0

0

บทนำ

Highlight

• การแต่งเพลงคือ การแสดงความรู้สึกของการถูกกักขังหรืออุดอู้ เป็นการบอกเล่าเป้าหมายของตัวเอง รวมถึงความปรารถนาที่เป็นอิสระ และสามารถช่วยรักษา (Healing) จิตใจตัวเองได้

• มีศาสตร์การแต่งเพลงเพื่อการบำบัดซึ่งเป็นเทคนิคหนึ่งของดนตรีบำบัดที่สามารถลดความทุกข์ทางจิตใจและอาจเป็นสื่อกลางในการช่วยเหลือวัยรุ่นที่มีความเครียดที่ไม่ดีได้

• โครงการ “เพลงในใจ” นอกจากจะช่วยเยาวชนให้ได้ฝึกฝนขัดเกลาทักษะเรื่องการแต่งเพลงแล้ว ยังถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือช่วยปลดปล่อยความเครียด ความซึมเศร้า ความวิตกกังวล ความอึดอัด โดดเดี่ยว ผิดหวัง เจ็บปวด ฯลฯ ซึ่งช่วยทำให้ผ่านพ้นช่วงเวลาอันยากลำบากไปได้

 

“เหมือนกับเป็นการบำบัด … ” “เอ็ด ชีแรน” คนดนตรีระดับโลกพูดถึงพลังของการแต่งเพลง “ทุกครั้งที่เศร้าหรือรู้สึกแย่ สิ่งหนึ่งซึ่งทำให้ผมออกมาจากตรงนั้นได้คือ การเขียนเพลงเกี่ยวกับมัน”

 

ขณะที่ “เซย์น” อดีตสมาชิก “วันไดเรคชั่น” บอยแบนด์ขวัญใจวัยรุ่นซึ่งเคยประสบปัญหาสุขภาพจิตจนต้องหยุดทำงานดนตรีไปช่วงหนึ่ง เขาบอกว่า กระบวนการแต่งเพลงเป็นประสบการณ์ที่ดีในการได้หวนคิดถึงเรื่องราวต่าง ๆ ที่ผ่านมาทั้งดี-ไม่ดีแล้วทำความเข้าใจ การเขียนสิ่งเหล่านั้นออกมาเป็นกระบวนการบำบัด ซึ่งเซย์นแนะนำให้แฟน ๆ ลองทำแบบเดียวกันกับเขา (1)

 

การสร้างสรรค์งานศิลปะอย่างเช่นการแต่งเพลง นอกจากจะสร้างความบันเทิงให้กับผู้ฟังแล้ว ยังเป็นประโยชน์ต่อผู้แต่งในทางหนึ่งด้วย

การแต่งเพลงในฐานะเครื่องมือ ‘เยียวยา’ ใจ

การแต่งเพลงมีประโยชน์ทางด้านสุขภาพจิตคือ ช่วยคลายเครียด ปลดปล่อยอารมณ์ด้วยการแต่งเนื้อเพลงเกี่ยวกับประสบการณ์ทางอารมณ์ออกมา การแต่งเพลงยังเป็นวิธีการแสดงออก สำหรับหลายคนที่ขาดความสามารถในการแสดงออกทางวาจา การเขียนเพลงสามารถช่วยให้ผู้คนแสดงออกได้ดีขึ้นและเห็นภาพที่ชัดเจนขึ้นเกี่ยวกับสิ่งที่อาจทำให้จิตใจขุ่นเคือง ทั้งยังช่วยลดความวิตกกังวล และภาวะซึมเศร้า

 

เมื่อความในใจถูกกลั่นกรองสื่อสารนำเสนอออกมาผ่านบทเพลง นั่นเป็นกระบวนการรักษา อย่างเช่นที่ แดน ชไตน์การ์ท นักดนตรีบำบัดของโรงพยาบาลเมาท์ซีนายในนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา พูดไว้ว่า การแต่งเพลงคือ การแสดงความรู้สึกของการถูกกักขังหรืออุดอู้ พวกเขาสามารถบอกเล่าเป้าหมายของตัวเอง รวมถึงความปรารถนาที่เป็นอิสระและช่วยรักษา (Healing) จิตใจตัวเองได้ ที่สำคัญคือ การแต่งเพลงช่วยอธิบายความรู้สึกที่คลุมเครือ คนแต่งเพลงจะรับรู้ความรู้สึกของตัวเองมากขึ้น และค้นหาวิธีที่จะรับมือกับสถานการณ์ต่าง ๆ ที่เผชิญได้ดีขึ้น (2)

