0

0

บทนำ

คุณเป็นอีกคนหนึ่งหรือเปล่าที่ต้องการตัด “แอลกอฮอล์” ออกจากชีวิต

คุณต้องการเริ่มต้นใหม่ มีสุขภาพดีขึ้น และอนาคตสดใสกว่าเดิม

หากคุณยังไม่รู้จะเริ่มอย่างไร แชทบอท “น้องตั้งใจ” พร้อมให้ความช่วยเหลือ เป็นเพื่อนคู่ใจไปตลอดเส้นทาง!

ข้อเท็จจริงการบริโภคแอลกอฮอล์ในไทย

การบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ถือเป็นหนึ่งในความท้าทายด้านสาธารณสุขของประเทศไทยมายาวนาน

จากผลการศึกษาพบว่า ประเทศไทยมีนักดื่มอยู่ประมาณร้อยละ 28 จากประชากรทั้งหมด โดยในแต่ละปีมีนักดื่มหน้าใหม่เพิ่มมากขึ้น ในปี 2564 พบว่า จำนวนนักดื่มหน้าใหม่ เพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัวจากปี 2560 อยู่ที่ร้อยละ 3 เป็นร้อยละ 6

ข้อมูลระหว่างปี 2550-2564 คนไทยมีพฤติกรรมดื่มประจำถึงร้อยละ 44 ในจำนวนนี้กว่า 1 ใน 3 หรือร้อยละ 36 ดื่มหนัก และมีพฤติกรรมการดื่มแล้วขับสูงถึงร้อยละ 31 อันเป็นสาเหตุอันดับต้น ๆ ที่ทำให้คนไทยเสียชีวิต ในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2564 พบว่า แอลกอฮอล์เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้มีผู้บาดเจ็บและผู้เสียชีวิตมากถึง 5,387 คน มากกว่าปี 2563 ถึงร้อยละ 17

ในแต่ละปีมีผู้เข้ารับการบำบัดในสถานพยาบาลจำนวนไม่น้อย โดยในเดือน มิ.ย. 2566 พบว่า ตั้งแต่ต้นปี 2566 ผู้มีปัญหาการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เข้ารับการบำบัดในสถานพยาบาลอยู่ที่ 857,582 คน

ข้อมูลการให้บริการ 1413 สายด่วนเลิกเหล้า ตั้งแต่ปี 2564-2565 มีผู้โทรเข้ามาขอรับคำปรึกษามากถึง 26,176 สาย โดยเฉพาะช่วงเข้าพรรษา ตั้งแต่เดือน ก.ค. – ก.ย. ของทุกปี จะมีผู้ขอรับบริการปรึกษาเพื่อเลิกเหล้ามากขึ้น

 

ผลจากการดื่มกระทบต่อร่างกายถึงสังคม

การดื่มแอลกอฮอล์มากเกินไปนำไปสู่โรคเกี่ยวกับตับ เช่น ไขมันพอกตับ ตับอักเสบ ตับแข็ง ฯลฯ เพิ่มความเสี่ยงให้เกิดความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ และโรคหลอดเลือดสมอง เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทำให้เกิดกระเพาะอักเสบ อาจทำให้เสื่อมสมรรถภาพทางเพศ และมีผลร้ายต่อทารกในครรภ์ เป็นต้น

การดื่มหนักอาจนำไปสู่ปัญหาสุขภาพจิต เช่น ภาวะซึมเศร้า วิตกกังวล ทำให้ความสามารถในการตัดสินใจลดลง ไม่มีสมาธิ รวมถึงปัญหาด้านความจำ

นอกจากนี้การดื่มแอลกอฮอล์ยังส่งผลต่อปัญหาความสัมพันธ์ในครอบครัว เพื่อน เพื่อนร่วมงาน ทำให้ประสิทธิภาพการทำงานลดลง นำไปสู่ปัญหาการงานและการเงิน​ จากการใช้จ่ายไปกับแอลกอฮอล์และผลที่ตามมายังสร้างความสูญเสียทางเศรษฐกิจ อาจทำให้มีปัญหาทางกฎหมาย เมื่อดื่มจนมึนเมานำไปสู่ข้อหาเมาแล้วขับ ก่อเกิดอุบัติเหตุต่าง ๆ

