บทนำ
ได้เวลาเลิกงาน ฝนเจ้ากรรมก็เทลงมา ทำให้ต้องเดินทางกลับบ้านกลางสายฝนวันแล้ววันเล่า
“ฝนราชการ” ที่ไม่เคยพลาดเวลาเลิกงานนี้ แท้ที่จริงเป็นแค่เรื่องบังเอิญหรือสามารถอธิบายได้ทางวิทยาศาสตร์ บทความนี้มีคำตอบ พร้อมด้วยวิธีรับมือกับฝนให้รอดปลอดภัยและสบายดี … หยิบร่มมาแล้วออกเดินทางกันเลย!
ทำไมฝนชอบตกตอนเลิกงาน?
กับคำถามที่หลายคนสงสัย ฝนในลักษณะนี้ไม่ใช่เรื่องบังเอิญ และสามารถอธิบายได้ทางวิทยาศาสตร์ดร.บัญชา ธนบุญสมบัติ นักวิชาการ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) อธิบายสาเหตุที่ฝนชอบตกตอนเย็น ๆ ใกล้เวลาเลิกงานหรือเวลากลับบ้านว่า “สาเหตุเพราะในช่วงหน้าฝนมีไอน้ำในอากาศเยอะ ความชื้นสัมพัทธ์สูง พออากาศโดนแดดนานเข้าจากเช้า สาย เที่ยง บ่าย ไอน้ำในอากาศซึ่งร้อนขึ้นจะฟิตจัดหรือมีพลังงานเยอะ จึงลอยสูงขึ้นไปเรื่อย ๆ แล้วกลั่นตัวเป็นหยดน้ำเล็ก ๆ จำนวนมาก ก่อม็อบกลายเป็นเมฆก้อนหนักขึ้น จนถึงจุดหนึ่งก็หนักเกินไป ตกลงมาเป็นฝน…
“ช่วงเย็นที่ฝนตกตรงเวลา น่าจะเป็นเพราะมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ ซึ่งพอมรสุมตัวนี้เข้ามาแล้ว มันจะมีวงจรของมันที่เกิดจากพลังงานของดวงอาทิตย์ พอถึงวงรอบได้ที่ก็กระตุ้นให้เกิดฝนตก ซึ่งก็เป็นช่วงเวลาคนเลิกงานพอดี”
ส่วนฝนตกตอนเย็นจะเกี่ยวกับปรากฏการณ์โดมความร้อนคือ การที่เมืองใหญ่อย่างกรุงเทพฯ มีความร้อนสะสมตัวกักเก็บไว้ในเมืองอยู่สูงหรือไม่นั้น ยังเป็นเรื่องถกเถียง และรอการพิสูจน์
ระวัง! โรคติดต่อที่มากับฤดูฝน
ก้าวเข้าสู่ฤดูฝน สิ่งที่จะได้มาไม่ใช่เพียงสายฝนที่ตกลงมา แต่ยังนำด้วยโรคต่างๆ ที่จะส่งผลกระทบต่อสุขภาพของเราได้ จากข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุขได้ระบุเกี่ยวกับโรคที่มากับฤดูฝน ดังนี้
- โรคเยื่อบุตาอักเสบหรือโรคตาแดง มีอาการคือ ตาแดง ปวดตา คันตา น้ำตาไหล สามารถป้องกัน
ด้วยการล้างมือและเลี่ยงใช้ของร่วมกับผู้อื่น
- โรคไข้หวัดใหญ่ ผู้ป่วยมักมีอาการไข้สูง ปวดศีรษะ ไอเมื่อยกล้ามเนื้อ อ่อนเพลีย ป้องกันได้ด้วย
การใช้ผ้าปิดปากและจมูก สวมหน้ากากอนามัย หรือฉีดวัคซีนป้องกัน
- โรคไข้เลือดออก อาการคือ ปวดตัวและกระดูก มีไข้สูงประมาณ 2-7 วัน จากนั้นไข้จะลด
เฉียบพลัน มีผื่นแดงหรือจ้ำเลือด ป้องกันด้วยการทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย
- โรคฉี่หนู อาการไข้ขึ้นสูง ตาแดง ปวดศีรษะ กล้ามเนื้อน่องและโคนขาอย่างรุนแรง โดยผู้ป่วย 5-
10% มีอาการรุนแรง เช่น ไตวาย หรือช็อคได้
- โรคอุจจาระร่วงบิด, ไทฟอยด์, อาหารเป็นพิษ ผู้ป่วยจะมีอาการท้องเสีย มีไข้ ปวดบิดในท้อง หากติดเชื้อมักจะมีอาการถ่ายมีมูกเลือดปน
เปียกฝนอย่างไรให้ยังสบายดี!
