0

0

บทนำ

 

 

 

Highlight

  • ผู้ใหญ่วัยทำงานจำนวนมากติดเค็มและบริโภคโซเดียมมากกว่าปริมาณที่แนะนำต่อวัน ซึ่งอาจก่อให้เกิดโรค เช่น โรคหัวใจ หลอดเลือดสมอง ความดันโลหิตสูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งโรคไตเรื้อรัง
  • จากคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก (WHO) ผู้ใหญ่ควรบริโภคโซเดียมไม่เกิน 2,000 มิลลิกรัมต่อวัน หรือเทียบเท่าเกลือ 1 ช้อนชาหรือ 5 กรัม เฉลี่ยแล้วไม่ควรได้รับโซเดียมเกิน 600 มิลลิกรัมต่อมื้ออาหาร
  • โซเดียมไม่ใช่แค่เกลือหรือน้ำปลา อาหารและเครื่องดื่มหลายชนิดมีปริมาณโซเดียมแฝงอยู่ เช่น เครื่องดื่มเกลือแร่และน้ำผลไม้ ซึ่งมีโซเดียมแฝงมาในวัตถุเจือปนอาหาร โดยเฉพาะสารกันบูด
  • อาหารริมทางหรือสตรีทฟู้ดมากกว่าครึ่งใช้โซเดียมเป็นส่วนประกอบในระดับความเสี่ยงสูงต่อสุขภาพ โดยกับข้าวและอาหารจานเดียวส่วนใหญ่มีโซเดียมเกินกว่า 1,500 มิลลิกรัมต่อถุงหรือกล่อง
  • วิธีหลีกเลี่ยงการบริโภคโซเดียมที่ได้ผลคือปรุงอาหารรับประทานเอง ควรเลือกใช้วัตถุดิบสดใหม่ สามารถช่วยคุมปริมาณเกลือในมื้ออาหารได้ ปรุงอาหารด้วยเครื่องปรุงรสต่าง ๆ เท่าที่จำเป็น ไม่เติมผงชูรส ผงปรุงรส หรือซอสต่าง ๆ ควรเลือกซื้ออาหารจากร้านค้าที่มั่นใจว่าที่ไม่ใช้ผงชูรส ผงปรุงแต่งรส หรือซื้อจากร้านอาหารเพื่อสุขภาพ

 

 

ในหนึ่งวันของชีวิตคนวัยทำงาน อาจจะเริ่มต้นด้วย เติมพลังยามเช้าด้วยขนมปังทาเนย ไส้กรอก ไข่ดาวเหยาะซอสปรุงรสแล้วรีบเร่งไปทำงาน มื้อกลางวันรับประทานอาหารจานเดียวง่าย ๆ อย่างเช่นก๋วยเตี๋ยวร้านข้างออฟฟิศที่ต้องปรุงรสด้วยน้ำปลา น้ำตาล น้ำส้ม ฯลฯ ตามความเคยชิน พอถึงช่วงบ่าย เปิดถุงขนมขบเคี้ยวรสเค็มเป็นของว่าง ตกค่ำกลับบ้านทำกับข้าวสูตรเด็ดที่ประกอบด้วยสารพัดซอส และดึกดื่นตื่นมากินบะหมี่สำเร็จรูปอีกสักห่อ …’

หลายคนอาจมองว่านี่เป็นเรื่องปรกติที่ใคร ๆ ก็ทำกัน แต่ถ้าฉุกใจลองคิดคำนวณดูอาจพบว่าอาหารที่เราบริโภคในแต่ละวันนั้นมีปริมาณเกลือหรือโซเดียมมากเกินไปแบบไม่ธรรมดา

ที่ผ่านมามีผลการศึกษาระบุว่า ผู้ใหญ่วัยทำงานจำนวนมากติดเค็มและบริโภคโซเดียมมากกว่าปริมาณที่แนะนำต่อวัน ซึ่งอาจก่อให้เกิดโรค เช่น โรคหัวใจ หลอดเลือดสมอง ความดันโลหิตสูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งโรคไตเรื้อรัง