ด้วยผลกระทบจากการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่มีต่อบุคคลและสังคมจึงจำเป็นต้องมีมาตรการในการป้องกันและแก้ไข โดยเฉพาะการช่วยเหลือคนไทยให้เลิกดื่ม เป็นที่มาของแชทบอท “น้องตั้งใจ” 

ใครคือ

“น้องตั้งใจ” เป็นนวัตกรรมแชทบอทช่วยเหลือในการเลิกเหล้าซึ่งต่อยอดมาจาก “1413 สายด่วนเลิกเหล้า” เป็นการทำงานร่วมกันของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.), ศูนย์ปรึกษาเพื่อการเลิกสุราและการเสพติด (1413 สายด่วนเลิกเหล้า) และภาคีเครือข่าย

แชทบอท “น้องตั้งใจ” สร้างขึ้นมาเพื่อให้สอดคล้องกับพฤติกรรมการสื่อสารในยุคปัจจุบัน สามารถเข้าถึงได้ง่าย ช่วยลดความเสี่ยงจากการดื่มแอลกอฮอล์ ภายใต้การดูแลจากเจ้าหน้าที่ให้คำปรึกษา ก่อนเข้าสู่กระบวนการบำบัดรักษาอย่างเหมาะสมต่อไป

 

 

 

การนำเทคโนโลยีมาใช้มีส่วนช่วยสร้างแรงจูงใจทำให้ประสบความสำเร็จในการลด ละ เลิกเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ จากการทดลองในกลุ่มตัวอย่างพบว่า จำนวนวันดื่มของผู้ใช้บริการปรึกษาเลิกเหล้าผ่านแชทบอทมีแนวโน้มลดลงมากกว่ากลุ่มที่ไม่ได้ใช้ และระดับความรุนแรงของความเสี่ยงในการดื่มยังลดลงด้วย

แชทบอท “น้องตั้งใจ” เหมาะสำหรับผู้ที่ไม่สะดวกในการติดต่อทางโทรศัพท์ผ่านสายด่วนเลิกเหล้า เหมาะกับการรักษาแบบผู้ป่วยนอก ช่วยเพิ่มการเข้าถึงการบำบัดรักษา สามารถปรับให้เหมาะสมกับแต่ละบุคคลได้

แล้ว “น้องตั้งใจ” ทำงานอย่างไร?

“น้องตั้งใจ” สามารถเข้าถึงง่าย ๆ ผ่านแอปพลิเคชัน “ไลน์” ขั้นตอนการรับบริการก็สะดวก เริ่มต้นจาก

- เพิ่มเป็นเพื่อนกับ “น้องตั้งใจ” ในไลน์ สามารถสแกนคิวอาร์โคดที่เฟซบุ๊ก 1413 สายด่วนเลิกเหล้า

- ลงทะเบียนประวัติส่วนตัวและวัตถุประสงค์ที่ต้องการปรึกษา โดยข้อมูลจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการเก็บข้อมูลในเชิงสถิติของการเข้ารับบริการเท่านั้น

- เช็กอาการติดสุรา ผ่านแบบประเมินสอบถาม ระบบจะแสดงข้อมูลความเสี่ยงในการดื่ม และรายละเอียดการปฏิบัติตัวต่าง ๆ

- บันทึกการดื่มย้อนหลัง เพื่อประเมินปริมาณการดื่ม พร้อมให้คำแนะนําระดับการดื่มที่ไม่ทำให้เกิดปัญหา

- วางแผนการดื่มที่เหมาะสม มีเมนูคำนวณระดับแอลกอฮอล์ ให้ข้อมูลระยะเวลาการขับแอลกอฮอล์ออกจากร่างกาย ข้อมูลจำนวนชั่วโมงที่มีค่าแอลกอฮอล์อยู่ในร่างกาย

- ศึกษาความรู้และรับข้อมูลเกี่ยวกับโรงพยาบาลที่ให้คำปรึกษาและบําบัด พร้อมช่องทางการติดต่อ

          ในโลกที่นวัตกรรมทางเทคโนโลยีเข้ามาช่วยเปลี่ยนแปลงชีวิตให้ดีขึ้นได้ “น้องตั้งใจ” เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างที่ชัดเจน หากคุณพร้อมที่จะอำลาการดื่มแอลกอฮอล์ “น้องตั้งใจ” พร้อมที่จะก้าวไปกับคุณ

 