 

ด้วยประโยชน์ของการแต่งเพลงที่มีผลต่อสุขภาพจิต ทำให้มีศาสตร์การแต่งเพลงเพื่อการบำบัด (Therapeutic songwriting) ซึ่งเป็นเทคนิคหนึ่งของดนตรีบำบัด (Music Therapy) ที่สามารถลดความทุกข์ทางจิตใจและปรับปรุงการมีส่วนร่วมทางสังคมในกลุ่มผู้ป่วยทางคลินิกต่าง ๆ ทั้งยังเป็นรูปแบบศิลปะที่เข้าถึงได้และอาจเป็นสื่อกลางในอุดมคติสำหรับการช่วยเหลือวัยรุ่นซึ่งมีความเครียดที่ไม่ดี (distress) ได้ (3)

 

ในช่วงการก้าวย่างเปลี่ยนผ่านจากวัยเด็กไปสู่การเป็นผู้ใหญ่ “ความเครียดที่ไม่ดี” มากมายเกิดขึ้นได้กับวัยรุ่นที่กำลังอยู่ระหว่างการเรียนรู้ และนำเสนออัตลักษณ์หรือตัวตน อยู่ในช่วงค้นหา พัฒนาทักษะ และสำรวจความรู้สึกของตนเองที่เปลี่ยนแปลงไป และด้วยสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 ที่เป็นอยู่ในขณะนี้ยิ่งทำให้เด็กและวัยรุ่นต้องเผชิญกับความเครียด (Stress) ความกังวล (Anxiety) และความซึมเศร้า (Depress) อย่างต่อเนื่องเพิ่มมากขึ้น

โควิดกับความทุกข์ทางใจของวัยรุ่น

หลังโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 ระบาด จากผลการประเมินสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นไทยโดยกรมสุขภาพจิต พบว่า ร้อยละ 28 ของเด็กและวัยรุ่นมีภาวะเครียดสูง, ร้อยละ 32 มีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคซึมเศร้า ในขณะที่อีกร้อยละ 22 มีความเสี่ยงที่จะฆ่าตัวตาย โดยเป็นการเก็บข้อมูลจากเด็กและวัยรุ่นอายุต่ำกว่า 20 ปีจำนวน 183,974 คนที่เข้ามาประเมินสุขภาพจิตตนเองผ่านแอปพลิเคชั่น Mental Health Check-in ของกรมสุขภาพจิตในช่วง 18 เดือนของการระบาดของโควิด-19 ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2563 ถึง 30 กันยายน 2564

 

จากการสำรวจโดยยูนิเซฟยังพบว่า เด็กและเยาวชนจำนวน 7 ใน 10 คนมีสุขภาพจิตย่ำแย่ลง โดยส่วนใหญ่กังวลกับรายได้ของครอบครัว การเรียน การศึกษาและการจ้างงานในอนาคต แม้ผลกระทบด้านสุขภาพจิตในเด็กและเยาวชนจะเป็นเรื่องสำคัญและส่งผลต่อสุขภาวะของเด็กในระยะยาว แต่ประเด็นสุขภาพจิตมักถูกละเลย หรือถูกมองข้าม หรือแม้กระทั่งถูกปกปิด ถูกตีตราหรือเป็นเรื่องน่าอาย แต่ในความเป็นจริงเรื่องของสุขภาพจิตควรได้รับการดูแลใส่ใจอย่างจริงจัง และถูกหยิบยกมาพูดถึงให้เป็นเรื่องปกติ เพื่อส่งเสริมให้เด็กและเยาวชนที่เผชิญปัญหาด้านสุขภาพจิตได้รับการสนับสนุนและเข้าถึงบริการที่จำเป็นได้สะดวกขึ้นและรวดเร็วขึ้น

 

การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้วิถีชีวิตของเด็กและวัยรุ่นต้องเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก โดยเฉพาะความเครียดที่สูงมากขึ้น เข้าสังคมลดลง ติดจอและเกมออนไลน์มากขึ้น มีปัญหาทะเลาะเบาะแว้งและความรุนแรงในครอบครัว จนนำไปสู่ปัญหาสุขภาพจิตและการฆ่าตัวตายในบางรายอีกด้วย ซึ่งควรติดตามเด็กและเยาวชนอย่างใกล้ชิดมากขึ้นเพื่อช่วยดูแลปัญหาสุขภาพจิต (4)

‘เพลงในใจ’ เครื่องมือสื่อสารอย่างสร้างสรรค์

 

ด้วยความเชื่อมั่นว่า ดนตรีเป็นศิลปะแขนงหนึ่งที่ใช้สื่อสารความในใจ เพื่อเป็นช่องทางให้วัยรุ่น นักเรียน นักศึกษาได้แสดงออก สามารถผ่อนคลายความเครียดจากสถานการณ์ต่าง ๆ ในปัจจุบัน และเรียนรู้การสื่อสารถึงปัญหาภายในใจผ่านงานดนตรีและบทเพลง รวมทั้งเพื่อเผยแพร่บทเพลงที่ให้กำลังใจ และสื่อสารอย่างตรงจุดกับคนรุ่นใหม่ในช่องทางสาธารณะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จึงร่วมกับ happening จัดอบรมสอนการแต่งเพลงสำหรับกลุ่มเยาวชนที่ชื่อโครงการ “เพลงในใจ” เพื่อนำดนตรีมาใช้สื่อสารความในใจอย่างสร้างสรรค์

 

กลุ่มเป้าหมายคือ เยาวชน-นิสิต-นักศึกษา อายุ 15-22 ปี ที่สนใจศึกษาทักษะการแต่งเพลงได้มีโอกาสเรียนรู้และสื่อสารสิ่งที่อยู่ในใจผ่านศิลปะแขนงนี้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความเครียด ความเศร้าซึม หรือเรื่องอึดอัดใจ หนักใจที่ส่งผลต่อสุขภาพจิต โดยจะได้เรียนรู้ผ่านประสบการณ์และคำแนะนำจากนักแต่งเพลงและบุคลากรทางดนตรีมืออาชีพ จากนั้นคณะกรรมการคัดเลือกเพลงจะนำไปเรียบเรียงและบันทึกเสียง​ก่อนเผยแพร่สู่สาธารณะ

 

เมื่อมองผ่าน 5 ผลงานที่ได้รับการคัดเลือกจะเห็นและเข้าใจว่า … เป็นวัยรุ่นสมัยนี้ไม่ง่ายเลย

 

Deadline” เป็นชื่อที่ ปราชญ์ - สรสิช แจ่มอัมพร นักศึกษาสาขาวิชาออกแบบสถาปัตยกรรม ตั้งให้กับผลงานของเขา ซึ่งนำความรู้สึกและปัญหาที่ตัวเองเผชิญอยู่มาแต่งเป็นเพลง ทั้งความวิตกกังวล ความเครียด และความกดดันจากการเรียน ซึ่งเปลี่ยนชีวิตเขาให้กลายเป็นคนกลัวว่าจะทำผิด กังวลว่าคนอื่นจะคิดกับสิ่งที่เขาพูดหรือทำอะไร ซึ่งส่งผลกระทบทั้งการเรียนและการเข้าสังคม อีกทั้งในช่วงที่โควิดระบาด เขาและครอบครัวได้สูญเสียสมาชิกในครอบครัวไป ทำให้หลายปัญหาเข้ามากระทบ

 

เมื่อร้องเพลงนี้เขาร้องไห้ไปด้วย เมื่อร้องเพลงออกมาแล้วเขารู้สึกเหมือนได้พูดสิ่งที่อยู่ในใจออกมา ทำให้ความกังวล ความเศร้า และความทุกข์ที่มีอยู่ได้ถูกปลดปล่อยออกไป ปราชญ์คาดหวังว่า ความรู้สึกที่เขานำเสนอผ่านบทเพลงจะสามารถส่งกำลังใจไปถึงคนในวัยเดียวกันที่อาจจะกำลังรู้สึกแบบเดียวกัน รวมทั้งคนที่หมดไฟ ท้อแท้ หรือเป็นโรควิตกกังวล โรคทางจิตเวช หรือโรคซึมเศร้า

