0

0

บทนำ

Highlight:
• มีข้อมูลระบุว่า ประมาณร้อยละ 11 ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั่วโลกเกิดจากการท่องเที่ยว และคาดว่าจะเพิ่มเป็นสองเท่าภายในปี 2593 หากไม่มีการควบคุมการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจะทำให้ภาวะโลกร้อนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้เกิดรูปแบบสภาพอากาศที่รุนแรงขึ้นอย่างเห็นได้ชัด
• ปี 2566 ในหลายภูมิภาคของโลกเผชิญกับผลของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ อย่างเช่น ยุโรปพบกับวิกฤตคลื่นความร้อนและภัยแล้งรุนแรง ด้วยปริมาณฝนและหิมะน้อยกว่าปกติ ตามมาด้วยการขาดแคลนน้ำทำให้การเกษตรกรรมได้รับผลกระทบ ทั้งในฝรั่งเศส อิตาลี สเปน อังกฤษ ฯลฯ
• สสส. และภาคีฯ ร่วมสร้างต้นแบบการท่องเที่ยวสีเขียวเพื่อยกระดับการท่องเที่ยวในพื้นที่อุทยานแห่งชาติ การท่องเที่ยวคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ โดยมีพื้นที่อุทยานฯ สีเขียวต้นแบบ 3 แห่ง คือ อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ อุทยานแห่งชาติแจ้ซ้อน และอุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้า


การท่องเที่ยวมีส่วนทำให้เกิดก๊าซเรือนกระจกซึ่งเป็นต้นเหตุของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่นับวันจะมีผลกระทบรุนแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ แนวความคิดเรื่องการท่องเที่ยวคาร์บอนต่ำจึงเกิดขึ้นมา ในประเทศไทย อุทยานแห่งชาติร่วมกับสสส.และเครือข่ายได้ทำงานร่วมกัน เพื่อให้ข้อมูลความรู้และสร้างความตระหนักกับนักท่องเที่ยว รวมถึงผู้ประกอบการ ชุมชนท้องถิ่น และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องอื่น ๆ โดยมีเป้าหมายนำไปสู่การท่องเที่ยวที่ยั่งยืนและปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์
…..

ในขณะที่การท่องเที่ยวซึ่งเป็นกิจกรรมยอดนิยมของคนทั่วโลกเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมก็ตามมาเช่นเดียวกัน เพราะการท่องเที่ยวมีส่วนอย่างมากในการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งเป็นสาเหตุทำให้อุณหภูมิของโลกสูงขึ้น ส่งผลให้สภาพภูมิอากาศของโลกมีการเปลี่ยนแปลง เห็นได้จากเกิดคลื่นความร้อน ภัยแล้ง การขาดแคลนน้ำ ไฟป่า น้ำท่วม ฯลฯ ซึ่งนับวันจะเกิดถี่ขึ้นและรุนแรงมากขึ้น
เพื่อร่วมรับผิดชอบและแก้ไข แนวความคิดเรื่องการท่องเที่ยวสีเขียวจึงเกิดขึ้นมา เปรียบเป็นสัญญาณแห่งความหวัง ซึ่งต้องลงมือทำตอนนี้!
 

