0

0

บทนำ

นอนหลับสนิทตลอดทั้งคืนเป็นสิ่งที่ทุกคนปรารถนา หลังจากใช้ชีวิตมาทั้งวันแล้ว เราต่างต้องการล้มตัวลงบนที่นอนและล่องลอยไปสู่ดินแดนแห่งความฝัน

แต่คนจำนวนหนึ่งกลับพบว่า ไม่สามารถนอนหลับสนิทตลอดทั้งคืนได้ ซึ่งถ้าหากเกิดเป็นประจำ อาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพโดยรวมมากกว่าคาดคิด จึงที่ไม่ควรมองข้าม  

สาเหตุที่ทำให้ตื่นกลางดึก?

คนทั่วไปอาจตื่นกลางดึกบ้างบางครั้งก่อนจะกลับไปหลับต่อได้ไม่ใช่เรื่องใหญ่ แต่ถ้าตื่นกลางดึกเป็นประจำ ทั้งยังยากที่จะกลับไปหลับได้ต่อ อาจมีสาเหตุมาจาก

ความเครียดและซึมเศร้า: ความกังวลหรือความเครียดในชีวิตประจำวัน รวมทั้งปัญหาสุขภาพจิตอื่น ๆ เช่น โรควิตกกังวล โรคเครียดหลังเหตุการณ์สะเทือนใจ (PTSD) โรคอารมณ์สองขั้ว ภาวะซึมเศร้า โรคจิตเภท ฯลฯ ล้วนมีผลต่อการนอน

สุขภาพร่างกาย: อาการเจ็บป่วยไม่สบายตัว ทำให้ตื่นนอนกลางดึกได้ รวมไปถึงภาวะความผิดปรกติจากโรคนอนไม่หลับ ภาวะนอนกรน ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ และโรคขาอยู่ไม่สุข (Restless Legs Syndrome) คนเป็นโรคเบาหวาน ต่อมลูกหมากโต มีปัญหากระเพาะปัสสาวะ หรือภาวะแทรกซ้อนจากการใช้ยา ทำให้ต้องลุกมาปัสสาวะบ่อยมีส่วนทำให้เกิดปัญหาการนอน

สิ่งแวดล้อม: สภาพแวดล้อมในห้องนอน เช่น อุณหภูมิ ระดับเสียง แสง และความชื้น สามารถส่งผลต่อการนอนหลับได้

รูปแบบการใช้ชีวิต: การใช้เทคโนโลยีมากเกินไป การดื่มแอลกอฮอล์ สูบบุหรี่ การใช้ยาบางชนิด การรับประทานอาหารมื้อใหญ่ใกล้เวลานอนเกินไป ฯลฯ ทำให้คุณภาพการนอนหลับโดยรวมลดลงได้

นอกจากนี้ คนที่มีความหวาดกลัวในตอนกลางคืน สตรีมีครรภ์ที่ต้องลุกมาปัสสาวะบ่อยครั้ง คนชราหรือวัยหมดประจำเดือน อาจพบปัญหาตื่นนอนกลางดึกเช่นกัน

 

ตื่นกลางดึกส่งผลอย่างไร?

การตื่นนอนกลางดึกมีผลทำให้ร่างกายไม่ได้รับพักผ่อนการนอนหลับอย่างเพียงพอและอย่างมีคุณภาพ หากเกิดขึ้นต่อเนื่องจะส่งผลหลายด้าน

สุขภาพทางกาย: มีผลต่อการทำงานไม่ปรกติของระบบร่างกาย เสี่ยงต่อการเป็นโรคเรื้อรัง เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ เป็นต้น

สุขภาพทางจิต: การนอนหลับอย่างไม่มีคุณภาพเพียงพอ อาจทำให้มีอาการเหนื่อยล้าและเครียด เป็นอุปสรรคต่อการทำงานและใช้ชีวิตประจำวัน เป็นสาเหตุทำให้เกิดภาวะซึมเศร้าหรือภาวะวิตกกังวลได้

ปัญหาการเรียนรู้: ปัญหาการนอนหลับส่งผลต่อการจดจำ การเรียนรู้ และการประสานงาน มีผลต่อความสามารถในการตัดสินใจและความจดจ่อสนใจ

ความเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุ: หากนอนหลับไม่มีคุณภาพหรือเพียงพออาจทำให้มีความเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุ เช่น อุบัติเหตุบนถนน หรืออันตรายในการทำงานเช่น คนทำงานกับเครื่องจักร เป็นต้น

ความสัมพันธ์กับผู้อื่น: คนมีปัญหาเรื่องการนอนอาจทำให้อารมณ์เสีย มีความเครียดสะสม ขี้โมโห ความอดทนต่ำ โกรธง่าย มีปัญหาเรื่องการตัดสินใจและการสื่อสาร ทำให้เกิดปัญหาความสัมพันธ์ได้

เคล็ดลับหลับสบายตลอดทั้งคืน

การแก้ไขตื่นนอนกลางดึกหรือนอนไม่หลับสามารถทำได้โดย  

ปรับปรุงพฤติกรรมการนอนหลับ: กำหนดเวลาการนอนหลับ โดยจะต้องเข้านอนและตื่นขึ้นในเวลาเดียวกันทุกวัน

สร้างสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม: ห้องนอนใช้เพื่อการนอนหลับเท่านั้น จัดสิ่งแวดล้อมในห้องนอนให้เหมาะสม ทั้งเรื่องอุณหภูมิ เสียง แสง การระบายอากาศ เป็นต้น

 

 

ใช้เทคนิคการผ่อนคลาย: ฝึกโยคะ การหายใจลึก ๆ หรือทำสมาธิช่วยลดความเครียดและความวิตกกังวล สามารถทำให้นอนหลับได้ดีขึ้น

หลีกเลี่ยงสิ่งที่ทำให้ตื่น: ก่อนนอนควรหลีกเลี่ยงอาหารหรือเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน จำกัดเวลาหน้าจอ เพราะแสงจากโทรทัศน์ คอมพิวเตอร์ หรือโทรศัพท์มือถือกระตุ้นให้ร่างกายไม่พร้อมจะนอนหลับ

งดการรับประทานอาหารมื้อใหญ่ใกล้เวลานอน รวมทั้งเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งมีผลให้คุณภาพการนอนลดลง

นอนเมื่อง่วงหรือเหนื่อย หากนอนไม่หลับให้ลุกมาทำกิจกรรมผ่อนคลาย เช่น อ่านหนังสือ ทำสมาธิ ฯลฯ สัก 15 นาที

นอกจากนี้ควรออกกำลังกายระหว่างวันเพื่อส่งเสริมการนอนหลับที่ดีต่อสุขภาพ แต่อย่าทำใกล้เวลาเข้านอน ฯลฯ

อาจมีบางสถานการณ์ที่ส่งสัญญาณว่า การตื่นกลางดึกหรือนอนไม่หลับอาจเกี่ยวกับอาการของโรคร้ายแรง เช่น ภาวะหยุดหายใจขณะหลับหรือโรคขาอยู่ไม่สุข ควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ

เป้าหมายคือการนอนที่ดีต่อสุขภาพ

เพราะว่า การนอนดีต่อสุขภาพกายใจและอารมณ์ ทำให้ร่างกายได้พักผ่อน ช่วยฟื้นฟูซ่อมแซมการทำงานของร่างกาย เพิ่มภูมิคุ้มกันให้ร่างกาย ปรับสมดุล จัดระเบียบความจำ ช่วยเพิ่มการเรียนรู้ ความจำ ความคิดสร้างสรรค์ ฯลฯ โดยการนอนที่ดีต่อสุขภาพนั้นมีหลายปัจจัยคือ

วงจรการนอนหลับ: การนอนหลับที่ดีต่อสุขภาพเกี่ยวกับวงจรการนอนหลับ โดยระยะแรกเรียกว่า ระยะการหลับที่ไม่มีการกรอกตาแบบรวดเร็ว (Non-Rapid Eye Movement Sleep หรือ NREM sleep) เริ่มต้นจากหลับตื้น (ระยะที่ 1 และ 2) ไปจนถึงหลับลึก (ระยะที่ 3) และระยะการหลับที่มีการกรอกตาแบบรวดเร็ว (Rapid Eye Movement Sleep หรือ REM sleep) หรือเรียกว่า ระยะหลับฝัน การนอนที่ดีจะมี NREM และ REM สลับกันไป

