บทนำ
Highlight
• ผลสำรวจความสุขคนทำงานในระดับประเทศ ปี 2564 พบว่าคะแนนในภาพรวมเพิ่มขึ้นทุกมิติ ยกเว้นมิติสุขภาพกายดี เนื่องจากสถานการณ์โควิด คนทำงานในองค์กรทางการศึกษามีความสุขมากที่สุด อันดับรองลงมาเป็นอุตสาหกรรมทางการเงินและประกันภัย
• ภาคการผลิตคนทำงานมีความสุขต่ำ แม้จะไม่ได้ต่ำสุด โดยตัวชี้วัดคือ ความไม่ชัดเจนในการเติบโตในงานที่ทำ, ความเหมาะสมในการพิจารณาเลื่อนขั้น ปรับค่าจ้าง, การมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นกับนายจ้าง, ความพึงพอใจกับสวัสดิการ, ความคุ้มค่าระหว่างค่าตอบแทนและความเสี่ยงจากงาน ฯลฯ
• ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงที่มีความรวดเร็ว องค์กรจะต้องปรับตัวโดยให้ความสำคัญกับเสียงของพนักงาน ในแต่ละเจเนอเรชั่นให้มากกว่าเดิม เพราะคนทำงานเริ่มมองหาคุณค่า ความหมาย ประโยชน์ต่อสังคมจากงานที่เขาทำ
เมื่อโลกขับเคลื่อนไปด้วยความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นนวัตกรรมหรือเทคโนโลยีใหม่ ๆ โรคระบาด รวมทั้งเมกะเทรนด์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น ทำให้หลายองค์กรต้องรับมือกับความอยู่รอดไปพร้อม ๆ กับการดูแลบุคลากรอันเป็นฟันเฟืองสำคัญไปสู่ความสำเร็จ
ในสถานการณ์เช่นนี้นับเป็นความท้าทายขององค์กรและคนทำงานที่ต้องปรับตัว ติดอาวุธทักษะเสริมสร้างความแข็งแกร่ง พร้อมกับต้องดูแลสุขภาพกายและใจให้แข็งแรง เพื่อร่วมกันเผชิญการเปลี่ยนแปลงและสร้างองค์กรที่เติบโตอย่างยั่งยืน
การสร้างเสริมสุขภาวะให้กลายเป็นองค์กรแห่งความสุข (Happy Workplace) จึงเป็นแนวคิดที่ถูกนำมาใช้พัฒนาบุคลากรและปรับเปลี่ยนการทำงานให้สนับสนุนซึ่งกันและกัน สร้างสังคมและสิ่งแวดล้อมที่เอื้อให้คนทำงานอย่างมีความสุข ซึ่งมีผลต่อการยกระดับขีดความสามารถขององค์กร โดยใช้ความสุขพื้นฐาน 8 ประการ (Happy 8) คือ Happy Body สุขภาพร่างกายดี, Happy Heart น้ำใจงามมีน้ำใจต่อกัน, Happy Society สังคมดีมีความรักสามัคคีเอื้อเฟื้อต่อชุมชนของตน, Happy Relax ผ่อนคลายต่อสิ่งต่าง ๆ ในการดำเนินชีวิต, Happy Brain ศึกษาหาความรู้พัฒนาตนเองอยู่เสมอ, Happy Soul สงบ มีสติ มีศีลธรรมในการดำเนินชีวิต, Happy Money ปลอดหนี้ มีเงิน รู้จักเก็บรู้จักใช้ และ Happy Family ครอบครัวดี รักครอบครัว ครอบครัวอบอุ่นและมั่นคง
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) โดยสำนักสนับสนุนสุขภาวะองค์กร (สำนัก 8) มีการศึกษาวิเคราะห์ปัญหา ช่วยวางแผน เป็นพี่เลี้ยงในการพัฒนาคนในองค์กรให้มีสุขภาวะที่ดี รวมพลังทุกภาคส่วนเพื่อสร้างองค์กรสุขภาวะ นับตั้งแต่ปี 2553 เป็นต้นมาได้นำหลักด้านแนวคิดองค์กรสุขภาวะเข้าสู่ระบบขององค์กรเพื่อความยั่งยืนในการดำเนินงาน
ความสำคัญของหลักการ Happy 8 หรือ Happy Workplace ไม่ได้เกี่ยวเฉพาะคนทำงาน แต่รวมถึงครอบครัวและสังคมไทย ซึ่งมีคนวัยทำงานอยู่ราว 37 ล้านคน โดยคนเหล่านี้ใช้เวลา 1 ใน 3 ของชีวิตอยู่ในที่ทำงาน แต่ปัจจุบันคนกลุ่มนี้มีความสุขน้อยลง มีความเครียดมากขึ้น ด้วยสถานการณ์ที่เกิดขึ้น อย่างเช่น การระบาดของโควิด-19 อีกทั้งสังคมไทยกำลังเข้าสู่ภาวะสังคมสูงวัย ซึ่งจะเป็นประเด็นสำคัญใน 4-5 ปีข้างหน้า เมื่อสัดส่วนคนทำงาน คนหารายได้ให้กับครอบครัว มีสัดส่วนลดลงในทุกองค์กร บุคลากรจึงเป็นทรัพยากรที่สำคัญที่สุด ซึ่ง สสส. มีเครื่องมือและชุดความรู้ที่จะตอบโจทย์ตรงนี้ได้
