บทนำ
- คนไทยกินน้ำตาลถึงวันละ 25 ช้อนชา มากกว่าปริมาณที่องค์การอนามัยโลก (WHO) แนะนำไว้คือ ไม่เกินวันละ 6 ช้อนชา
- อาหารและเครื่องดื่มที่หวานเกินเกณฑ์มาตรฐานส่งผลให้คนไทยร้อยละ 75 ป่วยและเสียชีวิตจากโรค NCDs และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี มีข้อมูลพบว่าคนไทยป่วยเป็นโรคเบาหวานเพิ่มมากถึง 300,000 คนต่อปี
- การลดปริมาณน้ำตาลควรค่อย ๆ ลดลงให้ร่างกายสามารถรับน้ำตาลได้น้อยที่สุด โดยปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการกิน ลดอาหารเครื่องดื่มรสหวานและซ่อนหวาน
“คนไทยป่วยเป็นโรคเบาหวานเพิ่มมากถึง 300,000 คนต่อปี …”
“คนไทยร้อยละ 75 ป่วยและเสียชีวิตจากโรค NCDs และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี ...”
ข้อมูลเหล่านี้ตอกย้ำความกังวลเกี่ยวกับการบริโภคหวานมากจนอาจมีผลต่อสุขภาพของคนไทย
ถึงแม้ว่า ประชาชนจำนวนมากจะรู้อยู่แล้วว่า “หวานมันร้าย” แต่กลับไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะลด จึงจำต้องมีแรงผลักดันส่งเสริมจากภาคส่วนต่าง ๆ เกิดเป็นมาตรการและการรณรงค์เพื่อไปสู่เป้าหมายสังคมหวานน้อย
คนไทยวันนี้ยังหวานอยู่
พฤติกรรมการกินหวานของคนไทยในปี 2565 จากการสำรวจทัศนคติและพฤติกรรมในการบริโภคอาหารของคนไทยผ่านช่องทางออนไลน์ Buzzebees Panel โดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และ ไวตามินส์ คอนซัลติ้ง แอนด์ รีเสิร์ช พบว่า
กลุ่มคนทำงาน (18-39 ปี) ร้อยละ 57 ไม่ลดหวานเลยและเน้นความอร่อยเป็นหลัก
ร้อยละ 77 มักจะเพิ่มน้ำตาล เมื่อรับประทานก๋วยเตี๋ยวนอกบ้าน คนที่ไม่เติมน้ำตาลเลยมีร้อยละ 23 ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มผู้หญิง
ร้อยละ 51 ดื่มเครื่องดื่มรสชาติปกติที่ร้านชงให้ ไม่ลดความหวาน ส่วนคนที่สั่งไม่หวานหรือลดความหวานประมาณ 1 ใน 3 เป็นกลุ่มสูงวัย
ร้อยละ 14 มักเพิ่มความหวานในเครื่องดื่ม โดยเฉพาะคนทำงาน ร้อยละ 18 มักเติมน้ำตาลตั้งแต่ 4 ช้อนขึ้นไป เหตุเพราะเหนื่อยล้าจากการทำงาน จึงต้องการเครื่องดื่มที่มีความหวาน
ป้ายแนะนำระดับความหวานในร้านเครื่องดื่มมีผลต่อการลดปริมาณความหวานของผู้บริโภคร้อยละ 33 ขณะที่ร้อยละ 42 ทำให้ลังเล แต่ยังเลือกระดับความหวานปกติอยู่ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย
จากการสำรวจ วิธีลดความหวานที่นิยมทำคือ ดื่มน้ำเปล่าแทนน้ำหวานหรือน้ำอัดลม ร้อยละ 35 รองลงมาคือ ไม่เติมน้ำตาล, อ่านฉลากโภชนาการดูระดับน้ำตาลในผลิตภัณฑ์ก่อนซื้อ, กินผลไม้สดแทนน้ำผลไม้หรือขนม เป็นต้น
ในความหวานมีด้านมืด
จากข้อมูลของสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย พบว่า คนไทยกินน้ำตาลถึงวันละ 25 ช้อนชา มากกว่าปริมาณที่องค์การอนามัยโลก (WHO) แนะนำไว้คือ ไม่เกินวันละ 6 ช้อนชา
ขณะที่ข้อมูลปี 2562 จากสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ระบุว่า ในแต่ละวัน คนไทยดื่มเครื่องดื่มที่ผสมน้ำตาลเฉลี่ยกว่า 3 แก้ว โดยเฉพาะเครื่องดื่มชงเย็นรสหวาน อย่างเช่น กาแฟ ชานมไข่มุก น้ำแต่งรสต่าง ๆ เป็นต้น
