บทนำ
อยู่ ๆ พนักงานคนเก่งคนดีก็ลาออกไปอย่างไม่มีปี่มีขลุ่ย! ทั้ง ๆ ที่ก่อนหน้านั้น พวกเขาเคยแสดงความมุ่งมั่น ทุ่มเท และหลงใหลในงานของตัวเองอย่างมาก
กับสถานการณ์เช่นนี้ เมื่อค้นลงลึกอาจพบว่า เหตุผลที่อยู่เบื้องหลังคือ “Brown-out Syndrome” หรือ “ภาวะหมดใจในการทำงาน”
Brown-out หมายถึง ไฟตก อาจมีไฟดับเป็นบางช่วง ขณะที่ในโลกของการงาน บราวน์-เอาท์ ซินโดรม คือ การขาดแรงจูงใจ ขาดความกระตือรือร้น มีความสนใจในงานลดลง รู้สึกไม่ได้รับคุณค่าและความสำคัญเท่าที่ควร จึงทำให้ออกห่างจากงานมากขึ้น ซึ่งส่งผลกระทบในระยะยาวทั้งต่องานและชีวิตส่วนตัว
ภาวะหมดใจ (Brown-out Syndrome) นั้นคล้ายคลึงกับ ภาวะหมดไฟ (Burn-out Syndrome) อย่างมาก
องค์การอนามัยโลก (WHO) ระบุว่า ภาวะหมดไฟ (Burn-out Syndrome) เป็นภาวะความผิดปกติที่เกิดจากการทำงาน (Occupational phenomenon) แต่ไม่จัดว่าเป็นความเจ็บป่วยหรือมีเงื่อนไขทางการแพทย์ (Medical condition) โดยจำกัดความของภาวะหมดไฟใช้ในบริบทของคนทำงานหรือการทำงานเท่านั้น
สาเหตุของภาวะหมดไฟมาจากความเครียดเรื้อรังจากการทำงานที่จัดการได้ไม่ดีพอ ทำให้รู้สึกสูญเสียพลังงาน อ่อนเพลีย ไม่อยากทำงาน มีทัศนคติเชิงลบต่องาน ประสิทธิภาพในการทำงานลดลง อาจเพราะการขาดสมดุลระหว่างชีวิตและการทำงาน ภาระงานที่มากเกิน ชั่วโมงการทำงานที่ยาวนานเกิน รวมถึงการไม่ได้รับการยอมรับ ความคาดหวังในการทำงาน การทำงานที่ไม่เหมาะกับตนเอง เป็นต้น
ภาวะหมดไฟทำให้พฤติกรรมเปลี่ยนไป เช่น ผัดวันประกันพรุ่ง หลีกเลี่ยงงาน แยกตัวเองออกจากสังคม อาจหันมาใช้แอลกอฮอล์และยาเสพติด ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นกับร่างกายอาจส่งผลให้เกิดโรคหัวใจ โรคความดันโลหิตสูง อาการปวดกล้ามเนื้อ ความผิดปกติที่เกี่ยวข้องกับการนอนหลับ ส่งผลกระทบต่อระบบภูมิคุ้มกัน มีแนวโน้มจะเกิดความเจ็บป่วยอื่น ๆ ตามมา
ขณะที่ภาวะหมดใจ (Brown-out Syndrome) แสดงออกมาผ่านพฤติกรรมและความรู้สึกบางอย่าง เช่น รู้สึกว่าภาระงานเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ต้องการหยุด ไม่อยากจะสนใจอาชีพการงานของตนอีกต่อไป มีส่วนร่วมในการประชุมหรือแสดงความคิดเห็นน้อยลง มีปัญหาในการติดต่อกับที่ทำงาน มีความทุกข์ทางจิตใจ มีปัญหาการใช้ชีวิต เช่น กิน นอน และออกกำลังกาย ไม่มีอารมณ์ขัน ก้าวร้าว ปิดกั้นตัวเองจากครอบครัวและเพื่อน เป็นต้น
ในความใกล้เคียง สิ่งที่ทำให้ภาวะหมดไฟและภาวะหมดใจแตกต่างกันคือ
• ภาวะหมดไฟสามารถสังเกตเห็นได้ แต่ภาวะหมดใจสังเกตได้ยาก พวกเขาอาจจะดูเป็นปรกติ สามารถทำงานได้ แต่ภายในใจกลับรู้สึกอยากหยุดงานทุกอย่าง
• ภาวะหมดไฟมักจะเป็นอาการที่เกิดขึ้นในระยะสั้น แต่ภาวะหมดใจเป็นอาการระยะยาว ค่อย ๆ สะสมมาเรื่อย ๆ นำไปสู่การลาออกเงียบ ๆ ในที่สุด
หากคนระดับหัวหน้าหรือผู้บริหารมีภาวะหมดใจ อาจส่งผลต่อสภาพแวดล้อมองค์กร ทำให้พนักงานคนอื่น ๆ เกิดภาวะบราวน์-เอาท์ ซินโดรมต่อได้
