บทนำ
Highlight
• กลุ่มคนเดินเท้ามีความเสี่ยงประสบอุบัติเหตุและมีโอกาสเสียชีวิตจากการถูกรถชนมากกว่าผู้ขับขี่และผู้โดยสาร จากข้อมูลขององค์การอนามัยโลก ระบุว่า ประเทศไทยมีอัตราการเสียชีวิตบนท้องถนนสูงสุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเอเชีย
• ข้อมูลสำนักงานสถิติแห่งชาติระบุว่า คนเดินถนนประสบเหตุสูงถึง 2,500 - 2,900 คนต่อปี กว่า 1 ใน 3 อยู่ในเขตกรุงเทพฯ เฉลี่ย 900 คนต่อปี ขณะที่ศูนย์ข้อมูลอุบัติเหตุทางถนน ระบุว่า ในปี 2564 มีผู้บาดเจ็บ 879,940 คน เสียชีวิต 13,425 คน
• ญี่ปุ่นเข้มงวดเรื่องกฎหมายจราจรมากที่สุดประเทศหนึ่ง โดยให้ความคุ้มครองและดูแลคนเดินเท้าเป็นพิเศษ มีสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับคนเดินเท้าและจักรยานสำหรับคนทุกกลุ่มทุกวัย การทำใบขับขี่ในญี่ปุ่นเป็นเรื่องยากมาก การถูกตัดแต้มจนถูกเพิกถอนใบขับขี่จึงเป็นสิ่งที่คนญี่ปุ่นค่อนข้างระมัดระวัง
กลุ่มคนเดินเท้ามีความเสี่ยงประสบอุบัติเหตุ
ทำไมคนในกรุงเทพฯ จึงไม่นิยมเดินเท้าไปทำงานหรือทำธุระนอกบ้าน คำตอบคงมีหลายเหตุผล เช่น อากาศร้อนเกินไปจึงไม่อยากเหงื่อไหล ไม่อยากเพิ่มผิวสีแทน ไม่ต้องการเผชิญกับฝุ่นควันและความไม่สะดวกสบายบนทางเท้าที่เต็มไปด้วยสิ่งกีดขวาง อีกทั้งบางครั้งอาจมีจักรยานยนต์มาร่วมใช้พื้นที่ทางเท้าด้วย เป็นต้น
แต่อีกคำตอบที่น่าสนใจและมีความสำคัญมากซึ่งคนทั่วไปอาจไม่รับรู้ก็คือ จากรายงาน Global Status Report on Road Safety ปี 2561 ขององค์การอนามัยโลก (WHO) ระบุว่า กลุ่มคนเดินเท้ามีความเสี่ยงประสบอุบัติเหตุและมีโอกาสเสียชีวิตจากการถูกรถชนมากกว่าผู้ขับขี่และผู้โดยสาร ในขณะที่ประเทศไทยรั้งสถิติอัตราการเสียชีวิตบนท้องถนนสูงสุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเอเชีย โดยคนไทยมีอัตราการเสียชีวิตบนท้องถนนอยู่ที่ 32.7 คนต่อประชากร 1 แสนคน (1)
นอกจากนี้ข้อมูลที่รวบรวมโดยสำนักงานสถิติแห่งชาติพบว่า “คนเดินถนน” ประสบเหตุสูงถึง 2,500 - 2,900 คนต่อปี โดยกว่า 1 ใน 3 อยู่ในเขตกรุงเทพมหานคร เฉลี่ย 900 คนต่อปี ขณะที่ศูนย์ข้อมูลอุบัติเหตุทางถนน (ThaiRSC) ระบุว่า ในปี 2564 มีผู้บาดเจ็บ 879,940 คน เสียชีวิต 13,425 คน โดยส่วนใหญ่ถูกรถจักรยานยนต์ชน รองลงมาคือรถยนต์และรถบรรทุก (2) (1)
จะเห็นได้ว่าสถิติจำนวนอุบัติเหตุในประเทศไทยยังเป็นตัวเลขที่สูง การสร้างความปลอดภัยในการใช้ถนนจึงเป็นเรื่องสำคัญ เร่งด่วน และมีความท้าทายยังรออยู่อีกมาก ที่ผ่านมามีตัวอย่างอุบัติเหตุที่น่าสลดใจและมีการหยิบยกสถานการณ์ดังกล่าวมาร่วมกันหาทางออก อย่างเช่น เหตุการณ์ที่เกิดกับครอบครัวของ “หมอกระต่าย” พญ.วราลัคน์ สุภวัตรจริยากุล จักษุแพทย์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อเดือนมกราคม 2565 ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นความสูญเสียที่ช็อกความรู้สึกของผู้คนจำนวนมาก เนื่องจากพ่อแม่ คนในครอบครัวและเพื่อนฝูงต้องมาร่วมพิธีศพของเธอ แทนที่จะได้เตรียมฉลองวันเกิดครบรอบ 33 ปีอย่างมีความสุข
