0

0

บทนำ

Highlight

  • องค์การอุตุนิยมวิทยาโลก (World Meteorological Organization: WMO) ได้จำกัดความคำว่าคลื่นความร้อนว่า เป็นภาวะที่อุณหภูมิสูงสุดประจำวันเกินค่าอุณหภูมิสูงสุดโดยเฉลี่ยประมาณ 5 องศาเซลเซียส ติดต่อกันเป็นเวลาอย่างน้อย 5 วัน

  • สำหรับประเทศไทย ยังไม่พบการเกิดคลื่นความร้อน แต่เป็นผลกระทบจากหย่อมความกดอากาศต่ำซึ่งปกคลุมประเทศไทยในระดับท้องถิ่น

  • การที่คลื่นความร้อนเกิดมากขึ้นและมีความรุนแรงมากขึ้น มีหลักฐานชี้ว่าเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) หรือภาวะโลกร้อน (Global Warming)

  • ยุโรปเคยประสบกับวิกฤติคลื่นความร้อนในปี 2546 ทำให้มีผู้เสียชีวิตกว่า 70,000 คน และในปี 2565  คลื่นความร้อนทำให้ประชาชนเสียชีวิตสูงเกือบ 62,000 ราย

 

“คลื่นความร้อน” กลายเป็น “ประเด็นร้อน” อย่างต่อเนื่อง เมื่อหลายภูมิภาคทั่วโลกต้องเผชิญกับ “ฮีตเวฟ” อย่างหนักหน่วงรุนแรงเป็นประวัติการณ์ ไม่ว่าจะในทวีปอเมริกาเหนือ ยุโรป หรือเอเชีย

คลื่นความร้อนเป็นเหมือนการส่งสัญญาณเตือนให้ต้องเฝ้าระวังวิกฤตอันตรายต่อสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีของทุกคนบนโลก ซึ่งจำเป็นต้องดำเนินการเพื่อป้องกันแก้ไขอย่างเร่งด่วน

 

เรื่องต้องรู้เกี่ยวกับคลื่นความร้อน

บางคนอาจจะเคยสงสัยว่า “คลื่นความร้อน” คืออะไร และเหตุใดจึงกลายเป็นข่าวพาดหัวไปทั่วโลก

คลื่นความร้อน หรือ ฮีตเวฟ (Heat Wave) เป็นปรากฏการณ์ที่อากาศมีปริมาณความร้อนมากกว่าปกติอย่างรวดเร็วในระยะเวลาหนึ่ง อาจเกิดขึ้นเป็นเวลาไม่กี่วัน หรือนานหลายสัปดาห์

คลื่นความร้อนไม่สามารถระบุได้ว่าอุณหภูมิเท่าใดจึงจะเรียกว่าเป็นคลื่นความร้อน ด้วยความแตกต่างของลักษณะพื้นที่และลักษณะอากาศปรกติของพื้นที่นั้น ทำให้อุณหภูมิของอากาศปรกติในพื้นที่เขตร้อน อาจเป็นคลื่นความร้อนสำหรับพื้นที่เขตหนาวได้

เช่น พื้นที่ A มีอุณหภูมิอากาศปกติ 18-25 องศาเซลเซียส เมื่อมีมวลอากาศร้อนเข้ามาทำให้อุณหภูมิในพื้นที่เพิ่มเป็น 30-35 องศาเชลเซียสอย่างฉับพลันภายในเวลา 24 ชั่วโมง และอุณหภูมิคงค่าเป็นเวลาหลายวันหรือสัปดาห์ จึงเรียกว่าพื้นที่นี้มีปรากฏการณ์คลื่นความร้อนเกิดขึ้น

ทั้งนี้ องค์การอุตุนิยมวิทยาโลก (World Meteorological Organization: WMO) ได้จำกัดความคำว่าคลื่นความร้อนว่า เป็นภาวะที่อุณหภูมิสูงสุดประจำวันเกินค่าอุณหภูมิสูงสุดโดยเฉลี่ยประมาณ 5 องศาเชลเซียส ติดต่อกันเป็นเวลาอย่างน้อย 5 วัน

 

คลื่นความร้อนเกิดได้ 2 รูปแบบ คือ แบบสะสมความร้อน เกิดในพื้นที่มีความแห้งแล้ง ไม่มีเมฆและลมสงบนิ่งหลายวัน มวลอากาศร้อนจึงไม่เคลื่อนที่ อุณหภูมิเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง สะสมมวลอากาศร้อนจนกลายเป็นคลื่นความร้อน เช่นที่เกิดในแอฟริกา ออสเตรเลีย อเมริกาเหนือ อินเดีย และปากีสถาน

