0

0

บทนำ

 

Highlights:

  • ทุก ๆ ปีมีคนไทยเสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมากจากอุบัติเหตุทางถนน ด้วยตัวเลขที่เพิ่มขึ้นอย่างน่าตกใจ เน้นย้ำถึงความจำเป็นเร่งด่วนที่ท้าทายในการร่วมกันทำให้ถนนปลอดภัยกว่าเดิม
  • เปิดเผยความสัมพันธ์ที่ไม่อาจปฏิเสธได้ระหว่างการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์กับอุบัติเหตุบนท้องถนน เจาะลึกต้นทุนทางเศรษฐกิจและสังคมอันเป็นผลกระทบในวงกว้างและในระยะยาวต่อบุคคล ครอบครัว ชุมชน และเศรษฐกิจโดยรวม
  • ความพยายามในการใช้บทลงโทษที่เข้มงวดยิ่งขึ้นเพื่อยับยั้งบุคคลให้ละเลิกลดพฤติกรรมขับขี่ที่เป็นอันตราย รวมทั้งพลังของการรณรงค์สร้างความตระหนักรู้ ซึ่งสำคัญอย่างยิ่งต่อการตัดสินใจเลือกอย่างมีความรับผิดชอบเพื่อต่อสู้กับการดื่มแล้วขับ

 

“ดื่มแก้วเดียว ขับไปใกล้ ๆ ได้หรือเปล่า” คำตอบคือ “ไม่”

เพราะการขับรถหลังจากดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แม้เพียงหนึ่งหรือสองแก้วมีความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุทางถนน ซึ่งเป็นสาเหตุหลักทำให้คนไทยเสียชีวิตจำนวนมากในแต่ละปีจนมีสถิติติดอันดับต้น ๆ ของโลก โดยกว่าครึ่งเสียชีวิตจากเหตุที่เกิดใกล้บ้าน

อุบัติเหตุทางถนนไม่ได้ส่งผลกระทบต่อผู้ประสบภัยเท่านั้น แต่ยังก่อให้เกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจและสังคมไทยโดยรวมอย่างมหาศาล

ที่ผ่านมา ปัญหานี้ถูกผลักดันให้เป็นวาระสำคัญแห่งชาติ แต่อัตราการเกิดอุบัติเหตุทางถนน การบาดเจ็บและเสียชีวิตยังห่างไกลเป้าหมาย โดยเฉพาะอุบัติเหตุทางถนนในช่วงเทศกาลซึ่งยังคงน่าวิตก

เพื่อเผชิญกับความท้าทายนี้ ทุกภาคส่วนต้องร่วมมือกันอย่างจริงจังเข้มงวดมากยิ่งขึ้น

ภัยซ่อนเร้นเบื้องหลังสถิติอุบัติเหตุ

อุบัติเหตุทางถนนเป็นสาเหตุสำคัญทำให้ในแต่ละปีมีคนไทยเสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก จากข้อมูลของศูนย์ข้อมูลอุบัติเหตุฯ รายงานสถิติการเกิดอุบัติเหตุทางถนน ในปี 2564 มีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนน 13,621 คน และผู้บาดเจ็บ 883,336 คน ในปี 2565 เสียชีวิต 15,010 คน และบาดเจ็บ 926,829 คน

จากรายงานในวารสารการแพทย์ฉุกเฉินแห่งประเทศไทย พบว่า อุบัติเหตุทางถนนตั้งแต่ปี 2554-2563 มีจำนวนผู้เสียชีวิตสะสมถึง 206,589 คน เฉลี่ยเสียชีวิต 20,659 คนต่อปี หรือ 58 คนต่อวัน ในช่วงโควิด-19 ระบาดมีผู้เสียชีวิตลดลงร้อยละ 10.4 เมื่อเทียบกับปี 2562 แต่จำนวนผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนก็ยังสูงถึง 17,831 คน หรือเฉลี่ยวันละ 49 คน