ผลสำรวจความสุขคนทำงานปี 2564
สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับ สสส. ได้จัดทำโครงการศึกษาวิจัยนวัตกรรมสร้างเสริมสุขภาวะองค์กรและความยั่งยืน เพื่อศึกษาวิจัยและการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้านความสุขของคนทํางานขึ้นเป็นประจำทุกปี เพื่อเป็นแหล่งให้บริการและสนับสนุนส่งเสริมให้คนทํางานองค์กรสามารถบริหารจัดการคุณภาพชีวิตและความสุข รวมถึงองค์กรสามารถบริหารจัดการให้เป็นองค์กรสุขภาวะได้
สำหรับปี 2564 ที่ผ่านมาทางสถาบันฯ ได้สํารวจคุณภาพชีวิต ความสุข ความผูกพันองค์กรระดับประเทศ และได้นำผลการสำรวจมาเปิดเผยในงาน Happy Workplace Forum 2022
รายงานผลสำรวจความสุขคนทำงานในระดับประเทศ ปี 2564 ซึ่งสำรวจระหว่างเดือนตุลาคม 2564 – กุมภาพันธ์ 2565 สำรวจ 365 องค์กร ใน 17 กลุ่มอุตสาหกรรม มีผู้ตอบแบบสำรวจ จำนวน 22,296 คน โดยจำนวนองค์กรและผู้ตอบแบบสำรวจลดลงกว่าปีก่อนเล็กน้อย เนื่องจากผลกระทบจากสถานการณ์โควิด แต่คะแนนความสุขของคนทำงานในปี 2564 โดยรวมเพิ่มขึ้นทุกมิติ
ดร.บุรเทพ โชคธนานุกูล อาจารย์ประจำสถาบันวิจัยประชากรและสังคมมหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยว่า ผลคะแนนความสุขคนทำงานในองค์กรในภาพรวมอยู่ที่ระดับ 61.3 คะแนน โดยคะแนนสูงสุดคือ จิตวิญญาณดี (Happy Soul) 68.5 และคะแนนต่ำสุดคือ สุขภาพเงินดี (Happy Money) 52.8 ผลคะแนนความสุขนี้ต่างมีผลกระทบจากโควิดเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย เมื่อเปรียบเทียบกับคะแนนของปีก่อนหน้าแล้ว คะแนนความสุขของคนทำงานในปี 2564 เพิ่มขึ้นทุกมิติ ยกเว้นมิติในเรื่องสุขภาพกายดี Happy Body ที่ค่าคะแนนคงที่ ประเมินได้ว่า ด้วยสถานการณ์โควิดทำให้ไม่สามารถใช้ชีวิตในบ้านและนอกบ้านได้อย่างเดิม
อาจารย์สุภรต์ จรัสสิทธิ์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ระบุว่า คนทำงานในองค์กรทางการศึกษามีความสุขมากที่สุด และดูเหมือนจะครองแชมป์มาโดยตลอด อันดับรองลงมาเป็นอุตสาหกรรมทางการเงินและประกันภัย โดยคนทำงานในองค์กรทางการศึกษามีคะแนนสูงสุดในมิติ Happy Heart 73.0 คะแนน Happy Soul 73.9 Happy Family 70.6 Happy Society 66.0 และ Happy Brain 72.5 “ไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจเพราะว่า กลุ่มทำงานทางการศึกษาให้ความสนใจในเรื่องการแสวงหาความรู้ ทำให้คะแนนสูงชัดเจน ช่วยดึงให้คะแนนรวมสูงขึ้นด้วย”
สำหรับคนทำงานภาคการผลิตมีความสุขต่ำ แม้จะไม่ได้ต่ำสุด แต่เพราะคนทำงานในกลุ่มนี้มีจำนวนมากจึงมีความสำคัญ ปัจจัยที่ทำให้คนกลุ่มนี้มีความสุขต่ำคือ Happy Family 59.2 Happy Money 52.6 Happy Relax 53.0 Happy Society 55.9 และ Happy Body 58.0 โดยองค์กรอาจจะต้องพิจารณากิจกรรมเพื่อสร้างเสริมความสุขในมิติครอบครัวของคนทำงาน