คลื่นความร้อนแบบพัดพาความร้อน เกิดจากลมหอบมวลความร้อนจากทะเลทรายหรือเส้นศูนย์สูตรเข้ามาในพื้นที่ที่มีอากาศเย็นกว่าหรือเขตหนาว ทำให้อุณหภูมิในพื้นที่นั้นเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว จนกว่าลมร้อนนั้นจะพัดผ่านไปหรือสลายตัว พบในพื้นที่เขตหนาว เช่น ทวีปยุโรป

นอกจากนี้ยังมีคลื่นลมร้อนที่เกิดจากระบบความกดอากาศสูงหรือแอนติไซโคลน (Anticyclone)

สำหรับประเทศไทย ยังไม่พบการเกิดคลื่นความร้อน แม้ว่าจะมีช่วงที่อุณหภูมิพุ่งขึ้นสูง เช่น ระหว่างเดือนเมษายน 2566 ที่ผ่านมา มีวันที่อุณหภูมิทะลุ 40 องศาเซลเซียส แต่ตามข้อมูลของกรมอุตุนิยมวิทยาระบุว่า ไม่ใช่คลื่นความร้อนที่เกิดจากความร้อนสะสม แต่เป็นผลกระทบจากหย่อมความกดอากาศต่ำซึ่งปกคลุมประเทศไทยในระดับท้องถิ่น

สิ่งที่เกิดขึ้นในไทยแตกต่างกับบางประเทศในเอเชีย เช่น อินเดียและบังกลาเทศ ที่มีอุณหภูมิสูง 40 องศาเซลเซียสต่อเนื่องหลายวัน มีความร้อนสะสมและค่าเฉลี่ยอุณหภูมิเพิ่มสูงวันละ 5 องศาเซลเซียส

คลื่นความร้อน & การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

คลื่นความร้อนและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมีความเกี่ยวข้องกันอย่างปฏิเสธไม่ได้ การที่คลื่นความร้อนเกิดมากขึ้นและมีความรุนแรงมากขึ้น มีหลักฐานชี้ว่าเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) หรือภาวะโลกร้อน (Global Warming)

ด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทำให้อุณหภูมิของโลกในปัจจุบันสูงขึ้นถึง 1.1 องศาเซลเซียสนับจากระดับก่อนยุคอุตสาหกรรม โดยสาเหตุหลักคือ ก๊าซเรือนกระจกจากกิจกรรมในชีวิตของมนุษย์ที่เพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ตัวการสำคัญของภาวะโลกร้อนมีความเข้มข้นในชั้นบรรยากาศเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 48 ระหว่างปีพ.ศ. 2293 ถึงปีพ.ศ. 2563

 

นอกจากคาร์บอนไดออกไซด์แล้ว ก๊าซอื่น ๆ เช่น มีเทน, ไนตรัสออกไซด์ ฯลฯ ซึ่งมีคุณสมบัติในการดูดซับคลื่นรังสีความร้อน อาจเป็นปัจจัยทำให้อุณหภูมิโลกสูงขึ้นได้ หากมีปริมาณมากเกินไป จะส่งผลให้ชั้นบรรยากาศมีการกักเก็บรังสีความร้อนไว้มากขึ้น ทำให้อุณหภูมิเฉลี่ยของชั้นบรรยากาศเพิ่มขึ้น

ยิ่งอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกสูงขึ้นเข้าใกล้ 1.5 องศาเซลเซียสมากเท่าไร นั่นหมายถึงภัยพิบัติกำลังจะมาเยือนหลายประเทศทั่วโลก หากเหตุการณ์ความร้อนสูงสุดขั้วหรือคลื่นความร้อนเกิดบ่อยขึ้น นานขึ้น และรุนแรงขึ้น

ผลกระทบอันแผดเผาจากคลื่นความร้อน

ฤดูร้อนที่ผ่านมานี้ คลื่นความร้อนได้แผ่ขยายปกคลุมทั่วทวีปยุโรป โดยเฉพาะในเดือนกรกฎาคมซึ่งเป็นเดือนที่มีอุณหภูมิสูงสุดของปี ทำให้เกิดไฟป่าครั้งใหญ่ทั้งในฝรั่งเศส, โปรตุเกส, สเปน และกรีซ

