0

0

บทนำ

Highlight

• ปัจจุบันมีประชากรราว 4,000 ล้านคน อาศัยอยู่ในพื้นที่เสี่ยงต่อโรคไข้เลือดออก ในแต่ละปีมีผู้ติดเชื้อไวรัสไข้เลือดออกมากถึง 400 ล้านคน ในจำนวนนี้ประมาณ 100 ล้านคนป่วยจากการติดเชื้อ และ 40,000 คนเสียชีวิตจากโรคไข้เลือดออกขั้นรุนแรง

• สถานการณ์ไข้เลือดออกในไทย ปี 2566 น่าเป็นห่วง เนื่องจากคนไทยมีภูมิต้านทานต่อไข้เลือดออกน้อย มีโอกาสป่วยหนักและเสียชีวิตได้ โดยคาดว่า ในปี 2566 อาจมีจำนวนผู้ป่วยไข้เลือดออกมากเกือบ 1 แสนราย มีลูกน้ำยุงลายมีมากกว่าปีที่ผ่านมา 2-3 เท่า

• วัคซีนป้องกันไข้เลือดออกที่มีอยู่ยังไม่ได้ผลครอบคลุมไวรัสทั้ง 4 สายพันธุ์ วัคซีนซึ่งอนุญาตให้ใช้ได้มีประสิทธิภาพดีเฉพาะผู้ที่เคยเป็นไข้เลือดออกมาแล้วหนึ่งครั้ง และลดความรุนแรงของโรคได้เฉพาะในผู้ใหญ่ หรือเด็กอายุมากกว่า 6 ปี

 

 

เมื่อพูดถึง “ไข้เลือดออก” บางคนอาจจะคิดว่า “ก็แค่ไข้จะเป็นอะไรนักหนา !”! แต่ในความเป็นจริงแล้ว ไข้เลือดออกไม่ใช่เรื่องเล็ก ๆ เพราะมีผู้ป่วยและเสียชีวิตจากโรคนี้จำนวนมาก จึงนับเป็นหนึ่งในปัญหาสาธารณะสุขสำคัญของไทยและอีกหลายประเทศทั่วโลก

 

สำหรับสถานการณ์ไข้เลือดออกของไทยในปี 2566 มีแนวโน้มน่าเป็นห่วง เพราะตั้งแต่ต้นปีมีการติดเชื้อแพร่กระจายอย่างกว้างขวางและมีจำนวนผู้ป่วยเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อย่างเข้าสู่ฤดูฝน ทุกคนจำเป็นต้องระมัดระวังยุงลายตัวร้ายซึ่งอยู่เบื้องหลังโรคไข้เลือดออก รวมทั้งเรียนรู้วิธีป้องกันและรับมือภัยคุกคามนี้

จับตาสถานการณ์ไข้เลือดออก

โรคไข้เลือดออกเป็นปัญหาของทั่วโลกมานานกว่า 6 ทศวรรษ พบการระบาดในอเมริกา แอฟริกา ตะวันออกกลาง เอเชีย และหมู่เกาะแปซิฟิก

ปัจจุบันมีประชากรราว 4,000 ล้านคน อาศัยอยู่ในพื้นที่เสี่ยงต่อโรคไข้เลือดออก โดยในแต่ละปีมีผู้ติดเชื้อไวรัสไข้เลือดออกมากถึง 400 ล้านคน ในจำนวนนี้ประมาณ 100 ล้านคน ป่วยจากการติดเชื้อ และ 40,000 คน เสียชีวิตจากโรคไข้เลือดออกขั้นรุนแรง

ในประเทศไทย โรคไข้เลือดออกเป็นโรคอุบัติใหม่มาตั้งแต่ปี 2500 ก่อนพัฒนาเป็นโรคประจำถิ่น และเป็นหนึ่งในปัญหาสำคัญของระบบสาธารณสุข

รายงานของกรมควบคุมโรคระบุว่า ในปี 2566 มีผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกเพิ่มสูงขึ้นอย่างมาก ตั้งแต่สัปดาห์ที่ 1-25 มีผู้ป่วยไข้เลือดออกสะสม 27,377 ราย อัตราป่วยคิดเป็น 41.37 ต่อแสนประชากร เสียชีวิต 23 ราย อัตราป่วยตาย ร้อยละ 0.08 ไข้เลือดออกพบมากในกลุ่มเด็ก และกลุ่มวัยกลางคนเสียชีวิตมากที่สุด

