บทนำ
การกินด้วยอารมณ์ (Emotional Eating) คือ การกินอาหารเพื่อบรรเทาความรู้สึกหรือเยียวยาอารมณ์ด้านลบ เช่น เครียด หงุดหงิด เหนื่อยล้า เศร้า เหงา โกรธ กลัว ฯลฯ หรือแม้แต่เป็นการกินเพื่อเป็นการให้รางวัลตัวเอง พฤติกรรมการกินด้วยอารมณ์เช่นนี้มีผลกระทบต่อสุขภาพทั้งทางกายและจิตใจอย่างไม่คาดคิด และเป็นสิ่งที่ไม่ควรมองข้าม
ลองถามตัวเองด้วยคำถามเหล่านี้
- คุณกินมากขึ้นเมื่อรู้สึกเครียดหรือไม่?
- คุณกินตอนที่ไม่ได้หิวหรือยังอิ่มอยู่หรือเปล่า?
- เวลารู้สึกเศร้า โกรธ เบื่อ วิตกกังวล คุณกินเพื่อให้รู้สึกดีขึ้นหรือไม่?
- คุณให้รางวัลตัวเองด้วยอาหารหรือไม่?
- คุณกินจนอิ่มเกินไปเป็นประจำหรือเปล่า?
- อาหารทำให้คุณรู้สึกปลอดภัยหรือรู้สึกว่าอาหารเป็นเพื่อนหรือไม่?
- คุณรู้สึกไม่สามารถควบคุมตัวเองในเรื่องการกินใช่หรือไม่?
หากคุณตอบว่า “ใช่” ในหลาย ๆ ข้อ นั่นแสดงว่า คุณมีแนวโน้มที่จะมีพฤติกรรม “กินตามอารมณ์” ซึ่งเป็นความอยากกินหรือหิวทางอารมณ์ (emotional hunger) ไม่ใช่ความหิวทางกายภาพ (physical hunger)
ความหิวทางอารมณ์ VS ความหิวทางกายภาพ
- ความหิวทางอารมณ์มักเกิดขึ้นแบบทันทีอย่างรุนแรง แต่ความหิวทางกายภาพจะเกิดแล้วค่อย ๆ เพิ่มขึ้น เว้นแต่ไม่ได้กินเป็นเวลานานมาก
- ความหิวทางอารมณ์ต้องการชนิดของอาหารที่เฉพาะเจาะจง เช่น อาหารหวานหอมมันซึ่งช่วยทำให้รู้สึกผ่อนคลายและสบายใจ ในขณะที่ความหิวทางกายภาพจะเลือกอาหารหลากหลาย รวมทั้งอาหารที่ดีต่อสุขภาพ
- ความหิวทางอารมณ์จะนำไปสู่การกินโดยไม่ตระหนักหรือไม่รู้ตัวว่ากำลังทำอะไรอยู่ แต่การกินอาหารเพื่อตอบสนองความหิวทางกายภาพสามารถรับรู้และตระหนักถึงสิ่งต่าง ๆ เช่น ปริมาณ รสชาติ คุณค่าทางโภชนาการ ฯลฯ
- ความหิวทางอารมณ์จะกินไม่หยุด กินมากขึ้นเรื่อย ๆ กินบ่อย ๆ ความหิวทางกายภาพจะหยุดเมื่ออิ่ม ไม่ฝืนกินต่อ และรู้สึกอิ่มใจเมื่ออิ่มท้อง
- ความหิวทางอารมณ์ไม่มีอาการเหมือนหิวทางกายภาพ เช่น ท้องร้องหรือปวดท้อง แต่เป็นความอยากที่ขับออกจากหัวไม่ได้
- ความหิวทางอารมณ์มักนำไปสู่ความเสียใจ รู้สึกผิด หรืออับอาย เพราะลึก ๆ รู้ตัวว่าอาหารที่กินไม่เป็นประโยชน์ต่อสุขภาพ
กินด้วยอารมณ์ทำร้ายสุขภาพ
การกินด้วยอารมณ์ทำให้รู้สึกดีขึ้นชั่วคราว แต่หลังจากนั้นอาจจะรู้สึกผิดหรือรู้สึกแย่ลง เช่น กินตามอารมณ์เพราะเสียใจ กินแล้วอาจทำให้ความเสียใจหายไปชั่วคราว แต่ไม่นานจะกลับมาอีก เพราะต้นเหตุความเสียใจยังคงอยู่ และที่มากกว่านั้นการกินด้วยอารมณ์ทำให้น้ำหนักเกินหรือเกิดโรคอ้วนได้ เพราะกินมากและกินบ่อยเกินจำเป็น อีกทั้งชนิดอาหารที่กินมักมีส่วนผสมของน้ำตาลและไขมันสูง จึงอาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพ เกิดภาวะเสี่ยงต่อโรคต่าง ๆ เช่น โรคเบาหวาน โรคหัวใจ และความดันโลหิตสูง
ปัจจัยเกี่ยวข้องกับการกินด้วยอารมณ์
ปัจจัยหลักที่เกี่ยวข้องกับการกินด้วยอารมณ์ ได้แก่
