0

0

บทนำ

ประเทศไทยเข้าสู่ “ฤดูฝุ่น” อย่างเป็นทางการพร้อมกับการมาถึงของฤดูหนาว และ PM2.5 จะอยู่ยาวเรื่อยไปจนถึงฤดูร้อน
ช่วงหลายปีหลังประเทศไทยได้รับผลกระทบจากวิกฤติฝุ่นอย่างมาก และข่าวร้ายคือ ในปี 2567 นี้ คาดการณ์ว่า ฝุ่น PM2.5 จะมีแนวโน้มรุนแรงมากกว่าเดิม ผลสืบเนื่องจากปรากฏการณ์เอลนีโญ
ขณะที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินมาตรการต่าง ๆ เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 ประชาชนซึ่งอยู่ในพื้นที่วิกฤตมีความจำเป็นต้องตื่นตัวและดูแลป้องกันสุขภาพตนเอง
 

ยิ่งเล็กยิ่งร้าย ยิ่งนานยิ่งอันตราย

PM2.5 เป็นฝุ่นละอองที่มีเส้นผ่าศูนย์กลาง 2.5 ไมครอนหรือเล็กกว่านั้น สามารถแพร่เข้าสู่ระบบทางเดินหายใจและทำให้เกิดโรคทางเดินหายใจ โรคหัวใจ มะเร็งปอด ฯลฯ ซึ่งเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตก่อนวัยอันควร
ข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุขระบุว่า ในปี 2566 ประชากรไทยจำนวน 1,730,976 คน ป่วยด้วยโรคเกี่ยวข้องกับมลพิษทางอากาศ โดยกลุ่มโรคที่พบสูงสุด ได้แก่ กลุ่มโรคทางเดินหายใจ กลุ่มโรค ผิวหนังอักเสบ และกลุ่มโรคตาอักเสบ
ผลการศึกษาระบุว่า การได้รับมลพิษทางอากาศต่อเนื่อง 3 ปี จะเพิ่มความเสี่ยงเป็นโรคมะเร็งปอดได้ โดยผู้หญิงมีโอกาสเป็นมากกว่าผู้ชาย สำหรับผู้ที่สูบบุหรี่ เมื่อสูด PM2.5 เข้าสู่ร่างกาย จะมีความเสี่ยงโรคมะเร็งเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่า นอกจากนี้พบว่า กลุ่มเสี่ยงที่รับผลกระทบจากมลพิษอากาศยังรวมถึง เด็ก หญิง ตั้งครรภ์ ผู้สูงอายุ และผู้มีโรคประจำตัว อีกด้วย
ระหว่างปี 2560-2563 พบว่า ผู้สูงอายุชาวไทยเจ็บป่วยด้วย 4 โรคหลัก คือ โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคหลอดเลือด สมอง โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง และโรคมะเร็งปอด มากกว่าวัยอื่น เกิดจากการได้รับและสัมผัสมลพิษทางอากาศมาเป็นเวลานาน
และหากความเข้มข้นของมลพิษทางอากาศยังคงไม่เปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น เด็กในปัจจุบันจะต้องเผชิญกับโรคเหล่านั้นสูงยิ่งกว่าผู้สูงอายุในปัจจุบัน

 

ปี 2567 ร้อน-แล้ง-ฝุ่นพุ่ง ผลกระทบจากเอลนีโญ

ฤดูฝุ่นในประเทศไทยมีผลมาจากความกดอากาศสูง อัตราการระบายฝุ่นต่ำ ลมสงบ ทำให้เกิดการสะสมของฝุ่น ด้วยอิทธิพลจากการเผาป่า การเผาในพื้นที่การเกษตร หมอกควันข้ามแดน การใช้เชื้อเพลิง ฯลฯ ส่งผลให้ปริมาณฝุ่น PM2.5 เพิ่มขึ้น และในปี 2567 นี้ คาดว่าปรากฏการณ์เอลนีโญจะก่อให้เกิดความแห้งแล้งรุนแรง อันอาจกระทบต่อภาคส่วนต่างๆ

