0

0

บทนำ

Highlight

• จากการสํารวจของ WHO พบว่า ในแต่ละปีมีผู้ฆ่าตัวตายสำเร็จมากกว่า 1 ล้านคน หรือทุก ๆ 40 วินาที จะมีผู้ฆ่าตัวตายสำเร็จ 1 คน โดยในสหรัฐอเมริกาพบว่า มีวัยรุ่นหญิงร้อยละ 57 กำลังประสบกับความรุนแรง ความโศกเศร้า และความเสี่ยงในการฆ่าตัวตาย ขณะที่วัยรุ่นชายอยู่ที่ร้อยละ 29

• การฆ่าตัวตายเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 3 ของวัยรุ่นไทย และจากการสำรวจ เมื่อปี 2564 พบว่า ร้อยละ 17.6 ของวัยรุ่นกลุ่มอายุ 13-17 ปี มีความคิดที่จะฆ่าตัวตาย

• ข้อมูลสถาบันสุขภาพแห่งชาติ (สหรัฐฯ) ระบุว่า มากกว่าร้อยละ 90 ของวัยรุ่นที่เสียชีวิตด้วยการฆ่าตัวตายได้รับการวินิจฉัยว่า เป็นโรคทางจิตเวชอย่างน้อย 1 โรค โดยทั่วไปคือ โรคซึมเศร้า ซึ่งถือเป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญที่สุดสำหรับการฆ่าตัวตายในหมู่วัยรุ่น

 

 

 

เป็นวัยรุ่นมันอาจจะยากและเจ็บปวด!

เพราะวัยรุ่นเป็นช่วงวัยที่พัฒนาการด้านต่าง ๆ เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ทั้งยังเป็นวัยที่เปราะบางทางอารมณ์

เมื่อต้องเผชิญกับปัญหาหลากหลายรอบตัว ทำให้บางครั้งวัยรุ่นเลือกจัดการปัญหาด้วยการฆ่าตัวตาย ซึ่งส่งผลต่อทั้งตัววัยรุ่น ครอบครัว สถานศึกษา และสังคม นำมาซึ่งความสูญเสียที่มิอาจจะประเมินค่าได้

ปัจจุบันปัญหาการฆ่าตัวตายในวัยรุ่นเพิ่มขึ้นอย่างมาก สังคมจึงต้องให้ความสำคัญอย่างจริงจังและเร่งดำเนินการเพื่อป้องกันการฆ่าตัวตาย โดยเฉพาะการดูแลสุขภาพจิตและเฝ้าระวังการเกิดภาวะซึมเศร้า

ฆ่าตัวตาย … สาเหตุการเสียชีวิตอันดับต้น ๆ ของวัยรุ่น

ทุก ๆ 40 วินาที มีหนึ่งชีวิตจากไปด้วยการฆ่าตัวตาย...ตามข้อมูลขององค์การอนามัยโลก (WHO)

ขณะที่ในประเทศไทย การฆ่าตัวตายเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 3 ของวัยรุ่น

เพื่อให้ผู้คนตระหนักถึงความสำคัญของปัญหาการฆ่าตัวตาย และรณรงค์เพื่อลดการสูญเสีย WHO ประกาศให้วันที่ 10 กันยายนของทุกปีเป็น “วันป้องกันการฆ่าตัวตายโลก” (World Suicide Prevention Day)

การฆ่าตัวตายหรือพยายามฆ่าตัวตายเป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญของโลก จากการสํารวจของ WHO พบว่า ในแต่ละปีมีผู้ฆ่าตัวตายสำเร็จเป็นจำนวนมากกว่า 1 ล้านคน หรือในทุก ๆ 40 วินาที จะมีผู้ฆ่าตัวตายสำเร็จ 1 คน

 

ในต่างประเทศเช่น สหรัฐอเมริกา จากรายงานของศูนย์ควบคุมโรคติดต่อสหรัฐอเมริกา (CDC) ที่ออกเผยแพร่ในปี 2566 ระบุว่า วัยรุ่นหญิงในสหรัฐฯ ร้อยละ 57 กำลังประสบกับความรุนแรง ความโศกเศร้า และความเสี่ยงในการฆ่าตัวตาย ซึ่งสูงเป็นประวัติการณ์ ขณะที่วัยรุ่นชายอยู่ที่ร้อยละ 29