ลักษณะอารมณ์ของบุคคล (Mood) ซึ่งส่งผลต่อการกินอาหารเพื่อเพิ่มเติมอารมณ์ทางบวก และลดอารมณ์ทางลบ
สถานการณ์ที่ต้องเผชิญ (Situational Characteristic) เช่น การเรียนหนังสือทำให้เครียด มีแนวโน้มจะกินเพื่อจัดการความเครียด
การจำกัดอาหาร (Eating Restraint) การควบคุมน้ำหนัก หมกมุ่นเข้มงวดเกี่ยวกับการกิน เสี่ยงต่อการกินอาหารด้วยอารมณ์
นอกจากนี้แล้ว ยังมีผลการศึกษาพบว่า การกินด้วยอารมณ์อาจมีความเชื่อมโยงกับภาวะอ้วน (Obesity) ชาติพันธุ์ (Ethnic Background) อิทธิพลของครอบครัว (Familial Influence) และลักษณะบุคลิกภาพ (Dispositional Characteristic) ในบางแง่มุม
ปัจจัยอื่น ๆ เช่น นิสัยในวัยเด็ก บางคนถูกเลี้ยงดูมาโดยการให้อาหารเป็นรางวัล นิสัยเหล่านี้มักจะติดตัวไปจนโต ขณะที่อิทธิพลทางสังคมก็มีส่วน เพราะการกินอาหารร่วมกับคนอื่น ๆ เป็นวิธีที่ดีในการคลายเครียด แต่ก็อาจนำไปสู่การกินมากเกินไปได้
วิธีบอกเลิกการกินตามอารมณ์
บันทึกการกินตามอารมณ์: จดบันทึกอาหารที่กิน รวมถึงสภาวะอารมณ์ที่เกี่ยวข้อง ค้นหาว่าอะไรเป็นตัวกระตุ้น เพื่อให้รู้รูปแบบการเกิด จะได้จัดการกับอารมณ์ได้ดียิ่งขึ้น สามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการกินได้อย่างมีประสิทธิภาพขึ้น
ทำกิจกรรมแทนการกิน: เมื่อเกิดความรู้สึกเชิงลบและอยากกิน ให้ทำกิจกรรมที่ชอบหรือกิจกรรมส่งเสริมอารมณ์เชิงบวก เช่น คุยกับคนที่ทำให้สบายใจ เล่นกับสัตว์เลี้ยง เต้นรำ เดินเร็ว อาบน้ำ จุดเทียนหอม อ่านหนังสือ ดูการแสดงตลก ออกไปสำรวจนอกบ้าน เป็นต้น
หยุดเพื่อตรวจสอบ: เมื่ออยากกินให้ใช้เวลาสักครู่เพื่อหยุดและไตร่ตรอง เลื่อนการกินออกไปสัก 5 นาที สำรวจความรู้สึกและอารมณ์เพื่อทำความเข้าใจกับสิ่งที่เกิดขึ้น
ยอมรับความรู้สึก: การกินตามอารมณ์อาจเกิดจากการไม่สามารถรับมือกับความรู้สึกตรงหน้าได้ จึงพยายามหลีกเลี่ยงด้วยอาหาร แต่ถ้าเรายอมรับอารมณ์ความรู้สึกที่เกิดขึ้น ไม่กดเก็บเอาไว้ หรือรู้สึกกลัว อารมณ์ความรู้สึกเหล่านั้นจะลดลง
กินอย่างมีสติ: กินให้ช้าลง จดจ่อกับรสชาติ รสสัมผัส หน้าตา สีสัน และกลิ่นของอาหาร ไม่ทำอย่างอื่นระหว่างกินอาหาร จะช่วยให้ไม่กินอาหารมากเกินไป
ใช้ชีวิตให้ดีต่อสุขภาพ: ให้ความสำคัญกับการออกกำลังกาย การนอนหลับ การผ่อนคลาย และพฤติกรรมที่ดีต่อสุขภาพอื่น ๆ ซึ่งช่วยให้รับมือกับอุปสรรคปัญหาในชีวิตได้ดีขึ้น และช่วยปกป้องผลกระทบจากอารมณ์ด้านลบด้วย
อย่างไรก็ตาม หากไม่สามารถควบคุมการกินตามอารมณ์ด้วยตัวเองได้ หรือโน้มเอียงไปสู่การกินผิดปกติ ควรปรึกษาแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญ เพราะการกินอาหารตามอารมณ์จะส่งผลกระทบอย่างมากต่อสุขภาพและคุณภาพชีวิตของเราในระยะยาว
อ้างอิง
0 ถูกใจ 561 การเข้าชม
งานบทความที่กำลังเป็นที่ได้รับความสนใจ
งานบทความที่เกี่ยวข้อง
เข้าสู่ระบบเพื่อโพสต์ความคิดเห็น
ความคิดเห็น 0