บทนำ
Highlight
• บริการทางการแพทย์ที่นำเทคโนโลยีมาปรับใช้เป็นบริการระบบสุขภาพวิถีใหม่ ที่เรียกว่า Telemedicine สามารถช่วยเว้นระยะห่างทางสังคมในการรักษาผู้ป่วยโควิด – 19
• การรักษาด้วยวิธีโทรเวชกรรมสามารถพูดคุยแบบ Real-time ผ่านระบบ VDO conference สามารถช่วยคัดกรองผู้ป่วยได้ในเบื้องต้น
• สสส. จับมือมูลนิธิศูนย์คุ้มครองสิทธิด้านเอดส์ สร้างความเข้าใจไม่เลือกปฏิบัติกับกลุ่มเสี่ยงและผู้ติดเชื้อโควิด - 19ภายใต้แนวคิด “สู้โควิด-19 แบบไม่ตีตราและไม่เลือกปฏิบัติ”
• ใช้แอปพลิเคชัน Clicknic ให้คำปรึกษาผ่านวิดีโอคอล และปรับทัศนคติคนในชุมชนให้ลดการตีตราและเลือกปฏิบัติต่อผู้ป่วยที่หายป่วยจากโควิด-19
กว่าจะถึงวันที่เราไม่จำเป็นต้องสวมหน้ากากอนามัยออกจากบ้าน สามารถเขยิบระยะห่างเข้าหากันได้ใกล้ขึ้น และกระทั่งสามารถใช้ชีวิตได้ตามปรกติอย่างที่เคยเป็น วันนั้นเชื้อไวรัสโควิดคงจะเปลี่ยนสายพันธุ์ใหม่ไปอีกมาก และอาจจะเปลี่ยนโลก สังคม และผู้คนไปจากเดิมในอีกหลายมิติ
ในวิกฤตของสถานการณ์โควิด-19 จึงเป็นโอกาสที่ระบบบริการสุขภาพของไทยควรจะได้รับปรับปรุงพัฒนาให้มีมาตรฐานที่ดีมากยิ่งขึ้น และสอดคล้องกับสถานการณ์โรคระบาดที่เปลี่ยนแปลงไป โดยใช้ช่วงจังหวะที่คนไทยหันมาใส่ใจเรื่องสุขภาพกันมากขึ้นเป็นแรงหนุน นำบริการทางการแพทย์ในรูปแบบใหม่ ๆ มาใช้ในการรักษา นั่นคือการนำเทคโนโลยีมาปรับใช้เป็นบริการระบบสุขภาพวิถีใหม่ ที่เรียกว่า Telemedicine (โทรเวชกรรม) หรือระบบแพทย์ทางไกล
โทรเวชกรรมคือการนำเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารมาใช้ในการดูแลสุขภาพ โดยที่สามารถลดอุปสรรคด้านระยะทาง ลดการเดินทาง ลดค่าใช้จ่าย ลดระยะเวลาการนอนพักรักษาในโรงพยาบาล โดยที่ผู้ป่วยที่อยู่ห่างไกลไม่จําเป็นต้องเข้ารับการตรวจรักษา แต่สามารถรับคำปรึกษา ตรวจวินิจฉัย และรักษาจากแพทย์อย่างรวดเร็วทันเวลา อีกทั้งสามารถติดตามการรักษาผู้ป่วยโรคเรื้อรังได้ตลอดเวลาและต่อเนื่อง
การรักษาด้วยวิธีนี้จะมีการพูดคุยแบบ Real-time (เสมือนจริง) สื่อสารผ่านระบบ VDO conference (การส่งสัญญาณภาพเคลื่อนไหวพร้อมเสียง) ซึ่งคู่สนทนาสามารถมองเห็นหน้าและสนทนากันได้ทั้ง 2 ฝ่าย ช่วยลดข้อจำกัดเรื่องเวลา สถานที่ และช่วงในการแพร่ระบาดของโควิด – 19 ยังสามารถรักษาระยะห่างทางสังคมได้ด้วย ซึ่งจะช่วยคัดกรองผู้ป่วยในเบื้องต้น ช่วยประหยัดเวลา และลดความแออัดของโรงพยาบาลลงได้
Clicknic แอปติดตามดูแลผู้เคยป่วย
อย่างไรก็ตาม นอกจากการคัดกรองผู้ป่วยโควิด – 19 ด้วยระบบโทรเวชกรรมแล้ว กลุ่มผู้ป่วยที่รักษาหายแล้วก็ยังต้องได้รับการดูแลและติดตามผลหลังออกจากโรงพยาบาล ซึ่งทางสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้พัฒนาแอปพลิเคชัน Clicknic ขึ้นมาเพื่อวิดีโอคอล (VDO Call) ให้คำปรึกษากับผู้ป่วยกลุ่มนี้ เนื่องจากอดีตความเป็นผู้ติดโควิดจะถูกปฏิเสธจากสังคม