วัยรุ่นหญิงในสหรัฐฯ เกือบ 1 ใน 3 (ร้อยละ 30) คิดจะฆ่าตัวตายอย่างจริงจัง เพิ่มขึ้นเกือบร้อยละ 60 จากทศวรรษที่แล้ว ร้อยละ 18 ประสบกับความรุนแรงทางเพศในปีที่ผ่านมา ร้อยละ 14 เคยถูกบังคับให้มีเพศสัมพันธ์

รายงานฉบับเดียวกันยังพบว่า นักเรียน LGBTQ+ มากกว่าครึ่ง (ร้อยละ 52) มีสุขภาพจิตย่ำแย่ และที่น่าเป็นห่วงคือร้อยละ 22 พยายามฆ่าตัวตายในปีที่ผ่านมา
 

 

เพื่อรับมือกับปัญหานี้ ได้มีการรณรงค์ให้โรงเรียนช่วยส่งเสริมสนับสนุนให้วัยรุ่นรู้ว่ามีคนรอบข้างห่วงใย รวมทั้งให้การศึกษาเสริมทักษะที่จำเป็น ช่วยเชื่อมต่อวัยรุ่นกับเพื่อนร่วมชั้นและชุมชนผ่านชมรมในโรงเรียนและการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ในชุมชน เป็นต้น

 

ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ข้อมูลของปี 2559 พบว่า มีเด็กและเยาวชนในภูมิภาคนี้มีสถิติการฆ่าตัวตายต่อประชากร 100,000 คน สูงเป็นอันดับที่ 2 ของโลก โดยการฆ่าตัวตายเริ่มพบได้ในเด็กอายุตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไป

ในประเทศไทย จากรายงานที่ยูนิเซฟทำร่วมกับกรมสุขภาพจิต สถาบันวิจัยประชากรและสังคม และสถาบันเบอร์เน็ต ประเทศออสเตรเลียระบุว่า วัยรุ่นไทยอายุ 10-19 ปี ประมาณ 1 ใน 7 คน และเด็กไทยอายุ 5-9 ปี ประมาณ 1 ใน 14 คน มีความผิดปกติทางจิตประสาทและอารมณ์

ที่สำคัญคือ การฆ่าตัวตายเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 3 ของวัยรุ่นไทย และจากการสำรวจภาวะสุขภาพนักเรียนทั่วโลกในส่วนของประเทศไทย เมื่อปี 2564 (2021 Global School-based Student Health Survey) พบว่า ร้อยละ 17.6 ของวัยรุ่นอายุ 13-17 ปี มีความคิดที่จะฆ่าตัวตาย

ข้อมูลจากศูนย์ป้องกันการฆ่าตัวตายแห่งชาติ กรมสุขภาพจิต พ.ศ. 2560-2564  พบว่า อัตราจำนวนผู้ที่ฆ่าตัวตายสำเร็จและทำร้ายร่างกายตนเองในวัยเรียนและวัยทำงานตอนต้นหรือช่วงอายุ 15-34 ปี เพิ่มมากขึ้น โดยอัตราการฆ่าตัวตายสำเร็จ ในกลุ่มวัยเรียนอายุ 15-24 ปี ในปี 2563 มีอัตราการฆ่าตัวตายสำเร็จหรือเสียชีวิตอยู่ที่ 428 คน และปี 2564 เสียชีวิต 439 คน ส่วนในกลุ่มวัยทำงานตอนต้น อายุ 25-34 ปี  พบว่ามีอัตราการฆ่าตัวตายสำเร็จ ในปี 2563 จำนวน 896 คน และปี2564 จำนวน 956 คน

สาเหตุ ปัจจัยเสี่ยง และพฤติกรรมที่เกี่ยวข้อง

การฆ่าตัวตายหรือพยายามฆ่าตัวตายก่อให้เกิดความสูญเสียต่อครอบครัว สังคม และประเทศ หนึ่งในสาเหตุสำคัญที่เกี่ยวข้องเชิงลึกกับพฤติกรรมการฆ่าตัวตาย คือ โรคทางจิตเวช โดยเฉพาะโรคซึมเศร้า

