บทนำ
Highlight
• ดนตรีบำบัด (Music Therapy) คือ การใช้ดนตรีและวิธีการทางดนตรีในการช่วยฟื้นฟู รักษา และพัฒนาด้านอารมณ์ ร่างกายและจิตใจของผู้ป่วยให้ดีขึ้น
• ความมหัศจรรย์ของดนตรีบำบัด คือ ลดความเจ็บปวด คนไข้ผ่าตัด ฟังดนตรีจะลดอาการปวด ใช้ยาแก้ปวดน้อยลง ทำให้เลือดลมดี หากฟังเพลงที่ค่อย ๆ
เพิ่มความดังทีละน้อย ทำให้เส้นเลือดขยาย เลือดลมเดินสะดวก
• วิชาชีพดนตรีบำบัดเป็นที่รู้จักและเผยแพร่ในหลายประเทศในยุโรปและอเมริกา ขณะที่ในประเทศไทยมีนักดนตรีบำบัดที่มีใบอนุญาตไม่เกิน 10 คน ทุกคนเรียนจบและได้รับใบอนุญาตจากต่างประเทศ ปัจจุบันเริ่มมีการเปิดหลักสูตรดนตรีบำบัด เช่น มหาวิทยาลัยมหิดล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยขอนแก่น
ท่ามกลางคนแปลกหน้าจำนวนมาก บ้างคุยกันเงียบ ๆ บางคนพยายามเพ่งความสนใจไปยังโทรทัศน์ คว้านิตยสารมาเปิดอ่าน ไถโทรศัพท์ในอุ้งมือ สีหน้าท่าทางเต็มไปด้วยความกังวลใจ เคร่งเครียด เจ็บปวด บางคนร้องไห้ และดูเหมือนเวลารอบ ๆ คนเหล่านั้นจะเคลื่อนผ่านไปอย่างเชื่องช้า โมงยามในสถานพยาบาลมักเป็นอย่างนี้
พลันใดนั้น เสียงดนตรีล่องลอยมาจากมุมนั่งคอย เมื่อการแสดงสดของวงดนตรีเริ่มบรรเลง นำพาความคิดจิตใจของผู้คนไปยังที่มาของเส้นเสียงเหล่านั้น
ความเครียด ความวิตกกังวล หรือพลังงานลบต่าง ๆ ที่ทุกคนแบกมันไว้ในอาณาบริเวณนั้นก็ค่อย ๆ เบาบางเจือจางลงด้วยพลังเสียงจากดนตรี
มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์มากมายยืนยันว่า ดนตรีนั้นมีพลังช่วยกระตุ้นการตอบสนองทางอารมณ์เชิงบวก นำไปสู่การปลดปล่อยสารแห่งความสุข จึงเป็นวิธีง่าย ๆ ในการเปลี่ยนอารมณ์ บรรเทาความเครียด เหนื่อยล้า หรือแม้แต่ลดความเจ็บปวด
ในมุมนั่งคอยในสถานพยาบาลที่ให้ความบันเทิงและผ่อนคลาย ดนตรีในฐานะเครื่องมืออันทรงพลังของกระบวนการ “ดนตรีบำบัด” ก็จะช่วยบรรเทาหรือรักษาอาการเจ็บป่วยทางกายและจิตใจ เป็นการแพทย์ทางเลือกที่ได้รับการยอมรับในนานาประเทศ
ปฏิสัมพันธ์ดนตรี สมอง และหัวใจ
การเชื่อมโยงระหว่าง “ดนตรีและหัวใจ” อาจถูกมองเป็นเรื่องโรแมนติก แต่จากกระบวนการศึกษาค้นคว้าด้วยวิธีการทางวิทยาศาสตร์มีหลักฐานมากมายมาสนับสนุนว่า ดนตรีนั้นมีอิทธิพลกับคนทั้งทางร่างกายและจิตใจนั่นเอง นอกเหนือจากความบันเทิงแล้ว ดนตรีจึงถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือในกระบวนการดนตรีบำบัด
