0

0

บทนำ

 

ฟรีแลนซ์หรือคนทำอาชีพอิสระมีแนวโน้มเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างรวดเร็วและกำลังกลายเป็นหนึ่งในกระแสนิยมของวิธีการทำงานซึ่งทรงพลังที่สุดแห่งยุค

ในขณะที่บรรดาฟรีแลนซ์กำลังเพลิดเพลินกับความเป็นอิสระของพวกเขา หากลองค้นลงลึกจะพบว่า มีความท้าทายหลายอย่างซ่อนอยู่ ซึ่งรวมถึงความเสี่ยงที่จะเกิด “ภาวะหมดไฟ” หรือ “Burnout” ไม่แตกต่างกับคนที่ทำงานประจำ

 

ฟรีแลนซ์การเติบโตที่ตอบโจทย์ชีวิตยุคใหม่

นับวัน “ฟรีแลนซ์” หรือผู้ประกอบอาชีพอิสระยิ่งมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น ด้วยความก้าวหน้าของเทคโนโลยีและการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตเป็นปัจจัยสำคัญ อีกทั้งยังเป็นวิถีการทำงานที่ตอบโจทย์คนยุคใหม่ซึ่งต้องการอิสรภาพ นิยมพึ่งพาตัวเอง และมีความยืดหยุ่นในชีวิตมากขึ้น ประกอบกับการจ้างงานฟรีแลนซ์ที่เพิ่มมากขึ้นด้วย

การเติบโตของฟรีแลนซ์ทำให้เกิดระบบเศรษฐกิจใหม่เรียกว่า Gig Economy หรือระบบเศรษฐกิจแบบกิ๊ก (Gig หมายถึง งานหรืออาชีพอิสระ) เริ่มต้นเมื่อ 20 ปีก่อน หลังเกิดภาวะเศรษฐกิจซบเซา บริษัทต่าง ๆ พยายามลดต้นทุน จากที่เคยจ้างพนักงานประจำก็หันมาจ้างคนทำงานเป็นจ็อบตามความต้องการมากขึ้น เมื่อโควิด-19 ระบาด โลกของการทำงานยิ่งเกิดความเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ ทำให้ตลาดอาชีพอิสระยิ่งเติบโตอย่างก้าวกระโดด

ข้อมูลจากมาสเตอร์การ์ดระบุว่า ระบบเศรษฐกิจแบบกิ๊กทั่วโลกเติบโตขึ้นจากราว 204,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2561 เพิ่มขึ้นราว 455,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2566 การขยายตัวของระบบเศรษฐกิจแบบกิ๊กจะทำให้วัฒนธรรมการทำงานในอนาคตเปลี่ยนแปลงไป องค์กรต่าง ๆ อาจมีสัดส่วนฟรีแลนซ์มากขึ้น โดยเฉพาะในบริษัทเปิดใหม่ ซึ่งมีแนวโน้มจะลดพนักงานประจำลง โดยคาดการณ์ระบบเศรษฐกิจแบบกิ๊กจะกลายเป็นระบบเศรษฐกิจหลักในอนาคตด้วยระบบโครงสร้างทางสังคม และทัศนคติของคนรุ่นใหม่

 

ยิ่งอิสระอาจยิ่งเสี่ยงเบิร์นเอาท์!

ฟรีแลนซ์หรือผู้ประกอบอาชีพอิสระที่ไม่มีสังกัด รับงานเป็นชิ้นหรือโครงการหรือตามสัญญา แทนที่จะทำงานให้นายจ้างคนเดียวเป็นระยะยาว คนเหล่านี้มีอิสระในการรับงานหรือเลือกลูกค้า มีความยืดหยุ่น สามารถจัดการเวลา หรือสถานที่ทำงานได้เอง

 

ภายใต้อิสรภาพและความยืดหยุ่น ฟรีแลนซ์เป็นกลุ่มคนที่เสี่ยงต่อการเกิดภาวะหมดไฟ (Burnout) ไม่น้อยกว่าคนทำงานกลุ่มอื่น ซึ่งมาจากหลายปัจจัย เช่น