เมื่อต้องเจอกับฝน หากไม่ได้เตรียมอุปกรณ์ป้องกัน เช่น ร่ม เสื้อกันฝน ฯลฯ ให้พร้อมก็อาจต้องเปียกและถ้าเปียกแล้ว ควรทำอย่างไรถึงจะไม่ป่วย
1. ถอดเสื้อผ้าเปียกหรือเปลี่ยนชุด (ถ้าทำได้) ให้เร็วที่สุด อย่าปล่อยทิ้งไว้ให้แห้งเอง อาจทำให้เป็นไข้หวัด และรีบซักเสื้อผ้าเพื่อไม่ให้เกิดราหรือเหม็นอับ
2. อาบน้ำ ในน้ำฝนอาจมีสิ่งสกปรกปนเปื้อน หลังถอดเสื้อผ้าเปียกออกแล้วต้องอาบน้ำสระผมชำระร่างกายทันที ถ้าอาบน้ำเย็นให้ราดน้ำที่เท้าก่อนเพื่อปรับอุณหภูมิร่างกาย ทำความสะอาดจุดที่สัมผัสฝน เช่น เท้า เพื่อป้องกันเชื้อโรค
3. เช็ดตัวและเป่าผมให้แห้ง เพื่อป้องกันการเป็นไข้ไม่สบาย
4. ดื่มเครื่องดื่มร้อน ช่วยให้ร่างกายอบอุ่น สบาย ผ่อนคลาย และหลับสบาย อาทิ น้ำขิง นมร้อน ชาร้อน ฯลฯ
5. พักผ่อนให้เพียงพอ เพราะเมื่อเปียกฝน อุณหภูมิร่างกายอาจเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ทำให้ร่างกายอ่อนแอ หากนอนหลับพักผ่อนอย่างเพียงพอจะช่วยให้ร่างกายแข็งแรง ฟื้นฟู ซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอ เมื่อตื่นขึ้นมาก็จะรู้สึกสดชื่น กระปรี้กระเปร่า มีพลัง
6. ไม่เปียกฝนซ้ำบ่อย ๆ ควรพกอุปกรณ์กันฝนไว้เสมอ
ขับขี่อย่างปลอดภัยในหน้าฝน
ฤดูฝนเป็นช่วงที่สภาพถนนเปียกลื่น มีน้ำท่วมขัง และทัศนวิสัยในการมองเห็นเส้นทางไม่ชัดเจน ทำให้มีความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุทางถนนสูง และรุนแรงกว่าปกติ โดยเฉพาะช่วงที่ฝนตก 10 นาทีแรก เป็นช่วงที่รถมีโอกาสเกิดอุบัติเหตุมากที่สุดจากการลื่นไถล เพราะน้ำฝนจะชะล้างคราบน้ำมันและฝุ่นละอองที่ติดอยู่บนพื้นถนน ทำให้เกิดเป็นเสมือนแผ่นฟิล์มฉาบอยู่บนผิวถนน อาจส่งผลให้รถลื่นและเสียหลักจนเกิดอุบัติเหตุได้
นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค ได้กล่าวถึงสถิติอุบัติเหตุทางถนนที่น่าตกใจ คือ ช่วงเดือนกันยายนปี 2565 ที่มีฝนตกหนัก มีผู้ที่ได้รับบาดเจ็บจำนวน 8,138 ราย เสียชีวิต 105 รวม 8,243 ราย จึงขอแนะนำให้ประชาชนผู้ใช้ถนนในวันฝนตกดังนี้
1.เพิ่มความระมัดระวังให้มากเป็นพิเศษ โดยลดความเร็วลงกว่าระดับปกติ เนื่องจากพื้นถนนที่เปียก รถจะใช้ระยะเบรกเพิ่มขึ้น และควรใช้ความเร็วที่เหมาะสมไม่เกิน 30-50 กิโลเมตรต่อชั่วโมง จะช่วยให้สามารถควบคุมรถได้อย่างมีประสิทธิภาพ
2.เปิดไฟหน้ารถเสมอ ใช้ไฟต่ำจะช่วยให้เรามองเห็นสิ่งต่าง ๆ บนถนนได้ชัดเจนขึ้น และให้รถคันอื่นมองเห็นรถของเราได้ในระยะไกล
3.เปิดใบปัดน้ำฝน ปรับระดับความเร็วของใบปัดน้ำฝนให้สัมพันธ์กับความแรงของฝนที่ตกลงมา จะช่วยให้เรามองเห็นเส้นทางได้ตลอดเวลา
4.เว้นระยะห่างจากท้ายรถคันหน้าให้มากกว่าปกติอย่างน้อย 10-15 เมตร เพื่อให้มีระยะเบรกที่เพียงพอและปลอดภัย
5.หลีกเลี่ยงการแซง แต่หากจำเป็นควรประเมินสถานการณ์ให้ดีก่อนแซง