ภาวะหมดใจ เป็นสาเหตุที่ทำให้คนลาออกจากงานจำนวนมาก จากผลสำรวจของ คอร์ปอเรท บาลานซ์ คอนเซ็ปท์ (Corporate Balance Concepts) ระบุว่า พนักงานระดับสูงที่เผชิญกับภาวะหมดไฟมีจำนวนร้อยละ 5 แต่ผู้เผชิญกับภาวะหมดใจ มีร้อยละ 40
นั่นทำให้ภาวะหมดใจ นับเป็นภัยเงียบที่องค์กรต้องหันมาให้ความสำคัญ
การแก้ไขและป้องกันภาวะหมดใจ ต้องย้อนกลับไปดูที่สาเหตุจะพบว่า องค์กรมีส่วนสำคัญ
ถ้าองค์กรไม่มีทิศทางในการทำงาน มีกฎระเบียบเข้มงวด จุกจิก ตีกรอบพนักงานมากเกินไป หรือภายในองค์กรมีความไม่เท่าเทียม ไม่เป็นธรรม ขาดความสัมพันธ์ที่ดี พนักงานไม่รู้ทิศทางขององค์กร มีความคาดหวังและความกดดันสูง ฯลฯ เหล่านี้ทำให้เกิดภาวะหมดใจได้
หากเป็นเช่นนั้น ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องเช่น ผู้จัดการฝ่ายทรัพยากรบุคคลและผู้เชี่ยวชาญจำเป็นต้องสื่อสารกับพนักงานทันทีที่สังเกตเห็นสัญญาณเตือน ต้องรับฟังความรู้สึก ความต้องการ และคาดหวัง เพื่อร่วมกันหาแนวทางแก้ไข อาจมีการมอบหมายงานหรือตำแหน่งหน้าที่ใหม่ ให้ลาหยุดงาน แบ่งเบาภาระงาน รวมทั้งปลูกฝังให้พนักงานรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งขององค์กร ชื่นชมยกย่องคนที่ทำงานได้ดี ให้อิสระในการทำงานภายใต้กรอบ เป็นต้น
ในส่วนคนทำงานสามารถเช็กอาการหมดใจของตนเองได้ ถ้าหากว่า …
• ความกระตือรือร้นในการทำงานลดลง
• ไม่อยากทำงานล่วงเวลาหรือทำงานในวันหยุดทั้ง ๆ ที่ก่อนหน้านั้นเคยทำได้
• พักผ่อนไม่เพียงพอ ป่วยบ่อยขึ้น ดูแลตัวเองน้อยลง
• ไม่ให้ความร่วมมือกับกิจกรรมขององค์กร
• ปลีกตัวห่างจากสังคมเพื่อนร่วมงาน
• ขาดความสนใจในเรื่องทั่วไป ฯลฯ
เมื่อพบภาวะหมดใจ สิ่งที่ต้องทำคือ แบ่งเวลาการทำงานและการพักผ่อนให้ชัดเจนขึ้น ปรับเปลี่ยนเป้าหมายใหม่ หาเวลาพักร้อน ขอความช่วยเหลือจากเพื่อนร่วมงานหรือหัวหน้างาน แต่หากมีอาการเศร้า หดหู่ เบื่อหน่าย ทุกข์ทรมาน มีความคิดไม่อยากมีชีวิตอยู่ ฯลฯ ควรปรึกษาแพทย์ หรือผู้เชี่ยวชาญ
เพราะว่า ภาวะหมดใจ Brown-out Syndrome เป็นปัญหาที่อาจกัดกร่อนความเป็นอยู่ที่ดีของบุคคลในที่ทำงานอย่างเงียบ ๆ และส่งผลกระทบวงกว้าง การตระหนักถึงสัญญาณและการดำเนินการเพื่อแก้ไขวิกฤตนี้จึงเป็นสิ่งสำคัญยิ่ง
อ้างอิง
ไทยรัฐออนไลน์, รู้จักภาวะหมดไฟและหมดใจในการทำงาน ความสำคัญและข้อแตกต่างที่น่ารู้, 20 มกราคม
2565, https://www.thairath.co.th/lifestyle/life/2292449
Apichaya Jatutain, ‘ภาวะ Brownout’ ไม่ได้หมดแรงแต่หมดใจ ไม่อยากไปต่อกับการทำงาน, 7 พฤษภาคม
2564, https://missiontothemoon.co/psychology-brownout/
Sahra Benseghir, Research Paper: How Coaching Can Prevent Brownout Syndrome?, 4 สิงหาคม 2563, https://coachcampus.com/coach-portfolios/research-papers/sahra-benseghir-how-coaching-can-prevent-brownout-syndrome/
0 ถูกใจ 659 การเข้าชม
งานบทความที่กำลังเป็นที่ได้รับความสนใจ
งานบทความที่เกี่ยวข้อง
เข้าสู่ระบบเพื่อโพสต์ความคิดเห็น
ความคิดเห็น 0