เอลนีโญเป็นปรากฏการณ์ที่อุณหภูมิผิวน้ำในมหาสมุทรแปซิฟิกเพิ่มสูงขึ้น มีผลกระทบต่อระบบอากาศในหลายภูมิภาคของโลก ส่งผลให้ฝนตกลดลงและความแห้งแล้งเพิ่มขึ้นในบางพื้นที่ สามารถเกิดซ้ำได้ในช่วงเวลาไม่สม่ำเสมอ เกิดแต่ละครั้งนาน 12-18 เดือน ส่งผลกระทบในหลายประเทศทั่วโลก
เอลนีโญมีผลทำให้ปริมาณฝนของประเทศไทยมีแนวโน้มว่าจะต่ำกว่าปกติ โดยเฉพาะฤดูร้อน และต้นฤดูฝน ในขณะที่อุณหภูมิของอากาศจะสูงกว่าปกติ เฉพาะอย่างยิ่งในกรณีที่เอลนีโญมีขนาดรุนแรง ผลกระทบดังกล่าวจะชัดเจนมากขึ้น
การประเมินสถานการณ์ เอลนีโญจะมีกำลังแรงตั้งแต่ปลายฤดูฝนของปี 2566 ต่อเนื่องไปจนถึงช่วงฤดูร้อนของปี 2567 มีผลทำให้อุณหภูมิเฉลี่ยมีแนวโน้มจะสูงกว่าค่าปกติ อากาศจะร้อนขึ้นและจะร้อนที่สุดในเดือนเมษายน ทั้งยังแล้งมากขึ้น ปริมาณน้ำฝนรวมของประเทศมีแนวโน้มที่จะต่ำกว่าค่าปกติร้อยละ 10 ส่งผลให้สถานการณ์ไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละอองในปีนี้จะมีความรุนแรงขึ้น
เพราะเอลนีโญทำให้การไหลของลมและระบบอากาศมีการเปลี่ยนแปลง อีกทั้งฝนที่ตกน้อยลงหรือหยุดตกเป็นเวลานาน ส่งผลให้มลพิษและฝุ่น PM2.5 จากการเผาไหม้หรือการปล่อยมลพิษจากกิจกรรมมนุษย์อื่น ๆ สะสมและคงอยู่ในบรรยากาศมากขึ้น
ประเทศไทยต้องรับมือและหาทางออกในการลดความเสียหายที่อาจจะเกิดกับทั้งการเกษตร การอุปโภคบริโภค อุตสาหกรรม การท่องเที่ยว ฯลฯ



 

ร่วมมือจัดการฝุ่นเพื่ออากาศสะอาด

ด้วยเห็นถึงความสำคัญและเร่งด่วนของปัญหาฝุ่น PM2.5 ประเทศไทยได้กำหนดวาระแห่งชาติฯ โดยมีเป้าหมาย “สร้างอากาศดี เพื่อคนไทย และผู้มาเยือน” ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน
จากการประชุมระดับชาติเรื่อง มลพิษทางอากาศ PM2.5 ครั้งที่ 1 (Thailand National PM2.5 Forum) ปี 2566 ในหัวข้อ “อากาศสะอาด : ความรับผิดชอบร่วมของรัฐ เอกชน และประชาสังคม” ที่ประชุมได้ร่วมกันจัดทำข้อเสนอแนะเชิงมาตรการเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 จำนวน 11 ข้อ คือ
1.นำหลักการผู้ก่อมลพิษเป็นผู้จ่าย PPP (Polluter Pays Principle) มากำหนดความรับผิดชอบต่อผู้ก่อปัญหาและการเยียวยาผู้ได้รับความเสียหาย 2. คุ้มครอง ส่งเสริมชุมชนจัดการทรัพยากร และกำหนดมาตรการที่ชุมชนมีสิทธิในการจัดการร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และรัฐในการจัดการ บำรุง รักษา และใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ 3. ส่งเสริมนวัตกรรมการวิจัยและพัฒนา R&D เทคโนโลยีด้านการเตือนภัย 4. จัดทำฐานข้อมูลโดยการมส่วนร่วมให้เป็นปัจจุบัน จำแนกให้เป็นไปตามประเภทของปัญหา การเปิดเผย และเข้าถึงฐานข้อมูลอย่างทั่วถึง 5. ปรับเปลี่ยนการเกษตรที่ก่อมลพิษสู่การเกษตรที่ยั่งยืน
6. สร้างข้อตกลง กลไกกำกับร่วมในระดับอาเซียน 7. สร้างระบบธรรมาภิบาลกำกับการลงทุนของเอกชนข้ามพรมแดน 8. สร้างพื้นที่ปลอดฝุ่นในพื้นที่สาธารณะ เช่น โรงเรียน โรงพยาบาล 9. ติดตาม ตรวจสอบที่มา ความร้ายแรงและผลกระทบที่เกิดจากการปล่อยฝุ่นของภาคอุตสาหกรรม 10. เน้นการจัดการเชิงพื้นที่อย่างบูรณาการด้วยหลักสหวิทยาการ (Transdisciplinary) 11. เร่งรัดออกกฎหมายอากาศสะอาด กฎหมายการปลดปล่อยและเคลื่อนย้ายมลพิษ (Pollutant Release and Transfer Register: PRTR) และสิทธิจัดการทรัพยากรของชุมชน