เพื่อลดความเสี่ยงโรคเหล่านั้น จึงควรปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภค โดยการ “ลดเค็ม” แม้เพียงเล็กน้อยอาจสามารถส่งผลให้สุขภาพดีขึ้นอย่างมาก

“รสเค็ม” ของคนไทย

จากคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก (WHO) ผู้ใหญ่ควรบริโภคโซเดียมไม่เกิน 2,000 มิลลิกรัมต่อวัน หรือเทียบเท่าเกลือ 1 ช้อนชาหรือ 5 กรัม เฉลี่ยแล้วไม่ควรได้รับโซเดียมเกิน 600 มิลลิกรัมต่อมื้ออาหาร

แต่จากผลการศึกษาพบว่า คนไทยส่วนใหญ่ไม่รู้ตัวว่า บริโภคโซเดียมสูงกว่าที่ร่างกายต้องการถึง 2 เท่า การบริโภคโซเดียมมากเกินไป ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้คนไทยเป็นโรคเรื้อรังมากขึ้น

ปัจจุบันพบว่ามีผู้ป่วยโรคเรื้อรังจำนวนมาก โดยกรมควบคุมโรค ได้เปิดเผยข้อมูลในวันที่ 17 พฤษภาคม 2565 ซึ่งตรงกับวันความดันโลหิตสูงโลก (World Hypertension Day) ว่า ข้อมูลจากองค์การอนามัยโลก (WHO) พบว่า ในกลุ่มประชากรอายุ 30-79 ปี มีผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงเกือบ 1.3 พันล้านคน และยังพบว่าโรคความดันโลหิตสูงเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ก่อให้เกิดโรคอื่นๆ เช่น โรคหัวใจขาดเลือด โรคหลอดเลือดสมอง โรคไต เป็นต้น ซึ่งเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตก่อนวัยอันควร

ขณะที่รายงาน ปี 2565 ของกระทรวงสาธารณสุข ประเทศไทย ในระบบ Health Data Center เมื่อวันที่ 20 กันยายน 2565 มีข้อมูลผู้สูงอายุในระบบ 9,527,054 คน พบปัญหาสุขภาพ ผู้สูงอายุส่วนใหญ่เจ็บป่วยด้วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง อันดับ 1 คือโรคความดันโลหิตสูง คิดเป็นร้อยละ 46.06 รองลงมาคือ โรคเบาหวาน ร้อยละ 21.12 และโรคหลอดเลือดสมอง ร้อยละ 2.43

โซเดียมแฝงอยู่รอบตัวเรา

คนไทยมีแนวโน้มการบริโภคโซเดียมมากเกินไป เพราะชอบกินอาหารเค็ม ติดรสเค็ม หรือจากความไม่รู้ส่วนประกอบของปริมาณโซเดียมในอาหาร อย่างเช่นอาหารซึ่งปรุงจำหน่ายในร้านอาหารจำนวนมากนั้นอาจมีโซเดียมมากกว่า 2,000 มิลลิกรัมต่อหนึ่งหน่วยบริโภค โดยโซเดียมมาจากเครื่องปรุงต่าง ๆ เครื่องปรุงรสยอดนิยมของคนไทยชนิดต่าง ๆ เช่น เกลือ 1 ช้อนโต๊ะ มีโซเดียมมากที่สุด 6,000 มิลลิกรัม, น้ำปลา 1 ช้อนโต๊ะ มีโซเดียม 1,160-1,420 มิลลิกรัม, กะปิ 1 ช้อนโต๊ะ มีโซเดียม 1,430-1,490 มิลลิกรัม, ซีอิ๊วขาว 1 ช้อนโต๊ะ มีโซเดียม 960-1,420 มิลลิกรัม และ ซอสหอยนางรม 1 ช้อนโต๊ะ มีโซเดียม 420- 490 มิลลิกรัม