ปี 2566 กับปรากฏการณ์โลกเดือด

หากย้อนกลับไปดูจะพบว่า ในปี 2566 หลายภูมิภาคของโลกเผชิญกับผลของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างรุนแรง อย่างเช่น ยุโรปพบกับวิกฤตคลื่นความร้อนและภัยแล้ง ด้วยปริมาณฝนและหิมะน้อยกว่าปกติ ตามมาด้วยการขาดแคลนน้ำทำให้การเกษตรกรรมได้รับผลกระทบ ทั้งในฝรั่งเศส อิตาลี สเปน อังกฤษ ฯลฯ
ภัยแล้งรุนแรงทำให้เกิดโศกนาฎกรรมในบราซิล เมื่อโลมาแม่น้ำแอมะซอนตายกะทันหันมากถึง 120 ตัว เกิดเป็นความกังวลเกี่ยวกับการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ
ภูมิภาคอเมริกาเหนือและเอเชียก็ได้รับผลกระทบกับคลื่นความร้อนและภัยแล้งรุนแรง ทั้งยังเกิดวิกฤตไฟป่าในหลายพื้นที่ทั่วโลก
ลิเบียถูกพายุเฮอริเคนทำลายล้าง เกิดน้ำท่วมครั้งใหญ่ในบราซิล ทวีปอเมริกาต้องเผชิญกับภัยพิบัติที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน เช่นเดียวกับที่บางส่วนของเอเชียประสบภัยพายุไต้ฝุ่นรุนแรง ฯลฯ
ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า ตอนนี้เราเลยจุด “โลกร้อน” ไปสู่ยุค “โลกเดือด” (Global Boiling) แล้ว (1)


ที่สำคัญคือ ปี 2566 สร้างสถิติเป็นปีที่ร้อนที่สุด โดยอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกเพิ่มขึ้น 1.4 องศาเซลเซียส สูงที่สุดเป็นประวัติการณ์
ปรากฏการณ์เอลนีโญมีแนวโน้มจะทำให้การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศหนักหน่วงเลวร้ายยิ่งขึ้นในปี 2567 น้ำแข็งขั้วโลกละลายต่อเนื่องทำให้ระดับน้ำทะเลเพิ่มขึ้นกว่า 2 เท่า
ขณะที่ระดับก๊าซเรือนกระจกยังเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ระดับคาร์บอนไดออกไซด์สูงกว่ายุคก่อนอุตสาหกรรมถึงร้อยละ 50 อุณหภูมิโลกจะยังคงสูงขึ้นต่อไปอีกหลายปีต่อจากนี้ (2)
เหตุการณ์ภัยพิบัติทางธรรมชาติหรือสภาพภูมิอากาศสุดขั้วที่เกิดขึ้นถือเป็นสัญญาณเตือนถึงความจำเป็นในการดำเนินการอย่างเร่งด่วน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการจัดการกับกิจกรรมของมนุษย์ที่ก่อให้เกิดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก



 

อุทยานฯกับการท่องเที่ยวคาร์บอนต่ำ

มีข้อมูลระบุว่า ประมาณร้อยละ 11 ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั่วโลกเกิดจากการท่องเที่ยว และคาดว่าจะเพิ่มเป็นสองเท่าภายในปี 2593 หากไม่มีการควบคุมการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจะทำให้ภาวะโลกร้อนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้เกิดรูปแบบสภาพอากาศที่รุนแรงขึ้นอย่างเห็นได้ชัด (3)
เทรนด์การท่องเที่ยวสีเขียวจึงมีบทบาทสำคัญที่จะช่วยแก้ปัญหา โดยเฉพาะการท่องเที่ยวคาร์บอนต่ำ (Low Carbon Tourism) ซึ่งเป็นการท่องเที่ยวที่ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้น้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ โดยมีปลายทางไปสู่การท่องเที่ยวปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ (Carbon Neutral Tourism)
อุทยานแห่งชาติซึ่งเป็นเขตการอนุรักษ์ธรรมชาติที่เปิดให้นักท่องเที่ยวสามารถเข้าชมเพื่อการศึกษาค้นคว้าและพักผ่อน เป็นหนึ่งหน่วยงานที่ร่วมส่งเสริมสนับสนุนแนวคิดเรื่องการท่องเที่ยวคาร์บอนต่ำ โดยการให้ข้อมูลเพื่อสร้างความตระหนักรู้ให้กับนักท่องเที่ยวว่า ทุกการกระทำไม่ว่าจะเล็กน้อยเพียงใดก็ตามล้วนมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม



การให้ข้อมูลกับนักท่องเที่ยวได้ทราบถึงปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในระหว่างกิจกรรมการท่องเที่ยวจะช่วยเพิ่มความตระหนักรู้และความเต็มใจที่จะมีส่วนร่วมในการท่องเที่ยวแบบคาร์บอนต่ำ
ทางอุทยานแห่งชาติจึงได้เผยแพร่ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมการท่องเที่ยวต่าง ๆ เช่น
• นักท่องเที่ยว 1 คน มีการผลิตน้ำเสีย 0.638 ลบ.ม./คืน เกิดคาร์บอน 0.03 kgCO2eq (กิโลกรัมคาร์บอนไดออกไซด์) ต่อคน
• นักท่องเที่ยว 1 คน มีการใช้ไฟฟ้า 0.416 หน่วย/คืน เกิดคาร์บอน 0.208 kgCO2eq/คน
• นักท่องเที่ยว 1 คน ทานอาหาร 3 มื้อ เกิดขยะ 1.8 กิโลกรัม/คน เกิดคาร์บอน 0.63 kgCO2eq/คน
ในการบริโภคชนิดอาหารต่าง ๆ ทำให้เกิดคาร์บอนต่างกัน เช่น บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป 200-270 gCO2eq, อาหารสำเร็จรูป 678-789 gCO2eq, ขนมขบเคี้ยว 160-221 gCO2eq, น้ำอัดลมกระป๋อง 159-182 gCO2eq เป็นต้น
ในการพักค้างในพื้นที่อุทยานฯ นักท่องเที่ยวแต่ละคนปล่อยคาร์บอนจากกิจกรรมต่าง ๆ เช่น การใช้หลอดไฟ LED 3 ชั่วโมง 0.036 kgCO2eq, การใช้กาต้มน้ำร้อน 1 ชั่วโมง 0.091 kgCO2eq, เครื่องทำน้ำอุ่น ชนิดใช้แก๊ส 0.42 kgCO2eq, การซักผ้าปูที่นอน ผ้าห่ม ปลอกหมอน 0.78 kgCO2eq, การกดชักโครก 1 ครั้ง 0.84 kgCO2eq, การเปิดน้ำ 1 นาที ประมาณ 10 ลิตรต่อครั้ง 0.84 kgCO2eq เป็นต้น
เพื่อลดรอยเท้าคาร์บอนจากการท่องเที่ยวให้เบาบางลง มีการแนะนำให้เปลี่ยนมาใช้ผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เช่น การใช้ถุงผ้าแทนถุงพลาสติก จะสามารถช่วยลดคาร์บอนได้ 0.2 kgCO2eq/ถุง การใช้ผลิตภัณฑ์ใช้ช้ำ เช่น แก้วน้ำ ขวดพลาสติก หลอด จะช่วยลดคาร์บอนได้ 0.98 kgCO2eq/ขวด ฯลฯ
นอกจากนี้การแยกขยะและนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ เช่น นำเศษอาหารมาทำปุ๋ยหมักหรือเลี้ยงสัตว์เป็นทางหนึ่งที่สามารถช่วยได้เช่นกัน (4)
รวมพลังเพื่อการท่องเที่ยวยั่งยืน
ความสำเร็จของการท่องเที่ยวคาร์บอนต่ำต้องการความร่วมมือจากหลายฝ่าย รวมถึงภาคเอกชนผู้ประกอบการท่องเที่ยว เช่น บริษัททัวร์ โรงแรม รีสอร์ท ร้านอาหาร รวมไปถึงชุมชนท้องถิ่น หน่วยงานภาครัฐและองค์กรต่าง ๆ
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และภาคีเครือข่ายได้ร่วมผลักดันการท่องเที่ยวคุณภาพที่ควบคู่ไปกับการดูแลสิ่งแวดล้อมและสุขภาพที่ยั่งยืน
สสส. และภาคีฯ ร่วมสร้างต้นแบบการท่องเที่ยวสีเขียวเพื่อยกระดับการท่องเที่ยวในพื้นที่อุทยานแห่งชาติ การท่องเที่ยวคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ โดยมีพื้นที่อุทยานแห่งชาติสีเขียวต้นแบบ 3 แห่ง คือ อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ อุทยานแห่งชาติแจ้ซ้อน และอุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้า รวมทั้งมีพื้นที่เครือข่ายอุทยานแห่งชาติสีเขียวอีก 9 แห่ง เช่น อุทยานแห่งชาติแม่ตะไคร้ อุทยานแห่งชาติเขาค้อ เป็นต้น

สำหรับอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ มีพื้นที่ทั้งหมด 301,184 ไร่ มีปริมาณการกักเก็บคาร์บอนในพื้นที่ 269,539 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า (tCO2eq/ปี) มีสถิตินักท่องเที่ยวที่มาเยือนในปีงบประมาณ 2565 ถึง 439,165 คน ต้องการพื้นที่ป่าไม้สำหรับใช้ดูดซับก๊าซเรือนกระจก 6,037 tCO2eq หรือ 38,000 ไร่
ในการพัฒนาการท่องเที่ยวและวัฒนธรรมชุมชนสังคมคาร์บอนต่ำ อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์มีการประเมินคาร์บอนฟุตพริ้นท์ขององค์กร หาแนวทางการลดปริมาณการปลดปล่อยคาร์บอน ให้ความรู้แก่เจ้าหน้าที่พัสดุเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างสีเขียว (Green Procurement) การเลือกใช้วัสดุอุปกรณ์และทรัพยากรที่มีฉลากสิ่งแวดล้อม (Environmental Labels) การใช้ผลิตภัณฑ์สินค้าตะกร้าเขียว การคัดแยกขยะ ฯลฯ (5)
การให้ความรู้กับผู้ประกอบการและชุมชนบริเวณอุทยานฯ ตั้งแต่การคัดแยกขยะ การบริหารจัดการนักท่องเที่ยว การคำนวณคาร์บอนเครดิต การจูงใจนักท่องเที่ยวด้วยส่วนลด การจัดทำเมนูอาหารคาร์บอนต่ำ (Sustainable Menu) เช่น การกินอาหารตามฤดูกาล วัตถุดิบหาง่ายในท้องถิ่น เป็นต้น
ความรู้ความเข้าใจทำให้เกิดการช่วยกันดูแลและบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ เพราะหากเกิดปัญหาสิ่งแวดล้อมขึ้นในพื้นที่อาจส่งผลต่อสุขภาพและเศรษฐกิจในพื้นที่ ที่สำคัญอาจทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวลดลงได้ (6)
อีกทั้งต้นแบบการท่องเที่ยวสีเขียวเพื่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ยังสามารถเป็นโมเดลที่นำไปพัฒนาในพื้นที่ท่องเที่ยวอื่น ๆ ได้


เพื่อให้กิจกรรมสุดโปรดของคนทั่วโลกคือ การท่องเที่ยว เป็นทั้งความเพลิดเพลิน ผ่อนคลาย มอบความสุข เปิดประสบการณ์ และสร้างความประทับใจ พร้อมกับเป็นการแสดงความรับผิดชอบในการปกป้องโลกที่เราเรียกว่า “บ้าน” ด้วย กิจกรรมที่เกิดจากการท่องเที่ยวจะต้องแบ่งเบาหรือไม่เป็นต้นเหตุในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกซึ่งเป็นสาเหตุทำให้อุณหภูมิของโลกสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง
 