ผลการสำรวจปี 2564 คะแนนมิติการงานดีหรือ Happy Work Life มีคะแนนสูงขึ้นจากปีก่อนร้อยละ 4 โดยตัวชี้วัดที่มีคะแนนสูงกว่าคะแนนเฉลี่ยคือ การจ่ายค่าจ้างค่าล่วงเวลาตรงเวลา 4.58 การจ่ายค่าจ้างค่าล่วงเวลาถูกต้อง 4.39 การสื่อสารกับเพื่อนร่วมงาน 3.95 ความสำคัญกับการทำงานเป็นทีม 3.82 การปฏิบัติถูกต้องตามกฎหมายแรงงานและเป็นไปตามกฎระเบียบขององค์กร 3.75 ความสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมงานเหมือนพี่เหมือนน้อง 3.72 ทั้งหมดช่วยดึงคะแนนให้ Happy Work Life สูงขึ้นได้
ตัวชี้วัดที่ทำให้ค่าความสุขต่ำลง คือ ความชัดเจนในการเติบโตในงานที่ทำ 2.98 ความเหมาะสมในการพิจารณาเลื่อนขั้นปรับค่าจ้าง 3.13 การมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นกับนายจ้างหัวหน้างาน 3.24 ความพึงพอใจกับสวัสดิการองค์กร 3.39 ความคุ้มค่าระหว่างค่าตอบแทนและความเสี่ยงจากงาน 3.41 ความท้าทายในงานที่ทำ 3.48 สภาพแวดล้อมขององค์กร 3.49 การดูแลสุขภาพของคนในองค์กร 3.50 ความมั่นคงในงานที่ทำ 3.58 การถ่ายทอดแลกเปลี่ยนแบบอย่างการทำงาน 3.61 เป็นต้น
ที่ต้องสนใจเป็นพิเศษคือ มิติการเงินและมิติความผ่อนคลาย Happy Money และ Happy Relax ซึ่งมีคะแนนต่ำที่สุดและยากที่สุดในการแก้ไขปัญหา ส่วนหนึ่งเป็นผลกระทบจากโควิด-19 ในเรื่องสุขภาพเงินดีที่มีคะแนนต่ำปัจจัยมาจากการไม่มีเงินออมเงินเก็บในแต่ละเดือน รายได้และรายจ่ายไม่สมดุล และภาระในการผ่อนชำระหนี้ ซึ่งเรื่องสุขภาพเงินดีนี้มีผลกระทบโดยตรงต่อการทำงาน อีกประเด็นคือ Happy Relax ซึ่งคะแนนต่ำ แต่สัดส่วนการพักผ่อนที่เพียงพอเพิ่มขึ้นจากปีก่อน รวมทั้งการมีกิจกรรมพักผ่อนหย่อนใจในหนึ่งสัปดาห์และชีวิตเป็นไปตามที่คาดหวัง ส่วนเรื่องความเครียดยังคงสูงเหมือนปีที่ผ่านมา
CEO กับบทบาทการสร้าง Organization Wellbeing
ในช่วง 4-5 ปีหลัง คำว่า Organizational Wellbeing ถูกพูดถึงมากขึ้น “นี่คือ นิยามใหม่ของคำว่าการสร้างสภาวะแวดล้อมที่ดีให้กับองค์กรในยุคปัจจุบัน” ชาตยา สุพรรณพงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (CEO) บริษัท ฟู้ดแพชชั่น จำกัด กล่าวในการบรรยายหัวข้อ “The CEO’s Leadership Role in Optimizing Wellbeing” CEO บทบาทสำคัญในการสร้าง Organization Wellbeing งานได้ผล คนเป็นสุข
ชาตยาได้ให้จำกัดความ Organizational Wellbeing ว่าคือ ความสามารถขององค์กรในการสร้าง คงไว้ รักษาไว้ซึ่งวัฒนธรรมองค์กรที่ทำให้พนักงานในองค์กรสามารถทำงานและเติบโตได้อย่างเต็มศักยภาพ ในขณะเดียวกันองค์กรก็สามารถที่จะเติบโตทำกำไรได้ด้วยการเดินตามเป้าหมายหรือพันธกิจขององค์กร
สำหรับองค์กรที่ให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมและผูกพันของบุคลากร (Employee Engagement) ก็จำเป็นต้องมีสุขภาวะ หรือ Wellbeing ซึ่งเป็นจุดตั้งต้นที่ทำให้เกิดความผูกพัน ซึ่งสำคัญต่อผลการปฏิบัติงานขององค์กร ทำให้พนักงานพูดถึงองค์กรในแง่ดี อยู่กับองค์กรไปนาน ๆ ทุ่มเทให้องค์กร รวมทั้งทำให้พนักงานมีความคล่องแคล่ว มีความอดทน ล้มแล้วลุก มีความเข้มแข็งทางจิตใจอารมณ์ ซึ่งทั้งหมดเป็นปัจจัยที่พาองค์กรผ่านยุคที่มีความยากลำบากนี้ไปได้ “เราจึงเห็นความสำคัญว่าความผูกพัน เป็นความเป็นความตายหรือความอยู่รอดขององค์กร”
