพนักงาน   ‘การลาออกครั้งใหญ่’ ก็จะหมดไป
1708931705.jpg

Super Admin ID1

เมื่อเข้าใจหัวอกพนักงาน ‘การลาออกครั้งใหญ่’ ก็จะหมดไป

โรคซึมเศร้า ไม่ใช่แค่เราคิดไปเอง
defaultuser.png

ศศิตา ปิติพรเทพิน

โรคซึมเศร้า ไม่ใช่แค่เราคิดไปเอง

ลาออกไปเงียบ ๆ ชีวิตวิถีใหม่ของคนทำงาน
1708931705.jpg

Super Admin ID1

ลาออกไปเงียบ ๆ ชีวิตวิถีใหม่ของคนทำงาน

หยุดกินตามอารมณ์ ตัดวงจรพฤติกรรมทำลายสุขภาพ
1708931705.jpg

Super Admin ID1

หยุดกินตามอารมณ์ ตัดวงจรพฤติกรรมทำลายสุขภาพ

ข้ามพ้นภาวะเครียดช่วงโควิด-19 รักษาสุขภาพใจ ลดผลกระทบระยะยาว
1708931705.jpg

Super Admin ID1

ข้ามพ้นภาวะเครียดช่วงโควิด-19 รักษาสุขภาพใจ ลดผลกระทบระยะยาว

งานบทความที่เกี่ยวข้อง

surachet@thaihealth.or.th

“งานหนักไม่เคยฆ่าใคร …”

อย่าเชื่อ ! ถ้ามีใครมาบอกคุณอย่างนั้น เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นในปัจจุบันแสดงให้เห็นแล้วว่า งานหนักทำให้คนตายได้ จากผลการศึกษาขององค์การอนามัยโลกที่เผยแพร่ในปี 2564 ระบุว่า ในหนึ่งปีมีมากกว่า 7 แสนคนเสียชีวิตจากการทำงานหนักเกินไปจนส่งผลให้เกิดโรคหลอดเลือดสมองและหัวใจ