โซเดียมยังอยู่ในอาหารปรุงสำเร็จ อาหารกึ่งสำเร็จรูป อาหารกระป๋อง อาหารหมักดอง ขนมขบเคี้ยวต่าง ๆ หรือแม้แต่อาหารที่ไม่มีรสเค็มอย่างขนมที่มีการเติมผงฟู เช่น เค้ก คุกกี้ แพนเค้ก ขนมปัง ฯลฯ

 

 

เพราะว่า โซเดียมไม่ใช่แค่เกลือหรือน้ำปลา อาหารและเครื่องดื่มหลายชนิดมีปริมาณโซเดียมแฝงอยู่ เช่น เครื่องดื่มเกลือแร่และน้ำผลไม้ ซึ่งมีโซเดียมแฝงมาในวัตถุเจือปนอาหาร โดยเฉพาะสารกันบูด

นอกจากนี้ อาหารธรรมชาติทุกชนิด มีโซเดียมเป็นองค์ประกอบ โดยเนื้อสัตว์ นม ไข่ จะมีปริมาณโซเดียมสูงกว่าผักผลไม้ ธัญพืช และถั่วเมล็ดแห้งที่ยังไม่แปรรูป ถึงอย่างไรอาหารธรรมชาติเหล่านี้มีปริมาณโซเดียมน้อยกว่าอาหารที่ผ่านกระบวนการปรุงแต่ง และมีสารอาหารที่ร่างกายต้องการได้รับรวมอยู่ด้วย

สถิติติดเค็มของคนวัยทำงาน

สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และไวตามินส์ คอนซัลติ้ง แอนด์ รีเสิร์ช ได้สำรวจทัศนคติและพฤติกรรมในการบริโภคอาหารของคนไทยผ่านระบบออนไลน์ Buzzebees panel ในช่วงเดือนพฤษภาคม 2565 จากกลุ่มตัวอย่าง 400 คน ในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัดพบว่า

-           ร้อยละ 58 ติดอาหารรสเค็ม แต่พยายามหลีกเลี่ยง เพราะรู้ว่าการกินเค็มไม่ดี

-           ร้อยละ 27 พยายามลดเค็มโดยไม่ปรุงเพิ่ม หรือไม่กินอาหารรสเค็มเลย

-           คนอายุ 18-39 ปี หรือคนทำงาน เป็นกลุ่มที่ติดปรุงหรือเพิ่มน้ำจิ้มเป็นประจำ ร้อยละ 19.2 เหตุผลส่วนหนึ่งเป็นเพราะต้องทำงานและกินข้าวนอกบ้าน

-           ภาคเหนือกินอาหารรสเค็มมากที่สุด ร้อยละ 28 ภาคใต้-ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ร้อยละ 18 ภาคกลาง กรุงเทพฯ และปริมณฑล ร้อยละ 12

-           การทำอาหารที่บ้าน ร้อยละ 55 ติดปรุงอาหารเน้นรสชาติและความอร่อยเป็นหลัก โดยเฉพาะกลุ่มคนทำงาน

-           ร้อยละ 34 เลี่ยงปรุงอาหารโดยการใส่น้ำปลา มีเพียงร้อยละ 6 ไม่ใช้เครื่องปรุง ส่วนใหญ่เป็นคนอายุ 50 ปีขึ้นไป

-           การรับประทานอาหารนอกบ้าน ร้อยละ 25 สั่งลดความเค็มลง ร้อยละ 73 รับประทานตามรสชาติของร้านอาหาร ทั้งยังปรุงรสเพิ่มด้วยน้ำปลา

-           ร้อยละ 79 ปรุงน้ำปลาเพิ่มในก๋วยเตี๋ยว ร้อยละ 10 เท่านั้นที่ไม่ใส่พริกน้ำปลาและน้ำจิ้มในอาหาร

-           ร้อยละ 70 กินน้ำซุปในแกงจืดตั้งแต่ครึ่งถ้วยไปจนถึงหมดถ้วย

-             ส่วนใหญ่รับประทานอาหารแปรรูป เช่น ไส้กรอก หมูยอ รวมถึงขนมขบเคี้ยวประเภทปลาเส้น และบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป เฉลี่ยสัปดาห์ละครั้ง วัยรุ่นนิยมรับประทานอาหารเหล่านี้ค่อนข้างสูง และรับประทานมากขึ้นเมื่ออายุ 30 ปีขึ้นไป จากนั้นจะค่อย ๆ ลดปริมาณการกินลงเมื่ออายุ 50 ปีขึ้นไป