ดนตรีบำบัด (Music Therapy) คือ การใช้ดนตรีและวิธีการทางดนตรีในการช่วยฟื้นฟู รักษา และพัฒนาด้านอารมณ์ ร่างกายและจิตใจของผู้ป่วยให้ดีขึ้น ก่อนบำบัดต้องได้รับการเห็นชอบจากผู้เชี่ยวชาญ โดยดนตรีจะถูกใช้เป็นเครื่องมือในการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างผู้บำบัดกับผู้เข้ารับการบำบัด และทุกกิจกรรมบำบัดไม่ว่าจะขับร้อง ฟังเพลงบรรเลง หรือดนตรี ล้วนถูกออกแบบมาให้เหมาะกับสภาพร่างกายและจิตใจของผู้เข้ารับการบำบัด (1)
การใช้ดนตรีบำบัดเป็นทางเลือกในการรักษาซึ่งประสบความสำเร็จเป็นแนวทางในการแพทย์ปัจจุบันที่ได้รับการรับรองจากรัฐบาลในหลายประเทศ ดนตรีบำบัดสามารถใช้ในผู้ที่มีอาการทางจิต (เช่น มีความวิตกกังวล ความเครียด ความซึมเศร้า โรคจิตเภท การใช้สารเสพติด) ปัญหาการพัฒนา (เช่น ความบกพร่องทางสติปัญญา ออทิสติก คำพูดและภาษา การรับรู้ การเคลื่อนไหว) โรคทางสมอง (สมองเสื่อม สมองบาดเจ็บ) ผู้ป่วยใส่เครื่องช่วยหายใจ เหยื่อการทารุณกรรม ผู้เผชิญเหตุการณ์สะเทือนขวัญ บุคคลที่สูญเสียบุคคลอันเป็นที่รัก ทารกแรกเกิดในภาวะวิกฤต ตลอดจนผู้ป่วยระยะสุดท้าย เป็นต้น (2)
ศ.ดร.บุษกร บิณฑสันต์ คณบดีคณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และประธานหลักสูตรศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาดนตรีบำบัด (สหสาขาวิชา/หลักสูตรนานาชาติ) ให้รายละเอียดว่า หลักการของดนตรีบำบัดโดยทั่วไปคือ “ใช้ดนตรีและกระบวนการของดนตรีนำมาเป็นเครื่องมือใช้ทำให้เกิดการผ่อนคลายในสภาพที่ไม่ปกติในลักษณะต่าง ๆ ของมนุษย์
“ดนตรีทำให้เกิดการผ่อนคลายหรือลดอาการที่ผิดปกติ เช่น ความผิดปกติทางด้านร่างกาย ความเจ็บปวด ถ้าเป็นจิตใจก็เป็นความกังวล อารมณ์ความรู้สึกในการเข้าสังคมต่าง ๆ มีข้อพิสูจน์ด้วยงานวิจัยทางตะวันตกว่า ดนตรีมีผลในการที่ทำให้เกิดปฏิกิริยาที่ดีต่อผู้ที่นำเอาไปใช้”
ดนตรีมีผลต่อการพัฒนาสมอง ร่างกาย จิตใจ อารมณ์ นอกจากผ่อนคลาย แสดงอารมณ์ ยังสามารถรักษาจิตใจและร่างกาย ความมหัศจรรย์ของดนตรีบำบัด คือ ลดความเจ็บปวด คนไข้ผ่าตัดฟังดนตรีจะลดอาการปวด ใช้ยาแก้ปวดน้อยลง ทำให้เลือดลมดี หากฟังเพลงที่ค่อย ๆ เพิ่มความดังทีละน้อย ทำให้เส้นเลือดขยาย เลือดลมเดินสะดวก
นอกจากนี้แล้วเพลงจังหวะเร็วทำให้อัตราการหายใจ การเต้นของหัวใจ ความดันเลือดเพิ่มขึ้น ทั้งยังช่วยให้ฟื้นตัวเร็ว ทารกคลอดก่อนกำหนด ดนตรีบำบัดจะช่วยลดจำนวนวันที่อยู่ในตู้อบและเพิ่มน้ำหนักตัวได้ ดนตรียังช่วยชะลอความชรา สร้างโกรทฮอร์โมน การศึกษาพบว่านักดนตรีวัย 45-65 ปี มีความจำและประสาทการฟังดีกว่าคนที่ไม่ได้เล่น ดนตรีต้านอาการซึมเศร้า ลดความเครียด ความกังวล และไม่อยากอาหารของผู้ป่วย และ กระตุ้นสมอง การฟังดนตรียังช่วยเพิ่มประสิทธิภาพความจำระยะยาวของสมอง (3)
นักบำบัดผู้มีดนตรีเป็นเครื่องมือ