 

 

เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2565 พบว่ามีจำนวนผู้ป่วยสูงกว่าถึง 3 เท่า และมีแนวโน้มพบผู้ป่วยเพิ่มสูงขึ้นกว่าค่ามัธยฐาน 5 ปีที่ผ่านมา

สถานการณ์ไข้เลือดออกปี 2566 น่าเป็นห่วง เนื่องจากคนไทยมีภูมิต้านทานต่อไข้เลือดออกน้อย มีโอกาสป่วยหนักและเสียชีวิตได้

อีกทั้งจากการสำรวจดัชนีลูกน้ำยุงลายพบว่ามีลูกน้ำยุงลายมากกว่าปีที่ผ่านมา 2-3 เท่า ทำให้ยุงลายมีจำนวนมากขึ้นตามไปด้วย จึงมีโอกาสกัดคนและถ่ายทอดเชื้อไวรัสไปสู่คนมากขึ้น โดยกรมควบคุมโรค คาดว่า จำนวนผู้ป่วยในปีนี้อาจมีมากเกือบ 1 แสนราย ขึ้นอยู่กับมาตรการการรับมือป้องกัน

 

ถอดรหัสไข้เลือดออก

ไข้เลือดออกเป็นโรคที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสเดงกี (Dengue Virus) โดยมียุงลายเป็นพาหะ ไวรัสเดงกี มี 4 สายพันธุ์ คือ เดงกี 1, 2, 3 และ 4 ในประเทศไทยมีการระบาดของทั้ง 4 สายพันธุ์ ส่วนมากพบเดงกี 3 มากถึงร้อยละ 40 โดยสายพันธุ์นี้มีฤทธิ์ทำลายตับและเสี่ยงตับวาย

เมื่อยุงลายดูดเลือดจากผู้ป่วยในระยะที่มีไข้ซึ่งมีเชื้อไวรัสในกระแสเลือด เชื้อจะเข้าไปฝังตัวในกระเพาะยุงแล้วไปอยู่ในเซลล์ที่ผนังกระเพาะ เมื่อไวรัสมีจำนวนมากขึ้นจะออกมาจากเซลล์ผนังกระเพาะเข้าสู่ต่อมน้ำลาย มีระยะฟักตัวในยุงประมาณ 8 - 12 วัน

เมื่อยุงที่มีเชื้อไปกัดคน เชื้อไวรัสจะเข้าสู่กระแสเลือดของผู้ที่โดนกัด ทำให้เกิดการติดเชื้อและป่วย หลังถูกกัดประมาณ 3 - 15 วัน

 

 

อาการ การดูแล และกลุ่มเสี่ยง

อาการของโรคไข้เลือดออก แตกต่างกันไปแล้วแต่บุคคล ส่วนใหญ่มักจะพบว่า

• ไข้สูงเฉียบพลัน อาจสูงถึง 40-41 องศาเซลเซียส บางรายมีอาการชัก

• มีเลือดออกที่ผิวหนัง เลือดกำเดา หรือเลือดออกตามไรฟัน

• อาเจียนและถ่ายอุจจาระเป็นเลือดพบร่วมกับภาวะช็อกในรายที่มีอาการรุนแรง

• มีอาการช็อก

• มีภาวะตับโต กดจะรู้สึกเจ็บ ประมาณวันที่ 3-4 นับตั้งแต่เริ่มป่วย

 

ผู้ป่วยรายที่อาการไม่รุนแรงอาจหายได้เองภายใน 2 – 7 วัน การติดเชื้อไวรัสเดงกีครั้งแรก ผู้ป่วยร้อยละ 80 – 90 มีอาการไม่รุนแรง อาจมีไข้สูง ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ ปวดกระดูก หากติดเชื้อครั้งที่ 2 โดยไวรัสสายพันธุ์ต่างจากครั้งแรก อาจมีอาการรุนแรง แบ่งเป็น 3 ระยะ คือ

1. ระยะไข้ ผู้ป่วยจะมีไข้สูงเกิน 38.5 องศาเซลเซียส เบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง มีผื่นหรือจุดเลือดออกตามตัว จะเป็นอยู่ประมาณ 2 – 7 วัน