ความเสี่ยงต่อพฤติกรรมการฆ่าตัวตายยังเกิดได้จากหลายปัจจัยและเกิดได้ตั้งแต่วัยเด็ก เช่น ไม่ได้รับความอบอุ่นเท่าที่ควร ผู้ปกครองเข้มงวดมากเกินไป รวมไปถึงบาดแผลทางจิตใจร้ายแรงอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นการถูกล่วงละเมิดทางเพศ การถูกทอดทิ้ง การถูกทำร้ายร่างกาย หรือครอบครัวไม่สมบูรณ์
 

 

สัญญาณของการมีความคิดหรือพยายามฆ่าตัวตายของวัยรุ่นสามารถสังเกตได้จากพฤติกรรม เช่น พูดหรือแสดงให้เห็นว่าตนเองไม่มีค่า ล้มเหลว ไม่สำเร็จ ท้อแท้ รู้สึกว่าตัวเองเป็นภาระ ไม่รู้จะอยู่ไปเพื่ออะไร สนใจข่าวการฆ่าตัวตายผิดปกติ ขาดความสนใจในตัวเอง ไม่ดูแลตัวเอง ชอบเก็บตัวตามลำพัง ไม่สนใจต่อสิ่งรอบข้าง ไม่สนุกกับสิ่งที่เคยชอบ บางคนอาจจะมีพฤติกรรมเสี่ยง เช่น ดื่มหนัก ขับรถโดยประมาท คิดถึงความตาย จัดการกับภาระสุดท้าย เป็นต้น 

ข้อมูลน่าสังเกตคือ 1 ใน 3 ของเด็กที่ฆ่าตัวตายสำเร็จเคยพยายามฆ่าตัวตายมาก่อน และเด็กที่พยายามฆ่าตัวตายเป็นกลุ่มซึ่งมีความเสี่ยงจะฆ่าตัวตายสำเร็จในอนาคต

ความสัมพันธ์ระหว่างซึมเศร้าและฆ่าตัวตาย

ปัจจุบันภาวะซึมเศร้ากําลังเป็นปัญหาใหญ่ของเยาวชนทั่วโลก จากข้อมูลสถาบันสุขภาพแห่งชาติ (สหรัฐฯ) ระบุว่า มากกว่าร้อยละ 90 ของวัยรุ่นที่เสียชีวิตด้วยการฆ่าตัวตายได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคทางจิตเวชอย่างน้อย 1 โรค โดยทั่วไปคือ โรคซึมเศร้า ซึ่งถือเป็นปัจจัยเสี่ยงทางจิตเวชที่สำคัญที่สุดสำหรับการฆ่าตัวตายในหมู่วัยรุ่น

ภาวะซึมเศร้าส่งผลต่อการคิด ความรู้สึก และพฤติกรรม ผู้ที่มีภาวะซึมเศร้าจะเห็นคุณค่าในตนเองในระดับต่ำ มีความเปราะบางทางอารมณ์สูง มีความยากลำบากในการจัดการกับอารมณ์ของตนเอง เมื่อเจอเหตุการณ์ที่เป็นสิ่งกระตุ้นจึงนําไปสู่การหาทางออกด้วยการฆ่าตัวตาย

ปัจจัยเสี่ยงต่อภาวะซึมเศร้าของเด็กและเยาวชนไทย อย่างเช่น ใกล้ชิดกับความสูญเสีย เห็นข่าวการฆ่าตัวตายหรือการทำร้ายตัวเองซ้ำ ๆ ทำให้คนที่มีภาวะซึมเศร้าซึ่งมีความเปราะบางทางอารมณ์อาจเลียนแบบ หรือเป็นการตอกย้ำความรู้สึกนําไปสู่ความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะซึมเศร้า การเน้นผลสัมฤทธิ์และการเปรียบเทียบแข่งขันที่มากเกินไป รวมทั้งวิถีชีวิตของเด็กติดจอหรือเด็กในเมืองที่ต้องเร่งรีบ ใช้เวลาอยู่กับหน้าจอ นอนดึก ตื่นเช้า พักผ่อนน้อยก็เสี่ยงต่อภาวะซึมเศร้าได้

 