จากข้อมูลของกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ระบุว่า 5 ปีที่ผ่านมามีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนรวม 96,230 ราย เฉลี่ยปีละ 19,246 ราย เป็นชายมากกว่าหญิงในสัดส่วน 3.7 ต่อ 1 ส่วนใหญ่อยู่ในช่วงอายุ 15-19 ปี คิดเป็นร้อยละ 11.37 และ 20-24 ปี คิดเป็นร้อยละ 11.05  ในจำนวนนี้ร้อยละ 80 เกิดขึ้นในกลุ่มผู้ขับขี่จักรยานยนต์

ความเชื่อมโยงแสนอันตราย…แอลกอฮอล์ & อุบัติเหตุทางถนน

สาเหตุหลักของอุบัติเหตุทางถนนมาจากพฤติกรรมการขับขี่โดยเฉพาะ “ดื่มแล้วขับ” ด้วยฤทธิ์ของแอลกอฮอล์ซึ่งทำให้ความสามารถในการขับขี่ลดลง ความมึนเมาทำให้ขาดสติ คึกคะนอง ประมาท ฯลฯ อุบัติเหตุทางถนนเกิดสูงขึ้นในช่วงเทศกาลปีใหม่หรือสงกรานต์

ข้อมูลจากกรมคุมประพฤติ สรุป 7 วันอันตรายช่วงปีใหม่ 2566 (29 ธ.ค. 2565 – 4 ม.ค. 2566) มีคดีจำนวนทั้งสิ้น 8,923 คดี จำแนกเป็น คดีขับรถขณะเมาสุรา 8,567 คดี คิดเป็นร้อยละ 96.01 เทียบกับช่วงเทศกาลปีใหม่ 2565 มีจำนวน 7,868 คดี พบว่า คดีขับรถขณะเมาสุรา มีจำนวนเพิ่มขึ้น 699 คดี คิดเป็นร้อยละ 8.88

ขณะที่ 7 วันอันตรายในเทศกาลสงกรานต์ 2566 (11-17 เม.ย. 2566) มียอดสะสม 8,869 คดี จำแนกเป็น คดีขับรถขณะเมาสุรา 8,575 คดี คิดเป็นร้อยละ 96.69 เมื่อเปรียบเทียบสถิติคดีขับรถขณะเมาสุราในช่วงเทศกาลสงกรานต์ 2565 มีจำนวน 7,141 คดี พบว่า คดีขับรถขณะเมาสุรามีจำนวนเพิ่มขึ้น 1,434 คดี คิดเป็นร้อยละ 20.08

 

 

ต้นทุนทางเศรษฐกิจและสังคม ผลกระทบจากอุบัติเหตุทางถนน

อุบัติเหตุทางถนนนอกจากจะส่งผลกระทบต่อผู้ที่ประสบภัยแล้ว ยังทำให้เกิดความสูญเสียต่อเศรษฐกิจและสังคมไทย การเสียชีวิตจากและบาดเจ็บทำให้ผู้ประสบภัยและครอบครัวสูญเสียผลิตภาพ ส่งผลต่อผลิตภาพโดยรวมของประเทศ อุบัติเหตุยังก่อให้เกิดต้นทุนอื่น ๆ เช่น ต้นทุนในการดำเนินคดี ต้นทุนจากผลกระทบต่อสภาพการจราจร เป็นต้น

กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข คาดการณ์ความสูญเสียทางเศรษฐกิจปี 2566 กรณีเกิดผู้พิการรายใหม่จากอุบัติเหตุทางถนนตามข้อมูลสถิติในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา (พ.ศ.2560 - พ.ศ.2564) โดยคิดภาพรวมความสูญเสียทางเศรษฐกิจ แบ่งตามระดับความรุนแรง ดังนี้ เสียชีวิต 511,515 ล้านบาท บาดเจ็บรุนแรง (IPD) 158,669 ล้านบาท บาดเจ็บเล็กน้อย (OPD) 144,957 ล้านบาท พิการ 306,156 ล้านบาท

นอกจากนี้อุบัติเหตุทางถนนทำคนไทยอายุขัยสั้นลงและสูญเสียทางเศรษฐกิจ 12 ล้านล้านบาท