- ฟรีแลนซ์ไม่มีวันหยุด ชั่วโมงการทำงานของฟรีแลนซ์ขึ้นอยู่กับปริมาณงานในแต่ละช่วงเวลา ซึ่งไม่แน่นอน การตรากตรำทำงานยาวนานต่อเนื่อง เดดไลน์งานที่ไม่สมเหตุสมผล ผสมกับการแยกงานกับชีวิตส่วนตัวออกจากกันไม่ชัดเจน อาจทำให้เกิดปัญหาสุขภาพกาย-ใจตามมา 

- ฟรีแลนซ์รับผิดชอบงานคนเดียว การขาดทีมมาช่วยแบ่งเบาภาระ อาจทำให้ต้องแบกรับความกดดัน ต้องรับมือกับความไม่แน่นอนในเรื่องของงานหรือลูกค้า

- ฟรีแลนซ์ที่ไม่มีเงินเดือนประจำ ไม่มีสวัสดิการ และสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ทำให้เกิดปัญหาเรื่องความมั่นคง ซึ่งอาจก่อให้เกิดความกังวลต่าง ๆ

- การตั้งคำถามต่อคุณค่าของงานที่ทำ มีผลต่อการรู้คุณค่า ความมั่นใจ หรือเชื่อมั่นในตัวเองของฟรีแลนซ์ เหล่านี้สามารถสะสมจนกลายเป็นภาวะเครียดและซึมเศร้าในอนาคต

- การแยกตัวทำงานอย่างโดดเดี่ยว ไม่มีปฏิสัมพันธ์ทางสังคม ขาดการเชื่อมต่อ สามารถนำไปสู่ความรู้สึกเหงาได้

ผลการสำรวจเกี่ยวกับสุขภาพจิตในการทำงานของคนทำอาชีพฟรีแลนซ์ โดย ไวกิ้ง บริษัทด้านการสำรวจในอังกฤษ ในปี 2563 พบว่า ฟรีแลนซ์ ร้อยละ 64 มักรู้สึกเหงาอยู่บ่อยครั้ง ในขณะที่คนทำงานประจำจะมีคนรู้สึกเหงาอยู่เพียง ร้อยละ 29 และฟรีแลนซ์จะรู้สึกเครียดกับงานมากถึง ร้อยละ 62 ส่วนคนทำงานประจำเครียด ร้อยละ 55

ด้วยความเครียด อาการใจซึมเศร้า อารมณ์เหงา ฯลฯ ทั้งหมดเมื่อสะสมไว้เป็นเวลานานจนเรื้อรังสามารถเป็นเหตุปัจจัยหรือจุดเริ่มต้นนำไปสู่ภาวะเบิร์นเอาท์ในฟรีแลนซ์ได้

สร้างแรงใจรับมือเบิร์นเอาท์สไตล์ฟรีแลนซ์

เพื่อหลีกเลี่ยงภาวะหมดไฟ ผู้ประกอบอาชีพอิสระควรจะกำหนดแนวทางการทำงาน ดังนี้

- กำหนดขอบเขตที่ชัดเจน ระหว่างงานและชีวิตส่วนตัว กำหนดชั่วโมงทำงาน มีเวลาพักผ่อนหย่อนใจ

- ให้ความสำคัญกับการดูแลตัวเอง​ รวมถึงการนอนหลับให้เพียงพอ การรับประทานอาหารที่ดี และการออกกำลังกายเป็นประจำ

- วางแผนและจัดระเบียบ บริหารเวลาและใช้เครื่องมือต่าง ๆ เพื่อทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ หลีกเลี่ยงการทำงานเกินตารางเวลา ค้นหาเวลาทำงานลื่นไหลของตัวเองให้เจอ มีสมาธิ ไม่วอกแวก ทำงานให้เสร็จ เพื่อจะได้มีเวลาทำอย่างอื่น

- เลือกงานที่สร้างคุณค่าให้กับตัวเองหรือคนรอบข้าง หากเลือกได้ให้ปฏิเสธงานที่ทำแล้วไม่คุ้มค่า

- หยุดพักช่วงสั้น ๆ เป็นประจำระหว่างทำงาน ลาพักร้อนหรือหยุดทำงานยาว ๆ บ้าง เพื่อทำให้จิตใจปลอดโปร่ง และเติมพลัง

- พูดคุยกับเพื่อนฟรีแลนซ์หรือเข้าร่วมชุมชนออนไลน์ เพื่อแบ่งปันประสบการณ์และปัญหาซึ่ง สามารถช่วยลดความเครียดได้

