บทนำ
Highlight
• สถานการณ์การบริโภคนมในประเทศไทยปัจจุบัน จากข้อมูลของกรมอนามัยพบว่า เด็กวัยเรียนดื่มนมทุกวันเพียงร้อยละ 31.1 และวัยรุ่นร้อยละ 14.9
• ปัจจัยที่ทำให้อัตราการบริโภคนมของคนไทยอยู่ในเกณฑ์ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยโลก ส่วนหนึ่งเพราะคนไทยมองว่านม เป็นอาหาร จึงมักจะดื่มเพื่อรองท้องหรือเพื่อทำให้อิ่ม จึงจำกัดการดื่มนมเฉพาะช่วงเวลา
• การดื่มนมน้อย ทำให้เด็กไทยเตี้ยเพิ่มมากขึ้นจากร้อยละ 9.7 เป็น 12.9 โดยส่วนสูงเฉลี่ยเด็กอายุ 12 ปี เพศชาย 147.1 เซนติเมตร เพศหญิง 148.1 เซนติเมตร ส่วนสูงเฉลี่ยอายุ 19 ปี เพศชาย 170.9 เซนติเมตร เพศหญิง 158.1 เซนติเมตร
วันนี้เด็ก ๆ ของคุณดื่มนมแล้วหรือยัง? ถ้ายัง คุณต้องหันมาสนใจทางนี้!
นมเป็นเครื่องดื่มสุดพิเศษที่อัดแน่นด้วยคุณค่าทางโภชนาการ เต็มไปด้วยสารอาหารซึ่งมีประโยชน์และจำเป็นต่อการเจริญเติบโต พัฒนาการ และสุขภาพโดยรวมของเด็ก
วัยเด็กเป็นช่วงอายุที่ควรได้รับการบำรุงด้วยการดื่มนมมากที่สุด แต่จากการศึกษาพบว่า เด็กไทยในปัจจุบันดื่มนมน้อย จนทำให้เกิดข้อกังวลเกี่ยวกับการได้รับสารอาหารไม่เพียงพอ ซึ่งจะส่งผลต่อการเจริญเติบโต รวมถึงส่งผลต่อส่วนสูงด้วย
นั่นจึงมีความจำเป็นเร่งด่วนในการดำเนินการอะไรสักอย่างเพื่อให้แน่ใจว่า บุตรหลานของเราดื่มนมอย่างเพียงพอ
เด็กไทยดื่มนมน้อยจนน่าตกใจ!
สถานการณ์การบริโภคนมในประเทศไทยปัจจุบัน จากข้อมูลของกรมอนามัยพบว่า เด็กวัยเรียนดื่มนมทุกวันเพียงร้อยละ 31.1 และวัยรุ่นร้อยละ 14.9
จากผลของสวนดุสิตโพลเพื่อสำรวจพฤติกรรมการดื่มนมโคของคนไทยในปี 2562 พบว่า ดื่มเป็นประจำ ร้อยละ 44.10 ดื่มบ้าง ร้อยละ 42.04 และไม่ดื่มนมเลย ร้อยละ 13.86
ประชากรกลุ่มใหญ่ที่ดื่มนมเป็นกลุ่มเด็กและวัยรุ่น อายุ 3 – 12 ปี ร้อยละ 88.89 และ อายุ 13 – 20 ปี ร้อยละ 44.17 ส่วนประชากรที่ดื่มนมน้อยสุด คือ กลุ่มผู้สูงอายุ มากกว่า 60 ปีขึ้นไป ร้อยละ 29.96
คนไทยส่วนใหญ่ดื่มนม 1 ครั้งต่อวัน ร้อยละ 70.33 ดื่มนม 2 ครั้งต่อวัน ร้อยละ 23.51 และ 3 ครั้งต่อวัน ร้อยละ 3.77 ช่วงเวลาที่คนไทยดื่มนมมากที่สุดคือ ช่วงเช้า ตามมาด้วยดื่มก่อนนอน
ไทยดื่มนมต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของโลก
เมื่อเปรียบเทียบกับค่าเฉลี่ยการบริโภคนมทั่วโลกและระดับภูมิภาคแล้วพบว่า คนไทยดื่มน้อยกว่าอัตราเฉลี่ยอย่างมาก
อัตราเฉลี่ยการบริโภคนมของประชากรทั่วโลกอยู่ในระดับ 113 ลิตร/คน/ปี ในภูมิภาคยุโรป 274 ลิตร/คน/ปี, อเมริกาเหนือ 237 ลิตร/คน/ปี, อเมริกาใต้ 124 ลิตร/คน/ปี
สำหรับ เอเชียบริโภคนม 66 ลิตร/คน/ปี ตัวอย่างเช่น สิงคโปร์ 62 ลิตร/คน/ปี, อินเดีย 59.6 ลิตร/คน/ปี, จีน 38 ลิตร/คน/ปี, ญี่ปุ่น 32.1 ลิตร/คน/ปี, เกาหลีใต้ 30 ลิตร/คน/ปี เป็นต้น ส่วนคนไทยปัจจุบันดื่มนมน้อยเพียง 21.5 ลิตร/คน/ปี เพิ่มขึ้นจากปี 2564 ที่เฉลี่ย 19 ลิตร/คน/ปี ขณะที่เด็กไทยอายุ 6-19 ปี ดื่มนมน้อยเฉลี่ยเพียงครึ่งแก้วต่อวัน เด็กอายุ 3-5 ปี ดื่มนม 1 แก้วต่อวัน
ปัจจัยที่ทำให้อัตราการบริโภคนมของคนไทยอยู่ในเกณฑ์ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยโลก ส่วนหนึ่งเพราะคนไทยมองว่านม เป็นอาหาร (Meal) จึงมักจะดื่มเพื่อรองท้องหรือเพื่อทำให้อิ่ม จึงมีผลให้ความถี่ในการดื่มนมต่อวันถูกจำกัดเฉพาะช่วงเวลา
สวนดุสิตโพลยังได้ระบุปัจจัยที่ทำให้คนไทยไม่ดื่มนมคือ ได้รับสารอาหารจากแหล่งอื่น ไม่ชอบดื่มนม ดื่มแล้วไม่สบายท้อง และคิดว่าไม่มีความจำเป็น
ขุมทรัพย์ทางโภชนาการในน้ำนม
ทำไมนมจึงสำคัญสำหรับเด็ก? เพราะว่า นมมีสารอาหารที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโตของร่างกายเด็ก ไม่ว่าจะเป็นโปรตีนชั้นดีที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโตของเด็ก รวมถึงการซ่อมแซมเซลล์และควบคุมระบบภูมิคุ้มกัน, แคลเซียมที่ช่วยสร้างความแข็งแรงของกระดูก แคลเซียมและฟอสฟอรัสยังสำคัญต่อสุขภาพฟันของเด็ก
การดื่มนมอาจช่วยให้ระดับความดันโลหิตของเด็กเป็นปกติ การได้รับแคลเซียมอย่างเพียงพอ ยังช่วยลดความเสี่ยงต่อโรคหัวใจและหลอดเลือดในเด็ก
ในน้ำนมยังมี โพแทสเซียม วิตามินดี วิตามินบี 12 วิตามินเอ วิตามินบี 2 วิตามินบี 3 ฯลฯ สารธรรมชาติที่ช่วยต่อต้านอนุมูลอิสระ ชะลอความเสื่อมของเซลล์ในร่างกาย ช่วยให้รู้สึกผ่อนคลาย นอนหลับอย่างมีคุณภาพ
วัยเด็กเป็นช่วงอายุที่ควรได้รับการบำรุงด้วยการดื่มนมมากที่สุด
นมโค VS นมพืช
เมื่อพูดถึงนม โดยทั่วไปจะหมายถึง น้ำนมโค แต่ยังมีตัวเลือกอื่น คือ นมจากพืช เช่น นมถั่วเหลือง นมอัลมอนด์ นมข้าวโอ๊ต นมข้าวโพด ฯลฯ