-           ร้อยละ 75 อ่านฉลากบนบรรจุภัณฑ์ก่อนซื้อ ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มคนทำงาน

-           เกือบร้อยละ 90 ยอมรับว่า ปริมาณโซเดียมบนบรรจุภัณฑ์มีผลต่อการซื้อสินค้า กลัวว่าหากบริโภคอาหารที่มีโซเดียมมากจะส่งผลต่อร่างกาย

 

อาหารริมทาง โซเดียมสูง

ชีวิตคนไทยและคนวัยทำงานจำนวนมากฝากท้องไว้กับอาหารริมทาง ด้วยความอร่อย ถูกปาก สะดวกสบาย แต่ในอีกด้านหนึ่ง หากบริโภคอาหารเหล่านั้นโดยไม่ระวัง อาจส่งผลเสียกับสุขภาพทั้งในปัจจุบันและอนาคต

จากการศึกษาพบว่า อาหารริมทางหรือสตรีทฟู้ดมากกว่าครึ่งใช้โซเดียมเป็นส่วนประกอบในระดับความเสี่ยงสูงต่อสุขภาพ โดยกับข้าวและอาหารจานเดียวส่วนใหญ่มีโซเดียมเกินกว่า 1,500 มิลลิกรัมต่อถุงหรือกล่อง

จากการสุ่มเก็บตัวอย่างอาหารหาบเร่แผงลอยทั้งริมบาทวิถีและในตลาด รวมถึงศูนย์อาหารจากเขตต่าง ๆ ของกรุงเทพมหานครพบว่า ส่วนใหญ่มีปริมาณโซเดียมต่อน้ำหนักหน่วยขายเป็นถุงหรือกล่องในระดับเสี่ยงต่อสุขภาพ

อาหารประเภทที่เสี่ยงสูงคือ ประเภทกับข้าว ชนิดที่มีน้ำแกงทั้งใส่กะทิและไม่ใส่กะทิ ได้แก่ แกงไตปลา แกงเขียวหวาน พะแนงหมู ฯลฯ ชนิดที่ใส่พริกแกง ได้แก่ ผัดเผ็ดปลาดุก ปลาทอดราดพริก รวมถึงเครื่องจิ้ม เช่น น้ำพริก มีปริมาณโซเดียมมากกว่า 2,000 มิลลิกรัมต่อถุงที่จำหน่าย

และประเภทอาหารจานเดียว ชนิดที่มีน้ำซุปในกลุ่มอาหารเส้น เช่น ก๋วยเตี๋ยว ต้มเลือดหมู ก๋วยจั๊บ สุกี้ ฯลฯ รวมถึงอาหารแซ่บ เช่น ส้มตำปูปลาร้า ส้มตำไทย มีปริมาณโซเดียมมากกว่า 2,000 มิลลิกรัมต่อถุงที่จำหน่าย

จากการทดสอบมีความเป็นไปได้ที่ร้านค้าจะมีการใช้ผงชูรส ผงปรุงแต่งรสชนิดก้อน/ผง ในปริมาณสูงเกินความจำเป็น รวมทั้งการใช้ส่วนผสม เช่น ไตปลา ปลาร้า พริกแกง และกะปิ ที่มีความเค็มสูง

หลีกเลี่ยงโซเดียมอย่างไร

จากการสำรวจทัศนคติและพฤติกรรมคนนิยมลดการกินโซเดียมพบว่า คนนิยมลดการกินโซเดียมด้วยวิธีไม่ใส่ผงชูรส ร้อยละ 37 หลีกเลี่ยงการกินอาหารแปรรูปและหมักดอง ร้อยละ 30 และไม่เติมเกลือและน้ำปลาเพิ่มลงในอาหาร ร้อยละ 28 นอกจากนี้ยังมีวิธีการลดโซเดียมลดเกลือลดเค็มในชีวิตประจำวันอีกหลายวิธีคือ

