บทนำ
Hilight
• “ปทุมวันโมเดล” มีวัตถุประสงค์กระตุ้นให้ประชาชนเกิดความตระหนักในการดูแลสุขภาพ โดยสร้างความร่วมมือใช้รถปล่อยมลพิษต่ำและส่งเสริมการใช้รถสาธารณะพลังงานสะอาด
• โครงการนี้นำแนวคิดมาจากเขตควบคุมมลพิษต่ำ (Low Emission Zone) ซึ่งมีต้นแบบจากกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษมาประยุกต์ใช้ โดยกำหนดพื้นที่นำร่องถนนพระราม 1 ระยะทางจากแยกราชประสงค์ถึงแยกปทุมวัน โดยจะดำเนินการตลอดปี 2565
• แบ่งการดำเนินงานโครงการออกเป็น 3 ระดับ ระดับที่ 1 รถยนต์พนักงานจะให้บริการตรวจไอเสียรถยนต์ ตรวจควันดำ ระดับที่ 2 ผู้ทำการค้าร่วมกับทางห้าง เช่น ซับพลายเออร์ที่มาส่งของหรือสินค้าที่จะใช้รถมีมลพิษต่ำ และระดับที่ 3 ลูกค้า ห้างร้านจะชักจูงให้ลูกค้าใช้บริการขนส่งสาธารณะ
----------
ฝุ่นกลับมาแล้ว!
ฝุ่นกลับมาแล้ว! เป็นประจำทุกปี เมื่อย่างเข้าสู่ฤดูหนาวยาวเรื่อยไปจนถึงต้นฤดูร้อน ระหว่างเดือนพฤศจิกายนไปจนถึงมีนาคม จะเกิดวิกฤตฝุ่นละอองขนาดเล็กขึ้นในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล โดยสาเหตุหลักมาจากการจราจรและการขนส่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งรถยนต์ดีเซล รวมไปถึงการปล่อยควันจากโรงงานอุตสาหกรรม และการเผาในที่โล่ง (1)
ฝุ่น PM2.5 หรือ ฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน เป็นมลพิษอากาศที่เป็นปัญหาหลักในเมืองใหญ่แทบทุกแห่งของโลก ซึ่งส่งผลกระทบต่อทั้งสุขภาพอนามัยของประชาชน สิ่งแวดล้อม และการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ โดยเฉพาะใน กทม.และปริมณฑลที่ผ่านมาเกิดวิกฤตฝุ่นละอองที่มีค่าเกินมาตรฐานติดต่อกันหลายวันและต่อเนื่องหลายปี ทำให้ภาครัฐและภาคส่วนอื่น ๆ ต่างให้ความสำคัญและพยายามหาทางแก้ไขอย่างจริงจังมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม รูปธรรมในแง่นโยบาย ตั้งแต่ปี 2562 เป็นต้นมา รัฐบาลได้กำหนดให้การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละอองเป็นวาระแห่งชาติ ในขณะที่กรุงเทพมหานคร (กทม.) ก็มีนโยบายและแผนรองรับ รวมถึงแผนพัฒนากรุงเทพมหานคร ระยะ 20 ปี (พ.ศ. 2556-2575) ก็มุ่งเป้าให้พื้นที่กรุงเทพฯ ลดค่าฝุ่นละอองให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน
หนึ่งในความพยายามที่น่าสนใจ เมื่อเร็ว ๆ นี้มีการเปิดตัว “โครงการอากาศสะอาดเขตปทุมวัน” หรือ “ปทุมวันโมเดล” โดยโครงการนี้มีวัตถุประสงค์กระตุ้นให้ประชาชนเกิดความตระหนักในการดูแลสุขภาพ โดยสร้างความร่วมมือในการตรวจสอบสภาพรถที่อาจปล่อยมลพิษทางอากาศ รวมถึงเพิ่มทางเลือกให้ประชาชนปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ตลอดจนส่งเสริมการใช้รถสาธารณะพลังงานสะอาดที่ไม่ก่อให้เกิดมลพิษ
พื้นที่นำร่องโครงการคือ ถนนพระราม 1 ระยะทางจากแยกราชประสงค์มาถึงแยกปทุมวัน โดยความร่วมมือของหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมการขนส่งทางบก, กองบังคับการตำรวจจราจร, องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.), สำนักงานเขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร (กทม.), กรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ฯลฯ รวมทั้งหน่วยงาน สถาบัน และห้างร้านต่าง ๆ ที่ประกอบกิจการอยู่ 2 ฝั่งถนน โดยได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และมีศูนย์วิชาการเพื่อขับเคลื่อนการป้องกันและแก้ไขปัญหามลพิษอากาศ (ศวอ.) เป็นผู้รับผิดชอบดำเนินงาน
รศ.วงศ์พันธ์ ลิมปเสนีย์ ผู้อำนวยการศูนย์วิชาการเพื่อขับเคลื่อนการป้องกันและแก้ไขปัญหามลพิษอากาศ (ศวอ.) อธิบายว่า ย้อนไปเมื่อ 2 ปีก่อน กรุงเทพมหานครได้ดำเนินการโครงการถนนอากาศสะอาดเขตปทุมวันขึ้น และปทุมวันโมเดลนี้จึงเป็นการสานต่อและเริ่มต้นใหม่อย่างเป็นรูปธรรม เพื่อแก้ไขปัญหาฝุ่นกลางเมือง สร้างพื้นที่ต้นแบบในการลด PM2.5 โดยนำระบบตรวจสอบสภาพรถ บริการรถพลังงานไฟฟ้าสาธารณะ นำเซ็นเซอร์วัดมลพิษแบบเรียลไทม์มาใช้ สร้างความร่วมมือในการพัฒนาแนวทางป้องกันและแก้ไขปัญหา เพื่อคืนอากาศสะอาดให้คนกรุงเทพฯ
ปทุมวันโมเดล
สำหรับปทุมวันโมเดลได้นำแนวคิดเขตควบคุมมลพิษต่ำ (Low Emission Zone) ซึ่งมีต้นแบบจากกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษมาประยุกต์ใช้ “โครงการนี้ได้ทำไปพร้อมกับการลดจราจรติดขัดในกรุงลอนดอน มีการเก็บค่าเข้าเขตเมือง พร้อมไปกับการลดมลพิษที่ออกมาจากไอเสียรถยนต์ กรุงลอนดอนทำมานานจนประสบความสำเร็จและมีการขยายพื้นที่ นอกจากนี้ยังมีการดำเนินงานในเมืองอื่น ๆ ของยุโรป เช่น กรุงปารีส เป็นต้น