ข้อเสนอเหล่านี้ได้ส่งมอบให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ที่ผ่านมา ทส. ได้ร่วมผลักดัน พ.ร.บ.อากาศสะอาด เพื่อให้เป็นกฎหมายที่ใช้บริหารจัดการแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ และในปี 2567 จะยกระดับมาตรการแก้ปัญหาฝุ่น PM2.5 โดยให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมกับภาครัฐมากขึ้น โดยกำหนดเป้าหมายลดการเผาไหม้ในพื้นที่เกษตรลงร้อยละ 50 ใน 10 ป่าอนุรักษ์ และ 10 ป่าสงวน

 

กินสู้ PM2.5

ในช่วงฤดูฝุ่น ประชาชนจำเป็นต้องตื่นตัว เฝ้าระวังสุขภาพ ติดตามสถานการณ์ และวางแผนการดำรงชีวิต
การใส่ใจกับอาหารสามารถช่วยเสริมระบบภูมิคุ้มกันและเสริมสร้างร่างกายให้แข็งแรง โดยสารอาหารที่ช่วยให้ร่างกายแข็งแรงสู้ฝุ่นได้ อย่างเช่น 
เบต้าแคโรทีน: พบในผักผลไม้สีต่าง ๆ เช่น มะม่วง มะละกอ แครอท มะเขือเทศ ฯลฯ มีประสิทธิภาพช่วยต่อต้านอนุมูลอิสระ ช่วยให้ประสิทธิภาพการทำงานของปอดดีขึ้น เสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกัน ป้องกันร่างกายจากโรคระบบทางเดินหายใจที่เกิดจากมลพิษทางอากาศ
กรดไขมันโอเมก้า 3: พบมากในปลา ถั่ว เมล็ดพืช ฯลฯ มีคุณสมบัติต้านการอักเสบในร่างกายที่เกิดจากการสัมผัสกับมลพิษทางอากาศ ทำให้สุขภาพหัวใจ หลอดเลือด และปอดดีขึ้น
ซัลโฟราเฟน: พบได้ในผักตระกูลกะหล่ำ เช่น บรอกโคลี กะหล่ำปลี ฯลฯ เป็นสารต้านอนุมูลอิสระ มีคุณสมบัติในการล้างพิษ มีฤทธิ์ต้านการอักเสบที่เกิดจากการสัมผัสกับมลพิษทางอากาศ
วิตามินเอ: อยู่ในอาหารจำพวก ตับ ไข่ นม ผักและผลไม้สีส้ม เช่น แครอท มันเทศ ฯลฯ ส่วนช่วยให้ประสิทธิภาพการทำงานของปอดดีขึ้น ช่วยส่งเสริมระบบทางเดินหายใจและระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย
วิตามินซี: พบมากในผักผลไม้ เช่น ฝรั่ง ส้ม สตรอเบอร์รี่ พริก ผักคะน้า ฯลฯ เป็นสารต้านอนุมูลอิสระ ช่วยเสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกัน ลดปัญหาจากภูมิแพ้ต่อระบบต่าง ๆ


 

ใส่แมสก์แล้ว ล้างจมูกด้วย!