แล้วนมแบบไหนจึงเหมาะกับเด็ก …
สถาบันกุมารเวชศาสตร์แห่งอเมริกา (American Academy of Pediatrics) ได้ออกคำแนะนำที่ระบุว่า เด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี ควรหลีกเลี่ยงนมจากพืช และเมื่อเด็กอายุตั้งแต่ 12 เดือนขึ้นไป ได้แนะนำให้เด็กดื่มนมวัว เพื่อช่วยเพิ่มโปรตีน แคลเซียม วิตามินดี และสารอาหารอื่นๆ เว้นแต่มีข้อจำกัดด้านอาหาร
- นมโคคือตัวเลือกที่ดีสำหรับเด็ก เพราะมีสารอาหารที่จำเป็นหลักซึ่งไม่มีในผลิตภัณฑ์ทดแทนจากพืช โดยเฉพาะโปรตีนและแคลเซียม
- นมโคมีกรดอะมิโนจำเป็นครบถ้วนมากกว่านมจากพืช มีส่วนช่วยในการเสริมสร้างความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ ซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอ
-นมโคมีคาร์โบไฮเดรตในรูปของน้ำตาลแลคโตส คนไทยจำนวนมากมีภาวะการย่อยแลคโตสบกพร่องมักมีอาการปวดท้อง ท้องเสียหลังจากการดื่มนม แต่ปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์นมปราศจากแลคโตสเพื่อเป็นทางเลือก
-นมโคแบบนมจืดพร่องมันเนยหรือเป็นนมจืดขาดมันเนย ช่วยลดการบริโภคไขมันจากนมได้
-นมถั่วเหลืองเป็นนมจากพืชที่ดีที่สุด สำหรับเด็กที่แพ้นมโค หรือผู้ไม่บริโภคผลิตภัณฑ์จากสัตว์
-นมถั่วเหลืองมีโปรตีนค่อนข้างสูง ควรเลือกสูตรเสริมแคลเซียม
-นมจากพืชอาจมีแคลเซียมให้ร่างกายดูดซึมได้น้อยกว่านมจากสัตว์ แต่นมจากพืช เช่น นมจากถั่วเปลือกแข็ง มีพลังงานไม่สูงมากและไขมันอิ่มตัวต่ำ
-หากลูกของคุณได้รับการวินิจฉัยว่าแพ้นมโคหรือมีปัญหาในการย่อยแลคโตสให้ปรึกษากุมารแพทย์หรือนักโภชนาการ เพื่อให้แน่ใจว่าเด็กได้รับสารอาหารที่จำเป็นต่อสุขภาพ
-เด็กที่ได้รับการวินิจฉัยว่าแพ้นมโคควรดื่มนมสำหรับการรักษา หรืออาจดื่มนมประเภทอื่นแทน เช่น นมอัลมอนด์ นมถั่วเหลือง เป็นต้น
-ควรเลือกดื่มนมจืดมากกว่านมปรุงแต่งรสชาติ เลือกชนิดหวานน้อยหรือไม่ใส่น้ำตาล หากต้องการเลือกซื้อนมจากพืชแนะนำให้เลือกสูตรแคลเซียมสูง (เสริมแคลเซียม) และควรอ่านฉลากโภชนาการก่อนเลือกซื้อทุกครั้ง
-เด็กควรดื่มนมแล้วตามด้วยน้ำเปล่าเพื่อป้องกันฟันผุ
ปริมาณการบริโภคนมในอุดมคติ
ปริมาณนมที่เด็กควรดื่มในแต่ละวันขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น อายุ ความสูง ความสามารถการย่อยแลคโตส เป็นต้น โดยทั่วไปแล้วเด็กควรดื่มนมในปริมาณดังนี้