“การจราจรคับคั่งในเมืองเป็นสาเหตุของมลพิษสูง เป็นอันตรายต่อสุขภาพของผู้คนที่อาศัยอยู่หนาแน่น จะทำยังไงเพื่อลดปริมาณการจราจรและการปล่อยไอเสีย ทำให้รถปล่อยมลพิษต่ำ จึงมีการกำหนดให้รถที่ปล่อยมลพิษสูงเข้าในเมืองน้อยลง โดยมีการจัดเก็บค่าผ่านทาง แต่ถ้าเป็นรถที่มีมลพิษต่ำก็ให้เข้าได้ตามปกติ ซึ่งหลักการก็จะแตกต่างกับการลดการจราจรคับคั่งซึ่งจะจัดเก็บทุกคัน จะช่วยลดมลพิษอากาศที่มีผลต่อสุขภาพประชาชน” อาจารย์วงศ์พันธ์อธิบายแนวคิด
ความสำเร็จจากลอนดอนจะถูกนำมาปรับใช้ในพื้นที่ใจกลางกรุงเทพฯ “เราทดลองทำในพื้นที่เล็ก ๆ ระยะทางสั้น ๆ แต่ว่ามีกิจการร้านค้าอยู่มาก มีการจราจรคับคั่ง และมีสถานีรถไฟฟ้าซึ่งทำให้ค่ามลพิษสูงขึ้น เพราะว่ามีอาคารปิดคลุมพื้นที่ ทำให้มีการสะสมของมลพิษ เราไม่ได้ห้ามรถเข้าพื้นที่ เพราะจะมีผลกระทบอื่น ๆ ตามมา รถก็จะไปแออัดในที่อื่น แล้วก็ไม่สอดคล้อง ถ้าเราประสบความสำเร็จในพื้นที่นี้ เราจะขยายไปในพื้นที่ที่กว้างขึ้น เราก็คงจะไม่สามารถปิดถนนทั้งหมดได้ รถจะวิ่งได้ตามปกติ แต่จะทำยังไงให้รถที่วิ่งบนถนนปล่อยมลพิษต่ำ”
โครงการเริ่มต้นด้วยการเชิญชวนผู้ประกอบการในพื้นที่รวมทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชนเข้ามาร่วม เช่น ห้างเซ็นทรัลเวิลด์, สยามพารากอน, มาบุญครอง รวมทั้งหน่วยงานและสถานที่โดยรอบ เช่น สำนักงานตำรวจแห่งชาติ วัดปทุมวนาราม ฯลฯ ที่มีรถเข้ามาในพื้นที่ โดยจะทำอย่างไรให้รถยนต์เหล่านี้ปล่อยมลพิษต่ำลง
ปทุมวันโมเดลจะแบ่งการดำเนินงานออกเป็น 3 ระดับ ระดับที่ 1 รถยนต์ของพนักงานซึ่งน่าจะเป็นรถที่ปล่อยมลพิษต่ำ มาตรการคือจะหาวิธีการปลูกจิตสำนึกพนักงาน การให้บริการตรวจไอเสียรถยนต์ ตรวจควันดำ รวมไปถึงชักชวนให้ใช้รถน้อยลง และให้หันมาใช้ขนส่งสาธารณะ
ระดับที่ 2 คือผู้ทำการค้าร่วมกับทางห้าง เช่น ซับพลายเออร์ที่มาส่งของหรือสินค้าต่าง ๆ จะสื่อสารไปยังกลุ่มนี้ว่าควรใช้รถที่มีมลพิษต่ำ ซึ่งจะมีวิธีการตรวจวัดไอเสีย และการตรวจสภาพรถยนต์ ระดับที่ 3 คือลูกค้า โดยห้างร้านจะมีวิธีการชักจูงให้ลูกค้าใช้บริการขนส่งสาธารณะ หรือประชาสัมพันธ์ให้ลูกค้าดูแลรักษารถยนต์ที่จะมาใช้บริการกับทางห้าง
“เราจะช่วยเรื่องบริการตรวจวัดไอเสียรถ การดูแลบำรุงรถ มีหน่วยงานที่เข้ามาช่วย เช่น การตรวจวัดไอเสียก็จะมีกรมควบคุมมลพิษหรือทาง กทม. สถาบันเทคโนโลยีปทุมวันมาช่วยดูแลบำรุงรักษารถ รวมถึงตำรวจซึ่งมาช่วยดูเรื่องการจราจร ถ้าการจราจรไม่ติดขัดจะมีผลกับมลพิษ สำหรับรถประจำทางที่วิ่งบนถนนก็จะขอให้ ขสมก.ใช้รถประจำทางมลพิษต่ำ มีการตรวจวัด ซึ่ง ขสมก.ก็บอกอยู่แล้วว่ามีการตรวจวัดไอเสียรถก่อนที่ออกจากอู่ ขอให้มั่นใจว่าเป็นรถที่ปล่อยมลภาวะเป็นพิษต่ำ”