อุบัติเหตุทางถนนยังมีผู้บาดเจ็บรุนแรง ต้องดูแลในโรงพยาบาลถึงปีละ 150,000-200,000 คน ซึ่ง ในจำนวนนี้ร้อยละ 4.6 มีความพิการทางร่างกาย เท่ากับมีผู้พิการรายใหม่ 7,000-13,000 คนต่อปี คิดเป็นผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ประมาณการไว้สูงถึง ปีละกว่า 545,000 ล้านบาท

ความสูญเสียทางเศรษฐกิจของการเกิดอุบัติเหตุทางถนน นับเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ฉุดรั้งขีดความสามารถพัฒนาประเทศ

ดื่มแล้วขับกับบาดแผลในใจเหยื่อและญาติ

อุบัติเหตุทางถนนเป็นต้นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต บาดเจ็บ บางคนต้องกลายเป็นผู้พิการ ทั้งยังอาจเจ็บป่วยทางจิตใจ ไม่เพียงเท่านั้นผลกระทบยังมีต่อสมาชิกครอบครัวและคนใกล้ชิด

ข้อมูลจากบริษัท กลางคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ จำกัด พบว่า ผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนน ส่วนใหญ่เป็นหัวหน้าครอบครัวถึงร้อยละ 51 และร้อยละ 53 ขับขี่ออกไปเสียชีวิตใกล้บ้านในรัศมีเพียง 5 กิโลเมตรเท่านั้น

หลังเกิดอุบัติเหตุทางถนนจึงทำให้ผู้ประสบภัยและครอบครัวได้รับผลกระทบในระยะยาว จากสภาวะความเครียดที่รุนแรง จากเหตุการณ์สะเทือนขวัญที่ต้องเผชิญกับความสูญเสียอวัยวะหรือถึงขั้นชีวิต เช่น โรคความเครียดจากการได้รับบาดเจ็บ, โรคซึมเศร้า ฯลฯ ซึ่งในระดับรุนแรงอาจนำไปสู่การฆ่าตัวตายได้

ในการฟื้นฟูสภาพจิตใจผู้ประสบภัยครอบครัวและคนรอบข้างสามารถช่วยได้ โดยการพูดคุยและคอยรับฟังในเวลาที่ต้องการให้ช่วยเหลือ หากอาการรุนแรงมีผลกระทบต่อการดำเนินชีวิต ควรพบผู้เชี่ยวชาญด้านจิตเวช เพื่อรับคำปรึกษาและดูแลด้วยการใช้จิตบำบัด

บทลงโทษที่เข้มงวดขึ้นเพื่อควบคุมอันตราย

ดื่มแล้วขับเป็นการกระทำที่ประมาทเลินเล่อที่คนขับต้องรับผิดชอบเมื่อเกิดอุบัติเหตุ มีผู้ได้รับความเสียหาย บาดเจ็บ เสียชีวิต

ตามกฎหมายระบุว่า บุคคลทั่วไปที่มีปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดเกินร้อยละ 50 mg และผู้ที่อายุน้อยกว่า 20 ปี หรือมีใบอนุญาตขับรถชั่วคราวที่มีปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดเกินร้อยละ 20 mg ถือว่าเมาแล้วขับ หากปฏิเสธการเป่าตรวจวัดแอลกอฮอล์ เท่ากับเมา

            สำหรับกฎหมาย พ.ร.บ.จราจรทางบก (ฉบับที่ 13) พ.ศ.2565 ได้เพิ่มโทษผู้กระทำผิดซ้ำกรณี “เมาแล้วขับ” โดยกำหนดบทลงโทษผู้เมาแล้วขับ ดังนี้

1. ทำผิดครั้งแรก อัตราโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับ 5,000-20,000 บาท

2. ทำผิดซ้ำข้อหา "เมาแล้วขับ" ภายใน 2 ปี นับแต่วันกระทำผิดครั้งแรก เพิ่มโทษเป็นจำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับ 50,000-100,000 บาท โดยศาลจะลงโทษจำคุกและปรับด้วย พร้อมถูกพักใช้ใบอนุญาตขับขี่ไม่น้อยกว่า 1 ปี หรือถูกเพิกถอนใบอนุญาตขับขี่

3. เมาแล้วขับทำให้ผู้อื่นบาดเจ็บ เสียชีวิต โทษสูงสุด 10 ปี ปรับ 200,000 บาท และเพิกถอนใบอนุญาตขับรถทันที