ดนตรีบำบัดเป็นการบูรณาการวิทยาศาสตร์จาก 3 สาขาวิชาคือ การแพทย์ จิตวิทยา และศิลปกรรมศาสตร์ อย่างลงตัวโดยจะก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดในการเสริมสร้างความเป็นอยู่ที่ดีของสังคม
นักดนตรีบำบัดมืออาชีพจำเป็นต้องมีความเข้าใจทั้งทางด้านการแพทย์ รวมไปถึงด้านจิตวิทยา สังคม และวัฒนธรรม ทั้งต้องมีทักษะทางด้านดนตรีโดยเฉพาะในการด้นสด (Improvisation) “การปรับตัวเองให้เข้ากับสถานะของอาการคนไข้ เอื้ออาทรต่อผู้อื่น มีความใส่ใจ ต้องมีสิ่งนี้เป็นพื้นฐานถึงจะเป็นนักดนตรีบำบัดที่ดีได้” ดร. บุษกรกล่าว
ถ้าหากว่าใช้อย่างไม่เหมาะสมถูกต้อง ดนตรีบำบัดก็อาจทำให้เกิดโทษได้เช่นกัน “สมมติเช่น ใช้บำบัดคนไทยแล้วเอาวงซิมโฟนีมาเล่นดนตรีของวากเนอร์ (คีตกวีชาวเยอรมันผู้ทรงอิทธิพลในวงการอุปรากร มีชีวิตอยู่ในศตวรรษที่ 18) คนไข้อาจจะหงุดหงิดทุรนทุรายมีความทุกข์ เพราะว่าเขาไม่ชอบเสียงไวโอลิน ไม่ชอบดนตรีจังหวะหนัก เร็ว ไม่สม่ำเสมอ มีความดุดัน ไม่ราบรื่นหู คนไทยไปฟังดนตรีชาติอื่นที่ไม่คุ้นเคย ถ้าเราให้เพลงผิดแค่นี้ก็แย่แล้ว นักดนตรีบำบัดมีความเข้าใจว่า จะเลือกเพลงอย่างไร เราต้องใช้เพลงที่เป็นความชอบ ความพึงพอใจของคนไข้ ต้องดูด้วยว่า คนที่อยู่ข้างหน้าเรามีความเป็นมาอย่างไร ต้องเข้าใจพื้นฐานลักษณะอาการของคนไข้ ต้องทำงานเป็นทีม มีบุคลากรการแพทย์เข้ามาเกี่ยวข้อง”
วิชาชีพดนตรีบำบัดเป็นที่รู้จักและเผยแพร่ในหลายประเทศในยุโรปและอเมริกา ขณะที่ในประเทศไทยมีนักดนตรีบำบัดที่มีใบอนุญาตไม่เกิน 10 คน ทุกคนเรียนจบและได้รับใบอนุญาตจากต่างประเทศ
แต่ปัจจุบันสถาบันการศึกษา เช่น มหาวิทยาลัยมหิดล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยขอนแก่น มีหลักสูตรดนตรีบำบัดซึ่งสามารถผลิตบุคลากรที่มีความรู้เฉพาะทางออกมาในอนาคต โดยในหลักสูตรดนตรีบำบัดต้องเรียนทั้งทางด้านสรีระวิทยา จิตวิทยา และวิธีการบำบัดโดยใช้ดนตรีในลักษณะต่าง ๆ นักดนตรีบำบัดต้องผ่านการเรียนและการฝึกงาน ซึ่งในอนาคตจะมีการออกใบอนุญาตสำหรับผู้ที่เรียนจบและฝึกงานครบ
สำหรับหลักสูตรดนตรีบำบัดของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้ผสมผสานแนวทางดนตรีบำบัด (Music Therapy Approaches) จากทั้งฝั่งยุโรปและอเมริกาเข้าด้วยกัน “โดยต้องคำนึงถึงวัฒนธรรมของผู้เข้ารับการบำบัดด้วย หลักสูตรของเรามีคนมาจากอินเดีย สิงคโปร์ พม่า จีน ฯลฯ เราอนุญาตให้เขาใช้เครื่องดนตรีของเขาได้ เพราะเราเชื่อว่าดนตรีมันไม่ได้จำกัดแค่ดนตรีสากล ถ้าเป็นดนตรีที่เขาเล่นเก่ง เขาเรียนมา ก็จะเข้าถึงคนที่อยู่ในวัฒนธรรมเดียวกันได้มากขึ้น” ดร.บุษกรกล่าว