นอกจากในเครื่องดื่มหรืออาหารหวานต่าง ๆ แล้ว ในแต่ละวันยังมีน้ำตาลซ่อนอยู่ในอาหารคาว ของกินเล่น หรือแม้แต่ในน้ำจิ้มประเภทต่าง ๆ ทำให้ร่างกายรับน้ำตาลเกินเกณฑ์ได้
การบริโภคน้ำตาลมากเกินไปส่งผลเสียต่อสุขภาพ เป็นสาเหตุของโรคอ้วน โรคเบาหวาน โรคหัวใจ ความดันโลหิตสูง โรคหลอดเลือดหัวใจ โรคตับ โรคมะเร็ง แก่ก่อนวัย ฝันผุ ฯลฯ
อาหารและเครื่องดื่มที่หวานเกินเกณฑ์มาตรฐานส่งผลให้คนไทยร้อยละ 75 ป่วยและเสียชีวิตจากโรค NCDs และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี มีข้อมูลพบว่าคนไทยป่วยเป็นโรคเบาหวานเพิ่มมากถึง 300,000 คนต่อปี
“ติดหวาน” แล้ว ทำอย่างไรดี
การลดเลิกบริโภคหวาน ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะสำหรับบางคน ไม่ได้แค่ชอบ แต่กลับเสพติดความหวานไปแล้ว
เมื่อกินอาหารที่มีรสชาติหวาน น้ำตาลจะกระตุ้นต่อมรับรสที่ลิ้น ก่อนส่งสัญญาณและกระตุ้นสมองส่วนที่เกี่ยวข้องกับความพึงพอใจ (Brain Reward System) ให้หลั่งสารโดพามีน ทำให้รู้สึกดี เคลิบเคลิ้ม และอยากกินอีก กินเท่าไรก็ไม่เบื่อ ทำให้เกิดพฤติกรรมเสพติด สังเกตได้จากพฤติกรรมอย่างเช่น หลังมื้ออาหารจะต้องมีของหวาน หากไม่ได้กินของหวานจะรู้สึกโหย หงุดหงิดจนต้องหาของหวานมากิน เป็นต้น
การลดปริมาณน้ำตาลควรค่อย ๆ ลดลง ให้ร่างกายสามารถรับน้ำตาลได้น้อยที่สุด โดยปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการกิน ลดอาหารเครื่องดื่มรสหวานและซ่อนหวาน เช่น เปลี่ยนมากินข้าวกล้องหรือขนมปังโฮลวีตแทนข้าวขาวหรือขนมปังขาว รับประทานผลไม้สดที่มีน้ำตาลต่ำ อาหารควรจะมีเส้นใยสูง เช่น ถั่ว ผัก และกินอาหารให้ครบ 5 หมู่ สำหรับการหักดิบตัดน้ำตาลออกไปทั้งหมดในทันทีอาจมีโอกาสล้มเหลวมากกว่า
สำหรับคนที่ต้องการดื่มเครื่องดื่มเย็น แนะนำให้สั่งสูตรหวานน้อย จะช่วยให้กลไกการหลั่งโดพามีนทำงานปกติ ลดความเสี่ยงการเสพติดความหวานได้
ที่สำคัญคือ ควรดื่มน้ำเปล่าให้เพียงพอ เพราะภาวะขาดน้ำอาจทำให้เกิดอาการอยากกินของหวาน เมื่อรู้สึกต้องการของหวานให้เบี่ยงเบนความสนใจไปทำกิจกรรมอื่น ๆ แทน
ภาษีเพื่อสุขภาพ … ช่วยได้ ?
เมื่ออาหารรสหวานที่อร่อยถูกปากสร้างผลกระทบทำให้คุณภาพชีวิตของคนไทยแย่ลงและค่าใช้จ่ายเรื่องการรักษาพยาบาลเพิ่มมากขึ้น
หนึ่งในความพยายามเพื่อแก้ไขลดความเสี่ยงในการบริโภคน้ำตาลเกินขนาดคือ การเก็บภาษีความหวานในเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของน้ำตาล เช่น น้ำอัดลม ชาเขียว กาแฟ เครื่องดื่มชูกำลัง น้ำผลไม้ ฯลฯ
ภาษีความหวาน กฎหมายระบุไว้ให้เป็นการเก็บภาษีตามขั้นบันได เริ่มต้นระยะที่ 1 เมื่อปี 2560 ปัจจุบันเก็บอัตราภาษีอยู่ในระยะที่ 2 โดยปริมาณน้ำตาล 6-8 กรัม คิดอัตราภาษี 0.1 บาท/ลิตร ปริมาณน้ำตาล 8-10 กรัม คิดอัตราภาษี 0.3 บาท/ลิตร - ปริมาณน้ำตาล 10-14 กรัม คิดอัตราภาษี 1 บาท/ลิตร ปริมาณน้ำตาล 14-18 กรัม คิดอัตราภาษี 3 บาท/ลิตร ปริมาณน้ำตาล ตั้งแต่ 18 กรัม คิดอัตราภาษี 5 บาท/ลิตร
ส่วนระยะที่ 3 มีการเลื่อนบังคับใช้ โดยจะเริ่ม เม.ย. 2566 อัตราภาษี ระยะที่ 3 ปริมาณน้ำตาล 6-8 กรัม คิดอัตราภาษี 0.3 บาท/ลิตร ปริมาณน้ำตาล 8-10 กรัม คิดอัตราภาษี 1 บาท/ลิตร ปริมาณน้ำตาล 10-14 กรัม คิดอัตราภาษี 3 บาท/ลิตร • ปริมาณน้ำตาล 14-18 กรัม คิดอัตราภาษี 5 บาท/ลิตร ปริมาณน้ำตาล ตั้งแต่ 18 กรัม คิดอัตราภาษี 5 บาท/ลิตร