อ้างอิง

PPTV Online, ส่องสถิติแอลกอฮอล์ย้อนหลัง หลังไทยปลดล็อกสุราพื้นบ้าน, 2 พฤศจิกายน 2565,

https://www.pptvhd36.com/health/news/2229

สำนักข่าวทูเดย์, รู้จัก “น้องตั้งใจ” เทคโนโลยี CHAT BOT ผู้ช่วยแสนดีของคนอยากเลิกเหล้า, 29 มิถุนายน

2566, https://workpointtoday.com/thaihealth-chat-bot/

จดหมายข่าวชุมชนคนรักสุขภาพ ฉบับสร้างสุข ประจำเดือนกรกฎาคม 2566 สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ, น้องตั้งใจ CHATBOT ผู้ช่วยคนอยากเลิกเหล้า, 6 กรกฎาคม 2566, https://www.thaihealth.or.th/e-book/จดหมายข่าวชุมชนคนรักส-147/

งานบทความที่กำลังเป็นที่ได้รับความสนใจ

‘หนองสนิทโมเดล’ต้นแบบชุมชนเข้มแข็ง ก้าวสู่ความมั่นคงทางอาหารอย่างยั่งยืน
1708931705.jpg

Super Admin ID1

‘หนองสนิทโมเดล’ต้นแบบชุมชนเข้มแข็ง ก้าวสู่ความมั่นคงทางอาหารอย่างยั่งย...

รู้เท่าทัน ‘ไข้เลือดออก’ ภัยร้ายคุกคามชีวิต
1708931705.jpg

Super Admin ID1

รู้เท่าทัน ‘ไข้เลือดออก’ ภัยร้ายคุกคามชีวิต

ส่วนที่ 3 บริบทแวดล้อมและปัจจัยเอื้อ เครื่องมือ/สื่อในการสร้างเสริมสุขภาวะด้านความปลอดภัยทางถนน
1708932589.JPG

Writer Don ID2

ส่วนที่ 3 บริบทแวดล้อมและปัจจัยเอื้อ เครื่องมือ/สื่อในการสร้างเสริมสุข...

ขยับตัวเพื่อสุขภาพ เด็กไทยเอาชนะพฤติกรรมเนือยนิ่งและบอกลาโรคอ้วน
1708931705.jpg

Super Admin ID1

ขยับตัวเพื่อสุขภาพ เด็กไทยเอาชนะพฤติกรรมเนือยนิ่งและบอกลาโรคอ้วน

Here to heal ...พื้นที่แห่งการดูแลจิตใจใกล้ตัว
1717644549.jpg

เบนจี้ ชลพรรษ

Here to heal ...พื้นที่แห่งการดูแลจิตใจใกล้ตัว

งานบทความที่เกี่ยวข้อง

surachet@thaihealth.or.th

การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ยังคงเป็นปัญหาท้าทายที่สำคัญของประเทศไทย ท่ามกลางการต่อสู้อันยาวนานนี้ หนึ่งในสัญญาณแห่งความหวังที่จะสนับสนุนให้ประชากรเลิกสุราได้ คือ การมีส่วนร่วมของชุมชน
จากรายงานภาระโรคและการบาดเจ็บของประชากรไทย ปี 2557 พบว่า การเสพติดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นสาเหตุลำดับที่ 5 ของการสูญเสียปีสุขภาวะ (DALYs) ในเพศชาย คิดเป็นร้อยละ 4.5 และเป็นสาเหตุลำดับที่ 1 ของการสูญเสียปีสุขภาวะจากภาวะบกพร่องทางสุขภาพ (YLDs) ในเพศชาย คิดเป็นร้อยละ 13.1 และเป็นสาเหตุลำดับที่ 12 ในเพศหญิง คิดเป็นร้อยละ 1.7 


ในการสำรวจพฤติกรรมการสูบบุหรี่และการดื่มสุราของประชากร ปี 2560 พบว่า ประชากรอายุ 15 ปีขึ้นไป จำนวน 55.9 ล้านคน ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ประมาณ 10.7 ล้านคน กลุ่มอายุ 25-44 ปี มีอัตราการดื่มสุราสูงสุด ร้อยละ 36.0
ผลการสำรวจระบาดวิทยาสุขภาพจิตของคนไทยระดับชาติ ปี 2556 พบว่า คนไทยอายุ 18 ปีขึ้นไปที่มีความผิดปกติของพฤติกรรมการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 2.7 ล้านคน แต่เข้ารับบริการสุขภาพเพียงร้อยละ 1.6 และในปี 2563 จากรายงานกระทรวงสาธารณสุข พบว่า ผู้มีปัญหาจากการดื่มสุราเข้ารับการบำบัดในสถานบริการสุขภาพเพียงร้อยละ 9.47