6.ในกรณีที่รถลื่นไถลหรือเหินน้ำ ไม่ควรเหยียบเบรกจนล้อหยุดหมุนทันที อาจทำให้รถพลิกคว่ำได้ ควรใช้เกียร์ต่ำ และค่อยๆ เบรก เพื่อลดความเร็ว แล้วจึงค่อยเหยียบเบรกเพื่อหยุดรถ
7.เมื่อต้องขับรถผ่านถนนที่มีน้ำท่วมขัง ขอให้หยุดประเมินสถานการณ์ หากระดับน้ำสูงกว่าขอบประตูรถ ไม่ควรขับฝ่าไป ควรเลี่ยงไปใช้เส้นทางอื่นแทน ทั้งนี้ หากพบเห็นผู้บาดเจ็บจากอุบัติเหตุ ให้โทร 1669 เพื่อขอความช่วยเหลือจากทีมแพทย์กู้ชีพทันที
นอกจากนี้ การดูแลรักษารถยนต์ให้มีความพร้อมในการขับขี่ก็เป็นอีกหนึ่งเรื่องที่สำคัญเช่นกัน โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กระทรวงมหาดไทย ได้ให้คำแนะนำไว้ ดังนี้
- ตรวจเช็กระบบเบรก ผ้าเบรก จานเบรก และน้ำมันเบรกให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งาน
- หม้อน้ำ ตรวจดูให้แน่ใจว่าไม่อุดตัน รั่วซึม เติมน้ำให้อยู่ในระดับที่กำหนด
- ใบปัดน้ำฝน เนื้อยางต้องไม่แห้งกรอบ สามารถกวาดน้ำได้สะอาด ไม่มีรอยขุ่นมัว และไม่มีเสียงดังขณะใช้งาน
- ยางรถยนต์ มีดอกยางละเอียด ร่องยางลึก ไม่มีรอยปริ แตก บวม ควรเติมลมยางให้มากกว่าปกติ 2 – 3 ปอนด์ต่อตารางนิ้ว เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการรีดน้ำและยึดเกาะถนน
- สัญญาณไฟ สว่างไม่ขุ่นมัวทุกดวง ปรับตั้งให้ส่องสว่างเห็นเส้นทางชัดเจน และอยู่ในระดับเดียวกันทั้ง 2 ข้าง
- อุปกรณ์ฉุกเฉินที่ควรมี เช่น ยางอะไหล่ ไฟฉาย อุปกรณ์ลากพ่วงจูง ฯลฯ
ดังนั้นคำว่า “ฝนราชการ” จึงถือเป็นปรากฏการณ์ทางอุตุนิยมวิทยาที่มาพร้อมคำอธิบายทางวิทยาศาสตร์ แต่ไม่ว่าจะเจอฝนชนิดใด อย่าลืมให้ความสำคัญกับความปลอดภัยและดูแลสุขภาพเพื่อหลีกเลี่ยงการล้มป่วยจากโรคที่มากับฝน
อ้างอิง
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ, ระวัง!โรคติดต่อที่มากับฤดูฝน, 23 มีนาคม 2565,
https://resourcecenter.thaihealth.or.th/media/YKrM
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ, 7 วิธี ขับขี่ปลอดภัยช่วงฝนตก น้ำท่วมขัง, 22 กันยายน
2565, https://www.thaihealth.or.th/7-วิธี-ขับขี่ปลอดภัยช่วง/
ไทยรัฐออนไลน์, ไขข้อสงสัย "ฝนราชการ" มักตกช่วงเวลาหลังเลิกงาน ไม่ใช่เรื่องบังเอิญ, 31 สิงหาคม 2566,
https://www.thairath.co.th/news/society/2721585
ไทยรัฐออนไลน์, โดนฝนแต่ไม่ป่วย 6 วิธีฟื้นตัวให้เร็ว! ไม่ต้องจมอยู่กับเชื้อโรคนาน, 15 ตุลาคม 2560,
https://www.thairath.co.th/lifestyle/life/1095070
PPTV online, ปภ.แนะนำ ขับรถช่วงฤดูฝนอย่างไร ให้ปลอดภัยไร้อุบัติเหตุ, 21 พฤษภาคม 2566,
https://www.pptvhd36.com/news/สังคม/196884
0 ถูกใจ 561 การเข้าชม
งานบทความที่กำลังเป็นที่ได้รับความสนใจ
งานบทความที่เกี่ยวข้อง
เข้าสู่ระบบเพื่อโพสต์ความคิดเห็น
ความคิดเห็น 0