ขณะเดียวกัน สำนักสนับสนุนการพัฒนาระบบสุขภาพ สสส. ได้พัฒนาหลักสูตรการอบรมระยะสั้นเพื่อฝึกทักษะการให้คำปรึกษาแบบออนไลน์แก่นักสังคมสงเคราะห์ประจำโรงพยาบาลและเครือข่ายนักสังคมสงเคราะห์ รวมทั้งอาสาสมัครที่จะทำงานร่วมกันเพื่อให้ความช่วยเหลือด้านต่าง ๆ แก่ผู้ป่วยอย่างเหมาะสม ตัวอย่างเช่น ช่วยสร้างความมั่นใจให้ผู้ป่วยที่หายจากโควิด-19 สามารถใช้ชีวิตและกลับคืนสู่ชุมชนได้ตามปรกติ
ไม่ตีตรารังเกียจหรือเลือกปฏิบัติ
ปัญหาที่ตามมาของผู้ป่วยกลุ่มที่หายจากโควิด – 19 ก็คือ ถูกคนในชุมชนกีดกันหรือขับไล่ออกนอกพื้นที่ ซึ่งเป็นเหตุการณ์คล้ายกับที่ผู้ป่วยเอชไอวีเคยเผชิญเมื่อ 30 ปีก่อน เนื่องจากคนจะกลัวหรือกังวลว่าจะติดเชื้อ จึงมีทัศนคติเชิงลบต่อผู้ป่วยหรือแม้แต่คนที่หายป่วยแล้ว ส่งผลให้คนเหล่านั้นอาจกลายเป็นคนตกงาน และขาดรายได้ชั่วคราว หรือบางรายอาจจะตกงานถาวร
สสส. จึงร่วมมือกับมูลนิธิศูนย์คุ้มครองสิทธิด้านเอดส์ สร้างความเข้าใจไม่เลือกปฏิบัติต่อผู้เข้าเกณฑ์เฝ้าระวังโรคและผู้ติดเชื้อ รวมไปถึงครอบครัวและคนใกล้ชิดของกลุ่มคนเหล่านี้ที่อาจได้รับผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อม ภายใต้แนวคิด “สู้โควิด-19 แบบไม่ตีตราและไม่เลือกปฏิบัติ” เพื่อทำความเข้าใจและปรับเปลี่ยนทัศนคติของผู้คนให้เกิดการยอมรับ โดยมีการรณรงค์ “ยินดีต้อนรับ ไม่เลือกปฏิบัติ ไม่ตีตรา” ให้ทุกคนทุกฝ่ายระมัดระวังคำพูด สายตา และท่าทาง ต่อผู้ที่ผ่านวิกฤตโควิด ตลอดจนควรให้กำลังใจหรือให้การต้อนรับผู้ป่วยที่รักษาหายแล้วกลับเข้าสู่สังคม โดยให้เข้าใจร่วมกันว่า การติดโควิด – 19 ไม่ได้ทำให้คุณค่าความเป็นมนุษย์ของพวกเขาลดลง แต่ยังเป็นสมาชิกของครอบครัวและสังคมที่สามารถทำประโยชน์ให้กับประเทศชาติได้เหมือนเดิม
แนวทางนี้จะเป็นจริงได้จำเป็นต้องร่วมกันทำให้ชุมชนมีความปลอดภัย ไม่รังเกียจ ไม่ขับไล่ผู้ที่เข้าเกณฑ์เฝ้าระวังโรค ผู้ติดเชื้อ รวมทั้งผู้ที่รักษาโควิด-19 หายแล้ว เพื่อให้คนเหล่านี้เต็มใจในการให้ข้อมูลและเข้ารับการรักษา โดยทาง สสส. ได้เผยแพร่ความรู้ความเข้าใจเพื่อลดการตีตราและเลือกปฏิบัติ คำนึงถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ทำให้ผู้ที่เคยติดเชื้อมีความรู้ในการดูแลตัวเอง เกิดความมั่นใจมากขึ้นเมื่อกลับเข้าสู่สังคม
ตัวย่างเช่นกรณี ทองสุข ทองราช อาชีพขับรถแท็กซี่ อดีตผู้ป่วยโควิด-19 ที่รักษาตัวจนหายเป็นปกติแล้ว แต่เมื่อกลับมาขับแท็กซี่อีกครั้งก็ถูกผู้โดยสารขอลงจากรถกะทันหัน เพราะจำหน้าได้ ซึ่งเหตุการณ์นั้นบั่นทอนกำลังใจทองสุขอย่างมาก จนเกือบตัดสินใจเลิกอาชีพขับรถและมีความคิดอยากฆ่าตัวตายมาแล้ว
ดังนั้นหน้าที่ของนักสังคมสงเคราะห์และอาสาสมัครที่ต้องให้คำปรึกษาทั้งผู้ป่วยและผู้คนในสังคมมีทัศนคติในเชิงบวก จึงเป็นบทบาทสำคัญที่มีส่วนช่วยให้ผู้ผ่านฝันร้ายจากโควิดได้กลับคืนสู่สังคมอย่างปรกติสุข
อ้างอิง
https://resourcecenter.thaihealth.or.th/
0 ถูกใจ 1.7K การเข้าชม
งานบทความที่กำลังเป็นที่ได้รับความสนใจ
งานบทความที่เกี่ยวข้อง
เข้าสู่ระบบเพื่อโพสต์ความคิดเห็น
ความคิดเห็น 0