ด้วยสถานการณ์ที่เป็นอยู่นี้มีความจำเป็นต้องดำเนินมาตรการเพื่อสร้างแรงจูงใจให้มีการบำบัดฟื้นฟูและเลิกดื่มแอลกอฮอล์อย่างจริงจัง โดยดึงชุมชนเข้ามามีบทบาทสำคัญ
สมาคมฮักชุมชน โดยการสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ  (สสส.) ได้จัดทำโครงการเพื่อส่งเสริมการลด ละ เลิก การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เน้นการทำงานผ่านชุมชนและวัด ซึ่งใกล้ชิดกับกลุ่มเป้าหมาย โดยถือเอาช่วงเข้าพรรษา 3 เดือน เป็นจุดเริ่มต้น
เป้าหมายเพื่อให้เป็นกลไกขับเคลื่อนโดยที่คนในชุมชนซึ่งเข้าใจปัญหาได้เข้ามามีส่วนร่วม ด้วยการให้ความรู้ ทักษะ เครื่องมือในการดูแลผู้มีปัญหาสุรา และสามารถติดตามผลได้ นอกจากช่วยปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการดื่มแล้ว ยังเป็นการสร้างสัมพันธภาพที่ดีกับครอบครัวและชุมชน ทำให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นด้วย











โครงการมี 2 รูปแบบคือ “รูปแบบธรรมนำทาง” เป็นกิจกรรมในวัดที่มีพระสงฆ์ช่วยสร้างสติเสริมปัญญา ควบคู่ไปกับการให้ความรู้จากบุคลากรสุขภาพ พร้อมมีชุมชนและครอบครัวร่วมสนับสนุน
ส่วน “รูปแบบกลุ่มฮักครอบครัว” เป็นการทำกิจกรรมกลุ่ม โดยผู้มีปัญหาสุราและสมาชิกในครอบครัวต้องเข้าร่วมทำกิจกรรมแลกเปลี่ยนประสบการณ์และมีการติดตามผล
ทั้ง 2 รูปแบบใช้เวลา 12 เดือน ระหว่างนั้นจะมีการติดตาม การฝึกพัฒนาทักษะให้อาชีพสร้างรายได้ เพื่อให้เลิกสุราได้อย่างยั่งยืน
หนึ่งในพื้นที่ต้นแบบซึ่งประสบความสำเร็จจากการดูแลผู้มีปัญหาสุราโดยชุมชนคือ เทศบาลตำบลสบเตี๊ยะ อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ โดยมีพื้นที่นำร่องใน 8 หมู่บ้านของตำบลสบเตี๊ยะซึ่งเป็นรูปแบบกลุ่มฮักครอบครัว หลังจากดำเนินการมา 2 ปี ได้มีการอบรมพัฒนาทักษะคนในพื้นที่ 124 คน ให้มีความรู้ด้านบริหารจัดการและการจัดกิจกรรมกลุ่มฮักครอบครัว และบำบัดการเลิกเหล้า



ในจำนวนนี้ผู้มีปัญหาจากการดื่มสุราที่มีแนวโน้มดื่มจนทำให้เกิดปัญหากับตนเอง ครอบครัว และชุมชน เข้าร่วมจำนวน 55 คน สามารถปรับพฤติกรรมจนเลิกดื่มสำเร็จ 12 คน (ร้อยละ 22) ลดการดื่มลง 38 คน (ร้อยละ 69) ดื่มในระดับเดิม 4 คน (ร้อยละ 7) และเสียชีวิตด้วยโรคประจำตัว 1 คน
ผู้มีปัญหาสุราส่วนใหญ่ที่สามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรม โดยลดการดื่มสุราลงได้ จะมีสุขภาพดีขึ้น ได้รับโอกาสการจ้างงาน มีความเข้าใจกันในครอบครัวมากขึ้น และเข้าร่วมกิจกรรมในชุมชนมากขึ้น
จากผลสำเร็จของการดำเนินโครงการ ทำให้เทศบาลตำบลสบเตี๊ยะมีศักยภาพพร้อมเป็นพื้นที่ต้นแบบชุมชนสุขภาวะและจะมุ่งขยายให้เกิดพื้นที่ต้นแบบในทุกภูมิภาคต่อไป