พฤติกรรมเสี่ยงซึ่งเป็นสัญญาณเตือนภาวะซึมเศร้าในเด็กและวัยรุ่น เช่น

- เบื่อ ไม่สนใจ ไม่อยากทำอะไร

- ไม่สบายใจ ซึมเศร้า ท้อแท้

- หลับยาก หลับ ๆ ตื่น ๆ หรือหลับมากไป

- เหนื่อยง่าย ไม่ค่อยมีแรง

- เบื่ออาหารหรือกินมากไป

- รู้สึกไม่ดีกับตัวเอง

- สมาธิไม่ดี

- พูดหรือทำอะไรช้าลงจนสังเกตได้

- คิดทำร้ายตนเอง

 

หากมีอาการเหล่านั้น 5 อาการ หรือมากกว่า และมีอาการมากกว่า 2 สัปดาห์ขึ้นไป โดยมีอาการเหล่านี้อยู่เกือบตลอดเวลาหรือแทบทุกวัน หรือสงสัยว่าเป็น ควรรีบพบแพทย์

สิ่งที่ผู้ปกครองสามารถทำได้เพื่อช่วยเหลือผู้ที่มีภาวะซึมเศร้าคือ ระวังคำพูดที่มีความหมายในทางลบ ใส่ใจรับฟัง ให้กำลังใจ ลดความตึงเครียด ทำกิจกรรมร่วมกัน สนับสนุนให้รับการรักษา และมีส่วนร่วมในการรักษา

ความสำคัญของสุขภาพจิตและการป้องกัน

ปัญหาการฆ่าตัวตายในเด็กและวัยรุ่น รวมทั้งปัญหาสุขภาพจิต เช่น ภาวะซึมเศร้า นับวันจะทวีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้น เพื่อป้องกันการสูญเสียที่จะเกิดขึ้น จึงควรได้รับความสนใจหรือให้ความสำคัญมากขึ้น โดยเฉพาะหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องกำหนดวิสัยทัศน์และแผนงานร่วมกันเพื่อแก้ไข

ที่ผ่านมา ทางกรมสุขภาพจิตจัดตั้งโรงพยาบาลคู่เครือข่ายพื้นที่กับมหาวิทยาลัยเพื่อร่วมดูแลเด็กวัยเรียนในสถานศึกษา ช่วยเหลือส่งต่อเด็กที่มีปัญหาสภาพจิตใจมายังสถานพยาบาล ทั้งยังประสานสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เพิ่มขยายสิทธิประโยชน์ในการรักษาโรคจิตเภทให้ครอบคลุมมากขึ้น

การดูแลและป้องกันปัญหาการฆ่าตัวตายในวัยรุ่นเป็นหน้าที่ของครอบครัว เพื่อน โรงเรียน มหาวิทยาลัย ฯลฯ ในการสร้างเสริมสุขภาพจิตที่ดีและช่วยสร้างภูมิคุ้มกันให้กับเด็กและวัยรุ่นสามารถก้าวข้ามผ่านปัญหาและอุปสรรค

ควรปลูกฝังกรอบการคิดแบบเติบโต (Growth Mindset) เพื่อฝึกให้มองความล้มเหลวเป็นโอกาสที่จะได้เรียนรู้และพัฒนาตนเอง การไม่คิดเชิงลบหรือยึดติดโทษตนเองเมื่อเจอกับความล้มเหลว รวมทั้งเข้าใจว่าเด็กและเยาวชนแต่ละคนมีความแตกต่างหลากหลาย อาจจะมีการตอบสนองหรือรับมือกับปัญหาคล้ายกันในวิธีการที่แตกต่างกัน

ครอบครัวควรใช้เวลาคุณภาพร่วมกัน การรับฟังและช่วยทำให้ผู้ที่มีภาวะซึมเศร้าสามารถรับรู้ถึงคุณค่าของตนเองในการมีชีวิตอยู่ได้ ขณะที่สถานศึกษาช่วยสร้างบรรยากาศในการเรียนรู้ ส่งเสริมให้เด็กรู้สึกปลอดภัยและได้รับการยอมรับ ขณะเดียวกันสื่อก็ควรมีส่วนร่วมในการเสริมสร้างสังคมด้วยเช่นกัน

 

 