เมื่อสถานการณ์ฝุ่นละอองมีค่าเกินมาตรฐาน สิ่งที่ประชาชนต้องทำคือ ลดเวลาการทำกิจกรรมกลางแจ้ง ใช้อุปกรณ์ป้องกันตนเอง เช่น สวมแมสก์ และอีกหนึ่งในวิธีที่เรียบง่าย แต่ได้มีประสิทธิภาพ สามารถช่วยลดการนำ PM2.5 เข้าสู่ร่างกาย คือ การล้างจมูก
การล้างช่องจมูก นอกจากทำให้ช่องจมูกสะอาดแล้ว ยังเพิ่มความชุ่มชื้น ลดการระคายเคือง ทำให้ฝุ่นเกาะติดเยื่อบุจมูกยากขึ้น ช่วยลดผลกระทบต่อสุขภาพจากการรับสัมผัสฝุ่นละอองได้เบื้องต้น และยังช่วยลดจำนวนเชื้อโรค มลพิษ ฝุ่นละออง สารก่อภูมิแพ้ สิ่งระคายเคือง และสารที่เกิดปฏิกิริยาของร่างกายที่มีต่อสารก่อภูมิแพ้ในโพรงจมูกรวมไปถึงไซนัส ช่วยป้องกันการลุกลามของเชื้อโรคจากจมูกและไซนัสขึ้นไปหูชั้นกลางหรือลงไปสู่ปอดได้ด้วย
ในการล้างจมูกให้ใช้น้ำเกลือความเข้มข้น 0.9 เปอร์เซ็นต์ ไม่ควรฉีดเข้าจมูกแรงเพราะอาจทำให้โพรงจมูกระคายเคืองหรืออักเสบได้




 

ปลูกต้นไม้ลดฝุ่น PM2.5

นอกจากดูแลสุขภาพตัวเองแล้ว อีกหนึ่งอย่างที่ทุกคนลงมือทำได้เพื่อในการต่อสู้กับมลพิษทางอากาศคือ การปลูกต้นไม้ ซึ่งมีประโยชน์มากมาย เช่น
-ต้นไม้สามารถดูดซับกลิ่น มลพิษ และ ฝุ่นละออง ผ่านทางใบ เปลือก และ ลำต้น จึงมีคุณสมบัติดักจับฝุ่นละอองในอากาศได้
-อากาศที่ผ่านเรือนยอดต้นไม้ จะมีปริมาณฝุ่น PM2.5 ลดลงร้อยละ 10-50 และทำให้อุณหภูมิลดลง 0.4 – 3 องศาเซลเซียส
-ฝุ่น PM2.5 จะเกาะแน่นกับผิวของใบไม้ที่เป็นชั้นเยื่อบุภายนอก รวมถึงเปลือกที่กิ่งก้านและลำต้น    โดยฝุ่นที่เกาะค้างอยู่จะถูกน้ำฝนชะล้างและไหลลงสู่พื้น ลดการกระจายของฝุ่น
-การสังเคราะห์แสงของพืช จะช่วยดูดฝุ่น PM2.5 และ ก๊าซพิษต่างๆ แล้วเปลี่ยนเป็นก๊าซออกซิเจนและไอน้ำออกมาแทน เปรียบเสมือนเครื่องกรองอากาศที่มีชีวิต
ต้นไม้ที่เหมาะแก่การดักจับฝุ่นละอองเป็นพิเศษจะต้องเป็นต้นไม้ที่โตเร็ว ผิวใบไม่เรียบ มีขนหรือไขปกคลุม ส่วนเรื่องของความหนาแน่นของพุ่มใบก็มีส่วน เพราะมันเพิ่มพื้นที่ผิวที่จะดักจับฝุ่น
สำหรับต้นไม้ที่เหมาะกับการปลูกในเมือง ไม้พุ่มและไม้ต้น สามารถปลูกเพื่อลดฝุ่นตามท้องถนนได้ เช่น หอมหมื่นลี้ ตะเคียนหนู รามใหญ่ สะเดา ปอกระสา หางนกยูงไทย แปรงล้างขวด โกงกางเขา ไทรย้อยใบแหลม อินทนิลน้ำ เป็นต้น

อิทธิพลของปรากฏการณ์เอลนีโญที่มีต่อ P2.5 อาจอยู่เหนือการควบคุม แต่สิ่งที่ทุกคนทำได้ทันทีคือ การจัดการกับปัจจัยซึ่งเกิดจากฝีมือมนุษย์ รวมถึงการดูแลปกป้องสุขภาพเพื่อให้ปลอดภัยจากฝุ่น
 