อาจารย์วงศ์พันธ์ กล่าวว่า ทั้ง 3 ระดับยังแบ่งเป็น 2 ขั้นตอน ขั้นตอนแรก ผู้บริหารสูงสุดขององค์กรของห้าง จะต้องมีนโยบายการสื่อสารกับพนักงาน และต้องมีความตั้งใจหรือมีเจตจำนงที่เกี่ยวเนื่องกับกิจการของห้าง เมื่อได้ผลอย่างไรก็จะมีการเผยแพร่ทางสื่อประชาสัมพันธ์ทั้งในองค์กรเองและภายนอกเพื่อให้ประชาชนรับทราบว่าทางห้างได้ทำเรื่องนี้เป็นการแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม
โครงการอากาศสะอาดเขตปทุมวันยังมุ่งพัฒนานวัตกรรมทั้งระบบฐานข้อมูลออนไลน์กรุงเทพอากาศสะอาดต้นแบบ (BMA-BLEZ) เพื่อรายงานผลการตรวจสอบสภาพรถของผู้ที่ใช้รถในเขตปทุมวัน รวมไปถึงบริการรถสาธารณะพลังงานไฟฟ้า พร้อมจุดจอดบริการแก่ประชาชนบริเวณศูนย์การค้า สถานประกอบการ และจุดต่าง ๆ ในพื้นที่ รวมทั้งมีระบบเซ็นเซอร์วัดค่า PM2.5 เฉพาะจุด ที่สามารถแสดงผลทันที เพื่อให้คนในพื้นที่ทราบค่าคุณภาพอากาศได้ผ่านจอแสดงผล (2)
โครงการนี้จะดำเนินการตลอดปี 2565 จนถึงฤดูกาลฝุ่นหน้า ระหว่างนี้จะมีการวัดผลสำเร็จในขั้นต้นคือ ความร่วมมือ ความตั้งใจของผู้บริหาร พนักงาน ซับพลายเออร์ และลูกค้าที่มาใช้บริการห้างว่ามีการตอบสนองอย่างไรบ้าง และที่จะวัดผลจริงก็คือ จะดูว่าคุณภาพอากาศที่ดีขึ้นหรือไม่หลังจากมีโครงการนี้ เช่น อากาศสะอาดขึ้นหรือไม่ ฝุ่นน้อยลงหรือไม่
“เรามีเครื่องตรวจวัดมลพิษซึ่งได้ความร่วมมือจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มาติดเครื่องวัดฝุ่น PM2.5 จำนวน 4 จุด ตั้งแต่แยกปทุมวัน สยามสแควร์ แยกอังรีดูนังต์ ไปจนถึงแยกราชประสงค์ แสดงผลขึ้นบนจอ ทุกคนสามารถดูได้ผ่านทั้งแอปพลิเคชั่นและเว็บไซต์ Sensor for All เป็นการรายงานผลเรียลไทม์ซึ่งจะเป็นตัวบ่งชี้สถานการณ์ปัจจุบันและประสิทธิผลการดำเนินการ”
ในพื้นที่ของโครงการยังมีบริการขนส่งสาธารณะที่เป็นรถไฟฟ้ามาช่วยสนับสนุน อย่างเช่น มูฟมี (Muvmi) บริการเรียกรถผ่านโมบายล์ แอปพลิเคชั่น เพื่อใช้เดินทางเฉพาะย่าน ให้บริการในระบบ Ride Sharing ทางเดียวกันไปด้วยกัน จองรถให้มารับตามจุดต่าง ๆ แล้วไปส่งตามจุดต่าง ๆ โดยไม่ต้องขับรถมา มีการประสานกับทางห้างให้มีที่จอด มีจุดรับส่งของให้สะดวกขึ้น