ในประเทศฝรั่งเศสพบว่า คลื่นความร้อนเกิดเพิ่มมากขึ้นถึงสามเท่าในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา อุณหภูมิเพิ่มขึ้น 2 องศาเซลเซียสนับตั้งแต่ต้นศตวรรษที่ 20 สูงกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลกที่ 1.1 องศาเซลเซียส

ส่วนที่สหราชอาณาจักร อุณหภูมิทะลุไปแตะ 40 องศาเซลเซียสเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ สำนักงานอุตุนิยมวิทยาต้องออกคำเตือนอากาศร้อนจัดระดับสีแดงครั้งแรก พร้อมมีมาตรการรับมือภาวะฉุกเฉินด้านสภาพอากาศในฤดูร้อนเป็นครั้งแรก

จากผลการศึกษาพบว่า การเกิดคลื่นความร้อนจนอุณหภูมิทำลายสถิติในสหราชอาณาจักรมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างน้อย 10 เท่า จากการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ

ที่ผ่านมา คลื่นความร้อนคร่าชีวิตผู้คนมากมาย เช่นในยุโรปเคยประสบกับวิกฤติคลื่นความร้อนในปี 2546 ทำให้มีผู้เสียชีวิตกว่า 70,000 คน และในปี 2565  คลื่นความร้อนทำให้ประชาชนเสียชีวิตสูงเกือบ 62,000 ราย

 

นอกจากยุโรป หลายประเทศเผชิญกับคลื่นความร้อนรุนแรง เช่น อินเดีย ซึ่งอากาศร้อนจัดทวีความรุนแรงมากขึ้นในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ส่งผลให้เกิดภาวะขาดแคลนน้ำอย่างรุนแรง กระทบประชาชนหลายสิบล้านคน มีคนเสียชีวิต และต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลเพราะอากาศร้อน

 

ฮีตเวฟ…สัญญาณเตือนด้านสุขภาพ

คลื่นความร้อนทำให้เกิดความเสี่ยงต่อสุขภาพอย่างไม่ต้องสงสัย เมื่อต้องสัมผัสกับอากาศร้อนจัดเป็นเวลานาน ทำให้ร่างกายเกิดปัญหาเรื่องการควบคุมอุณหภูมิภายใน ซึ่งอาจนำไปสู่การเจ็บป่วย นับตั้งแต่อาการอ่อนเพลีย ภาวะขาดน้ำ ไปจนถึงโรคลมแดด (Heat Stroke) ซึ่งเป็นภาวะที่อุณหภูมิในร่างกายสูงเกิน 40 องศาเซลเซียส จากการอยู่ในสภาพอากาศที่ร้อนจัดเป็นเวลานานหรือใช้กำลังกายในอุณหภูมิที่ร้อนมากๆ และร่างกายไม่สามารถปรับตัวลดอุณหภูมิให้อยู่ในเกณฑ์ปกติได้ อาจเริ่มมีอาการวิงเวียนศีรษะ ปวดศีรษะ อ่อนแรงและคลื่นไส้ เมื่ออุณหภูมิสูงขึ้นเรื่อยๆ จะทำให้เกิดอาการผิดปกติ เช่น สับสน พูดไม่ชัดเจน กระสับกระส่าย หรือเห็นภาพหลอน หากรุนแรงมากอาจทำให้เกิดการชักเกร็งและเป็นเหตุให้เสียชีวิตได้
            อากาศร้อนยังเกี่ยวข้องกับสมรรถภาพทางความคิดและจิตใจ มีผลต่อการขยายตัวของหลอดเลือดและความดันโลหิต ซึ่งอาจกระทบกับการทำงานของสมองและหัวใจได้ รวมถึงมีโอกาสทำให้เกิดมะเร็งผิวหนังได้มากขึ้น


            นอกจากนี้ฮีตเวฟยังทำให้คุณภาพอากาศแย่ลง เพราะอุณหภูมิสูงจะทำให้อากาศนิ่ง เกิดการสะสมมลพิษในอากาศ อาจส่งผลเสียต่อการทำงานของระบบหายใจและปอด

เพื่อป้องกันตัวเองจากคลื่นความร้อน ควรดื่มน้ำให้เพียงพอ หลีกเลี่ยงกิจกรรมกลางแจ้ง สวมเสื้อผ้าน้ำหนักเบาและระบายอากาศได้ดี

 