ทารกแรกเกิด (0-12 เดือน) – ก่อนอายุ 12 เดือน ควรให้ลูกดื่มนมแม่หรือนมผงดัดแปลงสำหรับทารก
12-24 เดือน – นมสดครบส่วน มีสารอาหารครบถ้วนสมบูรณ์ที่สุด มากถึง 2-3 แก้วต่อวัน
2-3 ปี – นมพร่องมันเนยหรือนมปราศจากไขมัน มากถึง 2 แก้วต่อวัน
4-8 ปี – นมพร่องมันเนยหรือนมปราศจากไขมัน มากถึง 2 แก้วครึ่งต่อวัน
9-18 ปี – นมพร่องมันเนยหรือนมปราศจากไขมัน มากถึง 3 แก้วต่อวัน
การดื่มนมอาจพิจารณาถึงปริมาณแคลเซียมที่ควรได้รับต่อวัน เพราะแคลเซียมเป็นส่วนประกอบหลักในการเสริมสร้างความแข็งแรงของกระดูกและฟัน รวมถึงเป็นแร่ธาตุสำคัญในกระบวนการทำงานต่าง ๆ ของร่างกาย
ความต้องการแคลเซียมจะแบ่งออกตามอายุ เพศ และภาวะต่าง ๆ โดยทารก 0-5 เดือน ควรได้รับ 210 มก. ทารก 6-11 เดือน รับ 260 มก. เด็ก 1-3 ปี รับ 500 มก. เด็ก 4-8 ปี รับ 800 มก.
สำหรับนมโคมีปริมาณแคลเซียม 204.67 มิลลิกรัมต่อนมโค 200 มิลลิลิตร นม 1 แก้ว (244 กรัม) ประกอบไปด้วย แคลเซียมร้อยละ 28 ของปริมาณแคลเซียมที่ควรได้รับต่อวัน ขณะที่นมถั่วเหลืองมีปริมาณแคลเซียมแล้วแต่สูตร
ขาดนม ... เด็กไทยแคระแกร็น?
เด็กที่ดื่มนมน้อยอาจจะได้รับสารอาหารไม่เพียงพอ ส่งผลต่อการเจริญเติบโตและพัฒนาการของเด็ก เสี่ยงต่อการขาดสารอาหารและปัญหาสุขภาพที่เกี่ยวข้อง รวมถึงผลกระทบระยะยาวที่อาจเกิดขึ้นเมื่อเป็นผู้ใหญ่
จากสถานการณ์ภาวะโภชนาการปัจจุบันพบว่า เด็กไทยเตี้ยเพิ่มมากขึ้น ข้อมูลจากกรมอนามัยพบว่า ปัจจุบันเด็กไทยเตี้ยเพิ่มมากขึ้นจากร้อยละ 9.7 เป็น 12.9 โดยส่วนสูงเฉลี่ยเด็กอายุ 12 ปี เพศชาย 147.1 เซนติเมตร เพศหญิง 148.1 เซนติเมตร ส่วนสูงเฉลี่ยอายุ 19 ปี เพศชาย 170.9 เซนติเมตร เพศหญิง 158.1 เซนติเมตร สอดคล้องกับข้อมูลเด็กไทยดื่มนมน้อย เฉลี่ยเพียงครึ่งแก้วต่อวัน
กรมอนามัยร่วมขับเคลื่อนให้คนไทยมีความตระหนักในการดื่มนมและเพื่อให้เด็กไทยเข้าถึงนมราคาถูก เพื่อบรรลุตั้งเป้าหมายให้คนไทยดื่มนมได้ 25 ลิตร/คน/ปี มีรูปร่างสูงสมวัยแข็งแรงภายในปี 2570 และรณรงค์ให้ทุกกลุ่มวัยดื่มนมจืด 2 แก้ว ร่วมกับกินอาหารครบ 5 หมู่ ทั้ง 3 มื้อ อย่างหลากหลายและออกกำลังกาย ทั้งยังตั้งเป้าปี 2570 ส่วนสูงเฉลี่ยอายุ 19 ปี ชาย 175 ซม. หญิง 165 ซม.