 

            -ลดโซเดียมที่บ้าน

วิธีหลีกเลี่ยงการบริโภคโซเดียมที่ได้ผลคือปรุงอาหารรับประทานเอง ควรเลือกใช้วัตถุดิบสดใหม่ สามารถช่วยคุมปริมาณเกลือในมื้ออาหารได้ ปรุงอาหารด้วยเครื่องปรุงรสต่าง ๆ เท่าที่จำเป็น ไม่เติมผงชูรส ผงปรุงรส หรือซอสต่าง ๆ ควรเลือกซื้ออาหารจากร้านค้าที่มั่นใจว่าที่ไม่ใช้ผงชูรส ผงปรุงแต่งรส หรือซื้อจากร้านอาหารเพื่อสุขภาพ

ควรลดความถี่การกินอาหารประเภทกับข้าวที่มีการใช้ส่วนผสมของไตปลา ปลาร้า พริกแกง กะปิ ฯลฯ ลดการกินน้ำปรุงส้มตำ น้ำยำ/พล่าต่าง ๆ ในอาหารรสแซ่บ ลดการกินน้ำแกงทั้งชนิดที่ใส่กะทิและไม่ใส่กะทิในอาหารประเภทกับข้าว รวมทั้งน้ำต้มยำ ต้มโคล้ง

ลดการกินน้ำซุปในอาหารประเภทก๋วยเตี๋ยว บะหมี่ สุกี้ ลดการกินน้ำจิ้มของอาหารที่มีน้ำจิ้มทุกประเภท ตลอดจนหลีกเลี่ยงอาหารว่างประเภทอาหารแปรรูป ได้แก่ ไส้กรอก หมูยอ ลูกชิ้น เป็นต้น อาหารกึ่งสำเร็จรูป ขนมกรุบกรอบ อาหารหมักดอง อาหารกระป๋อง และขนมเบเกอรี่

และที่สำคัญคือ ควรฝึกให้เด็ก ๆ รับประทานอาหารรสธรรมชาติไม่ปรุงแต่งรสมากนัก

 

 

-ลดโซเดียมที่ร้านของชำ

ก่อนจะซื้ออาหารหรือวัตถุดิบประกอบอาหารต่าง ๆ ควรอ่านฉลากโภชนาการ ด้วยการสังเกตปริมาณโซเดียม รวมถึงโซเดียมแฝงที่ปรากฎบนภาชนะบรรจุผลิตภัณฑ์นั้น ๆ เพื่อประกอบการตัดสินใจก่อนซื้อทุกครั้ง

ควรเลือกซื้อเนื้อสัตว์ปีกสด ปลา เนื้อหมู และเนื้อไม่ติดมันแทนการบ่ม หมักเกลือ รมควัน และเนื้อสัตว์แปรรูปอื่น ๆ รวมทั้งให้ตรวจดูว่าเติมน้ำเกลือหรือเกลือหรือไม่

หากเป็นไปได้ให้เลือกอาหารบรรจุกล่องที่ระบุว่า โซเดียมต่ำ” “ลดโซเดียมหรือ ไม่เติมเกลือ

เปรียบเทียบปริมาณโซเดียมในผลิตภัณฑ์ต่างๆ โดยอ่านฉลากข้อมูลโภชนาการ เลือกตัวเลือกที่มีปริมาณโซเดียมต่ำที่สุด

 

-ลดโซเดียมที่ร้านอาหาร

สอบถามข้อมูลโภชนาการก่อนสั่งอาหาร เช่น ส่วนผสมของเครื่องปรุง เป็นต้น และเลือกอาหารโซเดียมต่ำ ขอให้ไม่ใส่เกลือหรือขอให้ลดเค็มในอาหารที่สั่ง ไม่สั่งอาหารผักหรือผลไม้ใส่เกลือเป็นเครื่องเคียง แบ่งมื้ออาหารกับเพื่อนหรือสมาชิกในครอบครัว