ปกป้องเด็กและกลุ่มเปราะบางจากภัยร้อน

องค์การอุตุนิยมวิทยาโลกกล่าวว่า คลื่นความร้อนจะทำให้คุณภาพอากาศแย่ลงโดยเฉพาะในเมือง ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับกลุ่มเปราะบาง

จากรายงานของ ยูนิเซฟ ระบุว่า เด็กและเยาวชนอย่างน้อย 5 ร้อยล้านคนกำลังเผชิญกับคลื่นความร้อนที่สูงขึ้นมากกว่าปกติ และจะส่งผลกระทบต่อเด็กจำนวนมากกว่า 2 พันล้านคนทั่วโลก ภายในปี 2593

 

เด็กและเยาวชนเป็นประชากรกลุ่มแรกที่ต้องเผชิญภัยคุกคามจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพราะสามารถควบคุมอุณหภูมิของร่างกายได้น้อยกว่า ก่อให้เกิดปัญหาด้านสุขภาพมากขึ้น โดยเฉพาะโรคระบบทางเดินหายใจเรื้อรัง โรคหอบหืด โรคหัวใจและหลอดเลือด ฯลฯ

นั่นจึงมีความจำเป็นที่แต่ละประเทศต้องสร้างความตระหนักรู้เพื่อปรับตัวและปกป้องประชากรกลุ่มเสี่ยง คือ ผู้สูงอายุ เด็ก และผู้มีปัญหาสุขภาพ โดยต้องดำเนินการอย่างเร่งด่วนให้ทันต่อสถานการณ์

ผลกระทบสุขภาพจากคลื่นความร้อนเป็นเรื่องระดับโลก

เพราะผลกระทบด้านสุขภาพที่เกิดจากวิกฤตสภาพภูมิอากาศมีความสำคัญและสมควรได้รับความสนใจเพิ่มขึ้นจากบุคคล ชุมชน รัฐบาล และองค์กรระหว่างประเทศ

ในขณะที่โลกยังคง “ร้อนขึ้น” เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เกิดจากฝีมือมนุษย์ ผลกระทบต่อสุขภาพของมนุษย์จึงชัดเจนมากขึ้นและเป็นวงกว้าง ทั้งทางตรงและทางอ้อม

อันโตนิโอ กูเตอร์เรส (António Guterres) เลขาธิการสหประชาชาติ เปิดเผยว่า "ภาวะโลกร้อน" (global warming) ได้สิ้นสุดลงแล้ว และจากนี้ไปโลกได้เข้าสู่ยุค "โลกเดือด" (global boiling) หลังจากบรรดานักวิทยาศาสตร์ได้ยืนยันตรงกันว่าเดือนกรกฎาคมในปีนี้เป็นเดือนที่โลกร้อนจัดที่สุดเท่าที่เคยมีการบันทึกมา และยังได้เรียกร้องให้รัฐบาลทั่วโลกหันมาดำเนินมาตรการต่างๆ อย่างไม่ลังเล และไม่รีรอที่จะเดินหน้าแก้ไขปัญหาที่เกิดจากภาวะโลกร้อน

นอกจากนี้ การประชุมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของสหประชาชาติครั้งที่ 28 หรือ COP28 ซึ่งจะจัดขึ้นในเดือน พฤศจิกายนที่จะถึงนี้ ณ ดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ จะเป็นครั้งแรกที่ประเด็นด้านสุขภาพจากผลกระทบของวิกฤตสภาพภูมิอากาศจะถูกนำไปพิจารณาแบบเชิงลึก โดยจัดให้มีการประชุมของรัฐมนตรีสาธารณสุขและรัฐมนตรีว่าการสิ่งแวดล้อมทั่วโลก เพื่อเน้นย้ำถึงผลกระทบของวิกฤตสภาพภูมิอากาศต่อความเป็นอยู่ที่ดี วิกฤตสภาพภูมิอากาศมีแนวโน้มที่จะเพิ่มภาระให้กับระบบสุขภาพทั่วโลก

ทุกประเทศต้องเตรียมรับมือกับวิกฤติสภาพอากาศสุดขั้วซึ่งรวมถึงคลื่นความร้อน รวมทั้งให้ความสำคัญกับการควบคุมหยุดยั้งปัจจัยที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก

 