 

และภายใต้กฎหมายใหม่ที่ใช้ระบบตัดคะแนนผู้ขับขี่ ซึ่งจะเริ่มบังคับใช้ในปี 2566 อย่างเต็มรูปแบบ อาจจะมีส่วนช่วยให้คนไทยมีวินัยจราจรมากขึ้นและลดอุบัติเหตุบท้องถนนได้ โดยศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนนและภาคี ได้ร่วมกันกําหนดเป้าหมายการเสียชีวิตจากปัจจุบัน 27.2 ต่อแสนประชากร ให้เหลือไม่เกิน 12 ต่อแสนประชากร ในปี 2570

ด้วยบทลงโทษที่เข้มขึ้นนี้อาจทำให้ทุกคนต้องคิดให้มากขึ้นก่อนจะชนแก้วแล้วเหยียบคันเร่ง

“ดื่มไม่ขับ กรึ่ม ๆ ก็ถึงตาย”

หลายคนยังเข้าใจผิดคิดว่า การดื่มแอลกอฮอล์เพียงเล็กน้อยไม่มีผลกับร่างกาย แต่ในความเป็นจริง การดื่มแอลกอฮอล์เพียงหนึ่งหรือสองแก้วสามารถส่งผลต่อความสามารถในการขับรถและการตัดสินใจซึ่งเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ

ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ปี 2566 สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) รณรงค์ “ดื่มไม่ขับ กรึ่ม ๆ ก็ถึงตาย” เพื่อเน้นย้ำผลกระทบจากการดื่มแอลกอฮอล์เพียงแก้วเดียวแล้วขับขี่ก็อาจเสี่ยงทำให้เกิดอุบัติเหตุได้

คนจำนวนหนึ่งเชื่อว่า บางคน “เมาแล้วขับ” ได้ดี ซึ่งเป็นความคิดที่ผิดและเป็นความคิดที่อันตรายมาก เพราะในขณะที่ยัง “รู้สึก” ว่ามีสติอยู่ แต่แอลกอฮอล์ในเลือดไม่ว่าจะมีปริมาณเท่าใด อาจทำให้เกิดอาการมึนเมา มีผลออกฤทธิ์กดประสาท ทำให้สมองทำงานช้าลง ความคิดสับสน ส่งผลต่อการตัดสิน ฯลฯ

การดื่มที่มีปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือด 50 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์แล้วขับขี่ โอกาสเกิดอุบัติเหตุเพิ่มเป็น 2 เท่า ส่งผลทางระบบประสาทและมีการเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์ หากมีปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือด 100 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ จะเพิ่มความเสี่ยงถึง 6 เท่า สูญเสียการทรงตัว มึนงง เดินไม่ตรงทาง และหากมีปริมาณแอลกอฮอล์สูง 150 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ขึ้นไป โอกาสเกิดอุบัติเหตุเสี่ยงสูงถึง 40 เท่า จะมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน รู้สึกตัวช้า ระบบในร่างกายทำงานแย่ลง ไม่สามารถควบคุมรถได้

 

ปัญหาอุบัติเหตุทางถนนโดยเฉพาะจากการดื่มแล้วขับในประเทศไทยยังคงเป็นปัญหาเร่งด่วนที่ต้องให้ความสำคัญ จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ทุกภาคส่วนจะต้องร่วมมือกัน เพื่อเผชิญหน้ากับความท้าทายนี้ร่วมกัน ทุกคนต้องรับผิดชอบในการงดเว้นจากการดื่มแล้วขับ เพื่อมุ่งไปสู่สังคมซึ่งมีอันตรายจากอุบัติเหตุทางถนนน้อยลง

เพราะว่า คนขับที่ดีที่สุดคือ คนขับที่ไม่ดื่ม และนักขับที่เก่งที่สุดรู้ว่า จะต้องไม่ไปนั่งหลังพวงมาลัยหลังจากดื่มแอลกอฮอล์!