บทบาทหน้าที่ของซีอีโอคือ การสร้างสภาพแวดล้อมให้คนได้ทำงานอย่างเต็มศักยภาพตรงตามเป้าหมายขององค์กร นำองค์กรไปสู่ผลการปฏิบัติงานที่สูงขึ้นและความยั่งยืน สุขภาวะและความผูกพันไม่ได้ทำเพื่อความสุขในองค์กร จริง ๆ ทำเพื่อความอยู่รอดขององค์กร เพื่อการเติบโตและความยั่งยืนขององค์กร “เราเชื่อมโยงความผูกพันธ์กับกิจกรรมสุขภาวะโดย Voice of employee (VOE) หรือเสียงของพนักงาน การทำให้เกิดความผูกพันเริ่มต้นมาจากการทำสำรวจความคิดเห็นของพนักงาน เราจะทำกิจกรรมให้คนเชื่อ รู้สึก หรือคิดทำไปในทิศทางเดียวกัน”
ฟู้ดแพชชั่น ซึ่งเป็นผู้บริหารร้านอาหาร “เรามีความจำเป็นต้องปรับกิจกรรมเข้ากับความเชื่อ คุณค่า (Value) และวิสัยทัศน์ (Vision) ขององค์กร คือ การดูแลผู้คนให้มีความสุขโดยมีมื้ออาหารเป็นสื่อกลาง วงจรความสุขของเราเริ่มต้นที่พนักงาน ถ้าเราดูแลพนักงานให้มีความสุข ให้เขารู้สึกเต็มอิ่ม เขาก็จะเป็นคนดูแลลูกค้าให้มีความสุข อย่างเต็มที่เต็มความสามารถ แล้วลูกค้าที่มีความสุขมีความประทับใจในอาหารและบริการของเรา ก็จะกลับมาดูแลธุรกิจเรา กลับมาบ่อย ๆ บอกต่อชวนเพื่อนพี่น้องทำให้ธุรกิจเราแข็งแรงและเมื่อธุรกิจเราแข็งแรงก็จะกลับไปดูแลพนักงานให้มีความสุขต่อเนื่องไปเป็นวงจร เรามีวิชั่นตรงนี้ที่ชัดเจน”
บทบาทของ CEO ในการสร้างสุขภาวะเพื่อให้เกิดการมีส่วนร่วมหรือความผูกพันของพนักงานในองค์กร คุณชาตยา ผู้บริหารฟู้ดแพชชั่น กล่าวว่า “ข้อที่หนึ่ง ต้องแบ่งปันความเชื่อเป้าหมายขององค์กรให้กับทุกคนในบริษัทรู้ เมื่อทุกคนเชื่อเหมือนกันแล้วก็จะกระจายออกไปในวง แต่ละคนมีส่วนรับผิดชอบ
“อันที่สองก็คือ เราต้องทำให้ง่าย มีความหมาย ทำให้งานมีความหมายได้อย่างไร ด้วยการให้โอกาสให้เวทีพวกเขาได้ทำงาน เหล่านั้นต้องกล้าที่จะเปิดวิธี เปิดโอกาสให้คนได้เสนอและได้ทำงานเหล่านั้น เมื่อได้ทำงานเหล่านั้นก็จะมีความหมายมากยิ่งขึ้นเมื่อปรับเข้ากันกับเป้าหมายขององค์กร
“อันที่สามก็คือ เราต้องเป็นคนสร้างบรรยากาศ สร้างสภาวะที่ดี มีความสัมพันธ์ที่ดีภายในองค์กร เราทำแต่งานไม่ได้ สภาพแวดล้อมงานก็เหมือนเป็นบ้านที่สอง ต้องสร้างบรรยากาศความสัมพันธ์ที่ดีผ่านทักษะต่าง ๆ และการเป็นตัวอย่างที่ดี อย่างเช่น ถ้าเราเชื่อในเรื่องของการให้เกียรติต่อกัน มีความเคารพซึ่งกันและกัน เรามีความคิดบวกในทุกประชุมหรือกิจกรรมที่เกิดขึ้น เราต้องแสดงให้เห็นว่า เราเชื่อสิ่งนั้น เราพยามจะผลักดันสิ่งนั้นให้ แล้วมันก็จะกลายเป็นดี
“สุดท้ายคือ สิ่งที่สำคัญมาก ๆ เราเองจะต้องจัดการความขัดแย้งที่ดีด้วย และทุกอย่างเริ่มที่เราก่อน”
นโยบายเพื่อสร้างองค์กรสุขภาวะ