- ไตร่ตรองและประเมินภาระงาน และเป้าหมายทางอาชีพเป็นระยะ

 

นอกจากนี้ ในแต่ละวัน ฟรีแลนซ์สามารถสร้างสีสันเพิ่มแรงบันดาลใจให้ตัวเองได้ด้วยวิธีง่าย ๆ เช่น

- แต่งตัวให้เหมือนไปทำงานออฟฟิศ

- เปลี่ยนบรรยากาศทำงาน เช่น ไปนั่งร้านกาแฟ ฯลฯ

- อย่าอยู่นิ่ง ลุกเดินทุก ๆ ชั่วโมงช่วยกระตุ้นความคิดสร้างสรรค์

- ทำสิ่งใหม่ เช่น เรียน ทำงานอดิเรก ทำกิจกรรมที่ไม่เคยทำ ท่องโลก เรียนรู้วัฒนธรรมใหม่ ๆ ปรับมุมมองในชีวิต เป็นต้น

 

ฉะนั้นในยุคที่เทคโนโลยีมีบทบาทเปลี่ยนโลก ทุกอาชีพไม่ว่าจะทำงานในรูปแบบไหนล้วนต้องปรับตัวให้สอดรับความเปลี่ยนแปลงทั้งสิ้น หลีกเลี่ยงภาวะหมดไฟ เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดี

 

อ้างอิง

Today Bizview writer, Gig Economy เมื่อโลกหมุนด้วยพลังฟรีแลนซ์, 22 มิถุนายน 2565,

https://workpointtoday.com/gig-economy-freelance/

creativethailand, ห้ามป่วย ห้ามพัก ห้ามเหงา : ชีวิต “ฟรีแลนซ์” จะเอาชนะความเหงาอย่างไร เมื่อเพื่อนร่วมงานและเจ้านายคือตัวเอง, 22 กุมภาพันธ์ 2566, https://www.creativethailand.org/view/article-read?article_id=33873

สำนักงานกองทุนการสร้างเสริมสุขภาพ, ThaiHealth Watch 2023 : Freelance ก็หมดไฟได้ รับมือให้ถูกก่อนจิตตก, 24 สิงหาคม 2566, https://dol.thaihealth.or.th/Media/Index/4d8cc844-4842-ee11-80ff-00155db45636?isSuccess=False

งานบทความที่กำลังเป็นที่ได้รับความสนใจ

การออกกำลังกายช่วยเพิ่มสุขภาพสมอง
1708931705.jpg

Super Admin ID1

การออกกำลังกายช่วยเพิ่มสุขภาพสมอง

การให้คุณค่าและรับฟังเสียงพนักงาน  ปัจจัยสร้างองค์กรแห่งความสุขในอนาคต
1708931705.jpg

Super Admin ID1

การให้คุณค่าและรับฟังเสียงพนักงาน ปัจจัยสร้างองค์กรแห่งความสุขในอนาคต

การฆ่าตัวตายในวัยรุ่น: ภัยเงียบที่เพิ่มขึ้น
1708931705.jpg

Super Admin ID1

การฆ่าตัวตายในวัยรุ่น: ภัยเงียบที่เพิ่มขึ้น

การควบคุมอารมณ์ (Emotional Control)
defaultuser.png

Don Admin

การควบคุมอารมณ์ (Emotional Control)

“ธนาคารเวลา”  เสริมสร้างคุณภาพชีวิตสูงวัย ด้วยนวัตกรรมทางสังคม
1708931705.jpg

Super Admin ID1

“ธนาคารเวลา” เสริมสร้างคุณภาพชีวิตสูงวัย ด้วยนวัตกรรมทางสังคม

งานบทความที่เกี่ยวข้อง

surachet@thaihealth.or.th

“งานหนักไม่เคยฆ่าใคร …”

อย่าเชื่อ ! ถ้ามีใครมาบอกคุณอย่างนั้น เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นในปัจจุบันแสดงให้เห็นแล้วว่า งานหนักทำให้คนตายได้ จากผลการศึกษาขององค์การอนามัยโลกที่เผยแพร่ในปี 2564 ระบุว่า ในหนึ่งปีมีมากกว่า 7 แสนคนเสียชีวิตจากการทำงานหนักเกินไปจนส่งผลให้เกิดโรคหลอดเลือดสมองและหัวใจ