2. ระยะวิกฤต ไข้เริ่มลด ผู้ที่ไม่มีภาวะแทรกซ้อน อาการจะค่อย ๆ ดีขึ้น ส่วนผู้ที่มีภาวะแทรกซ้อน เลือดออกง่าย ยังคงเบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง หรืออ่อนเพลียมากกว่าเดิม มีภาวะช็อก อาการแย่ลง กระสับกระส่าย มือเท้าเย็น ชีพจรเบาและเต้นเร็ว ความดันโลหิตเปลี่ยนแปลง เลือดออกผิดปกติ อาจทำให้เสียชีวิตได้ 

3. ระยะฟื้นตัว อาการต่าง ๆ จะเริ่มดีขึ้น อยากรับประทานอาหาร ความดันโลหิตสูงขึ้น ชีพจรเต้นแรงขึ้นและช้าลง ปัสสาวะมากขึ้น อาจมีผื่นแดงหรือจุดเลือดออกเล็ก ๆ ตามตัว

 

 

การดูแลเบื้องต้นสำหรับผู้ป่วยอาการไม่รุนแรง

• รับประทานอาหารและดื่มน้ำอย่างเพียงพอ ควรรับประทานอาหารอ่อน อาจให้ดื่มนม น้ำผลไม้ หรือสารละลายผงน้ำตาลเกลือแร่ (ORS : Oral Rehydration Salts) ร่วมด้วยเพื่อป้องกันร่างกายขาดน้ำ

• เช็ดตัวด้วยน้ำอุ่นเพื่อลดไข้เป็นระยะ ๆ ใช้ยาพาราเซตามอลตามแพทย์สั่งหรือเฉพาะเวลาที่มีไข้สูง ห้ามรับประทานยาในกลุ่มเอ็นเสด (NSAIDs กลุ่มยาต้านการอักเสบ แก้ปวด ลดไข้) รวมถึงยาชุด

• หากคลื่นไส้อาเจียน อ่อนเพลีย ปวดท้องมาก รับประทานอาหารและดื่มน้ำไม่ได้ มีภาวะเลือดออกรุนแรง มีสัญญาณภาวะช็อก เช่น ไข้ต่ำ ความดันโลหิตต่ำ ชีพจรเต้นเบา มือเท้าเย็น ปัสสาวะออกน้อย ซึม สับสน กระสับกระส่าย ฯลฯ ควรรีบพบแพทย์

กลุ่มเสี่ยงที่อาจมีอาการรุนแรงหรือภาวะแทรกซ้อนจากการติดเชื้อเดงกีคือ เด็กทารกและผู้สูงอายุ ผู้มีภาวะอ้วน หญิงตั้งครรภ์ ผู้เป็นโรคเม็ดเลือดแดงแตกง่าย หรือโรคจากฮีโมโกลบินผิดปกติ ผู้ป่วยโรคหัวใจพิการแต่กำเนิด ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง เช่น โรคอ้วน โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคหอบหืด โรคหัวใจขาดเลือด โรคไตวาย โรคตับเรื้อรัง ฯลฯ

ข้อควรจำ... ถ้ามีอาการไข้สูงลอย อ่อนเพลีย ปวดเมื่อย มีจุดเลือดออกตามผิวหนัง ให้รีบพบแพทย์ ห้ามซื้อยากลุ่ม NSAIDs (เช่น ยาแอสไพริน ยาไอบูโพรเฟน ยาไดโคลฟีแนค ฯลฯ) กินเอง

 

ศักยภาพวัคซีนไข้เลือดออก

ปัจจุบันยังไม่มียารักษาโรคไข้เลือดออกหรือต้านเชื้อไวรัสเดงกีได้โดยตรง การรักษาโรคไข้เลือดออกจึงทำไปตามอาการ

 

 

การรักษาจะได้ผลดี หากมีการตรวจวินิจฉัยโรคได้ถูกต้องตั้งแต่ระยะแรก แต่เพราะอาการไข้เลือดออกคล้ายกับโรคอื่น จึงทำให้การวินิจฉัยไม่ใช่เรื่องง่าย