แน่นอนว่าการพัฒนาและขับเคลื่อนองค์กรให้ผ่านพ้นวิกฤตและอยู่รอด ต้องทำควบคู่ไปกับการสร้างความสุขให้กับพนักงาน ซึ่งต้องปรับโครงสร้างไปสู่องค์กรนวัตกรรม (Innovative Organization) ที่ทำให้เกิดการสร้างองค์กรแห่งความสุข จากมุมมองและประสบการณ์ของวิทยากรในเวทีเสวนาหัวข้อ Well-being and the Future of Work Strategies to Improve Happiness and Health of Employees มีคำแนะนำที่น่าสนใจ โดยเฉพาะการทำงานที่ต้องให้ความสำคัญกับคนในแต่ละเจเนอเรชั่น
มล.พัชรภากร เทวกุล ผู้อํานวยการสถาบันส่งเสริมการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ เสนอให้ปรับตัวด้วยการก้าวข้ามการเพิ่มผลผลิตด้วยการเพิ่มกำลังคนไปสู่การเพิ่มผลผลิตด้วยการลงทุนทางด้านเทคโนโลยีและการพัฒนาสมรรถนะใหม่ของผู้คนในองค์กรควบคู่ไปกับการยกเลิกการรวมศูนย์อำนาจในการบริหาร และเริ่มต้นมอบอำนาจการบริหารงานไปสู่ระดับกลุ่มหรือระดับบุคคลให้ได้ ในกรณีส่วนราชการซึ่งเห็นข้อจำกัดของการบริหารบุคคลสามารถขอทดลองยกเว้นกฎระเบียบต่าง ๆ ให้ยืดหยุ่นได้ ซึ่งจะช่วยให้งานเดิม ๆ เปลี่ยนรูปแบบไปทั้งหมดได้
“ต้องออกแบบตัวรูปแบบระบบบริหารจัดการใหม่ ซึ่งมีความยืดหยุ่นในเรื่องเวลา พื้นที่ทำงาน ค่าตอบแทน คุณจะใช้ไม้บรรทัดเดียว สิ่งจูงใจอย่างเดียว ในมิติการทำงานในรูปแบบต่าง ๆ ไม่ได้ เราจะคิดแบบราชการเดิม ๆ ไม่ได้ ปัจจัยสำคัญที่จะทำให้คุณอยู่รอดในศตวรรษที่ 21 ก็คือ การสร้างโอกาสหรือการสร้างเงื่อนไขให้คนสามารถเรียนรู้เติบโตต่อไปข้างหน้า เวลาเราตั้ง KPI (ดัชนีชี้วัดผลงานหรือความสำเร็จของงาน) ขึ้นมา เราล้มเหลวไม่ได้ แต่ในโลกแห่งความจริง ล้มเหลวก็คือ ความสำเร็จ ถ้าคุณเรียนรู้ที่จะล้มเหลวและมีบทเรียนจากตรงนั้น ความสามารถในการปรับเปลี่ยนตัวเอง ล้มแล้วลุกใหม่ ไม่ใช่เฉพาะตัวบุคคลอย่างเดียวแต่เป็นตัวองค์กรด้วย”
ศรินทร์รา วงศ์ศุภลักษณ์ ผู้อำนวยการกลุ่มทรัพยากรบุคคลและพัฒนาองค์กร บริษัท ทรู จำกัด (มหาชน) บอกว่า โลกสมัยนี้ขึ้นอยู่กับ 2 อย่างคือ ความเร็วกับความยืดหยุ่น ด้วยความเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ โดยเฉพาะการมีพนักงานเป็นคนรุ่นใหม่ เช่น Gen Millennials (กลุ่มคนที่เกิดช่วงปี พ.ศ. 2527 – 2539 หรือเรียกอีกอย่างว่า Gen Y) และ Gen C (C มาจากคำว่า Connectedness เป็นกลุ่มที่ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลมากกว่ากลุ่มอื่น ๆ อยู่ในช่วงอายุตั้งแต่ 18-34 ปี) ทำให้เกิดสิ่งใหม่ ๆ ในองค์กร เพราะคนเหล่านี้จะมีลักษณะหลายอย่างที่แตกต่างจากคนรุ่นเก่า เช่น การขับเคลื่อนด้วยการกำหนดเป้าหมายหรือเป้าประสงค์ ในสถานการณ์ที่ไม่แน่นอนต้องปรับปรุงเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา เปลี่ยนการสร้างทีมเป็นการสร้างวัฒนธรรม
“ถ้าจะทำให้เป็น Happy Workplace ให้ได้ก็ต้องเข้าใจว่าเขาอยากได้อะไร เปลี่ยนการบริหารแบบควบคุมไปสู่ Coach Orchestrate เราเป็นเหมือนคอนดักเตอร์กับโค้ช องค์กรยุคใหม่มีการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยดูแลสุขภาวะของบุคลากร โดยแผนกบุคคลต้องคำนึงถึงความต้องการของพนักงานเป็นหลัก เพื่อตอบโจทย์คนทุกรุ่น ส่งเสริมการเรียนรู้ของพนักงานให้เรียนได้ด้วยตัวเอง”