ระยะเวลาการนอนหลับ: มูลนิธิการนอนหลับแห่งชาติสหรัฐฯ แนะนำให้ผู้ใหญ่นอนหลับประมาณ 7-9 ชั่วโมงในแต่ละคืน ทารกอาจต้องการมากถึง 17 ชั่วโมงต่อคืน ในขณะที่วัยรุ่น 8-10 ชั่วโมง ความต้องการของแต่ละคนแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับปัจจัยต่าง ๆ เช่น พันธุกรรม ตารางเวลาประจำวัน ระดับกิจกรรม ฯลฯ

ความต่อเนื่องของการนอนหลับ: การนอนหลับที่มีคุณภาพจะเป็นไปอย่างต่อเนื่องตลอดทั้งคืนโดยมีสิ่งรบกวนน้อยที่สุด การศึกษาพบว่า คนที่นอนหลับอย่างต่อเนื่องจะทำงานด้านความรู้ความเข้าใจได้ดีขึ้นในวันถัดไป ไม่ขึ้นกับระยะเวลาการนอนหลับ

เวลานอน: ร่างกายทุกคนมีนาฬิกาชีวิตและจังหวะเซอร์คาเดียน (Circadian Rhythms) ซึ่งมีแสงเป็นตัวควบคุม แสงสว่างจะกระตุ้นกระบวนการทางชีวภาพทำให้ตื่น ขณะที่แสงสลัวหรือความมืดจะเริ่มต้นการเปลี่ยนแปลงทางเคมีที่ส่งเสริมการนอนหลับ คนที่มีเวลานอนไม่สอดคล้องกับจังหวะชีวิต เช่นทำงานกะกลางคืนหรือมีอาการเจ็ตแล็ก (Jet Lag) ส่งผลให้การหลับสนิทและนอนหลับอย่างเพียงพอเป็นไปได้ยากขึ้น

คืนนี้มีคนไทยนอนไม่หลับ!

อาการนอนไม่หลับ (Insomnia) พบได้ทุกช่วงวัย คาดว่าทั่วโลกมีผู้เผชิญปัญหานี้ประมาณ 2,000 ล้านคน สำหรับในประเทศไทย ข้อมูลของ รพ.จิตเวชนครราชสีมาฯ ระบุว่า ราว 19 ล้านคนกำลังเผชิญกับปัญหานอนไม่หลับ ส่วนใหญ่จะเกิดแบบช่วงสั้น ๆ และประมาณร้อยละ 10 เป็นเรื้อรังมานานกว่า 3 เดือน

อาการที่พบบ่อยคือ นอนไม่หลับหรือหลับลำบาก หลับไม่สนิท ตื่นขึ้นมากลางดึกหรือหลับ ๆ ตื่น ๆ  ตื่นเร็วกว่าปกติ และ ตื่นมาแล้วไม่สดชื่น สาเหตุที่พบบ่อยมาจากปัญหาจิตใจ โดยเฉพาะความเครียดและวิตกกังวล

นอกจากนี้ยังพบว่า คนไทยขาดความเข้าใจเรื่องการนอนไม่หลับ มักแก้ปัญหาด้วยการซื้อยากินเองหรือนำยาจากคนป่วยอื่นมากิน ซึ่งเป็นการแก้ปัญหาที่ผิด เพราะยารักษาอาการนอนไม่หลับของแต่ละคนแตกต่างกัน หากไม่ได้รับการดูแลรักษาที่ถูกต้องแต่ต้นอาจทำให้อาการรุนแรงขึ้น เสี่ยงต่อการป่วยโรคทางจิตและกายอื่น ๆ

สำหรับการรักษามี 3 วิธี คือรักษาที่สาเหตุที่เกี่ยวข้อง รักษาโดยการปรับความคิดและพฤติกรรม และการใช้ยา จะเป็นการป้องกันการเกิดปัญหาสุขภาพจิตได้

หากพบว่า ตัวเองนอนไม่หลับติดต่อกัน 2 สัปดาห์ แนะให้พบแพทย์ เพื่อรักษาให้ถูกต้องตรงกับต้นเหตุที่ทำให้เกิดอาการ หรือโทรปรึกษาสายด่วนของกรมสุขภาพจิต 1323 ฟรีตลอด 24 ชั่วโมง

…..