อ้างอิง

https://www.thaipbs.or.th/news/content/323233

https://www.tcijthai.com/news/2023/4/scoop/12909

https://www.isranews.org/article/isranews-scoop/114433-isranews-news-34.html

https://www.bugaboo.tv/news/595662

https://www.hfocus.org/content/2019/12/18257

https://www.thaipbs.or.th/news/content/323121

https://www.prd.go.th/th/content/category/detail/id/1488/iid/147290

https://www.thaihealth.or.th/เดินหน้าสร้างควาตระหนั/

https://www.thaihealth.or.th/สานพลังลดอุบัติเหตุสงก/ 

https://www.thairsc.com/data-compare

งานบทความที่กำลังเป็นที่ได้รับความสนใจ

ปรับเปลี่ยนทัศนคติคนไม่กินผัก ลองก่อนแล้วจะเห็นผลดีตามมา
1708931705.jpg

Super Admin ID1

ปรับเปลี่ยนทัศนคติคนไม่กินผัก ลองก่อนแล้วจะเห็นผลดีตามมา

ห้องปลอดฝุ่น ลดเสี่ยง PM2.5
1708931705.jpg

Super Admin ID1

ห้องปลอดฝุ่น ลดเสี่ยง PM2.5

การตรวจสุขภาพตับ ทวงคืนสุขภาพที่ดี
1708931705.jpg

Super Admin ID1

การตรวจสุขภาพตับ ทวงคืนสุขภาพที่ดี

ขยับตัวเพื่อสุขภาพ เด็กไทยเอาชนะพฤติกรรมเนือยนิ่งและบอกลาโรคอ้วน
1708931705.jpg

Super Admin ID1

ขยับตัวเพื่อสุขภาพ เด็กไทยเอาชนะพฤติกรรมเนือยนิ่งและบอกลาโรคอ้วน

“บ้านปงใต้” ต้นแบบชุมชนป้องกันไฟป่า ลดแหล่งกำเนิด PM 2.5 เชียงใหม่
1708931705.jpg

Super Admin ID1

“บ้านปงใต้” ต้นแบบชุมชนป้องกันไฟป่า ลดแหล่งกำเนิด PM 2.5 เชียงใหม่

งานบทความที่เกี่ยวข้อง

surachet@thaihealth.or.th

การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ยังคงเป็นปัญหาท้าทายที่สำคัญของประเทศไทย ท่ามกลางการต่อสู้อันยาวนานนี้ หนึ่งในสัญญาณแห่งความหวังที่จะสนับสนุนให้ประชากรเลิกสุราได้ คือ การมีส่วนร่วมของชุมชน
จากรายงานภาระโรคและการบาดเจ็บของประชากรไทย ปี 2557 พบว่า การเสพติดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นสาเหตุลำดับที่ 5 ของการสูญเสียปีสุขภาวะ (DALYs) ในเพศชาย คิดเป็นร้อยละ 4.5 และเป็นสาเหตุลำดับที่ 1 ของการสูญเสียปีสุขภาวะจากภาวะบกพร่องทางสุขภาพ (YLDs) ในเพศชาย คิดเป็นร้อยละ 13.1 และเป็นสาเหตุลำดับที่ 12 ในเพศหญิง คิดเป็นร้อยละ 1.7 


ในการสำรวจพฤติกรรมการสูบบุหรี่และการดื่มสุราของประชากร ปี 2560 พบว่า ประชากรอายุ 15 ปีขึ้นไป จำนวน 55.9 ล้านคน ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ประมาณ 10.7 ล้านคน กลุ่มอายุ 25-44 ปี มีอัตราการดื่มสุราสูงสุด ร้อยละ 36.0
ผลการสำรวจระบาดวิทยาสุขภาพจิตของคนไทยระดับชาติ ปี 2556 พบว่า คนไทยอายุ 18 ปีขึ้นไปที่มีความผิดปกติของพฤติกรรมการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 2.7 ล้านคน แต่เข้ารับบริการสุขภาพเพียงร้อยละ 1.6 และในปี 2563 จากรายงานกระทรวงสาธารณสุข พบว่า ผู้มีปัญหาจากการดื่มสุราเข้ารับการบำบัดในสถานบริการสุขภาพเพียงร้อยละ 9.47