ส่วนวัคซีนไข้เลือดออกที่มีอยู่ยังใช้ไม่ได้ผลครอบคลุมไวรัสเดงกีทั้ง 4 สายพันธุ์ วัคซีนไข้เลือดออกซึ่งอนุญาตให้ใช้ได้มีประสิทธิภาพดีเฉพาะสำหรับผู้ที่เคยเป็นไข้เลือดออกมาแล้วหนึ่งครั้ง และลดความรุนแรงของโรคได้เฉพาะในผู้ใหญ่หรือเด็กอายุมากกว่า 6 ปี สำหรับคนที่ไม่เคยเป็นไข้เลือดออก การฉีดวัคซีนไข้เลือดออก อาจทำให้อาการรุนแรงเมื่อติดเชื้อไข้เลือดออก เพราะฉะนั้น ก่อนฉีดวัคซีนนี้จึงควรตรวจเลือดและปรึกษาแพทย์ก่อน

ขณะนี้ ยังมีการทดลองและพัฒนาวัคซีนไข้เลือดออกอยู่ซึ่งเป็นความหวังในการต่อสู้กับภัยคุกคามจากโรคนี้

 

ติดซ้ำสองรุนแรงกว่า?

ไข้เลือดออกเป็นแล้วเป็นซ้ำได้ และเป็นซ้ำสองอาจจะร้ายแรงกว่าเป็นครั้งแรก โดยเฉพาะหากเป็นการติดเชื้อต่างสายพันธุ์กัน

การติดเชื้อไข้เลือดออกครั้งแรก ส่วนมากอาการมักไม่รุนแรง เริ่มจากมีไข้สูงลอย เมื่อกินยา ไข้อาจลดลงชั่วคราว แล้วก็สูงกลับขึ้นไปอีก มักใช้เวลา 1-2 อาทิตย์ จึงกลับสู่กาวะปกติ และมีผู้ป่วยจำนวนมากไม่มีอาการของโรค

สำหรับการติดเชื้อครั้งที่ 2 หากเกิดจากไวรัสคนละสายพันธุ์ จะทำให้อาการของโรครุนแรงขึ้น เช่น มีไข้สูง คลื่นไส้อาเจียน เวียนศีรษะ ไม่มีอาการของระบบทางเดินหายใจ บางรายมีการรั่วไหลของน้ำออกจากหลอดเลือด ทำให้เกิดภาวะช็อก ขาดน้ำ บางรายมีเลือดออกอย่างรุนแรง ต้องสังเกตอาการของผู้ป่วยระยะนี้อย่างใกล้ชิด เพราะอาการค่อนข้างเฉียบพลันและอาจทำให้เสียชีวิตได้

หลังจากติดเชื้อครั้งที่ 2 ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะมีภูมิต้านทานในระดับที่สูงมาก สามารถป้องกันเชื้อเดงกีข้ามสายพันธุ์ได้ จึงมีโอกาสติดเชื้อครั้งที่ 3 และ 4 น้อยลงมาก ส่วนใหญ่จึงเป็นเพียงแค่ 2 ครั้ง ภูมิต้านทานที่เกิดขึ้นจะอยู่ยาวนานหรือตลอดไป

 

ทลายห่วงโซ่ยุงลายเพื่อป้องกันและควบคุม

เพื่อต่อสู้กับโรคไข้เลือดออก การป้องกันมีความสำคัญมาก โดยเฉพาะการทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลาย ซึ่งประชาชนสามารถใช้มาตรการ 3 เก็บ คือ

เก็บบ้านให้ปลอดโปร่ง เพื่อไม่ให้ยุงลายพักอาศัย

• เก็บขยะและเศษภาชนะที่อาจเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย

• เก็บน้ำให้มิดชิด ปิดฝาภาชนะ หรือเปลี่ยนน้ำทุก 7 วัน หรือปล่อยปลากินลูกน้ำ หรือใส่ทรายฆ่าลูกน้ำยุงลาย

การป้องกันไม่ให้ยุงกัด สามารถทำได้ด้วยการสวมเสื้อผ้าให้มิดชิด นอนในมุ้ง ใช้ยาจุดกันยุง หรือทายาป้องกันยุง โดยกองโรคติดต่อนำโดยแมลง กรมควบคุมโรคยังได้แนะนำการกำจัดยุงด้วยของใช้ใกล้ตัวในบ้าน คือ ใช้น้ำยาล้างจานผสมน้ำสะอาด ใส่กระบอกฉีดน้ำ เมื่อฉีดใส่ตัวยุงจะตายในเวลาไม่กี่นาที

โลกร้อนขึ้น ไข้เลือดออกเพิ่มขึ้น!