ฟังเพลง Deadline ได้ที่ https://www.youtube.com/watch?v=4W-EoWYSHT8

 

‘จะมีใคร รู้บ้างไหม เหนื่อยแค่ไหนที่เป็นแบบนี้ / โปรดเถอะนะ โปรดเข้าใจฉันที / โอบกอดกัน ในค่ำคืนที่โหดร้าย / ต้องปิดบัง ใส่หน้ากากไว้ ไม่ให้ใครรู้ถึงความหมาย / แต่ลึก ๆ ก็หวังว่ายังไม่สาย ที่จะพบความสุขสักที …’  เป็นเนื้อร้องบางตอนจากเพลง “หน้ากาก” ของ คอปเตอร์ - ศิวัช ชูศิริ นักศึกษาชั้นปีที่ 4 สาขาวิชาเอกขับร้อง วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล ที่สื่อสารความรู้สึกของคนที่มีภาวะซึมเศร้าให้คนอื่นเข้าใจ รวมถึงให้กำลังใจกับคนที่กำลังเผชิญภาวะนี้อยู่ด้วย

 

บทเพลงของคอปเตอร์เขียนมาจาก “ความรู้สึกดาวน์” ทั้ง ๆ ที่ในใจอยากมีความสุข เมื่อพบเจอผู้คนก็จะฝืนยิ้มเหมือนกับใส่หน้ากาก เพื่อให้คนอื่นเห็นว่ายังปรกติ เพราะไม่อยากให้คนอื่นต้องลำบากใจ “ไม่อยากให้คนอื่นดาวน์เพราะเรา” เพลงนี้คือ ความรู้สึกข้างในของคนที่เกิดภาวะซึมเศร้า ซึ่งต้องการคนอยู่ข้าง ๆ และรับฟัง การแต่งเพลงสำหรับเขาเหมือนได้ฝึกตัวเองและส่งสารที่ดีไปถึงคนฟัง เป็นเรื่องดีทั้งต่อตัวเองและคนอื่น โดยเฉพาะผู้ป่วยโรคซึมเศร้าควรจะรู้สึกว่าตัวเองมีคุณค่า เพราะเราได้ทำสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อตัวเองและคนอื่น..คอปเตอร์บอก

ฟังเพลง หน้ากาก ได้ที่  https://www.youtube.com/watch?v=9UsGSvX8C94

 

ขณะที่ เฟย - ธนู สุดยอดบรรพต นักเรียนมัธยมศึกษาปีที่ 4 โรงเรียนรุ่งอรุณ กับบทเพลง “หนึ่งในตองอู” ซึ่งผู้แต่งคิดว่า เป็นเพลงที่ไม่ได้มีคอนเซ็ปต์โดดเด่นหรือแปลกใหม่ แต่เขาเลือกใช้คำที่ค่อนข้างดึงดูดเพื่อบอกเล่าถึงความเชื่อมั่นในตัวเองที่มี และอยากจะบอกกับคนที่ไม่มั่นใจในตัวเองว่า “ถ้าตั้งใจทำอะไรสักอย่างที่คนอื่นทำได้ คุณก็น่าจะทำได้ เราไม่ควรคิดด้อยค่าตัวเอง เราอาจจะเริ่มช้ากว่าคนอื่น สิ่งที่ทำอยู่ยังดูไม่ค่อยดี แต่ถ้าเราทำไปเรื่อย ๆ มันจะดีกว่านี้ได้

ฟังเพลง หนึ่งในตองอู ได้ที่  https://www.youtube.com/watch?v=IE7CkryfxTk

 