ด้วยสถานการณ์ที่เป็นอยู่นี้มีความจำเป็นต้องดำเนินมาตรการเพื่อสร้างแรงจูงใจให้มีการบำบัดฟื้นฟูและเลิกดื่มแอลกอฮอล์อย่างจริงจัง โดยดึงชุมชนเข้ามามีบทบาทสำคัญ
สมาคมฮักชุมชน โดยการสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ  (สสส.) ได้จัดทำโครงการเพื่อส่งเสริมการลด ละ เลิก การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เน้นการทำงานผ่านชุมชนและวัด ซึ่งใกล้ชิดกับกลุ่มเป้าหมาย โดยถือเอาช่วงเข้าพรรษา 3 เดือน เป็นจุดเริ่มต้น
เป้าหมายเพื่อให้เป็นกลไกขับเคลื่อนโดยที่คนในชุมชนซึ่งเข้าใจปัญหาได้เข้ามามีส่วนร่วม ด้วยการให้ความรู้ ทักษะ เครื่องมือในการดูแลผู้มีปัญหาสุรา และสามารถติดตามผลได้ นอกจากช่วยปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการดื่มแล้ว ยังเป็นการสร้างสัมพันธภาพที่ดีกับครอบครัวและชุมชน ทำให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นด้วย











โครงการมี 2 รูปแบบคือ “รูปแบบธรรมนำทาง” เป็นกิจกรรมในวัดที่มีพระสงฆ์ช่วยสร้างสติเสริมปัญญา ควบคู่ไปกับการให้ความรู้จากบุคลากรสุขภาพ พร้อมมีชุมชนและครอบครัวร่วมสนับสนุน
ส่วน “รูปแบบกลุ่มฮักครอบครัว” เป็นการทำกิจกรรมกลุ่ม โดยผู้มีปัญหาสุราและสมาชิกในครอบครัวต้องเข้าร่วมทำกิจกรรมแลกเปลี่ยนประสบการณ์และมีการติดตามผล
ทั้ง 2 รูปแบบใช้เวลา 12 เดือน ระหว่างนั้นจะมีการติดตาม การฝึกพัฒนาทักษะให้อาชีพสร้างรายได้ เพื่อให้เลิกสุราได้อย่างยั่งยืน
หนึ่งในพื้นที่ต้นแบบซึ่งประสบความสำเร็จจากการดูแลผู้มีปัญหาสุราโดยชุมชนคือ เทศบาลตำบลสบเตี๊ยะ อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ โดยมีพื้นที่นำร่องใน 8 หมู่บ้านของตำบลสบเตี๊ยะซึ่งเป็นรูปแบบกลุ่มฮักครอบครัว หลังจากดำเนินการมา 2 ปี ได้มีการอบรมพัฒนาทักษะคนในพื้นที่ 124 คน ให้มีความรู้ด้านบริหารจัดการและการจัดกิจกรรมกลุ่มฮักครอบครัว และบำบัดการเลิกเหล้า



ในจำนวนนี้ผู้มีปัญหาจากการดื่มสุราที่มีแนวโน้มดื่มจนทำให้เกิดปัญหากับตนเอง ครอบครัว และชุมชน เข้าร่วมจำนวน 55 คน สามารถปรับพฤติกรรมจนเลิกดื่มสำเร็จ 12 คน (ร้อยละ 22) ลดการดื่มลง 38 คน (ร้อยละ 69) ดื่มในระดับเดิม 4 คน (ร้อยละ 7) และเสียชีวิตด้วยโรคประจำตัว 1 คน
ผู้มีปัญหาสุราส่วนใหญ่ที่สามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรม โดยลดการดื่มสุราลงได้ จะมีสุขภาพดีขึ้น ได้รับโอกาสการจ้างงาน มีความเข้าใจกันในครอบครัวมากขึ้น และเข้าร่วมกิจกรรมในชุมชนมากขึ้น
จากผลสำเร็จของการดำเนินโครงการ ทำให้เทศบาลตำบลสบเตี๊ยะมีศักยภาพพร้อมเป็นพื้นที่ต้นแบบชุมชนสุขภาวะและจะมุ่งขยายให้เกิดพื้นที่ต้นแบบในทุกภูมิภาคต่อไป