เหตุการณ์นี้ หมอกระต่ายถูกรถจักรยานยนต์ซึ่งวิ่งด้วยความเร็วสูงพุ่งชนจนเสียชีวิตขณะเดินข้ามทางม้าลายบนถนนพญาไทใจกลางกรุงเทพฯ จากภาพบันทึกเหตุการณ์แสดงให้เห็นว่า ผู้ขับขี่รถซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจไม่ได้ลดความเร็วลงเมื่อถึงจุดคนข้ามหรือทางม้าลาย ในกรณีนี้ผู้ขับขี่ถูกดำเนินคดีอาญาและการกระทำผิดทางจราจร รวมถึงขับรถไม่ชิดขอบทางด้านซ้าย และไม่ปฏิบัติตามเครื่องหมายบนพื้นทาง (ไม่หยุดรถให้คนข้าม)
กฎหมายของไทยกำหนดโทษกรณีขับรถชนคนไว้คือ กรณีขับรถโดยประมาท ก่อให้เกิดอุบัติเหตุ แต่ไม่มีคนบาดเจ็บ โทษปรับไม่เกิน 1,000 บาท กรณีขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายแก่กายหรือจิตใจ โทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ กรณีที่ขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายสาหัส แก่กายหรือจิตใจ โทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และกรณีขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย โทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี และปรับไม่เกิน 200,000 บาท
หากเปรียบเทียบกับหลายประเทศ ในกรณีคล้ายคลึงกันนี้นับเป็นเหตุการณ์ร้ายแรง ด้วยกฎหมายให้ความคุ้มครองผู้ที่อ่อนแอที่สุดในเหตุการณ์ ถ้าเป็นกรณีรถชนคน คนถูกชนจะได้รับความคุ้มครองก่อนเป็นอันดับแรก ยกตัวอย่างเช่น ประเทศญี่ปุ่นซึ่งมีความเข้มงวดเรื่องกฎหมายจราจรมากที่สุดประเทศหนึ่ง โดยให้ความคุ้มครองและดูแลคนเดินเท้าเป็นพิเศษ มีกฎหมายที่เอาผิดผู้ขับขี่ที่ก่อให้เกิดอุบัติเหตุ เช่น ขัดขวางการข้ามถนนของคนเดินเท้า ขัดขวางการสัญจรของเด็กเล็ก ไม่รักษาระยะห่างจากคนเดินเท้าในระยะที่ปลอดภัย ไม่ชะลอรถในถนนคนเดิน
ญี่ปุ่นใช้ระบบแต้มในกฎหมายจราจร มีการตัดแต้มตามความผิดพื้นฐานสำหรับความผิดทั่วไป, ความผิดพื้นฐานสำหรับความผิดเฉพาะ, ความผิดเพิ่มเติมกรณีเกิดอุบัติเหตุ และความผิดเพิ่มเติมกรณีชนแล้วหนี ตัวอย่างเช่น ในกรณีไม่หยุดรถตามป้ายสัญญาณ มีโทษหักคะแนน 2 แต้ม เสียค่าปรับ 5,000 - 9,000 เยน ตามขนาดของรถ ยกเว้นความผิดฐานขัดขวางการข้ามถนนจะมีโทษปรับหนักกว่า คือ 6,000 - 12,000 เยน หากถูกหักคะแนนสะสม 3 ปี มากกว่า 6 คะแนนขึ้นไป จะถูกยึดใบขับขี่เป็นเวลา 30-180 วัน เว้นแต่เป็นการกระทำความผิดอันไม่รุนแรง (1 - 3 แต้ม) อาจได้รับผ่อนผันให้เข้ารับการอบรมแทนยึดใบขับขี่ เป็นต้น (3)