อ้างอิง

  • จับตาทิศทางสุขภาพคนไทยปี 2567 ThaiHealth Watch 2024, https://shorturl.asia/HVE9n
  • “เอลนีโญ” ทำ PM 2.5 รุนแรงขึ้น นักสิ่งแวดล้อม แนะ เร่งเดินหน้า “กองทุนอากาศสะอาด”, https://shorturl.asia/CVUpc
  • เตือนฝุ่น PM 2.5 ถล่มกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ เอลนีโญกระตุ้นฝุ่นเล็กกว่าเดิม, https://shorturl.asia/gZ9cY
  • เปิดข้อสรุปประชุมป้องกันมลพิษทางอากาศ “PM2.5 Forum” มุ่งเป้าลดเผาพื้นที่เกษตร 50% ใน 10 ป่าอนุรักษ์-ป่าสงวน ภายในปี 2567, https://shorturl.asia/Z4BxE
  • กินอยู่อย่างไร...ในวันที่ “ค่าฝุ่น PM 2.5” มีปริมาณสูง, https://shorturl.asia/aerWk
  • การล้างจมูก สามารถช่วยลดการนำ PM 2.5 เข้าสู่ร่างกายได้, https://shorturl.asia/RmuAb
  • 10 ต้นไม้ปลูกไว้ ช่วยลดฝุ่น PM 2.5, https://shorturl.asia/i8bGN

งานบทความที่กำลังเป็นที่ได้รับความสนใจ

ปกป้องชีวิตเด็กไทยด้วยหมวกนิรภัย
1708931705.jpg

Super Admin ID1

ปกป้องชีวิตเด็กไทยด้วยหมวกนิรภัย

ปรับเปลี่ยนทัศนคติคนไม่กินผัก ลองก่อนแล้วจะเห็นผลดีตามมา
1708931705.jpg

Super Admin ID1

ปรับเปลี่ยนทัศนคติคนไม่กินผัก ลองก่อนแล้วจะเห็นผลดีตามมา

เยาวชน เหยื่อรายใหม่ของบุหรี่ไฟฟ้า
defaultuser.png

ชลธิดา เณรบำรุง

เยาวชน เหยื่อรายใหม่ของบุหรี่ไฟฟ้า

Here to heal ...พื้นที่แห่งการดูแลจิตใจใกล้ตัว
1717644549.jpg

เบนจี้ ชลพรรษ

Here to heal ...พื้นที่แห่งการดูแลจิตใจใกล้ตัว

รับมือความ Toxic อย่างไรดี
defaultuser.png

อภิรักษ์ รุ่งเรือง

รับมือความ Toxic อย่างไรดี

งานบทความที่เกี่ยวข้อง

surachet@thaihealth.or.th

Highlight

  • องค์การอุตุนิยมวิทยาโลก (World Meteorological Organization: WMO) ได้จำกัดความคำว่าคลื่นความร้อนว่า เป็นภาวะที่อุณหภูมิสูงสุดประจำวันเกินค่าอุณหภูมิสูงสุดโดยเฉลี่ยประมาณ 5 องศาเซลเซียส ติดต่อกันเป็นเวลาอย่างน้อย 5 วัน

  • สำหรับประเทศไทย ยังไม่พบการเกิดคลื่นความร้อน แต่เป็นผลกระทบจากหย่อมความกดอากาศต่ำซึ่งปกคลุมประเทศไทยในระดับท้องถิ่น

  • การที่คลื่นความร้อนเกิดมากขึ้นและมีความรุนแรงมากขึ้น มีหลักฐานชี้ว่าเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) หรือภาวะโลกร้อน (Global Warming)

  • ยุโรปเคยประสบกับวิกฤติคลื่นความร้อนในปี 2546 ทำให้มีผู้เสียชีวิตกว่า 70,000 คน และในปี 2565  คลื่นความร้อนทำให้ประชาชนเสียชีวิตสูงเกือบ 62,000 ราย

 

“คลื่นความร้อน” กลายเป็น “ประเด็นร้อน” อย่างต่อเนื่อง เมื่อหลายภูมิภาคทั่วโลกต้องเผชิญกับ “ฮีตเวฟ” อย่างหนักหน่วงรุนแรงเป็นประวัติการณ์ ไม่ว่าจะในทวีปอเมริกาเหนือ ยุโรป หรือเอเชีย

คลื่นความร้อนเป็นเหมือนการส่งสัญญาณเตือนให้ต้องเฝ้าระวังวิกฤตอันตรายต่อสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีของทุกคนบนโลก ซึ่งจำเป็นต้องดำเนินการเพื่อป้องกันแก้ไขอย่างเร่งด่วน