ในฐานะ ศวอ. เป็นศูนย์วิชาการจึงจะเข้าไปให้ความรู้และทำความเข้าใจกับหน่วยงานต่าง ๆ ที่เข้าร่วมโครงการ มีเกณฑ์การประเมินเพื่อให้คะแนนและมอบรางวัลสำหรับห้างร้านที่เข้าร่วมเมื่อสิ้นสุดโครงการด้วย
“ตรงนี้เป็นพื้นที่ทดลองที่เราจะสามารถประเมินประสิทธิภาพความสำเร็จได้ ทุกคนสามารถทำได้อย่างเดียวกันถ้าอยากให้อากาศกรุงเทพฯ ดีขึ้น ใช้ระบบขนส่งสาธารณะหรือสนับสนุนรถไฟฟ้า บำรุงดูแลรักษารถให้สภาพดี ปล่อยมลพิษน้อยลง ถ้าซื้อรถใหม่ก็ให้มีมาตรฐานการปล่อยมลพิษที่ดี เราก็หวังว่ามันจะช่วยลดมลพิษของกรุงเทพฯได้” อาจารย์วงศ์พันธ์ระบุ
โครงการนี้อาจเป็นก้าวแรกที่จะทำให้มีการขยายพื้นที่หรือพัฒนาต่อยอดกลายเป็นนโยบายการปฏิบัติในอนาคต แต่ก็ยังมีอีกหลายขั้นตอน ไม่ว่าการจะใช้ระบบเก็บค่าผ่านทางตามปริมาณมลพิษ การติดเครื่องหมายแสดงว่ารถคันนี้มีมาตรฐานไอเสียระดับไหน ซึ่งขณะนี้มีร่างมาตรฐานการปล่อยมลพิษของรถยนต์ใหม่เป็นมาตรฐานยูโร 5-6 ที่จะประกาศใช้ปี 2567 รวมทั้งการใช้รถยนต์ไฟฟ้า ถึงแม้ว่ามาตรฐานน้ำมันดีเซลยังไม่เกิดก็ตาม แต่ก็เป็นแนวคิดที่สามารถขยายผลต่อไปได้
ความคาดหวังที่จะทำให้กรุงเทพฯ ก้าวไปไกลเป็นเขตควบคุมมลพิษต่ำอย่างลอนดอนอาจจะยังอีกไกลเพราะจำเป็นต้องอาศัยหลายปัจจัยหนุน โดยเฉพาะต้องอาศัยความตั้งใจความมุ่งมั่นของผู้บริหาร อย่างเช่นที่ลอนดอน ผู้ว่าฯ เป็นผู้อำนวยการในเรื่องนี้ โดยอาศัยหน่วยงานรัฐส่วนอื่นเข้ามาร่วม ซึ่งขณะนี้มีการพัฒนาเทคโนโลยีขึ้นมามาก จากแรกเริ่มที่ยังใช้ระบบธรรมดา แต่สมัยนี้ได้ใช้ระบบอัตโนมัติแล้ว
อีกประเด็นที่สำคัญก็คือ การดำเนินงานโครงการอากาศสะอาดเขตปทุมวันหรือ “ปทุมวันโมเดล” ยังเป็นช่องทางในการสื่อให้ประชาชนรับทราบว่า อากาศสะอาดสามารถตีเป็นมูลค่าออกมาได้ มีประโยชน์ต่อสุขภาพ “สิ่งที่จะได้จากคุณภาพอากาศที่ดีขึ้นคือ สุขภาพที่ดีขึ้น” ซึ่งคุ้มค่ากับสิ่งที่ต้องจ่ายหรือแลกมา ไม่ว่าจะเป็นงบประมาณ ความไม่สะดวก หรือความเคยชินเก่า ๆ บางอย่าง
ดังนั้นพื้นที่นำร่องการแก้ปัญหาฝุ่น PM2.5 ในเขตปทุมวันจึงเป็นโครงการที่น่าสนใจ เพราะหากได้รับความร่วมมือจากทุกฝ่ายอย่างจริงจัง โอกาสที่กรุงเทพฯ จะมี Low Emission Zone บางจุดบางพื้นที่ก็จะมีความเป็นไปได้จริง
อ้างอิง
0 ถูกใจ 593 การเข้าชม
งานบทความที่กำลังเป็นที่ได้รับความสนใจ
งานบทความที่เกี่ยวข้อง
เข้าสู่ระบบเพื่อโพสต์ความคิดเห็น
ความคิดเห็น 0