ภาวะโลกร้อนส่งผลกระทบต่อการแพร่กระจายของโรค รวมถึงการระบาดของโรคไข้เลือดออก

ข้อมูลจากนักกีฏวิทยา กองโรคติดต่อนำโดยแมลง กรมควบคุมโรค ระบุว่า สภาวะโลกร้อนทำให้น้ำซึ่งเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุงมีอุณหภูมิสูงขึ้น ส่งผลให้ลูกน้ำเติบโตเข้าสู่ระยะตัวเต็มวัยเร็วขึ้น จากปรกติการเปลี่ยนแปลงลำตัวของลูกน้ำใช้เวลา 2-3 วัน แต่ด้วยสภาวะโลกร้อนทำให้ระยะเวลานี้หดสั้นลง ประมาณ 1 วันครึ่งก็สามารถลอกคราบเป็นตัวยุง ปกติวงจรชีวิตยุงใช้เวลาประมาณ 12-15 วัน แต่สภาวะโลกร้อนทำให้วงจรชีวิตยุงหดสั้นลงเหลือเพียงประมาณสัปดาห์หรือ 7 วันกว่า 

สภาวะโลกร้อนจึงทำให้ยุงเกิดเร็วและสะสมในธรรมชาติมากขึ้น นอกจากนี้อุณหภูมิของอากาศที่อุ่นขึ้นจะเพิ่มอัตราการเผาผลาญของยุง ทำให้กระฉับกระเฉงมีกิจกรรมเพิ่มขึ้น บินมากขึ้น และหิวบ่อยขึ้น จึงหากินเลือดเหยื่อถี่ขึ้น เป็นสาเหตุว่าทำไมโรคภัยไข้เจ็บที่นำโดยยุงจึงมากขึ้นตามไปด้วย

 

ด้วยตัวเลขผู้ป่วยและผู้เสียชีวิตที่เพิ่มจำนวนมากขึ้น จึงนับเป็นสัญญาณเตือนให้ต้องระวังการระบาดของโรคไข้เลือดออก ทุกคนจำเป็นต้องให้ความสนใจและตื่นตัวในการปกป้องสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีของตนเองและคนรอบข้าง เริ่มต้นจากการติดอาวุธความรู้เพื่อสร้างความตระหนักให้ต่อสู้กับโรคไข้เลือดออกได้อย่างมีประสิทธิภาพ

อ้างอิง

ไทยพีบีเอส, นักกีฏวิทยา ชี้ ปัจจัยโลกร้อน "ยุงเพิ่มจำนวน-โตไว-ผสมพันธุ์เร็วขึ้น", 30 พฤษภาคม 2566,

https://www.thaipbs.or.th/news/content/328317

โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย, ไข้เลือดออกครั้งที่สองต้องระวังจริงหรือ?, 4 สิงหาคม 2562,

https://chulalongkornhospital.go.th/kcmh/line/ไข้เลือดออกครั้งที่สอง/

โรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาราชการุณย์,  โรคไข้เลือดออก ภัยร้ายจากยุงลาย, 14 มิถุนายน 2565,

https://www.siphhospital.com/th/news/article/share/dengue

สำนักข่าวทูเดย์, ‘ไข้เลือดออก’ พบผู้ป่วยปีนี้เพิ่มกว่าปีที่แล้วมากถึง 3 เท่า สธ.เตือนอย่าให้ยุงกัด, 5

กรกฎาคม 2566, https://workpointtoday.com/mosquito-3/

Centers for Disease Control and Prevention, Areas with Risk of Dengue, 12 กรกฎาคม 2566,

https://www.cdc.gov/dengue/areaswithrisk/index.html

Centers for Disease Control and Prevention, About Dengue: What You Need to Know, 14

มิถุนายน 2566, https://www.cdc.gov/dengue/about/index.html

Centers for Disease Control and Prevention, Prevent Mosquito Bites, 7 ธันวาคม 2563,

https://www.cdc.gov/dengue/prevention/prevent-mosquito-bites.html

Centers for Disease Control and Prevention, Controlling Mosquitoes at Home, 13 สิงหาคม