อ้างอิง

(1) Earth.org, The State of the Global Climate in 2023: A Recap, 21 ธันวาคม 2566, https://earth.org/the-state-of-the-global-climate-in-2023-a-recap/
(2) Thestandard.co, ปี 2023 อุณหภูมิโลกเพิ่มถึงจุดที่ไม่เคยเป็นมาก่อน ข่าวร้ายคือปี 2024 ภาวะโลกร้อนมีแนวโน้มเลวร้ายลงอีก, 5 ธันวาคม 2566, https://thestandard.co/global-temp-reach-unprecedented-levels-in-2023/
(3) World Travel & Tourism Council, A NET ZERO ROADMAP FOR TRAVEL & TOURISM, พฤศจิกายน 2564, https://wttc.org/Portals/0/Documents/Reports/2021/WTTC_Net_Zero_Roadmap.pdf
(4) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.), จดหมายข่าวชุมชนคนรักสุขภาพฉบับสร้างสุข ฉบับที่ 264, ตุลาคม 2566, www.thaihealth.or.th/wp-content/uploads/2023/10/จดหมายข่าวชุมชนคนรักสุขภาพ-ฉบับสร้างสุข-ประจำเดือนตุลาคม-2566.pdf
(5) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.), สสส. สานพลังภาคีฯ ผลักดัน “ท่องเที่ยวคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์” กระตุ้นการท่องเที่ยวเชิงคุณภาพ ควบคู่สิ่งแวดล้อม-สุขภาพที่ยั่งยืน, 6 กันยายน 2566, https://www.thaihealth.or.th/สสส-สานพลังภาคีฯ-ผลักดั/
(6) Bangkokbiznews.com, รู้จัก 'การท่องเที่ยวคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์' กับอุทยานแห่งชาติ, 3 ตุลาคม 2566, https://www.bangkokbiznews.com/lifestyle/judprakai/1091720

 

งานบทความที่กำลังเป็นที่ได้รับความสนใจ

ทำความรู้จัก เพจ "สารส้ม" พื้นที่ปลอดภัย เสริมพลังเยาวชน ห่างยาเสพติด
1708931705.jpg

Super Admin ID1

ทำความรู้จัก เพจ "สารส้ม" พื้นที่ปลอดภัย เสริมพลังเยาวชน ห่างยาเสพติด

กินอาหารอย่างฉลาด…ห่างไกลโรค
defaultuser.png

Don Admin

กินอาหารอย่างฉลาด…ห่างไกลโรค

คลื่นความร้อน:  สัญญาณวิกฤติภูมิอากาศและภัยคุกคามสุขภาพ
1708931705.jpg

Super Admin ID1

คลื่นความร้อน: สัญญาณวิกฤติภูมิอากาศและภัยคุกคามสุขภาพ

เรื่องควรรู้ … รับมือวัยเกษียณ
1708931705.jpg

Super Admin ID1

เรื่องควรรู้ … รับมือวัยเกษียณ

ส่วนที่ 2 : กระบวนการ และกลไก สร้างเสริมสุขภาวะ เพื่อส่งเสริมจัดการแก้ไขปัจจัยเสี่ยงที่ส่งผลต่อสุขภาพจิต
defaultuser.png

Admin ID3

ส่วนที่ 2 : กระบวนการ และกลไก สร้างเสริมสุขภาวะ เพื่อส่งเสริมจัดการแก้...

งานบทความที่เกี่ยวข้อง

surachet@thaihealth.or.th

ประเทศไทยเข้าสู่ “ฤดูฝุ่น” อย่างเป็นทางการพร้อมกับการมาถึงของฤดูหนาว และ PM2.5 จะอยู่ยาวเรื่อยไปจนถึงฤดูร้อน
ช่วงหลายปีหลังประเทศไทยได้รับผลกระทบจากวิกฤติฝุ่นอย่างมาก และข่าวร้ายคือ ในปี 2567 นี้ คาดการณ์ว่า ฝุ่น PM2.5 จะมีแนวโน้มรุนแรงมากกว่าเดิม ผลสืบเนื่องจากปรากฏการณ์เอลนีโญ
ขณะที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินมาตรการต่าง ๆ เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 ประชาชนซึ่งอยู่ในพื้นที่วิกฤตมีความจำเป็นต้องตื่นตัวและดูแลป้องกันสุขภาพตนเอง