ในสถานการณ์โรคระบาดซึ่งทุกคนยังคงต้องรักษาระยะห่างระหว่างกัน เราอาจจะเคยชินแล้วกับการสวมหน้ากากอนามัยในที่สาธารณะ งดออกเดินทางไปพบปะเพื่อนฝูง หรือเรียนออนไลน์อยู่ที่บ้าน แต่ในบางครั้ง ต้นกล้า - ธีธัช เลาหะสราญ นักเรียนมัธยมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย ก็อดคิดถึงเรื่องราวธรรมดาซึ่งกลายเป็นสิ่งที่ทำไม่ได้ในปัจจุบัน และแต่งมันออกมาเป็นบทเพลง “ธรรมดาที่คิดถึง” ‘ยังคิดถึงเรื่องราวต่าง ๆ ที่ไม่ได้พิเศษ / ยังคิดถึงเรื่องราวเดิม ๆ ที่เป็นเพียงแค่ความทรงจำ / คิดถึงแต่การได้ออกไปเดินข้างนอกนั้น / ขอบฟ้าที่เคยสัมผัส ทางเดินที่ร่วมกันมา / เรื่องธรรมดา ที่ในตอนนี้มีค่าเหลือเกิน …’ สำหรับต้นกล้าแล้ว การแต่งเพลงเหมือนการระบายความรู้สึก หรือสิ่งที่อึดอัดอยู่ข้างในออกมา “บางความรู้สึกที่อาจจะพูดไม่ได้ หรือแค่พูดยังไม่พอ เราก็เลยใส่ทำนองใส่วรรคตอนให้มันจนออกมาเป็นเพลง”

ฟังเพลง ธรรมดาที่คิดถึง ได้ที่  https://www.youtube.com/watch?v=nsVqrmC0rsI

 

จากที่เดิมที ปก - สตบรรณ ศรีสุริยะธาดา คุ้นเคยกับวัยรุ่นยุคนี้ผ่านงานติวเตอร์อิสระสอนวิชาคณิตศาสตร์ให้กับนักเรียนระดับมัธยม เขาเลือกถ่ายทอดสิ่งที่อยู่ในใจของนักเรียนซึ่งเผชิญกับความกดดันจากความคาดหวังของครอบครัวในเรื่องการเรียน กลายเป็นเพลง “เช็คลิสต์” ด้วยความเข้าใจ อยากให้รู้ว่าเป็น แค่เด็กน้อยธรรมดา / ไม่ใช่เทพเทวา โดราเอม่อนซะที่ไหน / ก็มีเรื่องที่ทำเป็น และบางเรื่องที่ทำไม่ได้ / จะกอดหนูไว้ได้ไหม เพราะหนูทำได้แค่นี้…’ ความคิดเบื้องหลังของปก จากเพลงนี้คือ การเป็นเด็กสมัยนี้มันยาก “ผมรู้สึกว่ายากกว่าสมัยผม ทำไมเขาทำงานกันเยอะจัง ผมย้อนนึกไปในสมัยของตัวเอง เราไม่ต้องทำงานเยอะขนาดนี้ ถ้ามีโอกาสก็อยากจะบอกผู้ปกครองผ่านบทเพลงนี้ว่า อย่าเพิ่งไปคิดว่าลูกตัวเองไม่ได้เอาจริงเอาจังกับการเรียน ลองเปิดใจฟังเขาก่อน ทำความเข้าใจ และอยู่เคียงข้างกันเวลาที่เขามีปัญหา ผมคิดว่าเด็กไม่ได้ต้องการอะไรเยอะ แค่นี้น่าจะเพียงพอแล้ว (5) 

ฟังเพลง เช็คลิสต์ ได้ที่ https://www.youtube.com/watch?v=4Kq8AmDoJ1E

 

นอกเหนือจาก 5 บทเพลงที่ถูกเลือกจากคณะกรรมการแล้ว เพลงอื่น ๆ ที่ส่งเข้าร่วมโครงการ “เพลงในใจ” นั้นก็ไม่ต่างกับบันทึกความทรงจำและเหตุการณ์ เป็นบทเพลงแห่งการเติบโตผ่านเรื่องราวและสถานการณ์ บอกเล่า แสดงและสื่อสารความรู้สึกนึกคิดประสบการณ์ ที่มีทั้งความรัก ครอบครัว มิตรภาพระหว่างเพื่อน ความฝัน เส้นทางในอนาคต ความเศร้า การสูญเสีย การรักษาบาดแผลในใจ การทำความเข้าใจกับการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ รอบตัว ไปจนถึงการตั้งคำถามถึงความสุข ความรู้สึกนึกคิดของตัวเอง การค้นหาตัวเอง การสะท้อนมุมมองเกี่ยวกับสังคม ฯลฯ (6)