 

เพื่อปรับปรุงสุขภาพโดยรวมและความเป็นอยู่ของคนวัยทำงานให้ดีขึ้น ทุกคนสามารถเริ่มต้นก้าวแรกได้ตั้งแต่วันนี้ ด้วยการลดเค็ม ลดเกลือ ลดโซเดียม เพื่อลดโรคที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต

 

อ้างอิง

https://multimedia.anamai.moph.go.th/news/100365/

https://www.brandbuffet.in.th/2022/09/thaihealth-survey-salty-working-people/

https://ddc.moph.go.th/brc/news.php?news=25290&deptcode=brc

https://thainews.prd.go.th/th/news/detail/TCATG221114111317811

https://resourcecenter.thaihealth.or.th/article/ส่องเมนูอาหาร-street-food-ประลองความเค็ม

https://www.cdc.gov/salt/reduce_sodium_tips.htm

งานบทความที่กำลังเป็นที่ได้รับความสนใจ

‘ปทุมวันโมเดล’ พื้นที่นำร่อง เขตควบคุมมลพิษต่ำเพื่อสุขภาพคนกรุง
1708931705.jpg

Super Admin ID1

‘ปทุมวันโมเดล’ พื้นที่นำร่อง เขตควบคุมมลพิษต่ำเพื่อสุขภาพคนกรุง

ส่วนที่ 2 : กระบวนการ และกลไก สร้างเสริมสุขภาวะ เพื่อส่งเสริมจัดการแก้ไขปัจจัยเสี่ยงที่ส่งผลต่อสุขภาพจิต
defaultuser.png

Admin ID3

ส่วนที่ 2 : กระบวนการ และกลไก สร้างเสริมสุขภาวะ เพื่อส่งเสริมจัดการแก้...

คนรุ่นใหม่กับโรคติดพนัน และสัญญาณเตือนวิกฤตสุขภาพจิต
1708931705.jpg

Super Admin ID1

คนรุ่นใหม่กับโรคติดพนัน และสัญญาณเตือนวิกฤตสุขภาพจิต

ทำความรู้จัก เพจ "สารส้ม" พื้นที่ปลอดภัย เสริมพลังเยาวชน ห่างยาเสพติด
1708931705.jpg

Super Admin ID1

ทำความรู้จัก เพจ "สารส้ม" พื้นที่ปลอดภัย เสริมพลังเยาวชน ห่างยาเสพติด

“ธนาคารเวลา”  เสริมสร้างคุณภาพชีวิตสูงวัย ด้วยนวัตกรรมทางสังคม
1708931705.jpg

Super Admin ID1

“ธนาคารเวลา” เสริมสร้างคุณภาพชีวิตสูงวัย ด้วยนวัตกรรมทางสังคม

งานบทความที่เกี่ยวข้อง

surachet@thaihealth.or.th

 

อยู่ ๆ พนักงานคนเก่งคนดีก็ลาออกไปอย่างไม่มีปี่มีขลุ่ย! ทั้ง ๆ ที่ก่อนหน้านั้น พวกเขาเคยแสดงความมุ่งมั่น ทุ่มเท และหลงใหลในงานของตัวเองอย่างมาก

กับสถานการณ์เช่นนี้ เมื่อค้นลงลึกอาจพบว่า เหตุผลที่อยู่เบื้องหลังคือ Brown-out Syndrome” หรือ “ภาวะหมดใจในการทำงาน”

Brown-out หมายถึง ไฟตก อาจมีไฟดับเป็นบางช่วง ขณะที่ในโลกของการงาน บราวน์-เอาท์ ซินโดรม คือ การขาดแรงจูงใจ ขาดความกระตือรือร้น มีความสนใจในงานลดลง รู้สึกไม่ได้รับคุณค่าและความสำคัญเท่าที่ควร จึงทำให้ออกห่างจากงานมากขึ้น ซึ่งส่งผลกระทบในระยะยาวทั้งต่องานและชีวิตส่วนตัว