ในสถานการณ์ระบาดของโควิด-19 การนำดนตรีบำบัดไปช่วยรักษาผู้ป่วยก็ต้องปรับตัวด้วยเช่นกัน ทางออกหนึ่งคือ การทำดนตรีบำบัดแบบออนไลน์ เช่น สาขาดนตรีบำบัด มหาวิทยาลัยมหิดล จัดทำรายการพอดแคสต์ “Healthy Melody Talks” ผ่านเพจเฟซบุ๊ก “Music Therapy Thailand” เป็นการพูดคุยเกี่ยวกับประโยชน์ของดนตรีบำบัด รวมทั้งแบ่งปันประสบการณ์การทำดนตรีบำบัดออนไลน์
ขณะที่ กลุ่ม Center for Music Therapy Development (CMTD) ได้จัดเว็บบินาร์ (Webinar) ผ่านโปรแกรมซูมให้ความรู้ มุมมอง รวมถึงเทคนิคการใช้ดนตรีร่วมกับจินตนาการเพื่อเพิ่มคุณภาพชีวิตที่ดี ทั้งยังมีกิจกรรมแต่งเพลงและทำวิดีโอเพลงสำหรับผู้ป่วยโควิดในโรงพยาบาลสนาม พร้อมเทคนิคผ่อนคลาย
ทั้งยังมีกิจกรรมผ่านโปรแกรมซูมสำหรับประชาชนทั่วไปที่สนใจการนำดนตรีไปใช้เพื่อจัดการความเครียด โดยนักดนตรีบำบัดเลือกเพลงและวิเคราะห์เนื้อเพลง สร้างพื้นที่ปลอดภัยในขณะทำกิจกรรมโครงการ “เพลงฮิต ปิดทุกข์ (Pop songs, cope with distress)” และเวิร์กช็อปสำหรับนักดนตรีบำบัดผ่านโปรแกรมซูมเพื่อพูดคุยและแลกเปลี่ยนความเห็นต่อกรณีศึกษาเพื่อเรียนรู้ร่วมกัน (4)
ฟัง … ให้ใจ/กายได้พัก
การเข้าถึงดนตรีบำบัดภายใต้การดูแลของผู้เชี่ยวชาญในวันนี้อาจไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ทุกคนสามารถใช้ “คุณ” ของดนตรีในชีวิตประจำวัน โดยนักดนตรีบำบัดได้แนะนำเบื้องต้นให้เลือกเพลงที่จังหวะเพราะจังหวะดนตรีมีผลต่อสมองต่างกัน โดยจังหวะช้าจะช่วยกระตุ้นการเรียนรู้ เกิดความคิดสร้างสรรค์ จิตผ่อนคลาย เกิดการจดจำได้ดี ขณะที่ดนตรีจังหวะเร็ว ช่วยให้ตื่นตัว สนุกสนาน กระตุ้นอารมณ์และสมองให้แจ่มใส มีความสุข
ดนตรีที่เหมาะสำหรับฟังเพื่อบำบัดผ่อนคลาย ควรมีจังหวะหรือบีทประมาณ 70-80 ครั้ง/นาที ใกล้เคียงกับจังหวะการเต้นของหัวใจ จะทำให้สมองหลั่งสารแห่งความสุข ทำให้สดชื่น ตื่นตัว แจ่มใส มีบุคลิกภาพดี มีความสุข ระบบต่าง ๆ ของร่างกายทำงานตามปกติ ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายแข็งแรง เป็นเพลงบรรเลงที่ไม่มีเนื้อร้อง มีเสียงธรรมชาติ จังหวะช้า มั่นคง สม่ำเสมอ ทำนองราบเรียบ นุ่มนวล ระดับเสียงปานกลาง-ต่ำ ความเข้มของเสียงไม่ดังมากตามความรู้สึกของผู้ฟัง บรรเลงด้วยเครื่องดนตรี เช่น พิณ เปียโน กีตาร์ หรือวงออร์เคสตร้า เพลงในแนวทางแจ๊สแบบช้า ป๊อป คลาสสิค ฯลฯ เป็นดนตรีที่คุ้นเคย และความชอบ ถ้าเปิดให้ผู้เข้ารับการผ่าตัดฟังจะช่วยให้จิตใจสงบ บรรเทาอาการกังวล ลดเครียด หากเปิดหลังผ่าตัดช่วยลดความเครียดจากอาการปวดแผลและบำบัดจิตใจ