ค่าปรับคดีเกี่ยวกับการขับรถในญี่ปุ่น เช่น หากขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ชีวิต มีโทษจำคุกไม่เกิน 7 ปี ปรับเงินไม่เกิน 1 ล้านเยน (289,411 บาท) กรณีชนแล้วหนีจะเพิ่มโทษไม่ช่วยเหลือผู้บาดเจ็บ จำคุกไม่เกิน 10 ปี ปรับเงินไม่เกิน 1 ล้านเยน และโทษไม่แจ้งความต่อเจ้าหน้าที่ จำคุกไม่เกิน 3 เดือน ปรับเงินไม่เกิน 5 หมื่นเยน (14,470 บาท) รวมโทษแล้วจำคุก 17 ปี ปรับ 2.05 ล้านเยนหรือ (592,992 บาท) เป็นต้น
ถ้าผู้ขับขี่มีอาการเมาแล้วขับขี่จะพิจารณาตามสภาพอาการ เช่น เดินเซ ตาปรือ หน้าแดงก่ำ ฯลฯ มีโทษตั้งแต่จำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 1 ล้านเยน หักคะแนน 35 แต้ม และเพิกถอนใบขับขี่ 3 ปี มีแอลกอฮอล์ในร่างกายเกินกว่า 0.15 มิลลิกรัมต่อลมหายใจ 1 ลิตรโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 5 แสนเยน (144,705 บาท) หักคะแนน 13 - 25 แต้ม และยึดใบขับขี่ตั้งแต่ 90 วัน ไปจนถึงเพิกถอนใบขับขี่ 2 ปี ถ้าเป็นเหตุทำให้มีผู้เสียชีวิต ต้องโทษจำคุกไม่เกิน 20 ปี จะเห็นได้ว่าประเทศญี่ปุ่นให้ความสำคัญกับคนเดินเท้า มีสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับคนเดินเท้าและจักรยาน ที่จัดให้เหมาะสมสำหรับคนทุกกลุ่มทุกวัย การทำใบขับขี่ในญี่ปุ่นนั้นเป็นเรื่องยากมาก การถูกตัดแต้มจนถูกเพิกถอนใบขับขี่จึงเป็นสิ่งที่ประชาชนญี่ปุ่นค่อนข้างระมัดระวัง (4)
ทั้งกรณีที่เกิดกับหมอกระต่ายและคดีสะเทือนขวัญที่เกิดบนทางเท้าหลาย ๆ คดี ทำให้เรื่องความปลอดภัยของคนเดินเท้าในประเทศไทยถูกตั้งคำถาม และพยายามหาทางลดอัตราการเสียชีวิตบนท้องถนน รวมทั้งเพิ่มความปลอดภัยให้กับคนเดินเท้า นอกเหนือไปจากการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวดแล้ว สิ่งที่สำคัญและควรดำเนินการให้ต่อเนื่องและเกิดความอย่างยั่งยืนก็คือ การสร้างความตื่นรู้และปลูกจิตสำนึกเกี่ยวกับเรื่องนี้ในสังคมไทย
อย่างเช่นเมื่อเร็ว ๆ นี้ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ คณะกรรมการบูรณาการกู้ชีพฉุกเฉินและความปลอดภัยทางถนน วุฒิสภา สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับสภากาชาดไทย สำนักงานเขตปทุมวัน และภาคีเครือข่าย จัดกิจกรรม หยุดสูญเสีย หยุดรถ ให้คนข้ามทางม้าลาย #ความดีที่คุณทำได้ ครั้งที่ 6 “ก้าวเดินอย่างปลอดภัยบนทางม้าลาย ตำรวจจราจรไทยร่วมดูแล” พร้อมมอบสื่อให้กับสำนักงานตำรวจแห่งชาตินำไปใช้ในการรณรงค์สื่อสารสร้างความเข้าใจกับประชาชนและบังคับใช้กฎหมายในพื้นที่ต่าง ๆ เพื่อสร้างความปลอดภัยบนทางม้าลาย ด้วยการลดความเร็วเขตชุมชน และชะลอก่อนถึงทางแยกทางข้าม โดยเฉพาะในเขตเมือง-เขตชุมชน เช่น หน้าโรงเรียน หน้าโรงพยาบาล หน้าตลาด หรือหน้าสถานที่ราชการ