ในระดับโลกมีการเปลี่ยนแปลงหลาย ๆ อย่างเกิดขึ้นพร้อมกันเป็น “Multi Disruption” โดย ดร.สัมพันธ์ ศิลปะนาฎ ประธานกรรมการบริหารแผนคณะที่ 4 สสส. รองประธานบริษัท เวสเทิร์น ดิจิตอล สตอเรจ เทคโนโลยี (ประเทศไทย) อธิบายว่า สิ่งที่องค์กรจะต้องปรับตัวหลัก ๆ คือ ต้องให้ความสำคัญกับบุคลากรมากกว่าเดิม ในขณะที่คนทำงานเริ่มมองหางานที่จะมีคุณค่า ความหมาย มีประโยชน์ต่อสังคมและบุคคลภายนอก
ซึ่งในการเปลี่ยนแปลงทำให้ค่าใช้จ่ายขององค์กรและคนในองค์กรเพิ่มสูงขึ้น ทำให้ต้องมีการวางแผนเรื่องค่าตอบแทนและผลประโยชน์
“อย่าทำให้คนเป็นแค่ทรัพยากรมนุษย์ อาจจะมีข้อจำกัดในการจัดการ แต่ต้องเปลี่ยนให้คนไทยเป็นทุนมนุษย์หรือสินทรัพย์ ทำน้อยได้เยอะ ทุกองค์กรจะต้องปรับโจทย์ โจทย์เดิมวัดความสุขแบบเดิมทำไม่ได้เพราะมันอยู่ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลง องค์กรจะทำแบบเดิมแล้วหวังจะอยู่รอดเป็นไปไม่ได้ คนก็เหมือนกัน คุณก็ต้องเข้าใจองค์กรด้วย”
พัฒนาตัวเองและทีมให้มีความสุข, ไม่ตกยุค
ในเมื่อการเปลี่ยนแปลงและความไม่แน่นอนเป็นสิ่งที่แน่นอน ทุกคนจึงมีโจทย์ที่ต้องแก้ รวิศ หาญอุตสาหะ ผู้บริหารศรีจันทร์สหโอสถ เจ้าของเพจและพอดแคสต์ Mission To The Moon บรรยายในหัวข้อ “Productive อย่างไรให้มีความสุขในยุค VUCA World” โดยเฉพาะเรื่องการพัฒนาตัวเองและทีมอย่างไรให้มีความสุขและไม่ตกยุค
เขาบอกว่า สำหรับโลกยุค VUCA (คำย่อมาจาก ความผันผวน (Volatility) ความไม่แน่นอน (Uncertainty) ความสลับซับซ้อน (Complexity) และความคลุมเครือ (Ambiguity)) ทุกองค์กรต้องปรับตัว ให้เท่าทันกับความไม่แน่นอนและการเปลี่ยนแปลง แม้จะเป็นองค์กรที่ประสบความสำเร็จและมีความเป็นมายาวนานในอดีตก็ไม่ใช่ข้อยกเว้น
รวิศ ได้ยกตัวอย่างบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ใช้เครื่องยนต์สันดาปภายในแบบดั้งเดิมซึ่งปัจจุบันมีมูลค่าบริษัทน้อยกว่าบริษัทรถยนต์ไฟฟ้าเกิดใหม่ หรือบริษัทยักษ์ใหญ่ซึ่งเคยมีมูลค่าอันดับ 1 ของโลก เวลาผ่านไป 20 ปีกลับถูกถอดออกจากการคำนวณดัชนีดาวโจนส์ เพราะไม่สามารถต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วได้
สำหรับปัจจัยที่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงนั้นรวมถึงการมาของระบบ Automation หรือระบบควบคุมอัตโนมัติ “เมื่อหุ่นยนต์เข้ามาทำงานแทนคน ซึ่งไม่ใช่แค่ในโรงงาน แต่เป็นงานประเภทไวท์คอลลาร์ หรืองานในออฟฟิศด้วย คาดการณ์ว่า หุ่นยนต์จะมาทำงานในออฟฟิศแทนคน 40% หุ่นยนต์มีข้อได้เปรียบตรงที่ยิ่งเรียน ยิ่งเก่ง ยิ่งฉลาด ยิ่งถูกลง และไม่จำเป็นต้องพัก”
สถานการณ์ในประเทศไทย ภายในปี 2573 จะมีงานประมาณ 7.9 ล้านตำแหน่งเสี่ยงจะถูกแทนที่ด้วยหุ่นยนต์ถ้าหากไม่มีการพัฒนาเพื่อยกระดับทักษะและสร้างทักษะขึ้นมาใหม่ที่จำเป็นต่อการทำงาน สิ่งที่รวิศกำลังพูดถึงคืออาชีพนักกฎหมาย นักบัญชี หรือแม้แต่คนที่อยู่ในสายเทคโนโลยีบางอย่างด้วยซ้ำ