ภายหลังการเก็บภาษี จากการสำรวจของสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ในปี 2563 พบว่า ในกลุ่มประชากรไทยอายุ 6 ปีขึ้นไปมีการบริโภคเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลลดลง จาก 283.6 มิลลิลิตร ในปี 2561 เป็น 275.8 มิลลิลิตร ในปี 2562 หรือลดลงร้อยละ 2.8 โดยเครื่องดื่มที่มีการบริโภคลดลงมากที่สุดคือ เครื่องดื่มผสมโซดาแบบกระป๋อง ตามด้วยเครื่องดื่มสมุนไพร และน้ำผลไม้แบบกล่อง
จากการสำรวจปริมาณการบริโภคน้ำตาลของคนไทย โดยสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาล กระทรวงอุตสาหกรรม พบว่า หลังการจัดเก็บภาษีส่งผลให้คนไทยมีการบริโภคน้ำตาลจากเครื่องดื่มลดลงร้อยละ 15.3 และ 14.0 ในปี 2561 และ 2562 ตามลำดับ และในปี 2563 พบว่าคนเป็นโรคอ้วนลดลง 9,306 คน
สั่งได้ … หวานน้อยไม่เกิน 2 ช้อนชา
เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนลดหวาน สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กับภาคีเครือข่ายร่วมกันรณรงค์สร้างความตระหนักรู้ถึงภัยร้ายจากความหวาน โดยเฉพาะในหมู่คนวัยทำงานที่นิยมบริโภคเครื่องดื่มชงเย็น
โครงการนี้ได้พัฒนาเครื่องมือที่เป็นเกณฑ์ระดับความหวานสำหรับเครื่องดื่มเย็นขึ้น เพื่อเทียบเคียงระดับความหวานในปริมาณต่าง ๆ ให้เห็นระดับที่หวานมาก-หวานเกินสำหรับคนไทย โดยใช้ “ช้อนชา” ในการวัดปริมาณความหวานที่ใส่ในเครื่องดื่ม และบอกระดับที่ไม่ควรกินเกินต่อแก้ว คือ ไม่เกินระดับ 2 หรือ ความหวานไม่เกิน 2 ช้อนชา
ไม่ว่าจะเป็นความหวานจากน้ำตาล นมข้น น้ำผึ้ง น้ำเชื่อม หรือไซรัป ซึ่งผสมในเครื่องดื่มชงเย็นทุกประเภท เพื่อให้เข้าใจง่ายที่สุด วิธีนี้จะช่วยลดความหวานในเครื่องดื่มที่โดยทั่วไปร้านต่าง ๆ มักจะใส่ความหวานเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 10 ช้อนชา
เกณฑ์นี้จะช่วยสร้างมาตรฐานระดับความหวานน้อยใหม่ เพื่อช่วยลดปริมาณน้ำตาลที่จะได้รับ หากทำต่อเนื่อง 3 สัปดาห์ หรือ 21 วัน ร่างกายจะค่อย ๆ เรียนรู้ ลิ้นจะคุ้นชินและปรับการรับรสระดับความหวานได้
การลดหวานเป็นหนึ่งในสิ่งที่ดีที่สุดที่เราสามารถทำเพื่อตัวเอง
อาจจะไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะอาหารเครื่องดื่มรสหวานมีอยู่ทั่วไปรอบตัวเรา
เพียงแค่เริ่มต้นตอนนี้ อย่างช้า ๆ ทำไปทีละวัน ๆ ก่อนจะรู้ตัว คุณอาจจะไม่อยากหวานอีกต่อไป
อ้างอิง
https://www.brandbuffet.in.th/2022/09/thai-health-insight-workers-like-more-sweet/
https://www.pptvhd36.com/health/food/2167
https://resourcecenter.thaihealth.or.th/article/กินหวานแต่พอดีชีวีเป็นสุข
https://www.thebangkokinsight.com/news/business/1021681/
https://www.thaihealth.or.th/?p=314094
https://multimedia.anamai.moph.go.th/news/230964/
1 ถูกใจ 772 การเข้าชม
งานบทความที่กำลังเป็นที่ได้รับความสนใจ
งานบทความที่เกี่ยวข้อง
เข้าสู่ระบบเพื่อโพสต์ความคิดเห็น
ความคิดเห็น 0