จากรายงานของศูนย์ควบคุมโรคติดต่อสหรัฐอเมริกา (CDC) ระบุว่า เพื่อรับมือกับปัญหานี้ได้มีการรณรงค์ให้โรงเรียนช่วยสนับสนุนส่งเสริมให้วัยรุ่นรู้ว่า มีคนรอบข้างห่วงใย รวมทั้งให้การศึกษาเสริมทักษะที่จำเป็นให้กับวัยรุ่น ช่วยเชื่อมต่อวัยรุ่นกับเพื่อนร่วมชั้นและชุมชนผ่านชมรมในโรงเรียนและการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ในชุมชน เป็นต้น

ขณะพิจารณาสถิติอันน่าตกใจของการฆ่าตัวตายในหมู่วัยรุ่นที่เพิ่มขึ้น

สิ่งสำคัญซึ่งต้องระลึกถึงคือ ทุกคนมีบทบาทในการสนับสนุนสุขภาพจิตและความเป็นอยู่ที่ดีของเยาวชน

พวกเราสามารถสร้างโลกที่วัยรุ่นรับรู้ได้ว่า ชีวิตของพวกเขามีค่าและไม่ได้อยู่อย่างโดดเดี่ยว ทุกคนมีส่วนร่วมในการป้องกันการสูญเสียชีวิตอันน่าเศร้าจากการฆ่าตัวตายได้

อ้างอิง

https://www.cdc.gov/media/releases/2023/p0213-yrbs.html

https://www.unicef.org/thailand/th/press-releases/ยูนิเซฟและกรมสุขภาพจิตชี้สุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นไทยน่าเป็นห่วง

https://www.bangkokbiznews.com/health/social/1025931

www.hiso.or.th/hiso/picture/reportHealth/ThaiHealth2020/thai2020_18.pdf

https://suicide.dmh.go.th/news/view.asp?id=78

https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC3134404/

งานบทความที่กำลังเป็นที่ได้รับความสนใจ

ดนตรีบำบัด: เครื่องมือทรงพลังเชิงบวก ช่วยรักษาอาการป่วยทางกายและจิตใจ
1708931705.jpg

Super Admin ID1

ดนตรีบำบัด: เครื่องมือทรงพลังเชิงบวก ช่วยรักษาอาการป่วยทางกายและจิตใจ

ห้องปลอดฝุ่น ลดเสี่ยง PM2.5
1708931705.jpg

Super Admin ID1

ห้องปลอดฝุ่น ลดเสี่ยง PM2.5

ส่วนที่ 1 : สถานการณ์สุขภาพจิตระดับประเทศ และยุทธศาสตร์ขับเคลื่อน ของ สสส. และภาคี
defaultuser.png

Admin ID3

ส่วนที่ 1 : สถานการณ์สุขภาพจิตระดับประเทศ และยุทธศาสตร์ขับเคลื่อน ของ...

ยอมรับ! ต่างรุ่นต่างประสบการณ์ ช่วยลดความขัดแย้งในครอบครัว
1708931705.jpg

Super Admin ID1

ยอมรับ! ต่างรุ่นต่างประสบการณ์ ช่วยลดความขัดแย้งในครอบครัว

เรื่องกินเรื่องใหญ่…กว่าที่คิด  พฤติกรรมกินขาด ๆ เกิน ๆ โรคร้ายจะมาเยือน
1708931705.jpg

Super Admin ID1

เรื่องกินเรื่องใหญ่…กว่าที่คิด พฤติกรรมกินขาด ๆ เกิน ๆ โรคร้ายจะมาเยื...

งานบทความที่เกี่ยวข้อง

admin

อารมณ์  หมายถึง การแสดงออกของภาวะจิตใจที่ได้รับการกระทบหรือกระตุ้นให้เกิดมีการแสดงออกต่อสิ่งที่มากระตุ้น  อารมณ์สามารถจำแนกออกได้ 2 ประเภทใหญ่ คือ

1. อารมณ์สุข   คือ อารมณ์ที่เกิดขึ้นจากความสบายใจ หรือ ได้รับความสมหวัง

2. อารมณ์ทุกข์  คือ อารมณ์ที่เกิดขึ้นจากความไม่สบายใจ หรือ ได้รับความไม่สมหวัง

ผลแห่งอารมณ์ ไม่ว่าอารมณ์สุข หรือ อารมณ์ทุกข์ จะทำให้ร่างกายเปลี่ยนแปลงไปจากปกติและจะมีการแสดงออกของพฤติกรรมและความรู้สึกตามอารมณ์ที่เกิดขึ้น