การที่จะไปต่อได้ในโลกที่มีความเปลี่ยนแปลงสูงจึงต้องวางแผนการพัฒนาทักษะให้เหมาะสมกับโลกอนาคต ไม่ว่าจะเป็นทักษะเฉพาะทาง (hard skill) ที่จำเป็นสำหรับวิชาชีพและสามารถวัดระดับได้ด้วยเกณฑ์ที่ชัดเจน เช่น การพัฒนาซอฟต์แวร์ การออกแบบ การวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่ การจัดการผลิตภัณฑ์ เป็นต้น “ในมหาวิทยาลัยก็จะสอนทักษะเฉพาะทางแต่ปัญหาหรือข้อเท็จจริงของทักษะเฉพาะทางในยุคนี้คือ มีอายุที่สั้นมาก อาจจะแค่ 1 ปี ก็ต้องหาทักษะใหม่ ๆ ต้องเรียนตลอด ไม่สามารถหยุดได้เลย และต้องทิ้งของเก่าได้ด้วย”
สำหรับ ทักษะทางสังคม (human /soft skill) อาทิ ทักษะในการคิดสร้างสรรค์ วิจารณญาณ การแก้ปัญหา ความฉลาดทางสังคม ทักษะการสื่อสารและการโน้มน้าว เป็นต้น “ทักษะเป็นตัวตัดสินในหลาย ๆ เรื่อง ในยุคที่ระบบอัตโนมัติ (automation) เข้ามา ทักษะทางสังคม จะมีความสำคัญมากกว่าเดิมไปอีก อย่างเช่นเรื่องการสื่อสารเป็นทักษะที่สำคัญมาก ถ้าคนมีความสามารถเท่า ๆ กันคนที่สื่อสารเก่งกว่ามักจะชนะ การสื่อสารก็คือการทำเรื่องยากให้เป็นเรื่องง่าย”
สุดท้ายคือ Meta Skill ทัศนคติในการใช้ชีวิต การมี Growth Mindset หรือมีกรอบคิดในการพัฒนาที่ต้องการเรียนรู้อยู่ตลอด มีการเรียนรู้แบบนําตนเอง (Self-directed) การรับมือกับความเปลี่ยนแปลงและความไม่แน่นอนได้ดี
“สิ่งที่พาเรามาจนถึงวันนี้ ความรู้ความสามารถที่ทำให้เราประสบความสำเร็จจนถึงทุกวันนี้ บางทีมันพาเราไปต่อข้างหน้าไม่ได้ ของบางอย่างที่เราเคยคิดว่าเป็นสินทรัพย์ของเรา แล้วมันก็เป็นจริง ๆ ในอดีต แต่พอถึงวันนี้มันกลายเป็นภาระ เราจึงต้องปรับตัวเรียนรู้ตลอดเวลา การทิ้งของเก่าเป็นสิ่งที่สำคัญมาก ๆ ไม่แพ้การเรียนของใหม่ เราต้องกล้าทิ้งความรู้ความสามารถที่เคยทำให้เราประสบความสำเร็จในอดีต แล้วยอมที่จะเปิดใจเรียนของใหม่ เราก็จะรับมือกับการเปลี่ยนแปลงได้มากขึ้น”
แบ่งปันเรียนรู้สร้างองค์กรแห่งความสุข
มากกว่า 10 ปี ที่ สสส. ได้นำเสนอแนวคิดองค์กรแห่งความสุข เพื่อสร้างคนที่มีความสุขและทำงานอยู่ร่วมกันได้ หลายองค์กรได้นำไปใช้จนเกิดผลเป็นเครือข่ายองค์กรแห่งความสุขขึ้น ซึ่งได้แบ่งปันสิ่งที่ได้เรียนรู้ในหัวข้อ “Show & Share Journey to Happy Organizations” โดย รักษ์ เจริญศิริ ผู้อำนวยการกลุ่มพัฒนาบริการธุรกิจอุตสาหกรรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ได้เล่าถึงการเข้าไปช่วยดูแลวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ให้มีความสามารถทางด้านการแข่งขัน สามารถเพิ่มผลิตภาพ (Productivity) พร้อมกับการสร้างความสุขในการทำงาน โดยการสร้างองค์กรแห่งความสุขผ่านโครงการส่งเสริมสุขภาวะองค์กร ที่มีกว่า 500 สถานประกอบการและพนักงานกว่า 2 หมื่นคนเข้าร่วม มีเจ้าหน้าที่ SHAP Agents ร่วมทำงานถึง 200 คน โดยโครงการนี้จะยั่งยืนและต่อเนื่องต้องมีผู้บริหารนำ ซึ่งจะทำให้องค์กรได้รับการรับรองและมีภาพลักษณ์ที่ดี
ขณะที่ ศ.ดร.ภญ.จงจิตร อังคทะวานิช คณะสหเวชศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา ซึ่งทำโครงการดูแลโภชนาการให้กับพระสงฆ์ได้แบ่งปันว่า พระสงฆ์มีปัญหาสุขภาพไม่น้อย ทั้งโรคอ้วน โรค NCDs ฯลฯ จึงผลักดันให้ลดหวานมันเค็มและประสบความสำเร็จ โดยได้จัดทำสื่อชุด “สื่อสงฆ์ไทยไกลโรค 4.0” กระจายออกไปทั่วประเทศผ่านโครงการ 1 วัด 1 โรงพยาบาลของกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งแก้ปัญหาได้สำเร็จจากการทำวิจัยและสามารถพบต้นตอของปัญหา ตลอดจนมีความร่วมมือกันของภาคีเครือข่าย