2562, https://www.cdc.gov/zika/prevention/controlling-mosquitoes-at-home.html

Hfocus, สธ.ห่วงปีนี้ “ไข้เลือดออก” ระบาด! ขณะที่ภูมิต้านทานคนไทยน้อยลง, 9 มิถุนายน 2566,

https://www.hfocus.org/content/2023/06/27797

PPTV Online, สธ.เผยหากไม่ควบคุมไข้เลือดออก สิ้นปีผู้ป่วยอาจพุ่งสูงเกือบ 1 แสนราย, 7 มิถุนายน 2566,

https://www.pptvhd36.com/health/news/3465

 

งานบทความที่กำลังเป็นที่ได้รับความสนใจ

การตรวจสุขภาพตับ ทวงคืนสุขภาพที่ดี
1708931705.jpg

Super Admin ID1

การตรวจสุขภาพตับ ทวงคืนสุขภาพที่ดี

คนรุ่นใหม่กับโรคติดพนัน และสัญญาณเตือนวิกฤตสุขภาพจิต
1708931705.jpg

Super Admin ID1

คนรุ่นใหม่กับโรคติดพนัน และสัญญาณเตือนวิกฤตสุขภาพจิต

ส่วนที่ 5 ข้อมูลที่เกี่ยวข้องเพื่อการสืบค้น
defaultuser.png

Admin ID3

ส่วนที่ 5 ข้อมูลที่เกี่ยวข้องเพื่อการสืบค้น

ปกป้องชีวิตเด็กไทยด้วยหมวกนิรภัย
1708931705.jpg

Super Admin ID1

ปกป้องชีวิตเด็กไทยด้วยหมวกนิรภัย

ส่วนที่ 1 : สถานการณ์ระดับประเทศและยุทธศาสตร์ขับเคลื่อนของ สสส.และภาคีเครือข่าย
1708932589.JPG

Writer Don ID2

ส่วนที่ 1 : สถานการณ์ระดับประเทศและยุทธศาสตร์ขับเคลื่อนของ สสส.และภาคี...

งานบทความที่เกี่ยวข้อง

surachet@thaihealth.or.th

“อวัยวะใดมีรูปร่างคล้ายถั่ว ?”

คำตอบคือ “ไต” ซึ่งเป็นอวัยวะที่มีบทบาทสำคัญในการรักษาสุขภาพโดยรวมของร่างกาย

ไตมีหน้าที่เป็นตัวกรองขจัดของเสียและของเหลวส่วนเกินออกจากเลือด ทั้งยังช่วยควบคุมความดันโลหิต ผลิตฮอร์โมน และมีส่วนช่วยผลิตเซลล์เม็ดเลือดแดง

หากไตทำงานผิดปกติ หรือทำงานได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ จึงอาจทำให้เกิดภาวะเจ็บป่วยรุนแรงและเสียชีวิตได้

ที่ผ่านมา โรคไตนับเป็นภัยเงียบที่คร่าชีวิตผู้คนนับล้านในแต่ละปี จากข้อมูลทั่วโลกพบว่าในปี 2562 โรคไตเป็นสาเหตุการเสียชีวิตของประชากร 1.4 ล้านคน ซึ่งมีจำนวนเพิ่มสูงขึ้นร้อยละ 20 จากปี 2553 และนับเป็นเป็นสาเหตุการเสียชีวิตสำคัญ 1 ใน 10 ของโลก

โรคไตเรื้อรังเป็นปัญหาสาธารณสุขสำคัญของไทย ที่ผ่านมามีแนวโน้มการเสียชีวิตด้วยโรคไตเรื้อรังเพิ่มขึ้น จากปี 2559 ถึงปี 2563 ประมาณการมีผู้เสียชีวิตด้วยโรคไตเรื้อรังปีละ 10,000 คน โดยผู้เสียชีวิตเป็นเพศหญิงมากกว่าเพศชาย

และเพื่อให้คนทั่วโลกตระหนักต่อภัยร้ายจากโรคไต ทุกวันพฤหัสบดีที่ 2 ของเดือนมีนาคม องค์การอนามัยโลก (WHO) จึงกำหนดให้เป็น วันไตโลก (World Kidney Day)