การปฏิวัตินม … วิธีเพิ่มการบริโภค
เพื่อให้เด็กไทยบริโภคนมมากขึ้น จำเป็นต้องให้ความรู้แก่ผู้ปกครองและผู้ดูแลเด็กเกี่ยวกับความสำคัญของน้ำนม ส่งเสริมให้มีการบริโภคนมในโรงเรียนและชุมชน ร่วมมือกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในอุตสาหกรรมนมเพื่อทำให้นมสามารถเข้าถึงได้มากขึ้นและราคาไม่แพง
ที่ผ่านมามีการทำงานร่วมกันเพื่อพยายามให้เด็กไทยบริโภคนมมากขึ้น รวมถึงการเปิดตัว “เครือข่ายนมดีทุกวัย ดื่มได้ทุกวัน” ภายใต้แนวคิด “มิลค์ ฟอร์ ออล” (Milk for All) โดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์, กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข, สมาคมอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์อาหารนมไทย และเครือข่าย
การทำงานร่วมกันนี้เพื่อรณรงค์ผลักดันให้คนไทยมีความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับการดื่มนมและดื่มนมตามความเหมาะสมของแต่ละช่วงอายุ ดื่มนมแทนที่เครื่องดื่มอื่นที่ไม่มีประโยชน์ รวมทั้งแก้ไขความเข้าใจผิดเกี่ยวกับการดื่มนม เช่น นมทำให้อ้วน ทั้งที่ความจริงแล้ว นมสด นมพร่องไขมัน หรือนมไม่มีไขมัน มีปริมาณไขมันเพียงแค่ร้อยละ 3.9, 1.7 และ 0.3 ตามลำดับ เป็นต้น
หัวใจของการรณรงค์มุ่งหวังให้เด็กวัยเรียนวัยรุ่นดื่มนมจืด 2 แก้วทุกวัน ร่วมกับกินอาหารหลากหลายครบ 5 หมู่ ทั้ง 3 มื้อ โดยขอความร่วมมือให้ผู้ปกครองช่วยเตรียมนมไว้ที่บ้านสำหรับเด็ก เนื่องจากผลการสำรวจของกรมอนามัยสอดคล้องกับสวนดุสิตโพลพบว่า เด็กและวัยรุ่นจะดื่มนมมากขึ้นถ้ามีนมติดบ้าน
หากเด็กไทยเพิ่มพลังนมให้มากกว่าเดิม พวกเขาจะแข็งแรงขึ้น (และอาจจะสูงขึ้น) และพร้อมที่จะเติบโตอย่างมีคุณภาพ อย่าลืมว่านี่คือการเดินทางร่วมกันของทั้งครอบครัว โรงเรียน หน่วยงาน และผู้กำหนดนโยบายที่ต้องรวมกันเป็นหนึ่งเดียวกันในภารกิจนี้
มาชนแก้ว (นม) กันเถอะ!
อ้างอิง
-https://hellokhunmor.com/พ่อแม่เลี้ยงลูก/เด็กวัยหัดเดินและเด็กก่อนวัยเรียน/โภชนาการเด็กวัยหัดเดินและเด็กก่อนวัยเรียน/นม-สุขภาพเด็ก/
-https://www.siphhospital.com/th/news/article/share/milk
-https://www.childrens.com/health-wellness/what-is-the-best-milk-for-children
-https://www.thairath.co.th/news/local/2401190
-https://www.marketingoops.com/reports/behaviors/milk-consumption/
-https://www.thaihealth.or.th/?p=337804
0 ถูกใจ 605 การเข้าชม
งานบทความที่กำลังเป็นที่ได้รับความสนใจ
งานบทความที่เกี่ยวข้อง
เข้าสู่ระบบเพื่อโพสต์ความคิดเห็น
ความคิดเห็น 0