หน่วยงานตำรวจที่มีกำลังพลกว่า 2 แสนนาย และมีภาระหน้าที่ในการดูแลประชาชนก็มีปัญหาสุขภาพซึ่ง รศ.ดร.พ.ต.ท.ธวิช สุดสาคร คณะตำรวจศาสตร์ โรงเรียนนายร้อยตํารวจ เล่าถึงการนำ Happy Workplace หรือ Happy 8 มาปรับใช้ โดยมีกลไกการดูแลติดตาม เรียกว่า Happy Workplace Management ภายใต้แนวคิดการมีส่วนร่วมของคน การสนับสนุนทางด้านการจัดการ และเทคโนโลยีเข้าด้วยกัน โดยออกแบบให้มีกิจกรรมต่าง ๆ เข้ากับวิถีชีวิตเพื่อส่งเสริมสุขภาพและคุณภาพชีวิตให้กับตำรวจ
เช่นเดียวกับองค์กรอย่างมหาวิทยาลัยก็เผชิญกับการเปลี่ยนแปลงหลากหลายด้าน รศ.ดร.จรัมพร โห้ลํายอง แห่งสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ให้ข้อมูลน่าสนใจเกี่ยวกับโครงการ 4G เพื่อเชื่อมคน 4 รุ่นที่ทำงานในองค์กรเข้าด้วยกัน ซึ่งแต่ละรุ่นประชากรต่างมีคุณค่าของตัวเอง การร่วมปรับตัวเข้าหากันช่วยให้องค์กรผ่านพ้นการเปลี่ยนแปลง เป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนเพื่อสร้างมหาวิทยาลัยแห่งความสุข โดยทุกคนร่วมกันลดความเลื่อมล้ำทางด้านความคิด ทั้งระดับองค์กรและระดับปัจเจก
ในขณะที่การนำองค์ความรู้ Happy 8 มาใช้ในองค์กรราชการในมุมของ ดร.ศิริเชษฐ์ สังขะมาน สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า สามารถนำมาปรับเข้ากับระเบียบข้าราชการพลเรือนเกี่ยวกับเรื่องคุณภาพชีวิตในการทำงานที่ทำอยู่แล้ว โดยในอนาคตจะนำแนวคิดเรื่อง Happy Brain ไปใช้อบรมข้าราชการใหม่ให้ปรับตัวได้ รวมทั้ง Happy Society เพื่อการทำงานเป็นทีมและการมีส่วนร่วม ซึ่งน่าจะเป็นพื้นฐานที่สำคัญของการสร้างองค์กรแห่งความสุข
นพ.ภัทรพล จึงสมเจตไพศาล ที่ปรึกษาระดับกระทรวง กระทรวงสาธารณสุข ซึ่งร่วมขับเคลื่อนโครงการ Healthy Living เพื่อสร้างเสริมสุขภาวะคนวัยทำงานในสถานประกอบการ ได้จัดทำมาตรฐานสุขภาพดีในวัยทำงาน เป็นระบบในการดูแลสุขภาพของพนักงานในสถานประกอบการ มีการจัดทำ Wellness Center ที่ได้มาตรฐาน มีการอบรม วัดผล นำผลสุขภาพของพนักงานมาดูเรื่องความเสี่ยงและออกแบบกิจกรรม ซึ่งเป็นการทำงานร่วมกันของหน่วยงานต่าง ๆ ของกระทรวงสาธารณสุข รวมทั้งกระทรวงอุตสาหกรรมและกระทรวงแรงงาน
จะเห็นได้ว่าประสบการณ์การทำงานของแต่ภาคีเครือข่ายและแต่ละองค์กร หลักการสร้างองค์กรแห่งความสุข (Happy Workplace) และ Happy 8 สามารถใช้พัฒนาบุคลากร ปรับเปลี่ยนการทำงาน สร้างองค์กร สังคม และสิ่งแวดล้อมที่เอื้อให้คนทำงานอย่างมีความสุข มีผลต่อการยกระดับขีดความสามารถขององค์กร โดยเฉพาะโอกาสในการพัฒนาให้บุคคลากรและองค์กรเติบโตอย่างยั่งยืน และเท่าทันการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว
--------------------
อ้างอิง
สสส.
0 ถูกใจ 575 การเข้าชม
งานบทความที่กำลังเป็นที่ได้รับความสนใจ
งานบทความที่เกี่ยวข้อง
เข้าสู่ระบบเพื่อโพสต์ความคิดเห็น
ความคิดเห็น 0