ข้อมูลการศึกษาผลของเพลงต่อการรักษาโรคจาก เอลิซาเบธ สก็อต ที่ปรึกษาด้านสุขภาพ สถาบันความเครียดแห่งอเมริกา พบว่า เพลงสามารถช่วยลดอัตราการเต้นของหัวใจ ช่วยให้อุณหภูมิร่างกายสูงขึ้น และอยู่ในภาวะผ่อนคลาย (5)
เพลงที่เหมาะใช้ในการผ่อนคลายหรือบำบัด บีท 72 ครั้งต่อนาที เท่ากับอัตราการเต้นของหัวใจมนุษย์ในภาวะปกติ เสียงไม่ดังเกิน 80 เดซิเบล ถ้าฟังก่อนเริ่มเรียน ทำงาน หรือในช่วงพัก จะทำให้มีประสิทธิภาพในการทำงานมากขึ้น สุขภาพจิตดีขึ้น ลดความเครียด
ในการใช้เสียงเพลงยังช่วยชำระล้างอารมณ์ทำได้โดยฟังเพลงโดยพุ่งความสนใจไปอยู่ที่เสียงเพลง พร้อมหลับตา ตัดความรู้สึกขุ่นข้องหมองใจออกไป หรือฟังเพลงโดยมุ่งความสนใจไปที่ลมหายใจ จดจ่อกับเสียงเพลงจนเกิดสมาธิ
ถ้าต้องการกระตุ้นให้เกิดความคึกคักในขณะทำงานควรเลือกฟังเพลงเร็ว การฟังเพลงบางประเภท เช่น เพลงเด็ก เพลงย้อนยุค ท่วงทำนองช้า ช่วยเสริมสร้างความคิด ทำให้เกิดความสงบ หากเครียดมากอาจเดินออกกำลังกายพร้อมฟังเพลงที่ชอบประมาณ 30 นาที ตั้งใจฟังเสียงธรรมชาติรอบตัว 15-20 นาที ความเครียดจะลดลง (6)
ดร.บุษกร มีคำแนะนำสำหรับผู้ที่ต้องการใช้ประโยชน์ของดนตรี “แค่เปิดดนตรีที่เราชอบฟัง บรรยากาศของห้องก็เปลี่ยนไปแล้ว ผู้สูงวัยที่เครียดหรือไม่มีอะไรทำ อาจจะเปิดเพลงที่ชอบฟังแล้วจะเกิดความเพลิดเพลินผ่อนคลาย” โดยเฉพาะกับผู้สูงวัยจะได้ประโยชน์จากการฟังเพลงเป็นพิเศษ ดนตรีเป็นพลังช่วยกระตุ้นทางจิตใจและนำความทรงจำอันอบอุ่นกลับคืนมา
“มีคนทดลองแล้ว คุณแม่เขาไม่พูดเลย พอทดลองทำ แม่ก็ร้องเพลงขึ้นมา เพราะความทรงจำในส่วนของดนตรีนั้นยังคงอยู่ เพียงแต่ว่า ไม่ได้รับการปลุกเร้าให้ทำงาน หรือคนอายุ 90 กว่าที่นั่งเฉย ๆ ไม่พูดไม่คุยกับใคร แต่พอเสียงเพลงที่เคยเต้นดังขึ้นก็ทำท่าเต้น นักดนตรีแจ๊สที่อยู่บ้านผู้สูงอายุ ไม่พูด แต่พอเปิดเพลงที่เคยร้อง ท่านก็ร้องออกมา ดวงตาเปล่งประกาย ขยับตัว ถามอะไรก็ตอบได้ เพราะว่าสมองส่วนนั้นถูกกระตุ้น สร้างความสดชื่น”
จึงกล่าวได้ว่าดนตรีคือ เครื่องมือที่ทรงพลัง มีคุณและสามารถเป็นยาสำหรับทุกคนได้
อ้างอิง
(1) prachachat.net/csr-hr/news-759009
( 2) faa.chula.ac.th/subjectmain/indexcourse/147
(3) (5) thaihealth.or.th/Content/37848-รักษาโรคด้วย%20‘ดนตรี’%20ก็ได้หรือ.html
(4) wfmt.info/2021/11/04/ดนตรีบำบัดในประเทศไทย/
(6) thaihealth.or.th/Content/46053-%20“บีท%2072”%20จังหวะ...บำบัดใจ.html
0 ถูกใจ 935 การเข้าชม
งานบทความที่กำลังเป็นที่ได้รับความสนใจ
งานบทความที่เกี่ยวข้อง
เข้าสู่ระบบเพื่อโพสต์ความคิดเห็น
ความคิดเห็น 0