ในวันนี้ คลื่นความร้อนเป็นสัญญาณบ่งชี้ที่ชัดเจนของวิกฤติภูมิอากาศและภัยคุกคามสุขภาพซึ่งเรากำลังเผชิญอยู่ ถ้าหากอุณหภูมิโลกยังคงเพิ่มสูงขึ้นเนื่องมาจากกิจกรรมของมนุษย์ทั้งจากการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล การตัดไม้ทำลายป่า ฯลฯ คลื่นความร้อนจะยิ่งมีโอกาสเกิดถี่ขึ้นและรุนแรงขึ้น ทั่วโลกจึงต้องร่วมกันดำเนินการแก้ไขและป้องกัน พัฒนากลยุทธ์ที่มีประสิทธิภาพเพื่อลดผลกระทบ ทำความเข้าใจ สร้างความตระหนัก และลงมือทำ เพื่อสร้างอนาคตที่ยั่งยืนและปลอดภัยสำหรับทุกคน

 

อ้างอิง

https://www.thaipbs.or.th/news/content/326862

https://www.euronews.com/green/2022/07/29/is-climate-change-causing-the-heatwave-heres-the-simple-science-behind-europes-scorching-w

https://www.igreenstory.co/climate-change-leading-heatwaves-for-record-breaking-temperatures/

https://thestandard.co/europe-faces-severe-heat-wave/

https://www.igreenstory.co/61000-europeans-died-2022-heatwaves/

https://thestandard.co/nearly-100-die-india-struggles-sweltering-heatwave/

https://www.pptvhd36.com/health/news/1273

https:// www.pptvhd36.com/news/สังคม/199908

https://www.sdgmove.com/2022/11/01/unicef-heat-wave-2593/

https://www.igreenstory.co/cop28-to-consider-health-issue-in-depth/

https://plus.thairath.co.th/topic/naturematter/103532

 

งานบทความที่กำลังเป็นที่ได้รับความสนใจ

ปรับเปลี่ยนทัศนคติคนไม่กินผัก ลองก่อนแล้วจะเห็นผลดีตามมา
1708931705.jpg

Super Admin ID1

ปรับเปลี่ยนทัศนคติคนไม่กินผัก ลองก่อนแล้วจะเห็นผลดีตามมา

สร้างรากฐานชีวิตเด็ก ๆ ด้วยหนังสือ ไม่มีวิธีการสื่อสารใดทดแทนการอ่านได้
1708931705.jpg

Super Admin ID1

สร้างรากฐานชีวิตเด็ก ๆ ด้วยหนังสือ ไม่มีวิธีการสื่อสารใดทดแทนการอ่านได...

งานวิจัยชี้ การเชื่อมโยงกับธรรมชาติช่วยลดภาวะซึมเศร้า สร้างสุขภาพที่ดี
1708931705.jpg

Super Admin ID1

งานวิจัยชี้ การเชื่อมโยงกับธรรมชาติช่วยลดภาวะซึมเศร้า สร้างสุขภาพที่ดี

ส่วนที่ 4 การประมวลและสังเคราะห์องค์ความรู้สุขภาวะ ประเด็นสุขภาพจิต
defaultuser.png

Admin ID3

ส่วนที่ 4 การประมวลและสังเคราะห์องค์ความรู้สุขภาวะ ประเด็นสุขภาพจิต

เกี่ยวกับเรา
1719481749.jpeg

Super Admin ID2

เกี่ยวกับเรา

งานบทความที่เกี่ยวข้อง

surachet@thaihealth.or.th

Highlight
หญ้าทะเล ลุ่มน้ำเค็ม และป่าชายเลน เป็นระบบนิเวศสำคัญในการดูดซับคาร์บอน มีอัตราการกักเก็บที่รวดเร็วในระยะยาว และถึงแม้จะมีพื้นที่เพียง 0.5% ของพื้นที่ชายฝั่งทั่วโลก แต่สามารถกักเก็บคาร์บอนได้ถึง 5% ของปริมาณคาร์บอนทั้งหมดของโลก
ไมโครพลาสติกเป็นหนึ่งในปัญหาที่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อป่าชายเลนโดยมีการประมาณการว่าขยะพลาสติกถูกปล่อยลงสู่มหาสมุทรมากถึง 12.7 ล้านตันในปี 2010 และคาดว่าจะเพิ่มเป็นสองเท่าในปี 2025 
ขนาดไมโครพลาสติกที่พบมากที่สุดจากการเก็บตัวอย่างคือ 100-330 ไมครอน ซึ่งพลาสติกเหล่านี้เกิดจากกิจกรรมภายในครัวเรือน เช่น การซักผ้า และถุงพลาสติกที่ปนเปื้อนมากับขยะอาหาร