นอกจากนี้ ยังมีมาตรการและมาตรฐานความปลอดภัย เช่น มาตรฐานสัญลักษณ์จราจรทางถนน และการกำหนด Speed Zone จำกัดความเร็วในเขตชุมชน มีการสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัย เช่น นำเทคโนโลยีเสริมการบังคับใช้กฎหมายกับผู้ที่ฝ่าฝืน การรณรงค์ประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อต่าง ๆ ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ร่วมกับกรมการขนส่งทางบกและกรุงเทพมหานคร วางแนวทางควบคุม/บังคับใช้กฎหมาย และสร้างวัฒนธรรมองค์กรด้านความปลอดภัย เป็นต้น (5)
ขณะเดียวกัน สสส.ยังร่วมกับกรุงเทพมหานคร โดยสำนักงานเขตดินแดง โรงเรียนวิชากร เครือข่ายพัฒนาคุณภาพชีวิต และมูลนิธิเด็กเยาวชนและครอบครัว รณรงค์ประชาสัมพันธ์ เพี่อสร้างความปลอดภัยบนท้องถนน โดยเฉพาะบริเวณหน้าโรงเรียนให้แก่เด็กนักเรียน ครู ผู้ปกครอง และประชาชนที่เดินทางสัญจร โดยเน้นหลัก 3 ประการ คือ
1. การหยุดรถให้คนข้ามทางม้าลาย และดูให้ปลอดภัยก่อนข้าม
2. การลดความเร็วบริเวณหน้าโรงเรียนไม่เกิน 30 กม./ชม.
3. การสวมหมวกนิรภัยทั้งคนขับและคนซ้อน
ซึ่งเป็นการนำร่องที่โรงเรียนในสังกัดกรุงเทพมหานคร และส่งแรงกระตุ้นไปสร้างการเปลี่ยนแปลงยังภาคส่วนอื่นต่อไปในอนาคต (6)
สำหรับคนเดินเท้าเองก็ต้องลดพฤติกรรมเสี่ยงด้วยเช่นกัน อาทิ ไม่ข้ามถนนในบริเวณที่ไม่ปลอดภัย ไม่ประมาท ไม่วิ่งข้ามถนนตัดหน้ารถในระยะกระชั้นชิด ไม่มองเส้นทางให้รอบด้านก่อน มีการตัดสินใจข้ามถนนผิดพลาด เช่น กะระยะห่างของรถ ประเมินความเร็วของรถผิดพลาด ความลังเลและตัดสินใจข้ามถนนที่ไม่แน่นอน ประกอบกิจกรรมอื่นขณะเดินเท้าหรือข้ามถนน ไม่สนใจสภาพแวดล้อมรอบตัว และไม่ทันระวังอันตรายที่อาจเกิดขึ้น ข้อพึงระวังทั้งหมดนี้จะช่วยเพิ่มความปลอดภัย และลดอุบัติเหตุที่อาจจะเกิดขึ้นได้
ดังนั้นนอกจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องกำกับดูแลรักษาความปลอดภัยอย่างเคร่งครัดเข้มงวดมากขึ้นแล้ว สิ่งที่ทุกคนทำได้ในฐานะคนเดินเท้าคือ ต้องระมัดระวังดูแลตนเองและตระหนักเสมอว่า คนต้องระวังรถ ในขณะที่ผู้ขับขี่ต้องตระหนักเสมอว่า การขับรถต้องระวังคน จึงต้องมีวินัย ใช้ความระมัดระวัง ให้สัญญาณเตือนคนเดินเท้าให้รู้ตัวเมื่อจำเป็น หากทั้งสองฝ่ายมีจิตสำนึกความรับผิดชอบต่อส่วนรวม ความเสี่ยงการเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนนและทางเดินเท้าก็จะลดลง
อ้างอิง
(1) thaigov.go.th/news/contents/details/58393
(2) https://news.thaipbs.or.th/content/311970
(3) dspace.spu.ac.th/bitstream/123456789/5481/5/บทที่%203.pdf
(4) reporter-journey.com/คนเดินเท้า-สำคัญที่สุ/
(5) siamrath.co.th/n/366940
(6) https://www.matichon.co.th/local/news_3439271
0 ถูกใจ 726 การเข้าชม
งานบทความที่กำลังเป็นที่ได้รับความสนใจ
งานบทความที่เกี่ยวข้อง
เข้าสู่ระบบเพื่อโพสต์ความคิดเห็น
ความคิดเห็น 0