 

โครงการ “เพลงในใจ” นอกจากจะช่วยเยาวชนให้ได้ฝึกฝนขัดเกลาทักษะเรื่องการแต่งเพลงแล้ว สิ่งที่สำคัญมากกว่านั้นคือ การแต่งเพลงถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือช่วยปลดปล่อยความเครียด ความซึมเศร้า ความวิตกกังวล ความอึดอัด โดดเดี่ยว ผิดหวัง เจ็บปวด ฯลฯ ออกมา ซึ่งช่วยทำให้พวกเขาผ่านพ้นช่วงเวลาอันยากลำบากไปได้ เป็นเครื่องมืออันทรงพลังที่ช่วยบรรเทารักษาร่องรอยบาดแผลและปลดปลงความหนักอึ้งข้างในออกมา

 

สำคัญที่สุดคือ … บทเพลงเหล่านี้ต้องการการเปิดใจและรับฟัง

อ้างอิง

(1) https://www.bbc.co.uk/programmes/articles/54QwzRsHTMHbR9qwnf89d5p/7-stars-reveal-how-songwriting-and-music-helped-their-mental-health

(2) https://www.psychologytoday.com/us/blog/call/202102/increase-coping-and-resilience-writing-song

(3) https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC6411695/

(4) https://www.unicef.org/thailand/th/press-releases/ยูนิเซฟและกรมสุขภาพจิตชี้โควิด-19

(5) https://happeningandfriends.com/article-detail/375

(6) https://happeningandfriends.com/article-detail/369

งานบทความที่กำลังเป็นที่ได้รับความสนใจ

ส่วนที่ 1 : สถานการณ์สุขภาพจิตระดับประเทศ และยุทธศาสตร์ขับเคลื่อน ของ สสส. และภาคี
defaultuser.png

Admin ID3

ส่วนที่ 1 : สถานการณ์สุขภาพจิตระดับประเทศ และยุทธศาสตร์ขับเคลื่อน ของ...

ขยับตัวเพื่อสุขภาพ เด็กไทยเอาชนะพฤติกรรมเนือยนิ่งและบอกลาโรคอ้วน
1708931705.jpg

Super Admin ID1

ขยับตัวเพื่อสุขภาพ เด็กไทยเอาชนะพฤติกรรมเนือยนิ่งและบอกลาโรคอ้วน

คู่มือการเริ่มต้นเขียนบทความบน THKS
1719481749.jpeg

Super Admin ID2

คู่มือการเริ่มต้นเขียนบทความบน THKS

ส่วนที่ 5 ข้อมูลที่เกี่ยวข้องเพื่อการสืบค้น
1708932589.JPG

Writer Don ID2

ส่วนที่ 5 ข้อมูลที่เกี่ยวข้องเพื่อการสืบค้น

Blue School  นวัตกรรมป้องกันฝุ่น PM2.5
1708931705.jpg

Super Admin ID1

Blue School นวัตกรรมป้องกันฝุ่น PM2.5

งานบทความที่เกี่ยวข้อง

admin

อารมณ์  หมายถึง การแสดงออกของภาวะจิตใจที่ได้รับการกระทบหรือกระตุ้นให้เกิดมีการแสดงออกต่อสิ่งที่มากระตุ้น  อารมณ์สามารถจำแนกออกได้ 2 ประเภทใหญ่ คือ

1. อารมณ์สุข   คือ อารมณ์ที่เกิดขึ้นจากความสบายใจ หรือ ได้รับความสมหวัง

2. อารมณ์ทุกข์  คือ อารมณ์ที่เกิดขึ้นจากความไม่สบายใจ หรือ ได้รับความไม่สมหวัง

ผลแห่งอารมณ์ ไม่ว่าอารมณ์สุข หรือ อารมณ์ทุกข์ จะทำให้ร่างกายเปลี่ยนแปลงไปจากปกติและจะมีการแสดงออกของพฤติกรรมและความรู้สึกตามอารมณ์ที่เกิดขึ้น