แม้ว่าการนอนหลับจะเป็นองค์ประกอบที่สำคัญในชีวิตประจำวันของเรา แต่มักถูกมองข้ามและประเมินค่าต่ำเกินไป

ในทุกปีสมาคมการนอนหลับโลก (World Sleep Society) กำหนดให้มีวันนอนหลับโลก ซึ่งปีนี้ตรงกับวันศุกร์ที่ 17 มีนาคม 2566 เพื่อให้ทุกคนหันมาให้ความสำคัญกับการนอนหลับที่มีคุณภาพ ซึ่งหมายความรวมถึง การไม่มองข้ามปัญหาการตื่นกลางดึก

ถึงเวลาแล้วที่จะต้องพุ่งเป้าไปที่ปัญหาและหาทางแก้ไข เพื่อปรับปรุงคุณภาพการนอนหลับ เพื่อที่จะได้ตื่นขึ้นมาอย่างสดชื่นพร้อมรับวันใหม่ และบอกลาค่ำคืนที่หลับไม่ลงไปตลอดกาล!

อ้างอิง

https://www.sleepfoundation.org/sleep-hygiene/what-is-healthy-sleep

https://www.hfocus.org/content/2019/03/16978

https://www.salika.co/2019/03/16/insomnia-problem-solution-for-thai/

https://greatist.com/health/waking-up-in-the-middle-of-the-night

 

งานบทความที่กำลังเป็นที่ได้รับความสนใจ

‘หนองสนิทโมเดล’ต้นแบบชุมชนเข้มแข็ง ก้าวสู่ความมั่นคงทางอาหารอย่างยั่งยืน
1708931705.jpg

Super Admin ID1

‘หนองสนิทโมเดล’ต้นแบบชุมชนเข้มแข็ง ก้าวสู่ความมั่นคงทางอาหารอย่างยั่งย...

ทัวร์สายเขียวเที่ยวแบบรักษ์โลก ช่วยลดคาร์บอน ลดโลกเดือด
1708931705.jpg

Super Admin ID1

ทัวร์สายเขียวเที่ยวแบบรักษ์โลก ช่วยลดคาร์บอน ลดโลกเดือด

‘ปทุมวันโมเดล’ พื้นที่นำร่อง เขตควบคุมมลพิษต่ำเพื่อสุขภาพคนกรุง
1708931705.jpg

Super Admin ID1

‘ปทุมวันโมเดล’ พื้นที่นำร่อง เขตควบคุมมลพิษต่ำเพื่อสุขภาพคนกรุง

การแต่งเพลงช่วยเยียวยารักษาใจ  ท่วงทำนองชีวิตวัยรุ่นยุคนิวนอร์มอล
1708931705.jpg

Super Admin ID1

การแต่งเพลงช่วยเยียวยารักษาใจ ท่วงทำนองชีวิตวัยรุ่นยุคนิวนอร์มอล

‘ลองโควิด’ สึนามิลูกต่อมา ฉุดเศรษฐกิจและกระทบการใช้ชีวิต
1708931705.jpg

Super Admin ID1

‘ลองโควิด’ สึนามิลูกต่อมา ฉุดเศรษฐกิจและกระทบการใช้ชีวิต

งานบทความที่เกี่ยวข้อง

surachet@thaihealth.or.th

 

 

“ตับ” เป็นอวัยวะซึ่งมีหน้าที่สำคัญ หากตับมีความผิดปรกติ อาจนำไปสู่ปัญหาสุขภาพร้ายแรงถึงขั้นเสียชีวิต และปัจจัยสำคัญซึ่งทำให้ตับมีปัญหาคือ การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ รวมถึงการสูบบุหรี่ เพื่อดูแลตับให้ทำหน้าที่ได้อย่างปกติจึงควรละหรือเลิกเหล้า ผู้ที่ดื่มในปริมาณมากหรือดื่มต่อเนื่องมายาวนาน ควรตรวจสุขภาพหรือวัดเอนไซม์ตับ